JJNY : ตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบสร้างสถานีไฮสปีดเทรน│ศชอ.ปิดตัว│ห้างดังนครสวรรค์ พ่ายพิษเศรษฐกิจ│เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ

ส.ส.อยุธยา เตรียมเสนอญัตติด่วน ตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบสร้างสถานีไฮสปีดเทรน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4158834

ทวิวงศ์ ส.ส.อยุธยา พรรคก้าวไกล เตรียมเสนอญัตติด่วน ตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบสร้างสถานีไฮสปีดเทรน จ่อดักเจอ ‘สุจิตต์’ งานเปิดโกดังหนังสือการเมือง หารืออนุรักษ์ ‘อโยธยา’

เมื่อวันที่ 1 กันยายน นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล (พระนครศรีอยุธยา-บางบาล) ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ เกี่ยวกับประเด็นการเตรียมยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลกเมืองเก่าอโยธยาจากโครงการรถไฟความเร็งสูง สถานีอยุธยา (ย้อนอ่าน ‘อดีตอธิบดีกรมศิลป์’ เบรกให้คิดใหม่ ดึงเทคโนโลยีทำ ‘รถไฟไฮสปีด’ ถึงเสียเงิน-เวลา แต่มรดกอยุธยาไม่ตาย)
 
นายทวิวงศ์กล่าวว่า ตนเตรียมเสนอให้กรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมองว่าการดำเนินการสร้างสถานีในพื้นที่ตามที่ปรากฏในโครงการจะส่งผลกระทบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่ผ่านมาตนเคยเข้าร่วมกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นซึ่งจัดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งแต่ตอนยังไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในวันนี้ เมื่อได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาวอยุธยา จึงพร้อมดำเนินการเพื่อให้ชาวอยุธยาได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผลดี และผลเสียที่จะเกิดขึ้น รวมถึงตัวเลือกในการพัฒนาสถานี
 
“ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงอย่างชัดเจนว่าผมไม่เคยปฏิเสธรถไฟความเร็วสูง และอยากให้มีอย่างมาก ในฐานะสถาปนิกผังเมืองย่อมอยากเห็นเมืองเจริญ แต่จุดที่จะก่อสร้างสถานีมีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบหลายด้านต่อคนในพื้นที่ ต่อสังคม เศรษฐกิจ มีความกังวลที่ว่า ถ้าสถานียังจะถูกสร้างขึ้นในพื้นที่สถานีรถไฟอยุธยาเดิมจะส่งผลกระทบอย่างสูง ดังนั้น จึงอยากเห็น TOD (Transit Oriented Development) ที่มีศักยภาพจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ได้บอกว่าห้ามไม่ให้มีรถไฟ แต่ต้องมี TOD เพื่อชาวอยุธยา” นายทวิวงศ์กล่าว

นายทวิวงศ์กล่าวต่อไปว่า ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่การมีหรือไม่มีรถไฟความเร็วสูง แต่อยู่ที่ ‘ตำแหน่งที่ตั้ง’ ของสถานีซึ่งมีปัญหามาก ดังนั้น อย่างแรก ต้องมีการทบทวนแผนการก่อสร้างและพัฒนาของสถานีอยุธยาเดิมว่าจะดำเนินการเช่นนั้นจริงหรือไม่ อย่างที่สอง คือการทำ HIA (Heritage Impact Assessment การศึกษาผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม) ที่ดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จ โดยถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
 
ขอให้เป็น HIA ครั้งแรกของไทยที่สมเกียรติ เป็นความรู้ เป็นข้อเท็จจริงสำหรับประชาชน ไม่ใช่ HIA หรือ EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) แบบหลอกๆ อย่างที่เคยทำกันมา” นายทวิวงศ์กล่าว (ย้อนอ่าน สปาฟา ติงประเมิน HIA ไฮสปีดเทรนอยุธยา ‘ไม่สามารถทำให้คนรับฟังเชื่อได้’ อ.โบราณฯแจงติด 2 กรอบ)

นายทวิวงศ์กล่าวว่า สำหรับอย่างที่ 3 คือ ต้องมาพิจารณาว่า สุดท้ายยังจะสร้างที่เดิมหรือไม่ หรือมีตัวเลือกใหม่ที่ประชาชนกังวลน้อยกว่า และมีผลกระทบน้อยกว่า หรือที่เดิมดีที่สุดแล้ว แต่จะพัฒนาอย่างไรต่อไป
 
