ความโชคร้ายในความโชคดี

ช่วงต้นเดือนเมษายน ปี 2564 ได้เข้าผ่าตัดใหญ่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง อยู่โรงพยาบาลได้ 5-6 วัน แล้วก็ต้องรีบขอคุณหมอกลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน

** เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่เจอมาเท่านั้น ไม่ใช่ว่าคนที่เข้าโรงพยาบาลจะต้องเป็นแบบนี้หมดนะคะ **

ความโชคดี คือ หลังจากที่เราออกจากโรงพยาบาลได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ก็มีจำนวนผู้ป่วยโควิด19พุ่งสูงขึ้นจนมีข่าวว่าเตียงของทุกโรงพยาบาลเต็มหมด ถ้าป่วยช่วงวิกฤตช่วงนั้นพอดี คงแย่แน่

ขอแชร์เกร็ดเล็กน้อยจากการเข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ เพื่อเป็นข้อคิด ข้อพิจารณา และประโยชน์ต่อคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ผ่าตัดใหญ่ เป็นแนวทางในการรักษาตัว

**ที่สำคัญ อยากเรียกร้องให้มีสวัสดิการต่างๆ เช่นการดูแลด้านสุขภาพจิตให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะ พยาบาล ที่ต้องอยู่ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย**


1. การมีญาตินอนเฝ้าไข้มีความสำคัญ แม้จะมานอนเป็นเพื่อนเฉยๆ ไม่ต้องถึงขนาดช่วยลากถุงน้ำเกลือเข้าห้องน้ำก็ได้ การมีญาติอยู่ก็ทำให้คนเกิดความเกรงใจ

เรามีญาติมานอนเฝ้าไข้แล้ว 4 คืน เลยบอกให้กลับไปพักผ่อนที่บ้าน พอไม่มีญาติอยู่เท่านั้นแหละ คุณพยาบาลเข้ามาในห้อง มองไปที่โซฟาญาติ แล้วก็บ่นถึงความลำบากของตัวเองว่า มีแม่ป่วยอยู่แต่ขอลางานหรือสลับเวรไปเยี่ยมแม่ตัวเองก็ไม่ได้ ต้องมาเข้าเวรดูแลผู้ป่วย เราเพิ่งผ่าตัดผ่านความเป็นความตายมา เดินหนีไม่ได้ ก็ต้องมานั่งรับฟัง......  

2. หลังผ่าตัดคุณหมอจะสั่งงดดื่มน้ำและอาหาร จะมีพยาบาลรุ่นใหญ่หน่อยบอกให้เราอมน้ำไว้และบ้วนออกมาได้ เพราะเราจะรู้สึกเจ็บ และระคายคออย่างหนัก เนื่องจากมีสายเดรนของเสียเสียบคาอยู่ในลำคอ  แต่ควรระวังพยาบาลรุ่นเด็ก มาเห็นแก้วน้ำที่เราบ้วนน้ำออกมา จะเอาไปฟ้องคุณหมอว่าเราดื่มน้ำ แม้เราจะบอกว่าไม่ได้ดื่มน้ำ ก็ไม่ยอมฟัง 

3.คุณหมอจะคาดหวังให้เราลุกขึ้นเดินตั้งแต่วันแรกที่ผ่าตัดเลย เห็นว่าจะเป็นการช่วยให้ระบบร่างกายกลับมาเป็นปกติได้ไวขึ้น และแผลไม่เป็นผังพืด
หลังผ่าตัดวันแรกเราจะรู้สึกเจ็บและระบมไปทั้งตัว เนื่องจากมีทั้งการเสียบสายเดรนของเสีย และสายปัสสาวะด้วย ทำให้คิดถึงกรณีของคุณแม่หลัง
คลอดบุตรที่เคยได้ยินว่า ต้องลุกขึ้นเดินเลย

เวลาที่เริ่มลุกขึ้นยืนและเดิน จะต้องมีการส่งนักกายภาพ 2 คนมาช่วยพยุงให้เราฝึกเดินอยู่แค่ในห้องเป็นระยะทางสั้นๆ การกลับมาเดินเหมือนเพิ่งเริ่มฝึกใหม่หมด 

