JJNY : พรสันต์ ส่องกติกาบิดเบี้ยว│'พิธา' ไม่หวั่น กกต.ยื่นศาล รธน.│คนไทย 60% กู้นอกระบบ│"เบลารุส" เปิดค่ายรับแวกเนอร์

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ส่องกติกาบิดเบี้ยว โหวตนายกฯยืดเยื้อ
https://www.matichon.co.th/politics/news_4071483
 
 
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ส่องกติกาบิดเบี้ยว โหวตนายกฯยืดเยื้อ
 
เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนภายหลังจากการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม แต่ความแน่นอนในการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลกลับยังไม่เห็นภาพชัดเจน
 
กระทั่งเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่า เมื่อผลการเลือกตั้งก็ออกมาแล้วอย่างเป็นทางการว่าประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีความประสงค์ที่จะให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม 312 เสียง นำโดยพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคที่มีจำนวนที่นั่ง ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 เป็นแกนนำฟอร์มคณะรัฐมนตรีตามระบบรัฐสภาเข้าทำหน้าที่บริหารประเทศแทนพรรคร่วมรัฐบาลเดิม 188 เสียง แต่แล้วเหตุใดการเลือกนายกฯจึงดูยากเย็นแสนเข็ญ 
 
ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายปรากฏการณ์ในขณะนี้ว่า เป็นการเล่นแร่แปรธาตุคำอธิบายที่ผิดแผกแปลกประหลาด ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาสากลอย่างมากมาย เช่น พรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 อย่างพรรคก้าวไกล นั้นไม่ใช่พรรคเสียงข้างมากของสภาบ้าง ไม่ใช่พรรคที่มีผู้เลือกเป็นเสียงข้างมากของประเทศบ้าง ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องยอมรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการได้พรรคก้าวไกลมาเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หากใช้เหตุผลดังกล่าวก็ไม่มีพรรคการเมืองใดๆ ในประเทศเป็นพรรคเสียงข้างมาก
 
และด้วยการยืนกรานปฏิเสธผลการเลือกตั้งเช่นนี้เอง กระบวนการแต่งตั้งนายกฯที่พรรคก้าวไกลได้เสนอชื่อคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ดำรงตำแหน่ง เพื่อนำไปสู่การมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จึงอาจถูกทอดยาวออกไปแบบไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนได้ เนื่องจากภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเองก็มิได้มีการกำหนดระยะเวลาเร่งรัดชัดเจนให้ต้องทำการเลือกนายกฯให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550 ที่กำหนดไว้ 30 วันนับตั้งแต่มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก
 
นอกจากการหยิบยกเหตุผลร้อยแปดพันประการ ซึ่งในทางวิชาการเข้าลักษณะตรรกะวิบัติ (Fallacy) ไม่สอดคล้องกับบริบททางการเมืองที่เป็นจริงและหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ยังรวมไปถึงความพยายามอธิบายเทียบเคียงกับต่างประเทศว่าระยะเวลาที่ยืดยาวในการจัดตั้งรัฐบาลของไทยปัจจุบันมีทั้งผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง นักการเมือง นักวิชาการ ต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช่เรื่องน่าตกอกตกใจ เพราะประเทศอย่างเบลเยียม หรือเนเธอร์แลนด์ ก็ใช้เวลานานมากๆ กว่าที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมได้
 
ฟังแล้วประหนึ่งว่าจะถูกต้องน่าเชื่อถือ แต่เอาเข้าจริงการไปเทียบเคียงกับประเทศอย่างเบลเยียม หรือเนเธอร์แลนด์ เป็นการเทียบเคียงแบบ “จับแพะชนแกะ” หลับหูหลับตา ไม่ดูเหนือดูใต้เลยว่าโดยระบอบการปกครองและบริบทการเมืองของเขา ผิดแผกแตกต่างจากประเทศเราอย่างมากจนไม่สามารถนำเอามาเปรียบเทียบได้เลย

กล่าวคือ ทั้ง 2 ประเทศข้างต้นมีบริบททางการเมืองและการเลือกตั้งที่ผูกโยงกับเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษา อันเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศนั้นอย่างมีนัยสำคัญ
 
ด้วยสภาวะความหลากหลายเช่นนี้เองจึงเป็นที่มาว่า ภายหลังการเลือกตั้งพรรคการเมืองแต่ละพรรคของเขามักไม่มีพรรคการเมืองใดที่จะมีจำนวน ส.ส.มากถึงขนาดเป็นเสียงข้างมากแต่เพียงพรรคเดียวในสภาผู้แทนราษฎรได้ อันนำไปสู่สภาวะรัฐบาลผสมที่จะต้องมีการพูดคุยต่อรองระหว่างพรรคการเมืองจำนวนมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องใช้เวลายาวนานมากกว่าประเทศอื่นๆ
 
นี่คือบริบทเฉพาะของประเทศเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ไม่เหมือนกับประเทศไทยที่ยังไม่ได้อยู่ในสถานะของประเทศที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้น การนำประเทศไทยไปเทียบเคียงกับประเทศดังกล่าวทั้งที่ไม่อาจเปรียบเทียบได้ จึงเป็นคำอธิบายที่เข้าตำรา “ถามไปไหนมา ตอบสามวาสองศอก
 
กรณีของประเทศไทยอะไรคือเหตุผล หรือปัจจัยที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเกิดการยืดเยื้อยาวนาน อาจารย์พรสันต์ให้คำตอบว่า ก็คือกติกาที่กำหนดกฎเกณฑ์การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่ถูกออกแบบ โดยไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนที่แท้จริงนั่นเอง
 
หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมาอันเป็นข้อเท็จจริงที่ทราบกันเป็นการทั่วไปอยู่แล้ว ต้องยอมรับกันว่าความไม่ชัดเจนแน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง หรือการมีท่าทีแสดงออกซึ่งการปฏิเสธผลการเลือกตั้งของประชาชนในครั้งนี้ เป็นผลมาจากวุฒิสภาที่ประกอบไปด้วย
 
วุฒิสมาชิก 250 คน ที่มาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มอบอำนาจให้เข้ามามีส่วนร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่เหล่าบรรดา 250 ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนแต่อย่างใด
 
นี่จึงเป็นการชัดเจนและยากจะปฏิเสธว่า ปัจจุบันการเมืองของประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับองค์กรและกลไกอันเป็นผลพวงมาจากการทำรัฐประหารในปี 2557 ที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้ความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดย คสช. กำลังทำหน้าที่คัดค้านต่อต้านผลการเลือกตั้งตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิมที่มีความเชื่อมโยงกับการทำรัฐประหารในปี 2557 แต่ในขณะเดียวกันกลับเปิดโอกาสให้ตนเอง หรือขั้วรัฐบาลเดิม แม้ว่าจะพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส.ที่น้อยกว่ามาก ยังสามารถกลับเข้าสู่อำนาจในฐานะรัฐบาลได้อีกอย่างแปลกประหลาด 

กล่าวโดยสรุปรวบความก็คือ คงต้องพูดว่าความยากลำบากในการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศในประเทศไทยหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ขณะนี้ “ไม่ใช่สภาวะปกติ” ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แม้การยืดเยื้ออาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติทางการเมือง หากต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่จำต้องมีการต่อรองกันทางการเมือง แต่ถ้าเงื่อนไขและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางการเมืองนั้นกลับไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากเป็นผลมาจากการตั้งใจใช้กฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือบิดเบือนหลักประชาธิปไตยแบบผู้แทน เพียงเพื่อต้องการทำลายศัตรูขั้วตรงข้ามทางการเมืองเท่านั้น
 
ลักษณะเช่นนี้สามารถเทียบเคียงได้กับกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาที่ยังคงมีการทำรัฐประหารไม่เป็นประชาธิปไตย อาทิ แซมเบีย โตโก บูร์กินาฟาโซ ซูดาน เซเนกัล กลุ่มประเทศเหล่านี้ภายหลังจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจของผู้นำทหารเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว ก็จะมีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนทำลายประชาธิปไตยของประเทศให้ลดน้อยถอยลง
 
ขณะเดียวกันก็จะออกแบบรัฐธรรมนูญด้วยการสร้างองค์กรและกลไกต่างๆ เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของผู้ทำรัฐประหารให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และป้องกัน หรือทำลายศัตรูทางการเมืองของตนเองไม่ให้มีโอกาสเข้ามามีอำนาจทางการเมืองด้วย



'พิธา' ไม่หวั่น กกต.ยื่นศาล รธน.วินิจฉัยสถานภาพ ส.ส. เชื่อ ส.ว.ทำตามมติประชาชน
https://www.khaosod.co.th/politics/news_7756651

‘พิธา’ ไม่หวั่น กกต.ยื่นศาล รธน.วินิจฉัยสถานภาพ ส.ส. เชื่อ ส.ว.ทำตามมติประชาชน ชี้ไม่มีหน้าที่พิจารณานโยบายพรรคการเมือง
 
