นักวิจัยมะกันโต้นิวยอร์กไทม์ส 'ผู้ชุมนุมไทย'ไม่ต้องการลดปชต. แต่หวังโค่นความเลวร้าย

กระทู้สนทนา
เอ็นเอสเอ็นบีซี - นักค้นคว้าวิจัยทางการเมืองชาวสหรัฐฯ เขียนบทความลงบนเว็บไซต์เอ็นเอสเอ็นบีซี ตอบโต้บทวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สที่อ้างว่าการชุมนุมในไทยผิดแปลกจากชาติอื่นเพราะผู้ประท้วงต้องการเห็นประเทศลดความเป็นประชาธิปไตยลง ชี้ในสายตาของสื่อตะวันตกการชุมนุมจะเป็นประชาธิปไตยก็เมื่อตนเองได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันก็หรี่ตามองข้ามความร้ายกาจต่างๆนานาของระบอบทักษิณ ทั้งฆ่าตัดตอน ละเมิดสิทธิมนุษยชนและคอรัปชัน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ประท้วงจึงแสวงหาการปฏิรูปครั้งใหญ่

ในบทความเรื่อง "New York Times Condemns Thailand’s Counter Color Revolution" ของนายโทนี คาตาลัคซี นักค้นคว้าวิจัยทางการเมืองและนักเขียนชาวอเมริกัน รวมทั้งยังเป็นนักวิจัยภูมิศาสตร์ทางการเมือง เกริ่นว่านายโธมัส ฟุลเลอร์ ของนิวยอร์กไทม์ได้เขียนบทความในเรื่องสถานกาารณ์ทางการเมืองของไทยมานานหลายปี โดยล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ก็คือบทความที่พาดหัวว่า "In Thailand, Standing Up for Less Democracy"

ข้อเขียนของนายคาตาลัคซี เล่าย้อนถึงเนื้อหาในบทความของนายฟุลเลอร์ ที่ระบุว่าในตอนนี้โลกเคยชินกับความไม่สงบทางประชาธิปไตย ในนั้นรวมถึงอาหรับสปริง รวมถึงปฏิวัติปฏิวัติผ้าเหลืองในพม่าและปฏิวัติสีส้มของยูเครน แต่หลายสัปดาห์แห่งความวุ่นวายทางการเมืองของไทยกลับหลุดออกจากวัตถุประสงค์หลักหนึ่ง นั่นก็คือผู้ประท้วงพากันรวมตัวบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ลดความเป็นประชาธิปไตยลง

อย่างไรก็ตามนายคาตาลัคซี ตั้งข้อสังเกตว่าราวกับเป็นเรื่องตลกร้าย เมื่อตัวนิวยอร์กไทม์สเอง ที่เป็นผู้ตีแผ่ธรรมชาติของการประท้วงที่เรียกกันว่า "อาหรับสปริง" ในรายงานพาดหัว "U.S. Groups Helped Nurture Arab Uprisings," โดยนายคาตาลัคซี บอกว่าในรายงานชิ้นนี้ นิวยอร์กไทม์ส ยอมรับเองว่ามีกลุ่มคนและตัวบุคคลจำนวนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติและการปฏิรูปทั่วภูมิภาค ในนั้นรวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวเยาวชน 6 เมษายนในอียิปต์ ศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนบาห์เรนและเหล่านักเคลื่อนไหวรากหญ้าอย่างนายอันท์ซาร์ กาดี แกนนำเยาวชนในเยเมน ที่ได้รับการฝึกหัดและสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มต่างๆ อาทิสถาบันรีพับลิกันนานาชาติและสถาบันเดโมแครตนานาชาติ สององค์กรเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนที่รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งมีฐานบัญชาการในวอชิงตัน และรวมถึงองค์กรส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ "National Endowment for Democracy" (NED)

นายคาตาลัคซี ให้รายละเอียดในบทความต่อไปว่าสถาบันต่างๆของทั้งรีพับลิกันและเดโมแครต ล้วนเกี่ยวข้องอย่างหลวมๆกับพรรครีพับลิกันและเดโมแครต โดยสถาบันเหล่านี้จัดตั้งโดยสภาคองเกรสและได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่าน องค์กรส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาในปี 1983 สำหรับเป็นช่องทางอนุมัติการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนา โดยทางเอ็นเอดี ได้รับเงินสนับสนุนจากคองเกรสปีละราว 100 ล้านดอลลาร์ ส่วนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Freedom House ก็ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของกระทรวงการต่างประเทศ

ดังนั้นนายคาตาลัคซี จึงสรุปว่า "อาหรับสปริง" จึงไม่ใช่การลุกฮือสนับสนุนประชาธิปไตย แต่เป็นการประท้วงที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างกว้างขวางทั่วภูมิภาคเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลต่างๆ ผลก็คือได้รัฐบาลภราดรภาพมุสลิมใน 2 ชาติที่สมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ อิสราเอลและซาอุอาระเบีย สำหรับทำสงครามกับซีเรีย สงครามอันโหดร้ายที่เคยทำลายล้างลิเบียจนย่อยยับ ขณะที่ในมือของพวกหัวรุนแรงและสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในซีเรีย ได้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วหลายแสนศพ ท่ามกลางการสนับสนุนทางอาวุธและเงินทุนโดยตรงของชาติตะวันตก ในเรื่องนี้ทางคาตาลัคซีจึงค่อนขอดว่าหากการประท้วงในไทยเป็นแบบนั้น ก็อาจได้รับการยกย่องจากชาติมหาอำนาจว่าเป็นเรื่องดีก็ได้

