ศูนย์สายธารแห่งชีวิตเพื่อสตรี มูลนิธิแม่ชีคาทอลิก ยกระดับคุณภาพชีวิตสาวบาร์พัทยา

Fountain of Life Women’s Center
ศูนย์ฝึกวิชาชีพโดยภคินีคณะศรีชุมพาบาล ที่ปรารถนาจะมอบทางเลือกใหม่ในชีวิตให้ผู้หญิงกลางคืนเมืองพัทยารักตัวเองมากขึ้น

เรื่อง พัทธดนย์ กิจชัยนุกูลภาพ ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์



          มีคำกล่าวว่า พระเจ้าทรงบันดาลให้เกิดทุกสรรพสิ่ง แม้แต่สิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามของกันและกัน

          จะเป็นดำกับขาว ดีกับชั่ว กลางวันกับกลางคืน ความสว่างกับความมืดมิด คนมั่งมีกับคนยากไร้หรือผู้ทรงศีลในศาสนาที่ผู้คนเคารพกับบรรดาคนบาปในมุมมืดที่หมู่ชนดูแคลนก็ดี สิ่งที่พระเป็นเจ้าทรงมีให้ชนทุกหมู่เหล่าอย่างเสมอภาคคือความรักและโอกาสในการกลับตัวกลับใจ ด้วยไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสิทธิ์ในการดำเนินชีวิตอยู่บนฐานค่านิยมที่สังคมวาดหวัง โดยเฉพาะเพศหญิงซึ่งถือกำเนิดมาพร้อมธาตุความนุ่มนวลกว่าเพศตรงข้าม บ่อยครั้งที่คุณสมบัติดังกล่าวแปรเปลี่ยนเป็นความอ่อนแอเมื่อถูกสภาวการณ์บีบคั้น และดำเนินไปในทางที่น่าเศร้าเมื่อพวกเธอไม่แลเห็นคุณค่าในตนเอง
คงเป็นเหตุผลที่ชักนำให้คณะภคินีศรีชุมพาบาล – คณะนักบวชหญิงในคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิกจากฝรั่งเศส ขยายสาขามาดำเนินภารกิจในพัทยาเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เพื่อช่วยเหลือเหล่าสตรีที่ตกอยู่ในวังวนของธุรกิจทางเพศด้วยความจำยอมให้พ้นทุกข์



          ช่วงสายของวันพุธที่ตะวันโด่งเหนือศีรษะ นครแสงสียามราตรีอย่างพัทยากลับหลับใหลคล้ายกำลังพักผ่อนจากความเร่าร้อนเริงรมย์ตลอดค่ำคืนที่ผ่านมา หากในความเงียบสงบของตึกรามย่านนาเกลือเสียงดนตรี เสียงปรบมือ และเสียงหัวร่อต่อกระซิกอันมีท่วงทำนองครึกครื้นผิดไปจากเมื่อคืน ทยอยดังลอดออกมาจากตึกสูง 4 ชั้นซึ่งดูร่มรื่นด้วยสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าด้านหน้า

          ณ ‘ศูนย์ธารชีวิต เพื่อสตรี’ แห่งนี้ คืออีกโลกหนึ่งที่มอบโอกาสให้ผู้หญิงกลางคืนตื่นแต่เช้ามาเรียนหนังสือ ฝึกทำผม หัดนวดแผนไทย ขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ รวมทั้งร้องเล่นเต้นระบำกับอาสาสมัครชาวต่างชาติโดยไม่มีการแบ่งแยกอายุ อาชีพ หรือภูมิลำเนา
ซิสเตอร์ปิยฉัตร บุญมูล ผู้อำนวยการศูนย์ธารชีวิต เพื่อสตรี มูลนิธิคณะศรีชุมพาบาล ต้อนรับเราด้วยรอยยิ้ม ก่อนเดินนำชมสถานที่พลางเล่าถึงที่มาของมูลนิธิแห่งนี้ ท่ามกลางเสียงจ้อกแจ้กของบรรดา ‘นักเรียน’ ในความดูแลของเธอดังแทรกเป็นพักๆ