วันที่ 9 ก.ค. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า​พรรคก้าวไกล ​และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีรายงานข่าว กกต.จะส่งพยานและหลักฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายพิธา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันที่ 10 ก.ค. ว่า เป็นเรื่องที่รู้มาก่อนหน้านี้ว่าจะมีการยื่นตรวจสอบตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ตอนแรกคาดว่าจะเป็นวันที่ 12 ก.ค. แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เราคาดการณ์ไว้แล้วไม่มีอะไรที่น่ากังวลใจ ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ตนพร้อมที่จะชี้แจงทุกประเด็น

เมื่อถามว่า การที่ถูกยื่นร้องเรื่องคุณสมบัติจะมีผลต่อการตัดสินใจของวุฒิสภาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เท่าที่ฟังความคิดเห็นจากวุฒิสภาหลายท่านที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายอะไร หรือมีเรื่องของการถือหุ้นไอทีวี ไม่ใช่หน้าที่ของวุฒิสภาที่จะพิจารณาเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่มาจากประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชนที่จะตัดสินใจ และเมื่อประชาชนตัดสินใจแบบนี้ เชื่อว่าวุฒิสภาก็จะยึดหลักการนี้
 
เมื่อถามว่าการมีมวลชนมาให้กำลังใจในวันที่ 13 ก.ค.นี้ จะมีผลต่อการลงมติหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า คงไม่เรียกว่ามวลชน แต่เป็นประชาชนที่เขาใช้สิทธิ์ใช้เสียงเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่เขาต้องการเห็นการตัดสินใจของเขาเป็นไปตามภาพนั้น เชื่อว่าการมาของประชาชนไม่ได้มากดดันอะไร



คนไทย 60% กู้นอกระบบ โจทย์หิน รบ.ใหม่ เร่งแก้
https://www.matichon.co.th/economy/news_4071502

คนไทย60%กู้นอกระบบ โจทย์หินรบ.ใหม่เร่งแก้
 
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เปิดเผยว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 90% ของจีดีพี เมื่อดูจากจำนวนประชากรของไทย 60-70 ล้านคน มีเพียง 30% กู้เงินจากจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันเงินเฉพาะกิจของรัฐ ขณะที่อีก 60% กู้เงินจากการปล่อยสินเชื่อนอกระบบ ซึ่งหากดูในสัดส่วน 30% พบว่ากู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ 10% และกู้จากสถาบันเงินเฉพาะกิจของรัฐ 20% ก็อาจเป็นหนี้นอกระบบด้วย โจทย์ใหญ่คือจะเพิ่มรายได้ของคนข้างล่างอย่างไร ให้ทันกับดอกเบี้ยหนี้นอกระบบที่ไม่ใช่หลัก 10% 20% หรือ 30% แต่อาจเป็นหลัก 100% ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเป็นรายสัปดาห์หรือเป็นเดือน โจทย์นี้เป็นปัญหาหมักหมมมานาน ไม่ว่าลูกหนี้จะทำอะไรก็จะถูกแรงหน่วงจากการเป็นหนี้ทำให้ไม่มีกำลัง สิ่งนี้รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาดูแลและแก้ไข
 
ถามว่าเราหนักใจแทนรัฐบาลใหม่หรือไม่ แม้ผมไม่ใช่รัฐบาลแต่ก็หนักใจแทนคนที่จะเข้ามานำประเทศ เพราะปัญหาของประเทศเรา เหมือนปมที่ผูกปมหลายปมพันกันไปมา ดังนั้น เราต้องหาวิธีที่จะแก้ปมจากต้นขั้วเพื่อให้เรื่องต่างๆ คลี่คลายได้ ไม่ใช่ยังวนอยู่ปมเดิม วนเวียนกันไปม” นายอาทิตย์ กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวว่า เรื่องของการเมืองเริ่มต้นจากการมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึงมองว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมช่วยกันเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นเสียงที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ ความร่วมมือและแก้ปัญหามากกว่าสร้างปัญหา แล้วทุกอย่างจะเดินต่อไปได้ แต่เวลาพรรคการเมืองมาหาเสียงมักพูดว่าอะไรควรทำ แต่ไม่เคยพูดว่าต้องทำอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันตรวจสอบ
 
ถ้าทำให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้น รัฐบาลอาจจะหยุดโม้ และสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม ควรจะมีคำตอบการทำงานที่ชัดเจนและทำให้ประชาชนมีความหวังได้” นายอาทิตย์ กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่