4.จะมีพยาบาลที่เป็นห่วงกลัวว่าเราจะติดยาแก้ปวด แม้ว่าเราจะเพิ่งผ่าตัดออกมาเป็นวันแรกๆ ขอยาแก้ปวดไปเพราะปวดแผลจนนอนไม่หลับ พยาบาลก็ไม่ทำเบิกมาให้ พอพ้นข้ามคืนมาได้ เราก็ไม่ง้อพยาบาลอีกเลยจนได้ออกจากโรงพยาบาล 

5.เวลามีสายเดรนของเสียอยู่ในจมูกและคอ ทำให้ต้องฝึกหายใจทางปากแทน จะรู้สึกว่ามีเสลดจำนวนมากเกาะในลำคอ ทำให้หายใจลำบาก ต้องนอนในท่าที่จะทำให้หายใจสะดวก การพลิกตัวให้นอนในท่าที่หายใจสะดวกกลายเป็นเรื่องยากบนเตียงโรงพยาบาล แต่จะมีพยาบาลบางคนที่รู้วิธีปรับเตียงยังไงให้ผู้ป่วยนอนสบาย หายใจคล่อง

เพิ่งมารู้หลังจากคืนหนึ่งที่นอนผิดท่า เสลดพันคอจนหายใจทางปากไม่ออก ดิ้นพยายามดันตัวขึ้นมาไม่ไหว จนต้องกดปุ่มเรียกพยาบาลให้ช่วย เจอพยาบาลคนเดิมที่ใจดีไม่เบิกยาแก้ปวดให้ เข้ามากับพยาบาลอีกคน พออีกคนจะช่วยพยุงเราขึ้นมา ก็ร้องห้ามไม่ให้ช่วย แล้วยืนดูเรากระยิ้มกระสนตัวขึ้นมาเอง พอเราดิ้นจนหายใจได้เฮือกๆ พยาบาลคนเดิมนี้ก็เอาเครื่องวัดอ๊อกซิเจนมาวัดที่นิ้วเรา แล้วพูดว่าอ๊อกซิเจนเพียงพอ!!

6.แขนทั้งสองข้างจะบวมเบ่งและเขียวช้ำ เพราะต้องผ่านการเจาะใส่น้ำเกลือและยาฆ่าเชื้อ แต่ว่าจุดที่เคยเจาะไว้จะใช้ซ้ำไม่ได้ พยาบาลต้องหาเส้นเลือดใหม่เพื่อเจาะอีก ถ้าหากต้องมีการเจาะเลือดไปตรวจเช็ค ก็จะต้องหาเจาะเส้นเลือดใหม่ อาจมีการขอเจาะเส้นเลือดที่เท้าแทนที่แขน (ส่วนตัวไม่ปล่อยให้เจาะเส้นเลือดที่ขา เพราะยังไงที่แขนอีกข้างก็น่าจะพอหาที่เจาะได้)

7. การนอนที่โรงพยาบาลหลับแทบไม่ได้ เพราะเราต้องคอยกดเรียกพยาบาลเวลาน้ำเกลือ ยาฆ่าเชื้อใกล้หมด จะมีเสียงติ๊ดๆของเครื่องดังเตือนตลอด ถ้าเราเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่ฝึกพยาบาลมาดี ซึ่งแน่นอนมีค่ารักษาที่แพงมาก พยาบาลจะรู้เวลาและเข้ามาเปลี่ยนน้ำเกลือตรงเป๊ะให้เราเอง 

คืนหนึ่ง อยู่ๆก็ได้ยินเสียงกริ่งเตือนไฟไหม้ดังอยู่ใกล้ๆ ทำให้เราตกใจว่าต้องอพยพหนีไฟพร้อมลากสายน้ำเกลือไปด้วยหรือไม่ จึงกดเรียกพยาบาลให้มาดู ได้ความว่าอาคารที่ติดกันกริ่งเสีย เราเลยระแวงนอนไม่หลับทั้งคืน

8.ยุคนี้ เวลาป่วยฉุกเฉิน การเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุดอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งนี้ขอให้พิจารณาหลายๆด้าน สำหรับคนที่ยังไม่ป่วย อยากให้หาข้อมูลของโรงพยาบาลในระแวกบ้านตัวเองไว้บ้าง หากมีเวลาผ่านไปโรงพยาบาลที่เคยรักษาก็เข้าไปอัพเดทเบอร์โทรศัพท์และผู้ที่ต้องติดต่อกรณีฉุกเฉินเอาไว้

