JJNY : 5in1 แนะทินเอาทหารออก│“เซีย”ทวงสัญญาแรงงาน│งง‘เอลนิโญ’ไม่อยู่ในวาระด่วน│ส.อ.ท.จ่อยื่นแก้ศก.│ญี่ปุ่นเตรียมปรับครม.

สัมภาษณ์ : อ.สุรชาติ นโยบายเศรษฐาไม่ชัดเจนเท่ายิ่งลักษณ์ แนะบิ๊กทิน เอาทหารออกจากการเมือง
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4177366
 
 
สัมภาษณ์พิเศษ : ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นโยบายเศรษฐาไม่ชัดเจนเท่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ข้อเสนอเร่งด่วน 10 ประการถึงสุทิน คลังแสง รมว กลาโหม 8 ข้อเสนอ ชี้ ต้องปฏิรูปกองทัพ เอาทหารออกจากการเมือง ติดตามรายละเอียดจากคลิปด้านล่างนี้

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


“เซีย”ก้าวไกล ซัดจุก นายกฯ-เพื่อไทย ทวงสัญญาแรงงาน อย่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์
https://www.matichon.co.th/clips/news_4177396

เซีย จำปาทอง” ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายการแถลงนโยบายของนายกฯและรัฐบาลเพื่อไทย จี้ เร่งแก้ปัญหา 3 เรื่องหลักแรงงานไทย จัดหนัก สนง.ประกันสังคมถามความโปร่งใสนำเงินไปลงทุน ทวงสัญญานโยบายพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ อย่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์  ติดตามรายละเอียดจากคลิปด้านล่างนี้

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


ก้าวไกล อัด นโยบายสิ่งแวดล้อมมีแต่วาทกรรม จับต้องไม่ได้ งง ‘เอลนิโญ’ ไม่อยู่ในวาระด่วน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4177284

ส.ส.ก้าวไกล อัดนโยบายสิ่งแวดล้อมมีแต่วาทกรรม จับต้องไม่ได้ ติงหานโยบายกำจัดขยะไม่เจอ ด้าน “ศนิวาร” งง ‘เอลนิโญ’ ไม่อยู่ในวาระเร่งด่วน
 
เมื่อเวลา 15.52 น. วันที่ 12 กันยายน ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันที่สอง โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม
 
นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมว่า ไม่มีการกำหนดขั้นตอน และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่มีแต่วาทกรรม ปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่มีการพูดถึงแทบทุกวัน คือปัญหาการจัดการขยะที่รัฐบาลที่แล้วพยายามซุกไว้ใต้พรม ซึ่งดูแล้วรัฐบาลใหม่กำลังจะเดินตามรอยนั้น ที่น่ากังวลคือท่านจะเอาพรมมาวางทับไปอีกชั้นหนึ่ง ตนหาข้อติติงนโยบายการจัดการขยะไม่ได้เลย เพราะไม่มีคำว่าขยะอยู่ในนโยบายเลย ซึ่งในรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐบาลต้องจัดการให้มีการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น
 
นายพูนศักดิ์กล่าวว่า ขอฝากการบ้านให้นายกรัฐมนตรี ช่วยกันขบคิดแก้ปัญหา เพราะนโยบายที่ท่านออกมาจับต้องไม่ได้เลย ทำให้ตนไม่เชื่อว่าจะจัดการปัญหาขยะได้ รัฐบาลจะมีมาตรฐานการดำเนินงานในการควบคุมบ่อขยะอย่างไร จะมีระบบอย่างไรที่จะทำให้บ่อขยะเหล่านี้มีระบบควบคุม บำบัด และจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติในปี 2557 ต่อมาปี 2559 มีนโยบายเมืองไทยไร้ขยะ โดยมีแผนแม่บทจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ แต่เราจ่ายเงินไปมากกว่า 3,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2562 ในการติดตั้งระบบจัดการขยะให้กับเทศบาลใหญ่ๆ ของประเทศ แต่จากการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ น่าเศร้าว่ากว่าครึ่งของระบบที่ติดตั้งใช้ไม่ได้ หรือหยุดดำเนินการ
 
