JJNY : ‘ก้าวไกล’ ดันแก้ ม.272│แนะส.ว.คืนเงินเดือนจากภาษีปชช.│จับตาการเมืองไม่นิ่ง│นายพลรัสเซียถูกปลด หลังรายงานสถานการณ์

‘ก้าวไกล’ ดันแก้ ม.272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ชี้มีกลุ่มอำนาจเก่า กดดันหวังเปลี่ยนขั้วรัฐบาล 
https://www.matichon.co.th/politics/news_4079439
 
‘ก้าวไกล’ ดันแก้ ม.272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ชี้มีกลุ่มอำนาจเก่า กดดันหวังเปลี่ยนขั้วรัฐบาล 
 
จากผลการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล แพ้โหวตด้วยคะแนนเสียง 324 ไม่ถึงเกณฑ์ 375 ทำให้ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ ในการโหวตรอบแรก

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์กรณีการเตรียมพร้อมสำหรับการโหวตครั้งที่ 2 ผ่านรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ว่า วันนี้พรรค ก.ก. จะหารือกับพรรคเพื่อไทย (พท.) ก่อนที่จะนัดประชุม 8 พรรคร่วม สำหรับแนวทางที่จะหารือกับ พท.วันนี้ คือ จะทำอย่างไรที่จะได้เสียง ส.ว.เพิ่มมากขึ้น และจะมีวิธีการอะไรอีกหรือไม่ เช่น พรรค ก.ก. เตรียมร่าง แก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ ม.272 คือ ยกเลิก ม.272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ไว้เหมือนกัน ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นหนึ่งที่เราจะหยิบยกมาหารือกับ พรรค พท.ด้วย ว่าจะเดินแนวทางนี้คู่ขนานไปพร้อมๆ กับการโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะจะเห็นว่า ส.ว.จำนวนมาก กระอักกระอ่วนใจ ที่จะใช้สิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จึงมีคนงดออกเสียงเยอะมาก และไม่มาประชุมโดยตั้งใจเยอะมาก
 
ฉะนั้น จึงเป็นข้อเสนอหนึ่ง ในเมื่อ ส.ว.กระอักกระอ่วนใจ ที่จะใช้สิทธิเลือกนายกฯ งั้นก็ช่วยกันปิดสวิตช์ ส.ว. เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ทั้งนี้มีคำถามจำนวนมากว่าทำไม พรรค ก.ก. ไม่ยอมถอย ถ้าถอยเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะทำให้ได้เสียง ส.ว.มากขึ้น และเพียงพอ
 
หรือการถอยนโยบายแก้ไข ม.112 เพื่อแลกให้นายพิธา เป็นนายกฯ สาเหตุที่ไม่ถอย เพราะมี 2 เหตุผลใหญ่คือ 

1. เป็นหนึ่งในร้อยนโยบายที่เรารณรงค์ ถือเป็นคำมั่นสัญญาที่เราให้ไว้กับประชาชน ไม่ใช่วิธีการทำงานทางการเมืองของเรา และผมคิดว่าหลายคนมองว่า ม.112 เกี่ยวข้องกับคนไม่กี่คน ไม่เกี่ยวข้องกับความกินดีอยู่ดีของประชาชน แต่ในอีกมุมหนึ่งเป็นปัญหาทางการเมืองที่เป็นเรื่องใหญ่ และเราเชื่อว่าเมื่อมีการถกเถียง การเห็นต่างกันมาก เราจึงเชื่อว่าการเสนอเข้าไปจะเป็นทางออก เป็นรูระบาย ให้กับความเห็นต่าง และไปหาข้อยุติกันในสภา ซึ่งเป็นการหาทางลงหาข้อยุติเวลามีความขัดแย้งใหญ่ๆ ในสังคม
 
