ภาษี GMT เขย่า 1,000 บริษัท ปลัดคลังยอมรับกระทบตลาดหุ้น

ภาษี GMT เขย่า 1,000 บริษัท “คลัง-บีโอไอ” เร่งเคาะมาตรการเยียวยา

บริษัทยักษ์เจอผลกระทบ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม “ภาษี GMT” ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เลขาธิการบีโอไอ เผยบริษัทไทย-เทศราว 1,000 บริษัท ได้รับผลกระทบกฎหมายนี้ แจงบีโอไอเตรียม 2 มาตรการบรรเทาผลกระทบชั่วคราว “ยืดเวลาชำระภาษี-ดึงเงินกองทุนเพิ่มขีดแข่งขันเยียวยา” เร่งนัดถกคลังสรุปแนวทาง “เครดิตภาษีคืน” เยียวยาภาคธุรกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนไว้  ขณะที่กรมสรรพากรเร่งคลอดกฎหมายลูก 20-30 ฉบับ รองรับการคำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแนวทาง OECD    บจ.ใหญ่เจอผลกระทบราคาหุ้นดิ่ง TU แจ้งอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 หรือการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก Global Minimum Tax (GMT) ในอัตราขั้นต่ำ 15% จากบริษัทข้ามชาติ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยจะมีผลบังคับใช้แก่นิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises : MNEs) ขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร (หรือราว 2.6 หมื่นล้านบาท) ตามกรอบของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

ขณะที่ปัจจุบันไทยมีการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 20% แต่ก็มีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี ทำให้การจ่ายอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% ดังนั้นเมื่อพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มมีผลบังคับใช้ บริษัทหลายแห่งจึงจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่ม (Top-up Tax) เพื่อให้ถึงขั้นต่ำที่ 15%

1,000 บริษัทเจอผลกระทบ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บีโอไออยู่ระหว่างการเตรียมออกมาตรการลดผลกระทบจากการเข้าร่วม OECD หรือการขึ้นภาษี GMT 15% จากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะมีผลกับการวางแผนการลงทุนแน่นอนประมาณ 1,000 บริษัทที่เข้าข่าย เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทผลิตยานยนต์ เป็นต้น

บีโอไอ-คลังเร่งแผนรับมือ
เลขาฯบีโอไอระบุว่า กระทรวงการคลังและ BOI อยู่ระหว่างการหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการที่กระทรวงการคลังออกกฎหมายเก็บภาษีส่วนเพิ่ม ขณะนี้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร กำลังเร่งพิจารณาจัดทำกฎหมายใหม่อีกหนึ่งฉบับ เพื่อนำเครื่องมือ “การเครดิตภาษีที่สามารถคืนเป็นเงินสด” (Refundable Tax Credit) มาปรับใช้ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวิธีการที่ OECD แนะนำให้สามารถทำได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบของ Global Minimum Tax

“ในสัปดาห์หน้าบีโอไอได้นัดหารือกับกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการช่วยลดผลกระทบเพิ่มเติม”
นอกจากนี้ BOI ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้อีก 2 ส่วน คือ 1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ (ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 1/2566 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2566) เปิดโอกาสให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ แทนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะให้ระยะเวลานานขึ้น 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10 ปี เพื่อให้การคำนวณอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate : ETR) ของบริษัทในแต่ละปีใกล้เคียง 15% ก็จะทำให้แต่ละบริษัทเสียภาษีส่วนเพิ่มลดลง และได้รับสิทธิประโยชน์ในระยะเวลานานขึ้น

คลังยันทั่วโลกเก็บ
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% เป็นกติกาภาษีโลก เพื่อดึงดูดการลงทุน ซึ่งหน่วยงานจัดเก็บภาษีทั้งโลก ก็เข้ามาตกลงกันเพื่อจะไม่ให้เกิดการแข่งขันลดภาษี ในเมื่อไทยอยู่ใน OECD แล้ว ก็ต้องออกกฎหมายเก็บภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่หากไทยไม่เก็บต่างประเทศก็เก็บ 15% อยู่ดี

“กติกากฎหมายบอกว่าคุณมีสิทธิเก็บก่อนออกกฎหมายสั้น คุณไม่เก็บประเทศต้นทางเก็บแทน ได้เงินก้อนเดียวกัน เพราะฉะนั้นไทยจึงต้องรีบออก”
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนของการใช้เงินกองทุน ขีดความสามารถในการแข่งขัน ดูแล จะต้องไปดูก่อน เพราะต้องผ่านกระบวนการงบประมาณ ซึ่งเบื้องต้น เงินกองทุนประเดิมมีอยู่ 50,000 ล้านบาท ซึ่งต้องไปดูว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ใช้ไปเท่าใดแล้ว