นายพูนศักดิ์กล่าวว่า ท่านจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ของรัฐบาลชุดก่อนอย่างไร เพราะหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบการจัดการขยะขณะนี้มี 16 กระทรวง ซึ่งต่างพอใจที่จะจัดการขยะที่ตัวเองรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน อัตรารีไซเคิลของประเทศไม่เพิ่มขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมากว่า 10 ปี โดยที่รัฐบาล คสช. เคยผ่านวาระที่หนึ่งมาแล้วแต่จากนั้นถูกปัดตก จนปัจจุบันรัฐบาลหมดวาระไปแล้วยังไม่พบว่ามีการนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมายังกระบวนการของรัฐสภาอีกเลย ขอใช้โอกาสนี้ตามหาร่างกฎหมายดังกล่าว
 
จากนั้น นางสาวศนิวาร บัวบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า น่าแปลกใจที่ปรากฏการณ์เอลนิโญไม่ได้ถูกบรรจุในวาระเร่งด่วน ทั้งที่เอลนิโญเป็นที่มาของภัยแล้ง อาจสร้างความเสียหายถึง 5.0-7.8 หมื่นล้านบาท เพราะ 3 ใน 4 ของพื้นที่การเกษตรอยู่นอกเขตชลประทาน ทำให้การเพาะปลูกในปีหน้ามีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ตนเชื่อว่า ประชาชนยังอยากเห็นแนวทางป้องกันปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ สุดท้ายหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครม.เศรษฐา 1 จะเป็น ครม.ที่คิดถึงประชาชน รุก รับ ปรับตัวได้ไว และมีธรรมาภิบาล



ส.อ.ท. จ่อยื่นนายกฯ แก้เศรษฐกิจ - ลุ้นระทึกน้ำมันปลายปีแตะ 100 เหรียญ
https://www.khaosod.co.th/economics/news_7862922

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. เตรียมจัดทำข้อเสนอ (Position Paper) ยื่นให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พิจารณาเกี่ยวกับแนวทางและการปฏิบัติในการแก้ไขเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ลงลึกรายละเอียดแต่ละด้าน รวมถึงการดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และการแก้ปัญหาด้านราคาพลังงาน ที่ขณะนี้ภาคเอกชนมีความกังวลแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ไทยนำเข้าราคาน้ำมันของไทยแพงขึ้น และเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวยิ่งกดดันราคาน้ำมันตลาดโลกขยับขึ้นมีโอกาสแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล คาดว่าจะจัดทำแล้วเสร็จช่วงปลายเดือนก.ย. หรือต้นเดือนต.ค.นี้
 
แนวนโยบายการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีนั้น ควรศึกษาถึงข้อดีและผลกระทบที่จะตามมาให้รอบด้านก่อน ดังนั้นควรผ่าตัดโครงสร้างทั้งระบบเพื่อแก้ไขแบบยั่งยืน ส่วนเรื่องค่าไฟที่ผ่านมา ส.อ.ท.เรียกร้องให้ค่าไฟฟ้าลดลงอยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วย ซึ่งค่าไฟงวดปัจจุบันเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 4.45 บาท/หน่วย จากงวดก่อนหน้าอยู่ที่ 4.70 บาท/หน่วย เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะให้ของขวัญแก่ประชาชน ถ้ายิ่งต่ำกว่านี้ก็ยิ่งดี

นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่สิ่งที่เราอยากได้ คือ ความยั่งยืนโดยราคาพลังงานของไทยควรอยู่ในจุดที่แข่งขันได้ ไม่ใช่ต้องมาคุยแก้ไขกันบ่อยๆ ซึ่ง ส.อ.ท. จะทำการบ้านอย่างละเอียดเป็นข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณา โดยจะหาโอกาสพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี เพื่อทำงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
 
สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลง จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 92.3 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และต่ำสุดในรอบ 1 ปี เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอโดยเฉพาะสหรัฐ จีน และยุโรป ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง
 
นอกจากนี้ เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า มีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลผสม
 
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.5 ลดลง จากเดือนก่อนคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 100.2 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชขนและไม่แน่นอน กระทบต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566 รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า และผู้ประกอบการยังกังวลนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงาน
 
ดังนั้น ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะให้ เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% ต่อปี รวมถึงกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (Spread) ให้ส่วนต่างลดลง เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ และขอให้เร่งรัดโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว ให้ดำเนินการลงทุนตามที่ได้รับอนุมัติ และจัดกิจกรรมโรดโชว์เชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่ย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีน
 
ขณะเดียวกัน เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศทดแทนอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัว เช่น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มาตรการเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เป็นต้น เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันและก๊าซ การสนับสนุนสินค้าเอสเอ็มอี เป็นต้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่