อริยบุคคล "โสดาบัน" ปฎิบัติตาม "มรรคองค์ 8" ตัดสังโยชน์ 3 เป็นแบบนี้ !!!

สวัสดีครับ

             เกิดมาชาตินี้ ได้พบพุทธศาสนา  ได้เข้ามาหาความรู้ในห้องศาสนานี้  ควรจะได้สภาวะ อริยบุคคล "โสดาบัน"
ไว้ก่อนทุก ๆ คน  เป็นอย่างน้อย  โดยตัดสังโยชน์ 3 ตัวให้ได้    สักกายะทิฎฐิ   วิจิกิจฉา   สีลัพพตปรามาส

            "สักกายะทิฎฐิ" เป็นสังโยชน์ตัวที่ 1  หมายถึง "ความเห็น"  ยังไม่ใช่ "ความยึด"  เนื่องจากเป็นสังโยชน์ตัวแรก เท่านั้น 
ความยึดตัวตน ตัวกู ของกู จะอยู่สังโยชน์ตัวท้าย ๆ ในสังโยชน์ 10

              ปฎิบัติอย่างไร  ก็ปฎิบัติตาม "มรรคองค์ 8"  ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เป็น "ทฤษฎี"  นั่นแหละ  

              ปฎิบัติในชีวิตประจำวันของเราเป็น "ปัจจุบันธรรม" ได้เลย  โดยตั้งสติไว้ เปิดทวารทั้ง 6  สังวรศีล(จะสมาทานศีลอะไรก็ว่าไป5,8,10 ..) สำรวมอินทรีย์6 (อย่าให้ผิดศีลที่เราสมาทานไว้)   จะเดิน จะนั่ง จะดื่มน้ำ จะทำอะไรก็ให้รู้ตัวอยู่ตลอด   เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ "กระทบ" (ผัสะ) รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์  จะเกิดอาการเวทนา สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่  "ใจ" (จิต)   อาการที่เรารับรู้ที่ใจนี้มันคือตัว "สักกายะทิฎฐิ" สังโยชน์ตัวที่1  มันเป็นตัวตนของ "กิเลส"" มันไม่เที่ยง ทำให้ลด หน่าย คลาย จาง หรือหมดไปได้  มันไม่ใช่เรา แต่เราไปเข้าใจผิดว่ามันคือ "เรา"  จึงไปทำตามมันทุกอย่าง  โลภะเกิดก็ไปแสวงหามา  โทสะเกิดก็ชกต่อย ฆ่ากันตาย โมหะเกิดก็มีจิตวิปลาส(ดูวิปลาส3)    เมื่อเรา "เห็นและเข้าใจ" ตัว "สักกายะทิฎฐิ" ตามที่กล่าว  ก็เท่ากับเราพ้นแล้วสังโยชน์ตัวที่1  

                ดังนั้นเมื่อตัว "สักกายะทิฎฐิ" เกิด เราก็หาสาเหตุ แล้วก็ประหาร หรือปรับมันให้เป็นสัมมา เช่นเขากำลังด่าเรา  เราก็ต้องหาสาเหตุที่เขาด่าเราเพราะอะไร  ที่เขาด่าเรานั้น เราผิดหรือถูก ถ้าเราผิดก็ต้องรีบขอโทษและแก้ไขซะ  ไปโกรธเขาไม่ได้ เพราะเราผิด  ถ้าทำให้เขาเสียหายก็ต้องยินดีชดใช้ตามความเหมาะสม   เช่นอาจจอดรถขวางทางออกเขา ก็ต้องรีบขอโทษ แล้วรีบย้ายรถ   แต่ถ้าเราไม่ผิด เพราะตอนจอดเราจอดไม่ได้ขวางทาง  แต่มีคนเข็นรถเราแล้วไม่เข็นกลับ จึงไปขวางทางออกเขา  เราก็อธิบายให้เขาเข้าใจ  แต่ถ้าเขาโกรธมากไม่ฟังเหตุผล เราก็นิ่งเสีย แล้วก็ทำใจในใจว่า เขาเป็นคนไม่ฟังเหตุผลนะ หวังว่าเขาจะเปลี่ยนเป็นคนมีเหตุผลในวันข้างหน้า   อย่าให้มีอาการโกรธขึ้นทุกกรณี   