ซิสเตอร์ปิยฉัตร บุญมูล ผู้อำนวยการศูนย์ธารชีวิต เพื่อสตรี มูลนิธิคณะศรีชุมพาบาล

🚺🙏 นักบวชสตรีเพื่อสตรี 🙏🚺

          คณะภคินีศรีชุมพาบาล (The Good Shepherd) เป็นคณะนักบวชหญิงนานาชาติ ก่อตั้งในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 1853 ด้วยดำริของ นักบุญมารีอา ยูเฟรเซีย ที่ตั้งปณิธานช่วยบุคคลให้รอดจากบาปและความทุกข์ยาก เมื่อครั้งยังสาว นักบุญท่านนี้เคยเป็นสมาชิกคณะพระมารดาแห่งเมตตาจิตของ นักบุญจอห์น ยูดส์ มาก่อน แต่เพราะนักบวชคณะนี้วางข้อระเบียบไม่ให้ส่งนักบวชหญิงไปปฏิบัติงานทั่วโลกได้ ซิสเตอร์มารีอา ยูเฟรเซีย จึงต้องแยกตัวออกมาตั้งคณะนักบวชใหม่ของตัวท่านเอง เพื่อสานต่อเจตนารมณ์อันแรงกล้าเกินกฎของคณะเดิมที่เคยสังกัด

          “นักบุญยูเฟรเซียรักคณะพระมารดาแห่งเมตตาจิตมาก เลยรับทุกอย่างของคณะนี้มาหมด รวมทั้งข้อปฏิญาณด้วย” ซิสเตอร์ปิยฉัตรกล่าวถึงที่มาของคณะ



          “ข้อปฏิญาณของคณะซิสเตอร์มีอยู่ 4 ข้อ นักบวชโดยทั่วไปก็จะนบนอบเชื่อฟัง ถือความยากจนความบริสุทธิ์ ส่วนคณะซิสเตอร์จะพิเศษคือความกระตือรือร้นที่จะช่วยบุคคลให้รอด คำคำนี้มันรัดตัวพวกเรา มันเป็นพันธสัญญาที่ทำให้เราอยู่เฉยไม่ได้กับโลกปัจจุบันที่ผู้หญิงไม่ได้รับความยุติธรรม”

          กลุ่มเป้าหมายที่นักบุญผู้ก่อตั้งคณะมุ่งให้ความช่วยเหลือในชั้นแรกประกอบด้วยผู้หญิงที่ขายตัวเป็นทาส เป็นแม่หม้าย เคยถูกจองจำ รวมถึงอาชีพเก่าแก่ของโลกอย่างโสเภณี

          คณะศรีชุมพาบาลดำเนินงานอยู่ในต่างประเทศนานนับ 100 ปี จนกระทั่งปี 1965 ภคินีจากไอร์แลนด์จึงเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยได้รับเชิญและใบรับรองนักบวชจาก พระอัครสังฆราชยอแซฟ ยวง นิตโย โดยมีที่ทำการแห่งแรกในเขตดินแดง กรุงเทพฯ



          แม้ไม่เคยรู้จักนักบวชคณะนี้มาก่อน แต่ด้วยชื่อและหน้าที่ปฏิบัติงานของคณะล้วนเป็นที่สะดุดใจของเด็กสาวชาวบ้านโนนแฝกคนหนึ่งตั้งแต่แรกได้ยิน คล้ายว่าพระเจ้ากำลังส่งกระแสเรียกให้เข้าเป็นสมาชิกของคณะนี้ เธอจึงขอร้องให้บาทหลวงเขียนจดหมายสมัครเข้าทันทีที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6

          เด็กสาวคนนั้นคือผู้อำนวยการศูนย์ธารชีวิต เพื่อสตรี คนปัจจุบัน ผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้มาเข้าปีที่ 9 แล้ว

          “ก่อนมาอยู่ที่นี่ คณะศรีชุมพาบาลของซิสเตอร์ส่งเสริมให้เรียนรู้วิชาชีพต่าง ๆ เป็นการเตรียมซิสเตอร์ที่จะเข้ามาทำงานที่นี่ เพราะเป็นงานที่หนักหน่วง เราต้องมาฟังเรื่องจริงที่เจ็บปวด เป็นบาดแผลของชีวิตของจิตวิญญาณคน บางทีเขาพูดข้างนอกไม่ได้ เขาก็มาเล่า แล้วเราต้องอยู่ท่ามกลางเขา เราจะอยู่ยังไงให้เข้มแข็งเพื่อเขา เป็นผู้ฟังให้เขา เป็นที่พึ่งให้เขา แต่ซิสเตอร์ก็ทำมาได้ 9 ปีแล้วค่ะ”

