JJNY : สื่อนอกเกาะติด‘ทักษิณ’│ซาวเสียง..สเปกรัฐมนตรี ‘ศธ.-อว.’│‘กัณวีร์’ย้ำไม่โหวต‘เศรษฐา’│ค้านทุนจีน ตั้งโรงงานแปรรูป

สื่อนอกเกาะติด ‘ทักษิณ’ กลับไทย หลังลี้ภัย 15 ปี
https://www.matichon.co.th/foreign/news_4140771
  
 
สื่อนอกเกาะติด ‘ทักษิณ’ กลับไทย หลังลี้ภัย 15 ปี
 
สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก อาทิ บีบีซี รอยเตอร์ เอเอฟพี ต่างพากันรายงานข่าวการเดินทางกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 22 สิงหาคม หลังจากที่ต้องเดินทางไปลี้ภัยอยู่นอกประเทศนานถึง 15 ปี แต่ทักษิณก็ยังคงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ทักษิณเป็นบุคคลที่ทำให้เกิดความแตกแยกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เขาเป็นมหาเศรษฐีผู้มีความทะเยอทะยานทางการเมืองและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในสนามเลือกตั้งย้อนหลังไปกว่า 20 ปี ทำให้เกิดปฏิกริยาต่อต้านรุนแรงฝ่ายกลุ่มอนุรักษ์นิยม และทำให้นายกรัฐมนตรีถูกถอดถอนถึง 3 คน และมีการยุบพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนเขาไปถึง 3 พรรค
 
บีบีซีรายงานว่าการกลับมาของทักษิณทำให้มีการสันนิษฐานว่าได้มีการทำข้อตกลงกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพื่อให้เขาไม่ต้องติดคุก ขณะนี้เขามีโทษจำคุกจากคดีอาญาต่างๆ ราว 10 ปี ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เจ้าตัวยืนยันว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง
 
หลังเดินทางถึงไทยคาดว่าเขาจะถูกส่งตัวจากสนามบินดอนเมืองตรงไปยังศาลฎีกา และอาจพักค้างคืนในโรงพยาบาลภายในเรือนจำ แต่ไม่มีใครคาดว่าเขาจะถูกควบคุมตัวเป็นเวลานาน
 
การเดินทางกลับแผ่นดินเกิดของทักษิณมีขึ้นในเวลาเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยการโหวดของ 2 สภาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ซึ่งพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าทั้งสองเรื่องดังกล่าวไม่ได้มีความข้องเกี่ยวกันแต่อย่างใด
 
บีบีซีระบุว่า จุดยืนในการเจรจาของพรรคเพื่อไทยอ่อนลงหลังจากผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามคาด และสูญเสียการสนับสนุนให้กับพรรคก้าวไกล ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารมีภารกิจซ่อนเร้นในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยการสกัดกั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่อาจคุกคามความมั่นคงและสถานะที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมครอบงำการตัดสินใจของไทยมานานหลายทศวรรษ

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สมาชิกวุฒิสภาจะไม่สนับสนุนความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลที่รวมกับพรรคเพื่อไทย ทำให้เพื่อไทยต้องเจรจาหาแนวร่วมใหม่เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีการเชิญพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
การรวมกันของสองขั้วนี้ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด เพราะสำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ภัยคุกคามจากพรรคก้าวไกลและคนไทยรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้มีแก้ไขกฎหมาย ม.112 ได้บดบังความขัดแย้งบาดหมางอันยาวนานกับครอบครัวชินวัตร
 
สำหรับตระกูลชินวัตร พรรคพื่อไทยที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่า และปัจจัยทางธุรกิจ การได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งและการรับประกันข้อตกลงที่จะพาทักษิณกลับบ้านถือเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะกังวลต่อชื่อเสียงของพรรค
 
อย่างไรก็ดี แม้แต่บางคนในพรรคเพื่อไทยเองก็ยังหวาดกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเตือนว่าพรรคจะสูญเสียผู้สนับสนุนระดับรากหญ้ามากขึ้นไปอีก และท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาอาจสูญเสียสถานะของพรรคที่ครอบงำการเลือกตั้งในประเทศไทยเป็นเวลา 2 ทศวรรษไปตลอดกาลอีกด้วย



ซาวเสียง..สเปกรัฐมนตรี 'ศธ.-อว.' ที่อยากได้ 'นักการเมือง-นักการศึกษา-นักบริหาร' ??
https://www.matichon.co.th/education/news_4138320
 
หมายเหตุ… กรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล การเจรจากับพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล และการเจรจาจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ “มติชน” จึงสอบถามความคิดเห็นจากคนในแวดวงการศึกษา เกี่ยวกับผู้เหมาะสมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก่อนที่จะลุ้นการโหวตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้
 
๐ ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล
นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.)
 
