JJNY : ชัยธวัชลุกอัดรบ.เศรษฐา│เชื่อมั่นอุตฯดิ่งสุดรอบ1ปี│‘อมรเทพ’แนะรัฐออกมาตรการเฉพาะกลุ่ม│“ไวรัสนิปาห์”คร่าอินเดีย2ราย

ชัยธวัช ลุกอัดรบ.เศรษฐา เหมือนเขตทหารห้ามเข้า ถามเกรงใจบิ๊กตู่หรือ? ไม่พูดถึงรปห.ซักคำ
https://www.matichon.co.th/politics/news_4177538

‘ชัยธวัช’ อัด ครม. ‘เศรษฐา 1’ เหมือนเขตทหารห้ามเข้า แม้เป็นพลเรือนคุมหัวโต๊ะ จวก ไม่พูดถึงรัฐประหารเหมือนเกรงใจ ‘บิ๊กตู่’ เหน็บเหมือนตั้ง ‘สุทิน’ เป็นแค่โฆษกกองทัพ
 
เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันที่สอง โดยเมื่อเวลา 18.50 น. นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายถึงนโยบายพัฒนากองทัพว่า เป็นเรื่องน่ายินดี เรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนแรกที่เป็นพลเรือน และไม่ใช่นายกรัฐมนตรี เรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่พลเรือนกำลังจะอยู่เหนือกองทัพใช่หรือไม่ หรือเอาเข้าจริงแล้วการส่งพลเรือนมานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมครั้งนี้ จะกลับกลายเป็นการส่งสัญญาณของจากรัฐบาลใหม่ว่า รัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะไม่ยุ่ง ไม่แตะกองทัพ นโยบายการทหาร ความมั่นคง จะคงอยู่ในมือกองทัพรวมถึงเครือข่ายคณะรัฐประหารต่อไป พรรคแกนนำรัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปกองทัพเป็นทหารอาชีพ ปรากฏว่าพอตอนแถลงนโยบายรัฐบาล ความมุ่งมั่นชัดเจนของแกนนำรัฐบาลหายไปไหน จากปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการ
 
เปลี่ยนเป็นร่วมกันพัฒนากองทัพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ดูน่ารักนะครับ จากบอกว่าจะเสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหาร หายไปเลย ไม่แม้แต่จะพูดถึงคำว่ารัฐประหารสักคำในการแถลงนโยบายของรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 2557 ทำไมหรือครับ คำว่ารัฐประหารนี่มันน่าแสลงใจมาก จนพูดถึงกันไม่ได้ หรือนายกฯเศรษฐาและรัฐบาลชุดนี้ เกรงใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐประหารมากขนาดนั้นเลยหรือ” นายชัยธวัชกล่าว
 
นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า การยกเลิกการเกณฑ์ทหารก็คลุมเครือ เพราะการเลิกกับการลดการเกณฑ์ทหารมันต่างกัน ถ้านโยบายของรัฐบาลคือลดการเกณฑ์ทหารเท่านั้นมันจะมีอะไรใหม่ เพราะหลายปีมานี้กองทัพก็ดำเนินการอยู่แล้ว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม สภากลาโหมก็ประกาศแผนการปฏิรูปเนื้อหาสาระเดียวกัน แถม พล.อ.ประยุทธ์ยังย้ำในที่ประชุมครั้งนั้นด้วยว่า นี่คือแผนของเราที่ทำอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวว่าใครจะมาหรือไป นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ยินไหม พล.อ.ประยุทธ์มีแผนปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว คนอื่นไม่เกี่ยว แบบนี้รัฐบาลใหม่จะให้นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปนั่งเป็นแค่โฆษกกองทัพหรือ นี่ยังไม่รวมถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ จะปล่อยให้มีไอโอกองทัพอีกหรือไม่
 
นายชัยธวัชกล่าวว่า เมื่อฟังคำแถลงอยากสรุปสั้นๆ ว่านี่มันไม่ใช่นโยบายการพัฒนากองทัพร่วมกัน หรือไม่แม้แต่จะใช่เรื่องการปฏิรูปกองทัพ แต่นี่คือนโยบายเขตทหารห้ามเข้า นโยบายเกี่ยวกับกองทัพของรัฐบาลชุดนี้ ได้ส่งสัญญาณว่าการปฏิรูปโดยรัฐบาลพลเรือนจะไม่เกิดขึ้นนอกจากสิ่งที่กองทัพออกแบบมาและอนุญาตให้ทำ ตนฟังและอ่านคำแถลงหลายรอบ เห็นว่าเราไม่ได้กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนอย่างที่นายกรัฐมนตรีแถลงไว้ แต่เรากำลังเข้าสู่รัฐบาลที่ไม่มีเจตจำนงในความเปลี่ยนแปลง หรือไม่ก็แย่กว่านั้น ชวนให้คิดได้ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว รัฐบาลเศรษฐาหนึ่งได้กลายเป็นส่วนต่อขยายของรัฐบาลประยุทธ์ เพื่อพยายามหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่าน เหนี่ยวรั้งสังคมไทยให้อยู่กับระบบการเมืองแบบเดิม โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมแบบเก่า และวัฒนธรรมแบบจารีตต่อไป
 
