มารู้ความเป็นมาเบื้องหลังบทกลอนของสุนทรภู่เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชม

คิดว่าบัวและคนส่วนใหญ่จะรู้จักและจดจำบทกลอนของสุนทรภู่ได้ ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าถามว่าบทกลอนตอนนั้นๆมาจากวรรณคดีหรือบทประพันธ์เรื่องอะไร? ตอนใด? น้อยคนนักที่จะตอบได้ ตัวอย่างเช่นบทกลอนที่บัวหยิบยกขึ้นมา .....
ถึงม้วยดิน สิ้นฟ้า มหาสมุทร 
ไม่สิ้นสุด ความรัก สมัครสมาน  
แม้เกิดใน ใต้ฟ้า สุธาธาร 
ขอพบพาน พิศวาส ไม่คลาดคลา
  
เพื่อนๆสงสัยบ้างรึเปล่าว่าทำไมหลวงพ่อสุนทรภู่ถึงกับตกตะลึงโพล่งออกมาว่า "นี่สีกา หรือนางละเวงวัณฬาแปลงกายมา" นางละเวงเป็นราชินีฝรั่งต่างชาติที่ยกทัพมาต่อสู้กับพระอภัยมณี แล้วก็ให้บังเอิญที่แม่บัวมีหน้าตาเป็นคนครึ่งชาติฝาหรั่ง บทกลอนตอนนี้เป็นบทกลอนที่สุนทรภู่ประพันธ์เพื่อพรรณาถึงความรักของพระอภัยมณีที่มีต่อนางละเวงวัณฬา หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายทำสงครามรบพุ่งกันแล้วนางละเวงพ่ายแพ้ต่อพระอภัยมณี แต่กลับก่อเกิดเป็นความรักที่มีให้ต่อกัน ... โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้น นางละเวงวัณฬา เป็นธิดาของเจ้ากรุงลังกา นางละเวงเป็นสตรีที่กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ฉลาด เจ้าเล่ห์ มีฝีมือในการรบทัพจับศึก แต่มีเหตุที่ละเวงต้องกลายเป็นศัตรูคู่แค้นกับพระอภัยมณีและนางสุวรรณมาลี เพราะนางสุวรรณมาลี ธิดาของท้าวสิลราช เจ้าเมืองผลึก สลัดรักอุศเรน พระเชษฐาของนางละเวง แล้วหันไปรักพระอภัยมณี อุศเรนจึงยกทัพไปทำสงครามกับเมืองผลึก แต่พลาดท่าถูกพระอภัยมณีจับเป็นเชลย ทำให้เจ้ากรุงลังกา พระบิดาของอุศเรนและนางละเวง ตรอมใจสวรรณคต "นางละเวงวัณฬา" ขึ้นครองกรุงลังกาด้วยวัยเพียง 16 ปี นางต้องการล้างแค้นให้กับพระบิดาและพระเชษฐา "นางละเวง" จึงให้ช่างวาดภาพนางด้วยสีผสมเสน่ห์ยาแฝด แล้วส่งไปตามเมืองต่างๆ พร้อมประกาศว่าใครช่วยนางรบชนะพระอภัยมณี นางจะอภิเษกสมรสด้วย กษัตริย์องค์แรกที่มาเจอภาพวาดนางละเวงคือ "เจ้าละมาน" กษัตริย์พ่อหม้าย ที่เมื่อเห็นรูปนางละเวงก็รีบยกทัพไปทำสงครามกับพระอภัยมณี แต่กลับพลาดท่า พ่ายแพ้ต่อพระอภัยมณี ภาพวาดที่งดงามของนางละเวงจึงตกไปอยู่ในมือพระอภัยมณี พระอภัยมณีหลงรักนางละเวงทันทีที่เห็นภาพวาดนี้ พระอภัยมณีออกรบทำสงครามด้วยการเป่าปี่บนราชรถ ทหารในกองทัพทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อได้ยินเสียงปี่ของพระอภัยมณี ต่างก็พากันหลับไหล แต่นางละเวงมีตราราหูไว้คุ้มกันจึงไม่หลับ นางละเวงขี่ม้าออกรบกับพระอภัยมณี พระอภัยมณีเห็นนางละเวงก็เกิดจิตปฏิพัทธ์รักใครจึงเป่าปี่เกี้ยวพาราสีนางละเวง ซึ่งสุนทรภู่พรรณาถอดความหมายของเพลงปี่ออกมาเป็นบทกลอนว่า .....