สำหรับผมในฐานะสถาปนิกและนักวางผังเมืองมองว่า ถ้ามี TOD ที่ดี ผู้โดยสารจะรู้ว่าจะไปต่อด้วยขนส่งสาธารณะแบบไหน ไม่ใช่ว่าเอารถยนต์ส่วนตัวมารับ รถติดเหมือนเดิม ซึ่งส่วนที่ 3 นี้พอได้ตำแหน่งสถานที่ หรือคิดว่าจะสร้างตรงนั้นตรงนี้แล้ว สุดท้ายการทำ TOD ต่อไปจะทำอย่างไร เอาแค่รอบสถานีก็ได้ ว่าคุณมีขนส่งสาธารณะอื่นๆ หรือที่เรียกว่า ฟีดเดอร์ มารองรับหรือไม่
 
คุณไปรถเมล์ได้ไหม ไปรถรางได้ไหม มีทางจักรยานเชื่อมเข้าเมืองหรือเปล่า มีทางเท้าดีๆ ร่มรื่นสำหรับเดินเข้าเมืองหรือไม่ รวมถึงท่าเรือข้ามฟากจะเปลี่ยนไปอย่างไร รองรับจักรยานยนต์หรือไม่ และรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่อ 1 เที่ยวได้มากขึ้นหรือไม่ เส้นเลือดฝอยสำคัญที่สุด เพราะรถไฟความเร็งสูงคือเส้นเลือดหลักที่จะมาอยุธยายังไม่มีเส้นเลือดฝอยมารองรับเลย ซึ่งย่อมส่งผลกระทบแน่นอน” นายทวิวงศ์กล่าว
 
นายทวิวงศ์กล่าวด้วยว่า ในวันเสาร์ที่ 2 กันยายนนี้ ตนจะเดินทางไปร่วมงาน ‘เปิดโกดังหนังสือการเมือง’ ครั้งแรก ที่มติชน อคาเดมี เพื่อขอพบนายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีกำหนดการบรรยายในหัวข้อ ‘คนไม่ไทย ในโซเมีย (ของนิธิ) กลายตนเป็นคนไทยในเมืองไทย’ ในเวลา 13.00 น. เพื่อหารือประเด็นดังกล่าว เนื่องจากนายสุจิตต์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองอโยธยาซึ่งจะถูกทำลายหากมีการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง
 
ความคิดเห็นส่วนตัวผมมองว่าอยากให้อนุรักษ์โบราณสถานอย่างจริงจัง การอนุรักษ์ต้องมาก่อน เพราะหากถูกทำลายจะไม่สามารถนำกลับคืนมาได้” นายทวิวงศ์กล่าว
 


ศชอ. ประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการ ชี้ บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติแล้ว
https://www.matichon.co.th/politics/news_4159152

ศชอ. ประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังเคลื่อนไหว 3 ปี ชี้ บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติแล้ว
 
เมื่อวันที่ 1 กันยายน เฟซบุ๊กของ ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ศชอ. ได้เปิดเผยว่า เตรียมปิดเฟซบุ๊ก เนื่องจากบ้านเมืองได้กลับสู่สภาวะปกติ โดยมีข้อความว่า
 
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา ประกาศ ปิดศชอ. อย่างเป็นทางการ
3 ปีเต็ม (ในวันพรุ่งนี้) ที่ศชอ. ได้ก่อเกิดขึ้นมาในช่วงที่สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง สถาบันฯถูกคุกคามอย่างหนัก ศชอ.ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ตามกำลังที่มีในการออกมาปกป้อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ด้วยการใช้กฎหมาย บัดนี้บ้านเมืองกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ศชอ.จึงขอยุติบทบาทตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุน ศชอ.ด้วยดีเสมอมา แล้วเจอกันใหม่เมื่อชาติมีภัย
ศชอ.
 
1 กันยายน 2566

ในเฟซบุ๊กของกลุ่มดังกล่าว ได้เปิดขึ้นโดยระบุว่า ต้องการให้คำปรึกษาทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด Bully ทางสังคมออนไลน์
 
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) เป็นกลุ่มการเมืองที่ดำเนินการตามแนวทางอนุรักษ์นิยม ก่อตั้งขึ้นและมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในท่ามกลางกระแสการต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

การเคลื่อนไหวของ ศชอ. นั้น มุ่งเน้นไปในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำบนพื้นที่ออนไลน์เป็นหลัก โดยวิธีการสำคัญอย่างหนึ่ง คือการรวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความต่อบุคคลต่างๆ  โดยใช้แฟนเพจเฟซบุ๊กในชื่อเดียวกับกลุ่ม เป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร
 