นี่คือนโยบายของรัฐบาลที่เต็มไปด้วยความสยบยอม หรือไม่ก็สมยอมกัน เป็นการสามัคคีปรองดองกันระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและชนชั้นนำทางจารีตเพื่อรักษาระบบเดิมเอาไว้ นั่นคือระบบที่อำนาจสูงสุดไม่ใช่ของประชาชน ทหารมีอำนาจเหนือสังคม รัฐราชการรวมศูนย์ กฎหมายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ความมั่นคงอยู่เหนือพลเรือน ทุนใหญ่มีอำนาจเหนือระบบเศรษฐกิจ



เชื่อมั่นอุตฯดิ่งสุดรอบ 1 ปี หนี้ครัวเรือนพอก – ส่งออกร่วง วอนลดราคาพลังงาน ตรึงดอกเบี้ย
https://www.matichon.co.th/economy/news_4176868

ความเชื่อมั่นอุตฯดิ่งสุดรอบ 1 ปี หนี้ครัวเรือนพอก – ส่งออกร่วง วอนลดราคาพลังงาน ตรึงดอกเบี้ย 2.25%
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลง จาก 92.3 ในเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 1 ปี มีผลมาจากปัจจัยลบ อาทิ ด้านการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง สภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลกระทบปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่อาจมีผลกระทบยาวไปถึงปี 2568 ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตกรลดลง และความกังวลต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลผสม อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมยังมีความกังวลเรื่องราคาพลังงานอีกด้วย
 
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.5 ปรับตัวลดลง จาก 100.2 ในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและไม่แน่นอน กระทบต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566 รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังกังวลนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต อาทิ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงาน
 
จากความกังวลดังกล่าว ส.อ.ท. จึงมี 4 ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย 

1. เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศทดแทนอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัว 

2. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำการปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันและก๊ซ และการสนับสนุนสินค้าเอสเอ็มอี เป็นต้น
 
3. เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ที่ 2.25% ต่อปี รวมถึงกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ ให้ส่วนต่างลดลง เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ และ 4.เร่งรัดโดรงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว ให้ดำเนินการลงทุนตามที่ได้รับอนุมัติ และจัดกิจกรรมโรดโชว์เชิงรุก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะธุรกิจที่ย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีน



‘อมรเทพ’ แนะรัฐออกมาตรการเฉพาะกลุ่ม ช่วยกลุ่มอ่อนแอ ชี้เงินดิจิทัลใช้ได้ระดับหนึ่ง
https://www.matichon.co.th/economy/news_4177841

‘อมรเทพ’ แนะรัฐออกมาตรการเฉพาะกลุ่ม ช่วยกลุ่มอ่อนแอ ชี้มาตรการเงินดิจิทัลใช้ได้ระดับหนึ่ง
 
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวถึงภาพรวมนโยบายของรัฐบาล ว่า ให้ความสำคัญกับนโยบายสำคัญอย่างนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท คลายความกังวลที่รัฐบาลไม่ได้พยายามจะออกแบบนโยบายที่เสียวินัยทางการคลัง หมายถึงไม่ได้ใช้เงินจากนอกงบประมาณที่อาจจะส่งผลกระต่อตลาดเงินตลาดทุน ไม่ทำให้เสียวินัยทางการเงินและการคลัง แต่สิ่งที่ทำตามมาคือการลดงบประมาณจากหน่วยงานอื่นเพื่อใช้ในโครงการนี้จะกระทบต่องบลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รอความชัดเจนว่าสุดท้ายรัฐบาลจะทำนโยบายอย่างไร อาจมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นอีก
 
คาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วยการทำนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งเศรษฐกิจไทยพ้นโควิดแล้ว แต่การฟื้นของเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง กลุ่มระดับล่างยังมีกำลังซื้ออ่อนแอ ดังนั้น ควรหามาตรการเจาะจงเฉพาะกลุ่มมากกว่าการหว่านแห แต่มาตรการเงินดิจิทัลก็ใช้ได้ระดับหนึ่ง ต้องติดตามต่อไป”นายอมรเทพกล่าวและว่า อย่างไรก็ตามเป็นห่วงว่านโยบายอาจทำให้หนี้ของรัฐบาลสูงขึ้น แม้ไม่กระทบอันดับความน่าเชื่อถือแต่กระทบต่อภาระทางการคลังระยะยาว ปัญหานี้รัฐบาลต้องหามาตรการเพิ่มรายได้ อาจพยายามเก็บภาษีด้านอื่น รวมถึงขยายฐานภาษีดึงคนมีรายได้เข้าระบบ ถ้ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว จะเก็บภาษีง่ายขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่