2. จริงหรือไม่ ถ้าพรรค ก.ก. ประกาศถอย ไม่เสนอแก้ไข ม.112 แล้ว ส.ว.จะโหวตให้ ซึ่งผมมองว่าไม่น่าจะจริง ผมได้มีโอกาสเห็นข้อความที่อ้างว่ามาจากไลน์ ส.ว.ก่อนการโหวตนายกฯ ระบุว่า ระวังไว้นะเดี๋ยว นายพิธา จะเสนอว่าจะไม่เสนอแก้ไข ม.112 เพื่อเป็นการหลอก ส.ว. และมีแผนการอันเลวร้ายอยู่ อย่าไปหลงเชื่อ และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม มี ส.ว.บางคนได้อภิปรายในทำนองนี้เหมือนกัน ดังนั้น มันมีธงอยู่แล้ว ต่อให้ไม่มีการโจมตีเรื่องนี้ ก็จะอ้างเรื่องอื่นเต็มไปหมดสารพัดเท่าที่จะอ้างได้” นายชัยธวัชกล่าว
 
นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีกระแสข่าวจากหลายแหล่งที่ตรงกันว่า มีการเคลื่อนไหวจากขั้วอำนาจเก่า กดดัน ส.ว.เป็นรายคน เพื่อหวังจะพลิกขั้วรัฐบาลจริงๆ และให้พรรค ก.ก.เป็นฝ่ายค้าน และยังมีการประกาศเสียด้วยซ้ำกับ ส.ว.ที่ถูกกดดันว่าตัวเองจะเป็นรัฐบาล ขอให้งดออกเสียง หรือขอให้ไม่มาประชุมเลยก็ได้ สั่งให้ป่วยเลยก็มี คือทำอย่างไรก็ได้ทุกวิถีทางเพื่อสกัดพรรค ก.ก. ไม่ให้เป็นรัฐบาล
 
ทั้งนี้ยังเชื่อว่าถ้า 8 พรรคยังจับมือกันแน่น จะไปต่อกันได้ ตอนนี้นายพิธา ก็กำลังใจดี แกนนำพรรคร่วมก็มาให้กำลังใจ อย่าเพิ่งท้อ



เลขาครป. แนะ ส.ว. คืนเงินเดือนจากภาษีประชาชน ชี้ปชป.-ชทพ. ตัวแปรโหวตรอบหน้า
https://www.matichon.co.th/politics/news_4079486

เลขาครป. แนะ ส.ว. คืนเงินเดือนจากภาษีประชาชน ชี้ปชป.-ชทพ. ตัวแปรโหวตรอบหน้า
 
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ให้ความเห็นหลังผลการโหวตนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงว่า ผลการลงคะแนนเสียงวันนี้สะท้อนว่ารัฐสภาไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ธรรมดาผลการเลือกตั้งจากประชาชนย่อมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่มี 500 คนได้แล้ว แต่ต้องมาเลือกตั้งซ้ำอีกครั้งโดยวุฒิสภาด้วย ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะไม่ใช่บทบาทหน้าที่ ส.ว. แต่มาเชียนไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 60 เพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.เท่านั้น ทำให้ ส.ว.แต่งตั้งสามารถมีอำนาจพิเศษร่วมโหวตนายกได้ใน 5 ปีแรก คือปี 2562-2567

ทำให้การเลือกนายกจึงต้องมีเสียงเห็นชอบ 375 ขึ้นไปในสมาชิกทั้งหมด 749 เสียงของรัฐสภา ทำให้ประชาชนเลือกมาแล้ว ส.ว.ต้องมาเลือกใหม่อีกรอบ ถ้าไม่พอใจในเสียงประชาชนก็ไม่ให้ผ่าน นี่คือรูปแบบเผด็จการที่เขียนแทรกไว้ จึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเสียที
 