บทความของนายคาตาลัคซี ระบุต่อว่านอกจากข้อเขียนของนายโธมัส ฟุลเลอร์แล้ว เรายังได้เห็นการละเลยข้อเท็จจริงและการโฆษณาชวนเชื่อทั่วสื่อตะวันตกทั้งหลาย ในนั้นคือการมองข้ามประวัติด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆของนายทักษิณ ชินวัตร อาทิการฆ่าตัดตอน 3,000 ศพใน 90 วัน ของ "สงครามยาเสพติด" ในปี 2003 โดยในนั้นจำนวนมากไม่เกี่ยวข้องกับการค้ายาแม้แต่น้อย นอกจากนี้นายคาตาลัคซี ยังเหน็บแนมนายฟุลเลอร์ ต่อความล้มเหลวที่ไม่ยอมรายงานเพิ่มเติมไปว่าความโหดเหี้ยมของนายทักษิณ ไม่ใช่แค่เป็นที่ยอมรับได้ของเหล่าสมุน แต่ปฏิบัติการฆ่าหมู่ในปี 2003 ยังเป็นที่นิยมอย่างบ้าคลั่งในหมู่ผู้สนับสนุนเขาอีกด้วย

อย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผู้สนับสนุนของทักษิณก็ยังต้องการให้เขาคืนสู่อำนาจ แม้ไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมือง(หลังถูกพิพากษาว่ามีความผิดทางอาญา) ไม่สามารถลงเลือกตั้งหรือแม้กระทั่งไม่ได้อยู่ในประเทศ นายคาตาลัคซีจึงชี้ว่านี่คือเหตุผลว่าทำไมว่าคนเหล่านี้จึงไม่มีความสามารถพอสำหรับเข้าร่วมในศึกเลือกตั้งจนกว่าจะมีการปฏิรูปอย่างจริงๆจังๆ การปฏิรูปที่มีเป้าหมายปิดช่องโหว่ที่เปิดทางให้ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2011 ภายใต้สโลแกน "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" สโลแกนที่ชัดเจนตามตัวอักษร ด้วยการที่นายทักษิณบริหารประเทศผ่านการสไกป์และประชุมคณะรัฐมนตรีจากต่างแดน โดยที่นางสาวยิ่งลักษณ์เป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น

ข้อเขียนของนายคาตาลัคซี บอกต่อไปว่าในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานของพรรคเพื่อไทย การตัดสินใจทางการเมืองสำคัญๆของประเทศที่มีประชากรราว 65 ล้านคนล้วนมาจากต่างแดน โดยอดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีความผิดฐานคอรัปชันไปใช้ชีวิตในต่างแดนตั้งแต่ปี 2008

นายคาตาลัคซี บอกว่าบทความของนายฟูลเลอร์ ก็เหมือนการ์ตูนล้อคอรัปชัน การเล่นพรรคเล่นพวกและละเมิดหลักนิติรัฐในโลกที่ 3 แต่เขากลับเผชิญกับความยากลำบากในการเปิดใจหรือเขียนบทความตามข้อเท็จจริงว่ามีการหลักฐานการคอรัปชันในรูปแบบ banana republic(ประเทศที่เศรษฐกิจถูกควบคุมโดยกลุ่มบุคคล) โดยรัฐบาลไทย ที่ก็เคยปรากฎในข้อเขียนของเขาเอง

ทั้งนี้นายคาตาลัคซี ปิดท้ายว่าการประท้วงในไทยจึงไม่เกี่ยวข้องใดๆกับความต้องการเห็นประเทศลดความเป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลใดก็ตามที่บัญชาโดยนายทักษิณ ก็ไม่เคยเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พร้อมระบุว่านายฟุลเลอร์เป็นคนมีไหวพริบและไม่ต้องสงสัยว่าเขาก็รู้เรื่องนี้ แต่สิ่งที่เขียนก็คือทำตามอย่างเพื่อนนักเขียนของบีบีซี และมันเป็นแค่ผลการทำงานของบริษัทล็อบบี้ยิสต์ที่ทักษิณว่าจ้างเท่านั้น

ดังนั้นทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผลประโยชน์การเงินทางธุรกิจจึงอยู่เบื้องหลังการประท้วงที่ดีในสายตาของสื่อตะวันตก อย่างเช่นอาหรับสปริงและการเดินขบวนบนท้องถนนสนับสนุนอียูในยูเครน แต่ในทางตรงข้ามการประท้วงที่มีแรงขับเคลื่อนจากผู้รักชาติ และเคลื่อนไหวสนับสนุนอำนาจอธิปไตย บนท้องถนนในกรุงเทพฯ กลับเป็นเรื่องที่เลว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่