😈😇 นักบุญในเมืองบาป 😇😈

          ย้อนกลับไปในทศวรรษ 2500 อุตสาหกรรมทยอยเกิดขึ้นในเมืองไทย ประจวบกับสงครามเวียดนามที่สร้างความระส่ำระสายไปทั้งโลก สหรัฐอเมริกาใช้สนามบินอู่ตะเภาของไทยเป็นฐานทัพ การหลั่งไหลเข้ามาของทหารอเมริกันส่งผลให้พื้นที่ใกล้เคียงอย่างพัทยาพลิกโฉมจากเมืองเล็กๆ ในชนบทที่ชาวบ้านเลี้ยงชีพด้วยการตกปลา ขายปลา กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยสถานบันเทิงอย่างผับบาร์ แหล่งค้าบริการทางเพศ เพื่อตอบสนองความต้องการของเหล่านักรบไกลบ้าน



          ธนบัตรดอลลาร์ในกระเป๋าชาวอเมริกันพวกนั้นยังนำพาผู้หญิงไทยจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ให้มาทำงานกลางคืนที่พัทยา ด้วยความตั้งใจจะหลีกหนีความยากจนในภูมิลำเนาเดิม บางคนสมหวัง แต่ขณะเดียวกันมันก็บ่มเพาะปัญหาสังคมตามมาอีกหลายเรื่อง ทั้งครอบครัวแตกแยก สามีภรรยาแยกทาง เด็กกำพร้าถูกทิ้งขว้าง โรคติดต่อ ฯลฯ ทั้งหมดมีที่มาจากธุรกิจทางเพศที่ซิสเตอร์ปิยฉัตรใช้คำว่า‘อุตสาหกรรม’ เพื่อเน้นย้ำความเฟื่องฟูเป็นล่ำเป็นสันของกิจการประเภทที่ว่า

          ยุคแรก ซิสเตอร์คณะศรีชุมพาบาลมีบทบาทมากในการช่วยเหลือผู้อพยพชาวลาวช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาว หน้าที่โดยมากจึงจำกัดอยู่ในจังหวัดหนองคายซึ่งเป็นหน้าด่านสู่ไทย ส่วนพื้นที่พัทยาเดิมมีคณะพระมหาไถ่เป็นหน่วยงานของนิกายคาทอลิกคอยดูแล แต่เนื่องเพราะคณะพระมหาไถ่เป็นคณะนักบวชชาย การให้ความช่วยเหลือแก่สตรีที่ทำงานค้าบริการจึงไม่สะดวกนักทางคณะจึงทำเรื่องส่ง พระสังฆราชลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต ที่ปกครองดูแลกิจการของคาทอลิกในภาคตะวันออกเวลานั้น ให้เชิญคณะศรีชุมพาบาลมาสานต่อภารกิจนี้แทน



          ศูนย์ธารชีวิต เพื่อสตรี จึงเกิดขึ้นที่พัทยาเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ก่อนที่คณะศรีชุมพาบาลจะขยายไปเปิดศูนย์ธารชีวิตเพื่อเด็กอีกในปี 1989 หลังจากที่ซิสเตอร์ในคณะได้เห็นเด็กเร่ร่อนตามชายหาด หลายคนเป็นลูกติดท้องของแม่ชาวไทยกับพ่อชาวตะวันตก จึงต้องเป็นสัดส่วนดูแลเป็น 2 ศูนย์เพื่อความชัดเจน

          สมัยแรกๆ ที่เปิดศูนย์ เรื่องราวชีวิตของผู้หญิงทำงานกลางคืนในพัทยายังเป็นประเด็นที่สังคมเดียดฉันท์ น้อยคนนักที่จะยอมรับหรือพูดถึงอย่างเปิดเผย มีเพียงหน่วยงานรัฐที่คอยสอดส่องดูแล แต่ซิสเตอร์ในคณะศรีชุมพาบาลก็ไม่ล่าถอยต่อความพยายามที่จะช่วยหาทางเลือกใหม่ในชีวิตพวกเธอเหล่านี้ เพื่อที่พวกเธอจะได้ไม่ต้องลดทอนคุณค่าในตัวเองไปทำธุรกิจบาป

          “พระเป็นเจ้าประทานโอกาสให้คนบาป พระเป็นเจ้าทรงเกลียดบาป เราก็เกลียดบาป แต่เรารักคนบาป เราให้โอกาสเขาค่ะ” ผู้อำนวยการศูนย์แสดงเจตนารมณ์ในการทำงานของตน

👧🏻 สตรีในศูนย์ธารชีวิต 👧🏻

          “กลุ่มเป้าหมายของเรามีตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปนะคะ แต่ต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีผู้ปกครองมาเซ็นรับรองว่าทำไมลูกหลานเขาถึงไม่ได้ไปเรียนภาคปกติ บางทีเหตุผลอาจจะด้วยเรียนที่บ้านไม่ได้ หรือแม่ให้มาอยู่ที่นี่ แล้วลูกต้องอยู่กับยาย เขาก็เรียน กศน. แต่ว่าเขาก็มาเรียนภาษาที่นี่ เพราะอย่างน้อยๆ เขาไม่ได้ปล่อยลูกไว้คอนโดคนเดียว หรือบ้านเช่าคนเดียว หรืออยู่กับสามีฝรั่ง เพราะว่าก็อันตรายนะ”