กฤษฎีกาเบรก BOI ใช้เงินภาษี
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจาฯแล้ว โดยได้รับความเห็นชอบจากทางสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และจะมีการชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 13 ม.ค.นี้

สำหรับการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบนั้น ทางบีโอไอจะต้องตกลงร่วมกันกับทางกรมสรรพากรอีกครั้ง เพื่อวางแนวทางเกี่ยวกับการ “เครดิตภาษีคืน” (Qualified Refundable Tax Credits : QRTC) จากเดิมที่ร่างกฎหมายเดิม ทางบีโอไอได้ขอให้นำเงินจากภาษีที่เก็บได้เพิ่ม แบ่งสัดส่วนไปเข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อจะนำไปจ่ายเยียวยาให้เอกชน แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่า การดำเนินการลักษณะดังกล่าวอาจจะทำไม่ได้ เนื่องจากอาจจะผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ จึงตัดมาตราดังกล่าวออก

“แนวทางจ่ายเยียวยา แทนที่จะนำเม็ดเงินภาษีที่เก็บได้ไปให้เลย น่าจะเป็นการให้เครดิตภาษีกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการลงทุนตามเงื่อนไขที่บีโอไอกำหนด ลงทุนเรื่องวิจัยและพัฒนา (R&D) ลงทุนจ้างคน สามารถนำค่าจ้างมาเครดิตภาษี เพื่อบรรเทาผลกระทบได้”
สรรพากรเร่งออก กม.ลูก

เหตุผลที่ไทยต้องเข้าร่วม GMT
กรมสรรพากรระบุว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจข้ามชาติต่าง ๆ พยายามจัดสรรกำไรและกระจายเงินลงทุนในต่างประเทศที่มีมาตรการดึงดูดการลงทุนต่าง ๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้ประเทศต่าง ๆ แข่งขันกันลดภาษีให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน จนอัตราภาษีที่แท้จริงนั้นลดต่ำลงเรื่อย ๆ OECD จึงเสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ เก็บภาษีจากธุรกิจข้ามชาติให้เป็นธรรมมากขึ้น
กรมสรรพากรยังระบุว่า “การตราพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิในการจัดเก็บภาษี อันเป็นการรักษาประโยชน์แห่งชาติ เนื่องจากหากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม จะสูญเสียรายได้ภาษีส่วนเพิ่มที่ควรจัดเก็บได้ให้แก่ประเทศอื่นที่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายดังกล่าว”
โดยประเทศที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแล้วตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี ปี 2567 มี 28 ประเทศ เช่น กรีซ, เกาหลีใต้, แคนาดา, ญี่ปุ่น, เดนมาร์ก, ตุรกี, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, ฝรั่งเศส, ฟินแลนด์, เยอรมนี, สเปน, สวีเดน, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, อิตาลี, ไอร์แลนด์ และเวียดนาม

บริษัทที่ได้รับผลกระทบ
พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มบังคับใช้เฉพาะกลุ่ม MNEs ขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่ากลุ่ม MNEs ของไทยที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือกลุ่ม MNEs ของต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย ที่มีรายได้ตามงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statements) ของบริษัทแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร อย่างน้อย 2 ใน 4 รอบระยะเวลาบัญชี ก่อนหน้ารอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม โดยให้เสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลก 15% เพื่อจำกัดการแข่งขันทางภาษี

ลัดคลังยอมรับกระทบตลาดหุ้น
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% เป็นกติกาภาษีโลก เพื่อดึงดูดการลงทุน ซึ่งหน่วยงานจัดเก็บภาษีทั้งโลกก็เข้ามาตกลงกันเพื่อจะไม่ให้เกิดการแข่งขันลดภาษี  ในเมื่อไทยอยู่ใน OECD แล้วก็ต้องออกกฎหมายเก็บภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่หากไทยไม่เก็บต่างประเทศก็เก็บ15% อยู่ดี

“กติกากฎหมายบอกว่าคุณมีสิทธิ์เก็บก่อนออกกฎหมายสั้น คุณไม่เก็บประเทศต้นทางเก็บแทน ได้เงินก้อนเดียวกันเพราะฉะนั้นไทยจึงต้องรีบออก”