ที่มีกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขอคุม ศธ.และจะให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.อีกครั้ง ต้องรอดูว่าจะได้โหวตนายกรัฐมนตรีเมื่อไหร่ แต่ใครจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่ว่าจะคนเก่า หรือคนใหม่ ก็เหมือนเดิมอยู่แล้ว ส่วนตัวอยากให้ พท.เข้ามาดูแล ศธ.เพราะเป็นพรรคใหญ่ และเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
 
ที่ผ่านมา ศธ.ได้รับงบประมาณเป็นอันดับ 1 จึงอยากให้ พท.มาดูแล เพราะมีนักการศึกษา และมีคณะทำงานด้านการศึกษาจำนวนมาก อีกทั้งมีคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ด้วย จึงเชื่อว่า พท.จะเข้าใจบริบทการศึกษา และทำงานได้ทันที เพราะมีหลายเรื่องที่รอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แก้ไขอยู่ อย่างโรงเรียนเอกชนในขณะนี้ มีปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน คือการแก้ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ที่ไม่ได้ปรับแก้มากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งมีบางมาตราที่เป็นอุปสรรค ทำให้โรงเรียนเอกชนไม่สามารถเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ และหากได้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ จะขอหารือเพื่อให้เร่งผลักดันเรื่องนี้โดยเร็ว
 
๐ ดร.วีรบูล เสมาทอง
ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)
 
“ส่วนตัวมองว่าต้องรอให้โหวตนายกฯ ให้เสร็จก่อน เพราะกระแสที่มีอยู่เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น จึงไม่มั่นใจว่า น.ส.ตรีนุชจะกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต่อหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ส.ค.ท.ต้องการรัฐมนตรีว่า ศธ.ที่เป็นมืออาชีพ ผลักดันการศึกษาให้เท่าทันโลก ที่ผ่านมาได้เสนอคุณสมบัติเบื้องต้นของรัฐมนตรี 5 ข้อ ดังนี้ 
1. ต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ 
2. มืออาชีพ มีความรู้ความสามารถด้านการศึกษา เคยเป็นครู และบุคลากรทางการศึกษา หรือเคยบริหารด้านการศึกษา
3. มุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษาโดยแท้จริงเพื่อประชาชน ยึดมั่นในการสืบทอดเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และกฎหมายการศึกษาทุกฉบับ ในการปฏิรูปการศึกษาในอนาคต
4. ให้ความสำคัญของวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพควบคุม และต้องมีสภาวิชาชีพ
และ 5. มีความเชื่อมั่น เลื่อมใส ศรัทธา ในการบริการจัดการที่ยึดธรรมาภิบาล และต้องปกป้องสิทธิของเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ
 
๐ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์
อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)
 
ถ้า น.ส.ตรีนุชมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.อีกครั้ง มีข้อเสียคือจะไม่ได้แนวคิดใหม่ๆ มองว่าควรจะเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อให้มีความคิดใหม่ๆ มาขับเคลื่อนการศึกษา ทั้งนี้ คงไม่สามารถเลี่ยงการแบ่งโควต้ารัฐมนตรีได้ แต่เมื่อจัดแบ่งตามโควต้าแล้ว คนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็ควรจะหานักวิชาการ นักการศึกษา หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา มาเป็นที่ปรึกษา ไม่ใช่เอาคนที่เคยอยู่ ศธ.มาเป็นที่ปรึกษา เพราะถ้าเอาคนจาก ศธ.มาเป็นที่ปรึกษา การให้คำปรึกษาจะอยู่แต่ในกรอบของกระทรวงเท่านั้น และไม่ควรเอา ส.ส.สอบตกมาเป็นที่ปรึกษา ถ้าเอาคนเหล่านี้มาดำรงตำแหน่ง เมื่อไหร่คุณภาพการศึกษาจะเกิดกับนักเรียน และประเทศ ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ จะต้องเปลี่ยนความคิด และต้องคิดนอกกรอบ
 
ความเห็นส่วนตัว ผมอยากให้เปลี่ยนรัฐมนตรี เพราะต้องการคนมีความคิดใหม่ๆ ที่สำคัญแม้จะเป็นคนที่มาจากโควต้า แต่ขอให้แต่ละพรรคคัดเลือกคนที่มีความรู้ด้านการศึกษาในพรรค มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่ควรมองเกรดของกระทรวงเป็นหลัก แต่ควรเอาคุณสมบัติ ความสามารถมาเป็นตัวตั้ง และทางที่ดีควรจะให้พรรคการเมืองหนึ่ง คุมกระทรวงเดียวเบ็ดเสร็จ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่า ศธ.ได้รัฐมนตรีจาก 3 พรรคการเมือง ทั้ง พปชร., พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ทำให้การทำงานยื้อกันไปมา แต่ละคนก็อยากคุมหน่วยงานที่ขับเคลื่อนผลักดันนโยบายพรรคของตนได้ แล้วคนที่รับกรรมคือ ครู นักเรียน และการศึกษาในประเทศ
 
