JJNY : 5in1 เชื่อรบ.เศรษฐาอยู่ถึง พ.ค.67│ชัยธวัชยืนกรานกมธ.│ชัชชาติคว้ารางวัล│ตลาดข้าวโลกตึงตัว!│“สงครามโดรน”จุดติด

ปริญญา เชื่อรัฐบาลเศรษฐา อยู่ถึง พ.ค.67 ยกจุดแข็งคุมงบประมาณ มีอำนาจต่อรอง
https://www.khaosod.co.th/election-2023/news_7849495
 
 
ปริญญา ชี้จุดแข็ง ‘เศรษฐา’ นายกฯควบคลัง คุมงบประมาณ มีอำนาจต่อรองพรรคร่วม คาดรัฐบาลอยู่ถึง พ.ค.67 หลังสว.หมดวาระ อาจมีจุดเปลี่ยน รอดูผลงาน
 
วันที่ 4 ก.ย.2566 นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในรายการ “อยากมีเรื่องคุย” ทางข่าวสดออนไลน์ ถึงครม.เศรษฐา 1 ว่า พรรคเพื่อไทยคงลำบากในการทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน เพราะหลายกระทรวงต้องเสียให้พรรคร่วม อย่างกระทรวงมหาดไทย ปกติไม่มีพรรคแกนนำไหนยอมเสียให้พรรคร่วม แต่ก็ยอม

อาจเป็นเพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เคยประกาศไว้ว่าแม้จะเป็นรัฐบาลพรรคร่วมที่เป็นพรรคร่วมเดิม แต่ก็ไม่ได้นั่งกระทรวงเดิม ถือว่า นายเศรษฐามีฝีมือพอสมควร เพราะหากปล่อยให้นั่งกระทรวงเดิมต่อไปอีก 4 ปี พรรคเพื่อไทยจะไปทำอะไรไม่ได้เลย
 
กระทรวงพลังงานก็ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งที่เป็นกระทรวงที่มีงบประมาณสูง น่าแปลกใจที่เพื่อไทยยอมให้พรรคที่มี สส.แค่ 36 คน น่าจะมีอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ สส. 9 คนต่อ 1 รัฐมนตรี คนเลยเชื่อมโยงกับ สว.ที่โหวตให้นายเศรษฐาในสภา ว่าน่าจะเป็นดีลลับกับรวมไทยสร้างชาติ มากกว่าเป็นการดีลลับกับพลังประชารัฐ
 
นอกจากนี้กระทรวงที่จะผลักดันนโยบาย จะเห็นว่าเพื่อไทยมีกระทรวงการคลัง พาณิชย์ แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ การทำผลงานเรื่องเกษตรก็จะลำบาก กระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ใช่ของเพื่อไทย ดูแล้วในแง่ของ ครม. คำถามคือนายเศรษฐา จะบริหารข้ามกระทรวงของพรรคอื่นได้แค่ไหน
 
แต่ก็มีจุดแข็งคือนายเศรษฐา เป็นนายกฯ คนแรกๆ ที่นั่งคุมกระทรวงการคลัง ปกตินายกฯ จะควบกลาโหม แต่นายกฯไม่คุม ขอคุมคลัง ซึ่งน่าสนใจมาก แปลว่าใช้กลยุทธ์คุมกระเป๋าตังค์ ต่อรองกับพรรคอื่น เพราะคุมงบประมาณต่างๆ เอง เพื่อมีอำนาจต่อรอง
  
ส่วนกลาโหมเป็นกระทรวงที่ไม่มีใครอยากได้ เพราะไปทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากกองทัพเขามีโครงสร้าง วางกลไกไว้หมดแล้วตลอด 9 ปี ส่วนรัฐมนตรีที่เป็นสายล่อฟ้ามีอยู่ 2-3 คน
 
นายปริญญา กล่าวว่า ส่วนรัฐบาลจะอยู่นานแค่ไหน ให้ดูผลงานเดือนแรก ออกมาแล้วฟอร์มเป็นอย่างไร ถ้าผลประโยชน์ร่วมกันก็อยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือ สว.หมดวาระ 11 พ.ค.2567 เนื่องจากนายเศรษฐา เป็นนายกฯ ด้วยเสียง สว. หาก สว.ชุดนี้ไม่อยู่แล้ว หรือถ้ามีการเลือกนายกฯ ใหม่ไม่ว่าด้วยเหตุใด ใช้แค่เสียงเกินครึ่ง สมการการเมืองจะเปลี่ยนไป แต่เชื่อว่าน่าจะอยู่ถึงจน สว.หมดวาระ นั่นคือ 11 พ.ค.2567 อยู่ 8-9 เดือนได้แน่ เพราะนายเศรษฐา เป็นนักบริหารที่มีความสามารถ รวดเร็วในการแก้ปัญหา
 