ตอนเราปวดท้องหนักมาก เลยเลือกไปโรงพยาบาลเอกชนเปิดใหม่ที่ใกล้บ้านที่สุด  แต่เราไม่เคยมีประวัติเข้ารักษามาก่อน ปรากฏว่าทางคุณหมอห้องฉุกเฉินสั่งให้แอดมิทดูอาการ แต่ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเข้ามาถามว่าเรามีประกันไหม แต่กลับเช็คข้อมูลเราไม่เจอเอง  เดินมาพูดอีกว่าค่าห้องคืนละ 2 หมื่น และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เราจะมีเงินจ่ายหรือไม่ พอเราควักเครดิตการ์ดให้แล้วบอกว่าจ่ายได้ค่ะ เจ้าหน้าที่ก็ยืนทำหน้านิ่งมองด้วยสายตาว่าเราจะไม่มีเงินจ่าย พอคุณหมอให้ยาระงับปวดเสร็จ เราเลยตัดสินใจกลับบ้านแทน (เราไม่ทันหยิบบัตรประกันไว้ในกระเป๋า) แล้วจึงไปเข้าอีกโรงพยาบาลหนึ่งใกล้บ้านที่เคยมีประวัติการรักษาแทน

ถ้าย้อนกลับไปได้ เราจะเลือกโรงพยาบาลที่ไกลออกไปหน่อย ที่ค่ารักษาอาจจะแพงมาก แต่มีเครื่องมือพร้อมเป็นทางเลือกในการรักษาโดยใช้ยา หรือ ผ่าตัดส่องกล้อง ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้นนานจากการผ่าตัดใหญ่ (เราได้ศึกษาข้อมูลแนวทางการรักษา และได้สอบถามจากคุณหมอโรงพยาบาลอื่นในภายหลัง) 

9.ระหว่างทางไปห้องผ่าตัด จะมีเจ้าหน้าที่สอบถามชื่อนามสกุล และถามอาการที่ป่วย พอเข้าห้องผ่าตัดแล้วก็จะถูกถามคำถามเดิมย้ำอีก 3-4 ครั้งก่อนวางยาสลบ เราก็เลยได้ฝากบอกพยาบาลไว้ว่า ช่วยดูว่าอย่าให้คุณหมอลืมผ้าก็อซหรือกรรไกรไว้ในท้องเราด้วย พยาบาลก็ยิ้มและบอกว่าสมัยนี้ไม่มีแล้ว 

อนึ่ง เวลาที่เราปวดท้อง จะต้องมีการทำ MRI คุณหมอจึงจะทราบแน่ชัดว่าเราเป็นอะไรกันแน่ เพราะใน
ท้องเรามีอวัยวะติดกันหลายส่วนที่มีเส้นประสาทเชื่อมต่อกัน เราปวดท้องบ่อยๆเวลาทำงานเครียดๆมานานหลายปีแล้ว ไปหาหมอก็จะได้ยาคลายการบิดตัวของลำไส้มาหลายครั้ง และส่งตรวจอัลตราซาวด์หลายหน ซึ่งจะไม่เห็นแผลในกระเพาะ ตลอดมาไม่เคยรู้ตัวเลยว่าเป็นโรคกระเพาะ 

10.ให้เราสังเกตุท่อของสายเดรนว่ามีเสียงลมดูดของเสียออกหรือไม่ โดยดูจากการไหลของของเหลวในท่อว่าไม่ควรอยู่นิ่ง ถ้าเห็นว่าผิดปกติให้รีบแจ้งคุณหมอทันที ของเราไม่รู้จนคุณหมอเข้ามาเยี่ยมไข้ครั้งที่สอง ถึงได้เตือนพยาบาลให้รีบแก้ไข 