  
ปิดตำนาน ‘แฟรี่แลนด์’ ห้างดังนครสวรรค์ พ่ายพิษเศรษฐกิจ บิ๊กทุนรุมซื้อ
https://www.matichon.co.th/economy/news_4159186

ปิดตำนาน ‘แฟรี่แลนด์’ ห้างดังนครสวรรค์ พ่ายพิษเศรษฐกิจ บิ๊กทุนรุมซื้อ
 
อยู่คู่ชาวปากน้ำโพมากว่า 36 ปี สำหรับห้างสรรพสินค้าในตำนาน “แฟรี่แลนด์” แต่ด้วยปัจจัยหลากหลายอย่างที่ถาโถมทำให้ต้องถอดใจปิดบริการ
 
ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ซึมลึก สภาพตลาดที่การแข่งขันที่ดุเดือด และการรุกคืบของศูนย์การค้าขนาดใหญ่
 
ล่าสุด “เซ็นทรัล” ได้เข้าไปลงทุนในจ.นครสรรค์ ผุดโครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 5,800 ล้านบาท บนพื้นที่ 42 ไร่ มีครบทั้งศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม  โรงแรม และโรงพยาบาลสินแพทย์ โดยเตรียมอวดโฉมศูนย์การค้าเซ็นทรัลในไตรมาสแรกของปี 2567
 
เกวลิน ไกรเลิศโสภณ” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แฟรี่แลนด์สรรพสินค้า จำกัด เจนเนอเรชั่นที่2 ของห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์ เปิดใจกับ “มติชนออนไลน์” ว่า ห้างแฟรี่แลนด์มีเนื่อที่กว่า 6 ไร่ เป็นอาคารขนาด 5 ชั้น มีพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร และที่จอดรถ 400 คัน โดยแบ่งการใช้พื้นที่เป็นดีพาร์ทเม้นท์สโตร์และพลาซ่า ล่าสุดได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่จากห้างจะเป็นให้เช่าพื้นที่ 100% แทน
 
เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนจะปิดบริการพื้นที่ชั้น 1 และชั้น 2 เป็นส่วนดีพาร์ทเมนท์สโตร์ และนำพื้นที่มาปล่อยเช่าในราคาไม่สูง ไม่คิดตามระบบค่าเช่าแบบห้างเหมือนเมื่อก่อนที่คิดเป็นตารางเมตร เนื่องจากไม่ได้มีการลงทุนรีโนเวตใหม่ ส่วนพื้นที่พลาซ่า เช่น โซนฟู้ดคอร์ท เคเอฟซี ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ห้างทองวิมลรัตน์ รวมถึงหอศิลป์นครสวรรค์ ยังเปิดให้บริการเหมือนเดิม

ต้องยอมรับว่าการมาของเซ็นทรัล ทำให้เราก็ต้องปรับตัว 100% แต่เป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกัน ซึ่งการที่เราตัดสินใจปิดบริการ เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายจากต้นทุนที่สูงขึ้นมา เช่น ค่าไฟต้องจ่ายเดือนละ 700,000-800,000 บาท บางเดือนเกือบถึงล้านบาท ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นอีกๆ” ทายาทแฟรี่แลนด์แจกแจง
 
เมื่อถามว่า…มีใครสนใจติดต่อขอซื้อบ้างหรือไม่เพราะถือว่าอยู่บนพื้นที่มีศักยภาพเป็นทำเลทอง
 
มีมาคุยอยู่เรื่อยๆ มีหลายราย แต่วัตถุประสงค์ไม่เหมือนกัน บางรายจะขอซื้อทั้งตึก จะทำเป็นอาคารเพื่อการค้า ขายสินค้าจีน หรือบางรายจะเช่าเฉพาะชั้นก็มี ขณะเดียวกันก็มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์จากกรุงเทพติดต่อมาขอซื้อบ้าง แต่ทั้งหมดยังไม่มีอะไรยุติ ยังคุยๆกันเบื้องต้นเฉยๆ” เกวลินย้ำ
 
พร้อมตอบคำถามถ้าหากตีมูลค่าทรัพย์สินมีมูลค่าเท่าไหร่ว่า ก่อนหน้านี้มีการตีมูลค่าอาคารไว้ที่ประมาณ 400 ล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าที่ดิน ถ้ารวมก็คงมากกว่านี้ ถามว่าเราจะขายไหม ก็คงต้องดูอีกทีหนึ่ง ก็คุยไปเรื่อยๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่