          ซิสเตอร์ปิยฉัตรพูดขณะรับไหว้นักเรียนที่เดินเรียงแถวออกจากห้องเรียนฝึกวิชาชีพไปยังโรงอาหารเพื่อรับประทานมื้อกลางวันซึ่งได้รับการหุงหาเสร็จใหม่ๆ โดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์



          “ที่อายุต่ำกว่า 18 ตอนนี้มีไม่ถึง 5 คน ส่วนที่เกินนี่ ถ้ารวมทั้งช่วงเช้าและบ่ายจะประมาณ 150 คนแต่ที่สมัครเรียนกับเรามี 200 – 300 คน บางทีก็หยุดด้วยเหตุจำเป็น เช่น แฟนไม่สบาย ลูกไม่สบาย”

          รอจนกระทั่งผู้หญิงกลุ่มนั้นคล้อยหลัง ซิสเตอร์จึงเล่าให้เราฟังถึงพื้นเพของพวกเธอ ไปจนถึงสาเหตุที่ทำให้ทุกคนเลือกทำอาชีพที่สังคมภายนอกตราหน้าดูแคลน

          “เบื้องหลังบรรดานักเรียนของเรา 99 เปอร์เซ็นต์หย่าร้างกับผู้ชายคนไทย สาเหตุคือความรุนแรงหนี้สิน สามีติดเหล้า เล่นการพนัน ยาเสพติด ติดคุก ไม่รับผิดชอบครอบครัว ดังนั้นภาระหน้าที่ที่ต้องหาเงิน ส่งลูกเรียน เลี้ยงครอบครัว เลยมาอยู่ที่ผู้หญิง

          “แบ็กกราวนด์ของผู้หญิงศูนย์เราส่วนมากมาจากภาคอีสาน อันดับ 2 เป็นปริมณฑล แถบภาคกลางรอบกรุงเทพฯ ซึ่งไม่น่าเชื่อเลย แต่ก่อนเป็นภาคเหนือ เพราะยุคสัก 40 ปีที่แล้วมีเรื่อง ‘ตกเขียว’ เราก็มีศูนย์ที่น่านอีกนะคะที่ช่วยเหลือเขา”

          เท่าที่เราสังเกต ผู้หญิงที่มาเรียนในศูนย์ธารชีวิตส่วนมากค่อนข้างมีอายุ บ้างเกิน 40 ปี บ้างก็เกิน50 ปี สอดคล้องกับที่ซิสเตอร์ปิยฉัตรเล่าว่าพวกเธอที่มีอายุเกิน 35 ปีมักประสบความล้มเหลวในการร่อนใบสมัครงาน ที่หลายคนอยากทำคืองานแม่บ้านในธุรกิจโรงแรม แต่โรงแรมทั่วไปก็ไม่ได้เปิดรับพนักงานเพิ่มตลอด เพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัว เกิดเป็นค่านิยมให้มาหากินที่พัทยา



          “เขาจะบอกกันว่ามาพัทยาสิ มาขุดทอง สมัยก่อนเขาใช้คำนี้” ซิสเตอร์เอ่ยถึงความคิดที่ได้ยินจากนักเรียนบ่อยๆ “แต่เรื่องอะไรบ้างที่ตามมา ถูกหลอกลวงไปทำงานขายบริการที่ต่างประเทศนี่ก็อย่างหนึ่ง”

          ความคิดที่ซิสเตอร์ปิยฉัตรเห็นเป็นเรื่องน่ากลัวจนต้องแย้งอยู่ประจำ คือทัศนคติแบบผิดๆ ว่าฝรั่งจะต้องรวย ผู้หญิงมากมายจึงบากหน้ามาพัทยาโดยตั้งใจว่าจะทนทุกอย่าง เพื่อเอาเงินกลับไปเลี้ยงครอบครัว ซึ่งหลายครั้งการณ์ก็กลับตาลปัตรเป็นพวกเธอเองที่ถูกหลอก

          “ซิสเตอร์ก็ต้องพยายามบอกว่าไม่ใช่ฝรั่งทุกคน มาหลอกก็เยอะ ตกเป็นเหยื่อเยอะ แล้วฝรั่งน่ะมาพึ่งคนไทยด้วยซ้ำ เราต้องพูดกับเขาอย่างนี้เลยนะ”
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่