การที่ ส.ส. หรือ ส.ว.หลายคนอภิปรายและตัดสินใจงดออกเสียงหรือไม่โหวตให้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยอ้างว่ามีนโยบายแก้ไข ม.112 นั้น รับฟังไม่ได้เพราะไม่เกี่ยวกับการเลือกนายกฯ เลย เพราะเป็นเรื่องพรรคการเมืองหาเสียงไว้กับประชาชนและต้องรับผิดชอบเอง จะเอาเสียง ส.ว.มาต่อรองไม่ให้พรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่หาเสียงไว้และได้รับมอบหมายจากประชาชนให้เข้าสภาไม่ได้ เรื่องนี้จึงเป็นเพียงข้ออ้างของกลุ่มอำนาจเก่าเอามาเล่นตลก เพราะเรื่องนี้เมื่อ ส.ส.เสนอกฎหมายก็ต้องไปถกกันในที่ประชุมรัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ และในชั้นกรรมาธิการ ซึ่ง ถ้า ส.ส.พรรคอื่นๆ หรือ ส.ว.ไม่เห็นด้วย กฎหมายก็ไม่ผ่านสภา ไม่เกี่ยวกับการไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายก” นายเมธากล่าว
 
นายเมธากล่าวว่า ผลการโหวตนายกวันนี้ สมาชิกรัฐสภาลงมติ เห็นชอบ 324 – 182 ไม่เห็นชอบ โดยมีการงดออกเสียงถึง 199 คนที่ต้องถูกนับรวมไปในกลุ่มไม่เห็นชอบด้วยโดยปริยาย ซึ่งเป็น ส.ว.ถึง 159 คน การที่ ส.ว.จำนวนมากงดออกเสียงนั้น เท่ากับท่านไม่เห็นชอบ จะบอกว่างดออกเสียงถือว่าเป็นกลางแล้วลอยตัวเหนือปัญหาไม่ได้ เพราะการที่ท่านงดออกเสียง ก็เท่ากับการไม่รับผิดชอบต่อสังคมและระบอบประชาธิปไตย การไม่เห็นชอบต่อเสียงของประชาชนและผลการเลือกตั้ง ก็เท่ากับท่านกระทำการเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องคิดใหม่และตอบคำถามประชาชนให้ได้
 
ที่น่าสนใจคือ ส.ส. 8 พรรคร่วม เห็นชอบ 311 เสียงไม่มีแตกแถว ขณะที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้ายลงคะแนนไม่เห็นชอบ 148 เสียง โดยงดออกเสียงถึง 40 คน แม้เท่ากับไม่เห็นชอบแต่การแสดงสัญลักษณ์แบบนี้ก็น่าจะเปิดทางให้ 8 พรรคร่วมไปเจรจาเพื่อโหวตนายกฯ รอบใหม่ในสัปดาห์หน้าได้ เพราะขาดเสียงสนับสนุนเพียง 51 เสียงก็จะครบ 375 เสียงแล้ว ดังนั้น ผมเชื่อว่าในรอบต่อไป พวกเขาคงไปล็อบบี้เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ที่งดออกเสียง 25 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนาที่งดออกเสียง 10 เสียง รวมถึงพรรคชาติพัฒนากล้า พรรคครูไทยเพื่อประชาชนและพรรคใหม่ รวมอีก 4 เสียง
 
จึงขาดเสียง ส.ว.อีก 12 เสียงเท่านั้น โดย ส.ว. มาโหวต 206 คน จากสมาชิกทั้งหมด 249 คน เห็นชอบเพียง 13 คน ไม่เห็นชอบ 34 คน งดออกเสียงถึง 159 เสียง ซึ่ง 8 พรรคร่วมจะต้องไปทำความเข้าใจและขอคะแนนเสียงในรอบใหม่ เนื่องจากบางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจนโยบาย บทบาทหน้าที่ของพรรคการเมือง และไม่เข้าใจว่า งดออกเสียง เท่ากับไม่เห็นชอบ และมี ส.ว.ที่ขาดประชุมถึง 43 คน
 
ผมขอเรียกร้องให้ ส.ว.รับผิดชอบต่อประชาชนและระบอบประชาธิปไตย ให้รัฐสภามีเกียรติมีศักดิ์ศรี หากจะงดออกเสียงเยอะขนาดนี้ คืนเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชนดีกว่า ได้ยินข่าวลือมาว่ามีกลุ่มทุนใหญ่ 4 กลุ่มพยายามทุ่มทรัพยากรขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลทุกวิถีทาง แต่สมาชิกรัฐสภาจะรักษาเกียรติศักดิ์ศรีไว้ได้ต้องเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและทุน
 