               หรือเขาทำกิริยาไม่ดีต่อเรา แล้วเราเกิดอาการโกรธ (ทุกข์)  เราก็ต้องหาสาเหตุว่าทำไมจึงมีอาการทุกข์เกิดขึ้น  ในเมื่อเขาทำกิริยาไม่ดี  ความไม่ดีนั้นก็อยู่ที่เขา ไม่ได้อยู่ที่เรา เขาคงได้รับการสั่งสอนมาน้อยจึงเป็นคนเช่นนั้น  แล้วทำใจในใจให้ปรารถนาดีต่อเขา(แบบจริงใจ) ว่าวันข้างหน้าขอให้เขาเลิกเป็นคนเช่นนี้   เป็นต้น  ...

               อาการของ "สักกายะทิฎฐิ" มันจะเกิดให้เรารู้ตั้งแต่หยาบสุด ไปถึงละเอียดสุด  มันเป็นอาการ "ลิงค์ นิมิต" ให้เรารู้ได้เหมือน ๆ กัน  ดังนั้นอาการเกิดเราก็ประหาร หรือปรับมัน  เมื่อมันหมดก็เกิดสภาวะ "นิพพาน" คือสภาวะไม่มีกิเลสเหลืออยู่

                เมื่อเราประหาร หรือปรับมันให้เป็นสัมมาได้แล้วเราก็จะมั่นใจในผลของการปฎิบัติของเรา ไม่ลังเล สงสัย 
เท่ากับเราพ้น "วิจิกิจฉา" สังโยชน์ตัวที่2 

                และเราได้ปฎิบัติโดยใช้ศีล คือ สังวรศีลในข้อแรก  และทำให้เราประหารกิเลสได้ ไม่ได้ปฎิบัติศีลแบบ ลูบ คลำ แบบทำตาม ๆ กันมา  ทำตามตำรา ทำตามครูอาจารย์โดยไม่รู้มรรค ผล  เราก็พ้น "สีลัพพตปรามาส" สังโยชน์ข้อ3 

                 พ้นสังโยชน์ 3ข้อ ก็เท่ากับเข้ากระแสอริยะบุคคล "โสดาบัน"  ปฎิบัติถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน  โดยมี "อปัณณกปฎิปทา3"  รับรองความถูกต้อง
                            https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=128   อปัณณกปฎิปทา3 
...............................................................................................................................................................................................................
             
         และตัว "สักกายะทิฎฐิ"  นี้เรียกมันอีกอย่างว่า "กาย" (เราเรียกกายว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง  คือตัวนี้) มันเป็น "กาย" ที่เกิดให้เรารู้ที่จิต  มันจึงเป็น "นามกาย"  ไม่ใช่กาย ที่เป็น เนื้อหนังมังสา เป็น "กายในกาย"

           และเมื่อมี  "กาย" ที่ใด   ที่นั่นต้องมี "จิต" ถ้าไม่มีจิตร่วมจะเรียกมันว่า "ร่าง" เฉย ๆ ไม่เรียกว่ากาย ตกลงก็จะมี "จิตในจิต" เป็นตัวในอีกตัว สรุปว่ามี  กาย(รูป)ที่เป็นเนื้อหนังมังสา+จิต เป็นคู่นอก   และมีกายของตัวสักกายะทิฎฐิ+จิต เป็นคู่ใน ไว้ให้เราปฎิบัติ     กายกายในกาย  เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ที่มีชื่อเรียกเหมือนกัน

            ดังนั้นถ้าเรารู้จัก "สักกายะทิฎฐิ" ที่ถูกต้อง เราก็จะรู้จัก "กาย"   กายก็ต้องมี "จิต" และ(ผมเข้าใจเอาเอง)ว่า "กาย" ตัวนี้  ที่จริงมันก็คือ "รูป" (ตัวที่ถูกรู้ในจิต)  เมื่อมันเกิดที่จิตเป็นนามธรรม จึงต้องใส่คำว่า "นาม"  ไว้ข้างหน้า "รูป"  จึงเรียกมันว่า "นามรูป" หมายถึง รูปที่เป็นนาม (ไม่ใช่ "รูปนาม" หรือ "นาม-รูป" แต่ต้องเป็น "นามรูป")   เหมือนใน ปฎิจจสมุปบาท   "เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี" 

                               ขอบคุณครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่