แต่จุดอ่อนมากๆ ของนายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย นอกจากจะอยู่ได้เพราะพรรคร่วม ยังมีอีก 2 เรื่องที่จะพัง ทำให้อายุรัฐบาลสั้นคือ
 
1 .คนสงสัยว่า นายเศรษฐา เป็นอิสระจากคนที่นอนชั้น 14 รพ.ตำรวจมากน้อยแค่ไหน ทนายความครอบครัวชินวัตร มาได้ยังไง นายชูศักดิ์ ศิรินิล หลุดจากรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายได้ยังไง เพราะตนให้คะแนนไม่แพ้นายวิษณุ เครืองาม แต่กลับไปเปลี่ยนเป็นนายพิชิต ชื่นบาน และคนทูลเกล้าฯ ให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไปตอกย้ำว่า ถ้าจะมีดีลก็พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผลของดีลจะกลับมากระทบนายเศรษฐา หรือไม่
 
2. ผลเลือกตั้งที่ 27 ล้านคะแนนหวังให้ฝ่ายค้านเดิมมาเป็นรัฐบาล การปล่อยมือก้าวไกล จับมือ 2 ลุง ก็ถามกันมาก ทำให้มีจุดอ่อนในการบริหารการเมืองและเสียงสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งสภาล่มสัปดาห์ก่อนก็ชี้ให้เห็นแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องท้าทาย เพราะนายเศรษฐา เป็นนายกฯ มาจากเสียงอีกข้าง และสว. ดังนั้น ต้องรอครบ 1 เดือน เพราะประชาชนไม่ให้เวลาฮันนีมูนแล้ว ถ้าตั้งหลัก 1 เดือนได้ ก็ดูจะไปได้สัก 9 เดือน เอาแค่ 9 เดือน เพราะจะไม่มี สว.แล้ว ถ้าทำได้ดีก็อยู่ต่อไปได้ จึงต้องรอดูฝีมือ
 


ชัยธวัช ยืนกราน กมธ.งบประมาณ-ป.ป.ช. ต้องให้ฝ่ายค้าน ถ้ารบ.จะเอา ใครจะตรวจสอบได้
https://www.matichon.co.th/politics/news_4162942

‘ชัยธวัช’ เผย ยังไร้ข้อยุติแบ่ง กมธ. เหตุ รบ.อยากได้ กมธ.ที่เป็นเจ้ากระทรวง ชี้ ต้องให้ฝ่ายค้านนั่งเพื่อตรวจสอบ มอง ควรมีธรรมเนียมโควต้าบาง กมธ.ให้ฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบ
 
เมื่อเวลา 15.45 น. วันที่ 4 กันยายน ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ หลังการประชุมตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ ประจำสภาผู้แทนราษฎร 35 คณะ นัดที่ 2 ว่า ตอนนี้ได้ข้อยุติแล้ว ส่วนพรรคไหนจะได้ กมธ.ชุดไหน ยังต้องใช้เวลาในการเจรจา เพราะเป็นเรื่องปกติที่พรรครัฐบาลอยากได้ กมธ.ที่ตรงกับกระทรวงตน ซึ่งทางพรรค ก.ก. ในฐานะพรรคฝ่ายค้านพยายามบอกว่า ไม่ควรจะเป็นแบบนั้นทั้งหมด ต้องมี กมธ.สำคัญที่เป็นบทบาทของฝ่ายค้านเข้าไปตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทำให้ต้องใช้เวลาในการพูดคุยกัน เช่น กมธ.งบประมาณ และกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ควรอยู่ในฝ่ายค้าน หากไม่อยู่ในฝ่ายค้าน ใครจะทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่ทางรัฐบาลเสนอว่า อยากนั่ง กมธ.บางชุด เช่น กมธ.ป.ป.ช. เราก็โต้แย้งว่า ใครจะตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ
 
เมื่อถามว่า ฝ่ายรัฐบาลให้ความเห็นว่าที่ต้องได้ กมธ.ตรงกับกระทรวงเป็นเพราะจะทำให้การทำงานราบรื่นขึ้น นายชัยธวัชกล่าวว่า มองในด้านกลับกันอาจจะทำให้กลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลของสภาผู้แทนราษฎรมีปัญหา แต่ไม่เป็นไร ตนคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องใช้เวลาในการพูดคุยกัน
 
เมื่อถามว่า หากพูดคุยตกลงกันไม่ได้จะถึงขั้นโหวตเลยหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่มีข้อยุติ แต่คิดว่าน่าจะตกลงกันได้ ส่วนจะให้ใครเลือกก่อนนั้น ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากพรรคส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นรัฐบาล ภาระจึงตกมาที่พรรค ก.ก.ที่จะต้องไปเจรจากับทุกฝ่าย
 
เมื่อถามว่าพรรค ก.ก.จะต้องได้ กมธ.ป.ป.ช.หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า เป็นการยกตัวอย่าง แต่วันนี้ยังไม่จบ

นายชัยธวัชกล่าวว่า กรรมาธิการบางชุดควรจะมีธรรมเนียมที่ชัดเจนว่าจะต้องเป็นของฝ่ายค้าน เช่น กมธ.งบประมาณ กมธ.ป.ป.ช.
  