หุ้นไทยเจอเอฟเฟ็กต์แรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าการจัดเก็บภาษี GMT ยังไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ผลกระทบจากพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มได้เกิดขึ้นแล้วกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้น ทำให้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่จำนวนมากปรับลดลงจากคาดการณ์ที่ว่าจะต้องมีภาระจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ขั้นต่ำ 15%

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยได้ทำการสรุปบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีฐานรายได้เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษี GMT เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่มีอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) ต่ำกว่า 15% จากที่ได้รับ BOI ของธุรกิจในประเทศ อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีแนวทางแก้ไขหรือลดผลกระทบจากกระทรวงการคลังและบีโอไอ
ทั้งนี้ 9 บริษัทจดทะเบียนที่น่าจะได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย 
1.บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ในช่วง 9 เดือนปี 2567 มีรายได้รวม 1.6 แสนล้านบาท และจ่ายภาษีที่แท้จริง 2.4% เพราะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI และมีโรงงานหลักอยู่ในไทย ทำให้คาดว่าจะมีภาระภาษีจ่ายเพิ่มขึ้น 12-13%
TU กำลังประเมินผลกระทบ
2.บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ในปี 2566 รายได้ทั้งกลุ่มอยู่ที่ 1.36 แสนล้านบาท ขณะที่ทั้งกลุ่มมีอัตราภาษีจ่ายที่แท้จริงอยู่ที่ 7.6% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้สิทธิทางภาษี BOI ในไทย ทำให้ภาษีธุรกิจในไทยอยู่ระดับต่ำ ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลกับทางบริษัทเบื้องต้นแจ้งว่าตอนนี้อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบ และรอความชัดเจนของภาครัฐ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือของ BOI ก่อน
3.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) มีการลงทุนในกลุ่มประเทศ OECD คือ สหรัฐ และเยอรมนี โดยในปี 2566 มีอัตราภาษีแท้จริงอยู่ที่ 3.2% หากปรับปรุงอัตราภาษีใหม่ขึ้นมาอยู่ที่ 15% คาดจะส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง
อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น ในความเป็นจริงต้องพิจารณาภาษีหลายองค์ประกอบ รวมถึงการรวมธุรกิจกับ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เป็นบ Newco ซึ่งคาดจะทำให้อัตราภาษีอยู่ในระดับใกล้เคียง 15%
กลุ่มโรงไฟฟ้าเสี่ยงเจอภาษีเพิ่ม
4.บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) มีการลงทุนในกลุ่มประเทศ OECD คือ สหรัฐ โดยปี 2566 และ 9 เดือนปี 2567 มีอัตราภาษีแท้จริงที่ 5.9% และ 9.5% ตามลำดับ
5.บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) มีการลงทุนในกลุ่ม OECD คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยปี 2566 และงวด 9 เดือน 2567 มีอัตราภาษีแท้จริงอยู่ที่ 8.3% และ 14.1% ตามลำดับ
6.บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) มีการรับรู้รายได้รวมจากในประเทศไทย และต่างประเทศ ซึ่งมีการลงทุนในประเทศสมาชิก OECD เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ เป็นต้น โดยในปี 2566 และ 9 เดือนปี 2567 มีอัตราภาษีแท้จริงที่ 8.1% และ 16% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในประมาณการปี 2568 อัตราภาษีแท้จริงของ BGRIM อยู่ที่ 7.3%
7.บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) มีอัตราภาษีแท้จริงปี 2566 และ 9 เดือนปี 2567 ที่ 9.5% และ 1.4% ตามลำดับ ขณะที่ประมาณการปี 2568 อัตราภาษีแท้จริงเกินเกณฑ์ 15% แล้ว จึงคาดจะมีผลกระทบจำกัด
8.บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ปี 2566 และ 9 เดือนปี 2567 มีอัตราภาษีแท้จริงที่ 13.6% และ 11.6% ตามลำดับ
และ 9.บมจ.อาร์ ซี แอล (RCL) มีการลงทุนในกลุ่มประเทศ OECD คือมีสำนักงานตัวแทนในเกาหลีใต้ ปี 2566 และ 9 เดือนปี 2567 มีอัตราภาษีแท้จริงที่ 7% และ 1.5% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่า 15% หากปรับปรุงอัตราภาษีใหม่จะส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง... 

Cr.  https://www.prachachat.net/economy/news-1732171
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่