ต้อยตะริด ติดตี่ เจ้าพี่เอ๋ย 
จะละเลย เร่ร่อน ไปนอนไหน
แอ้อีอ่อย สร้อยฟ้า สุมาลัย 
แม้นเด็ดได้ แล้วไม่ร้าง ให้ห่างเชย
ฉุยฉายชื่น รื่นรวย ระทวยทอด
จะกล่อมกอด กว่าจะหลับ กับเขนย
หนาวน้ำค้าง พร่างพรม ลมรำเพย 
ใครจะเชย โฉมน้อง ประคองนวล
เสนาะดัง วังเวง เป็นเพลงพลอด 
เสียงฉอดฉอด ชดช้อย ละห้อยหวล
วิเวกแว่ว แจ้วใน ใจรัญจวน 
เป็นความชวน ประโลม โฉมวัณลา 

(การที่หลวงพ่อสุนทรภู่หยิบบทกลอนนี้ออกมาให้ทองอ้น อาจเป็นไปได้ว่าท่านเพิ่งจะแต่งถึงตอนนี้เอง 🤣🤣🤣)

นางละเวงวัณฬา ได้ฟังเพลงปี่ก็ลืมองค์หลงรักพระอภัยมณี 😅 แต่ปัญหาก็คือ ทั้งพระอภัยมณีและนางละเวง ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน ทั้งๆที่ต่างก็มีเรื่องบาดหมางใจต่อกัน ... สุนทรภู่ประพันธ์บทกลอนที่พรรณนาถึงความรักของพระอภัยมณีที่มีต่อนางละเวงวัณฬาไว้ว่า

"พระสวมสอด กอดแอบ แนบถนอม 
งามละม่อม แม่อย่าหมอง เลยน้องเอ๋ย  
สักแสนปี มิได้ร้าง ให้ห่างเชย 
ไม่ละเลย ลืมสัตย์ ปฏิญาน  
ถึงม้วยดิน สิ้นฟ้า มหาสมุทร 
ไม่สิ้นสุด ความรัก สมัครสมาน  
แม้เกิดใน ใต้ฟ้า สุธาธาร 
ขอพบพาน พิศวาส ไม่คลาดคลา  
แม้เนื้อเย็น เป็นห้วง มหรรณพ 
พี่ขอพบ ศรีสวัสดิ์ เป็นมัจฉา  
แม้เป็นบัว ตัวพี่เป็น ภุมรา 
เชยผกา โกสุม ปทุมทอง  
เจ้าเป็นถ้ำ อำไพ ขอให้พี่ 
เป็นราชสีห์ สมสู่ เป็นคู่สอง  
จะติดตาม ทรามสงวน นวลละออง 
เป็นคู่ครอง พิศวาส ทุกชาติไป" ....

โชคดีที่พระฤาษีแห่งเกาะแก้วพิสดาร (ฤาษีองค์เดิม 🤣) มาช่วยถอนเวทย์มนตร์ยาเสน่ห์จากสีในภาพวาด และยังเทศนาสั่งสอนให้ทุกฝ่ายละเว้นความอาฆาตพยาบาทและคืนดีกัน นางละเวงตัดสินใจยกบัลลังค์ให้ราชบุตร แล้วไปบวชพร้อมนางสุวรรณมาลี เพื่อรับใช้พระอภัยมณี ณ เขาสิงคุตร์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่