ถ้าพรรคก้าวไกลสามารถเดินหน้าล็อบบี้ขอเสียงสนับสนุนได้โดยทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการรับผิดชอบนโยบายของพรรคการเมืองต่อประชาชน เชื่อว่านายกฯ คนใหม่ในสัปดาห์หน้าคือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่ถ้าไม่ได้เชื่อว่านายกคนใหม่จะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ที่พร้อมเชิญชวนพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคอื่นเข้าร่วมรัฐบาล และได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. บางส่วนที่มีดีลไว้แล้วกับกลุ่มอำนาจเก่า
 
ต้องยอมรับว่า ส.ว.ถูกแต่งตั้งโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ การเมืองไทยในรอบ 5 ปีหลังนี้ จึงถูกออกแบบไว้ต่อเนื่องจาก 5 ปีแรกภายใต้เผด็จการ คสช. ที่แต่งตั้งคนของตนเองมาดำรงตำแหน่งใน กกต. ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ พวกเขาอาจจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อสะกัดกั้นเสียงของประชาชน และอาจถึงขั้นยุบพรรคก้าวไกลในอีกไม่นาน” นายเมธากล่าว



จับตาการเมืองไม่นิ่ง ต่างชาติลดพอร์ตลงทุน-ขายสินทรัพย์ไทย คาดรอความชัดเจน
https://www.matichon.co.th/economy/news_4079478
 
จับตาการเมืองไม่นิ่ง ต่างชาติลดพอร์ตลงทุน-ขายสินทรัพย์ไทย คาดรอความชัดเจน
 
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.70 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideway ในช่วง 34.50-34.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าในช่วงผลการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งแม้ว่าผลการโหวตจะเป็นไปตามที่คาด และอาจนำมาสู่ความวุ่นวายทางการเมืองในระยะสั้น แต่เงินบาทก็ไม่ได้อ่อนค่ารุนแรงอย่างที่กังวล เนื่องจากเงินดอลลาร์ก็ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง
 
นอกจากนี้ อาจมีโฟลว์จากฝั่งธุรกรรม JPYTHB (ขายเงินเยนญี่ปุ่น ซื้อเงินบาท) ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท หลังเงินเยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องพอสมควรในช่วงนี้ (จากเกือบหลุด 24 บาท/100 เยน สู่ระดับกว่า 24.80 บาท/100 เยน)
 
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง จากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับค่าเงินเยนญี่ปุ่น แต่ทว่า การแข็งค่าอาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังผลการโหวตเลือกนายกฯ ออกมาตามที่คาด และอาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองในระยะสั้นได้ หากเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ก็ควรจะเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น
 
ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์การเมืองไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ผู้เล่นต่างชาติอาจเลือกที่จะลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในไทยไปก่อน เพื่อรอความชัดเจน ซึ่งอาจเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยต่อได้บ้างในช่วงนี้ ทำให้เงินบาทอาจหยุดการแข็งค่าไว้แถวโซนแนวรับที่เคยประเมิน คือ ช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์
 
ขณะที่โซนแนวต้านจะอยู่ในช่วง 34.80-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเงินบาทอาจยังไม่กลับมาอ่อนค่าทะลุโซน 35 บาทต่อดอลลาร์ได้ง่ายนัก หากไม่เห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยที่รุนแรง พร้อมกับการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์
 
อนึ่ง ควรระมัดระวังการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่อาจเกิดขึ้นในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งยังมีความเป็นไปได้ในระยะสั้น หากตลาดกังวลรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน หรือกังวลต่อปัญหาสภาพคล่องของธนาคารในฝั่งสหรัฐฯ
 
ช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน”นายพูนกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่