11.คุณหมอจะเซ็นต์อนุญาตให้เราออกจากโรงพยาบาลได้ก็ต่อเมื่อ เรามีอาการดีขึ้นจนสามารถลุกเดินเองได้โดยลากสายน้ำเกลือ ถ้าให้ดีคือลากออกไปเดินนอกห้องโชว์พยาบาลเลยยิ่งดี คุณหมอจะถามเราว่ามีการเรอ และผายลมหรือยัง ที่สำคัญคือ ต้องเริ่มกินข้าวได้เอง และลุกไปเข้าห้องน้ำปัสสาวะเอง พยาบาลจะให้เราเก็บปัสสาวะไว้เพื่อไปตรวจ หากมีอุจจาระก็ต้องสังเกตว่าไม่เป็นสีดำ (อาจแปลว่ามีเลือดออกในช่องท้อง)

12.ในยุคโควิด19 ประกันสุขภาพอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด เรามีประกันสุขภาพหัวนอกที่ส่งเบี้ยมา 18 ปีแล้ว เคยเบิกตอนเข้าโรงพยาบาลครั้งแรกเมื่อ 15-16 ปีก่อนเท่านั้น การทำเบิกกับทางประกันจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย วิธีการเขียนเบิกของคุณหมอและการประสานงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกับบริษัทประกัน ตัวแทนประกันที่ดีมีส่วนสำคัญมาก และอื่นๆ 
พอเราติดต่อบริษัทไปเพื่อขอเบอร์โทรตัวแทน แต่ทางบริษัทกลับปฏิเสธไม่ให้ 

พอเราให้ญาติสอบถามมาจนได้เบอร์โทรตัวแทนมา จึงทราบว่าหากมีการเคลมประกัน ทางตัวแทนจะมีระบบแจ้งให้รู้ทันที แต่ตัวแทนพูดแบบไม่สนใจเลย มีแต่ส่งลูกน้องในทีมมาเสนอขายประกันเพิ่ม 

เราได้โทรสอบถามกับคอลเซ็นเตอร์ของบริษัทประกัน ได้รับแจ้งปฏิเสธการเบิกจ่ายค่ารักษาภายใน 3 เดือน หลังจากการรักษาครั้งแรก เราโทรถาม 3 ครั้งก็ได้คำตอบเดิม แต่เราอ่านสัญญากรมธรรม์แล้วว่าไม่มีการระบุเงื่อนไขนี้ไว้ เราจึงลองเคลมอีกรอบจากการส่องกล้องตรวจดูผลผ่าตัด ก็สามารถเคลมได้จำนวนหนึ่ง 

พอเราลองคำนวณจำนวนเงินที่เราเคลมประกันได้แค่หลักหมื่น เทียบกับเบี้ยประกันที่เราส่งไปทุกปีเป็นหลักหลายแสน ประกอบกับผิดหวังจากการบริการของตัวแทนและบริษัทประกัน เราจึงตัดสินใจเวนคืนกรมธรรม์ พอมานั่งดูตารางเวนคืน ก็ไม่ได้ระบุวิธีคำนวณไว้ให้เข้าใจอย่างชัดเจน เราต้องมาเช็คจากในพันทิปที่มีคนสงสัยและมาตั้งกระทู้ถามไว้พอสมควร 

เราได้ติดต่อร้องเรียนไปที่คปภ. เจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องก็ได้แต่บอกว่า มีเจ้าหน้าที่อีกฝ่ายที่เป็นคนพิจารณาเนื้อหาของกรมธรรม์ พอติดต่อไปที่คปภ.สำนักงานใหญ่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่รับฟัง บอกว่าไม่ได้เป็นฝ่ายดูแลเรื่องนี้ ทั้งๆที่การเขียนเพิ่มวิธีการคำนวณให้ชัดเจนไม่ต้องถึง1บรรทัดด้วยซ้ำ

เรารอเงินเวนคืนที่ออกมาเป็นเช็คนานหลายเดือน จนเปิดดูข้อสัญญา มีระบุดอกเบี้ยค่าปรับกรณีคืนเงินเวนคืนล่าช้า ถึงจะได้แค่หลักร้อย แต่เราก็ขอทวงสิทธิ์ของเราตามสัญญาแล้วกัน 

สรุป ขออวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพดี ใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีความสุขกับเรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิต อย่าเครียดมาก  การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐในชีวิตอย่างแท้จริงค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่