๐ ศ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เรื่องเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญ ถ้ามองในส่วนของ ศธ.อยากให้เห็นความสำคัญในการจัดระบบการศึกษาไทย เพราะมองไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหา เป็นความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ส่วนปัญหาที่ต้องรีบจัดการ และแก้ไข คือ 1.คุณภาพทางการศึกษา 2.คุณภาพของโรงเรียนแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน ทั้งคุณภาพทางการศึกษาที่มีปัญหามากเกินไป ทำให้สังคมเริ่มแยกออกจากกันเรื่อยๆ แทนที่จะรวมเป็นเนื้อเดียวกัน และกลมเกลียวกัน บางโรงเรียนมีทุกอย่าง บางโรงเรียนไม่มีอะไรเลย
 
ส่วน อว.นั้น จริงๆ แล้วกระทรวงนี้ไม่ควรมีตั้งแต่แรก เนื่องจากมหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่ภายใต้ ศธ.มาก่อน ซึ่งเป็นการจัดการที่ดีแล้ว แต่ต่อมายุบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนกลายเป็น อว.ในปัจจุบัน ดูแล้ววุ่นวาย และมองแต่ตัวเองเป็นหลัก โดยมองว่ามหาวิทยาลัยจะทำอย่างไร ถึงจะรักษาผลประโยชน์ส่วนตัวได้มากกว่า แทนที่จะมองผลประโยชน์ทางการศึกษา หรือระบบการวิจัยของประเทศมากกว่า แต่หากมองเรื่องที่ควรเร่งแก้ไข จะมีเรื่อง 1.การจัดการปัญหาที่เกี่ยวกับระบบการสนับสนุนงานวิจัยของประเทศ 2.ระบบการให้ทุนวิจัย และ 3.คุณภาพการวิจัยของอาจารย์ และนักวิจัยในประเทศ ที่มีปัญหาอยู่
 
ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรี ศธ.หากดูจากบุคคลที่เคยดำรงรัฐมนตรีที่ผ่านมา ก็เป็นคนที่ดี ไม่ได้มีปัญหา และไม่ได้สร้างความร้ายแรง หรือก่อให้เกิดความเสียหาย แต่สิ่งที่ยังขาดไปสำหรับรัฐมนตรีในฝันของ ศธ.คือความคิดริเริ่มของการเสนอโครงการใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ ที่จะยกระดับคุณภาพในการแก้ไขปัญหาทางการศึกษา จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ค่อยเห็นลักษณะนี้มากนัก
 
รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ส่วนมากบริหารในเชิงรับมากกว่า แค่อธิบายว่าแก้ปัญหา และแก้ปัญหา แต่กลับเกิดเรื่องดราม่า อย่างกรณีครูทำร้ายร่างกายเด็ก ศธ.บอกต้องแก้ปัญหา และออกกฎ เช่น ห้ามตีเด็ก ห้ามกล้อนผมเด็ก เป็นต้น แต่มีกี่โรงเรียนที่ปฏิบัติตาม ดูเป็นการบริหารเชิงรับ ที่ไม่ได้มีลักษณะของผู้นำการเปลี่ยนแปลง จริงๆ ควรสั่งให้โรงเรียนทั่วประเทศต้องปฎิบัติตาม ซึ่งยังเป็นคุณสมบัติที่ขาดสำหรับคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี
 
ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ อว.ยังคงไร้ตัวตน และดูเป็นตำแหน่งต่างตอบแทนทางการเมือง เพราะในสายตาของนักการเมือง มักมองกระทรวงใหญ่ๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคม ที่เป็นกระทรวงที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้มากกว่า ด้วยความที่ อว.ดูแลรับผิดชอบด้านงานวิจัยเป็นหลัก อาจเป็นเรื่องไกลตัวในสายตาของหลายๆ คน แต่ อว.อาจเป็นกระทรวงที่สร้างชื่อ สร้างผลงานในทางการเมืองได้สำหรับบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง อาจเป็นช่องทาง หรือจุดเริ่มต้นของการสร้างเนื้อสร้างตัวในชีวิตของการเป็นนักการเมือง
 
ทั้งนี้ คุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และรัฐมนตรีว่าการ อว.คือนักการเมืองที่ไม่จำเป็นว่าต้องรู้ทุกอย่าง แต่เป็นงานด้านการบริหารนโยบาย ที่เป็นหน้าที่ และความรับผิดชอบของคนที่เป็นนักการเมือง อีกหนึ่งคุณสมบัติคือ ต้องเป็นผู้บริหาร มองเห็นภาพรวม และมีความตั้งใจจริง อยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้า และเป็นไปในทางที่ถูกต้อง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่