เมื่อถามว่ากรรมาธิการไหนที่พรรค ก.ก. ยอมที่จะไม่ได้รายชื่อ นายชัยธวัชกล่าวว่า กรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ
 


ชัชชาติ ภูมิใจกทม. คว้ารางวัลเลิศรัฐ 2 ผลงาน ชี้เป็นผลงานของเจ้าหน้าที่ทุกคน
https://www.matichon.co.th/local/news_4163371

ชัชชาติ ภูมิใจกทม. คว้ารางวัลเลิศรัฐ 2 ผลงาน ชี้เป็นผลงานของเจ้าหน้าที่ทุกคน
 
เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 19/2566 เรื่อง กทม.ได้รับรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
 
นายชัชชาติ กล่าวว่า มีเรื่องที่เราภาคภูมิใจมาก คือ รางวัลเลิศรัฐ ซึ่งเป็นรางวัลที่สำนักงาน ก.พ.ร. คัดเลือกจากหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ โดย กทม.มีผลงานที่ผ่านการประเมินและได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 จำนวน 2 รางวัล ดังนี้ 1.ระดับดีเด่น สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน ได้แก่ ผลงาน BMA เปิดระบบ เปิดใจ ใกล้ชิดประชาชน โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) จากหน่วยงานที่ส่ง จำนวน 740 ผลงาน และ 2.ระดับดี สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริหาร ได้แก่ ผลงาน โครงการ Smart OPD โดยสำนักการแพทย์ จากหน่วยงานที่ส่ง จำนวน 832 ผลงาน
 
สำหรับ BMA เปิดระบบ เปิดใจ ใกล้ชิดประชาชน เป็นผลงานที่เกิดจากการปรับปรุงระบบการทำงานของเราใน 1 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเปิดระบบราชการโดยให้ประชาชนเข้ามาส่วนร่วมในการแจ้งและแก้ไขปัญหาเมือง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรก การให้บริการของศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ส่วนที่ 2 การให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อว่า Traffy Fondue ส่วนที่ 3 การเชื่อมโยงศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ (1555) กับระบบ Traffy Fondue
 
ทั้งนี้ BMA เปิดระบบ เปิดใจ ใกล้ชิดประชาชน มีแนวคิดมาจาก Open Governance 7 ด้าน ประกอบด้วย 1. การเปิดเผยข้อมูล โดยมีช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและเท่าเทียม 2. ช่องทางการให้บริการและเข้าถึงข้อมูลสำหรับกลุ่มเปราะบาง 3. การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเมือง 4. การยกระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเข้าสู่ระบบ Online 5. การส่งเสริมความโปร่งใสและต่อต้านทุจริต 6. การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน และ 7. การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาการให้บริการและทำงานเชิงรุก
 
ในส่วนของ โครงการ Smart OPD เป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ รวมถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินและข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลของโรงพยาบาลในเครือข่ายกรุงเทพมหานคร โดยเชื่อมโยงเข้ากับระบบสารสนเทศโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่ง ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภท Smart Device รองรับระบบปฏิบัติการ IOS และ Android

ทั้ง 2 รางวัลนี้เป็นสิ่งที่เราภูมิใจ เพราะถือเป็นความสำเร็จเชิงนโยบายที่เราได้ดำเนินการมา โดยใช้หลักในการให้ทุกคนมีส่วนร่วมและมีความเข้าใจจิตใจประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืน” นายชัชชาติกล่าว
 
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้ กทม.จะเข้ารับรางวัล ITA จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยปีที่แล้วมีเขตได้รับรางวัลดีเยี่ยมประมาณ 10 เขต ส่วนในปีนี้เพิ่มเป็น 26 เขต จาก 50 เขต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราดำเนินการเรื่องความโปร่งใสอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา
 
รางวัลที่ได้รับเป็นรางวัลของเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ใช่เฉพาะของผู้ว่าฯ เป็นรางวัลของทีมงานที่ร่วมมือกันและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูล อย่างไรก็ตาม รางวัลต่าง ๆ เป็นเหมือนกำลังใจที่ทำให้เราเดินหน้า ซึ่งเรายังต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” นายชัชชาติกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่