JJNY : เศรษฐานำทัพเพื่อไทย│อ.มธ.หนุนรัฐสวัสดิการ│เดือนหน้าหนักกว่านี้ แต่ภาคธุรกิจลด│'จี7'ร้องรัสเซียถอนทหารจากยูเครน

เศรษฐา นำทัพเพื่อไทย ปราศรัยร้อยเอ็ด ชาวบ้านแห่ตะโกนเชียร์ นายกฯคนที่ 30
https://www.khaosod.co.th/election-2023/news_7617365
 
 
เศรษฐา นำทัพ ปราศรัยร้อยเอ็ด 2 เวที ชาวบ้านแห่ตะโกนเชียร์ นายกฯ คนที่ 30 ย้ำ เพื่อไทย เป็นรัฐบาลสินค้าเกษตรเพิ่ม 3 เท่า กาเพื่อไทยทั้ง 2 ใบ อย่าปันใจให้ใคร
 
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 18 เม.ย. 2566 ที่อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานคณะที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รองหัวหน้าพรรค นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ นายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งพรรค น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรค นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดินทางพร้อมคณะมาถึงสนามบินร้อยเอ็ด เพื่อปราศรัยใหญ่ภาคอีสานเป็นวันแรก
  
ทันทีที่คณะของพรรคเพื่อไทยมาถึง มีผู้สมัครส.ส.ร้อยเอ็ดพรรคเพื่อไทย และประชาชน ยืนรอรับพร้อมมอบพวงมาลัยคล้องคอแคนดิเดตนายกฯ และส่งเสียงตะโกนดึงกึกก้อง ว่า “นายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย” ตลอดทางระหว่างที่คณะของนายเศรษฐา เดินออกจากสนามบิน

ต่อมาเวลา 09.30 น. พรรคเพื่อไทย เปิดเวทีปราศรัยแรก ที่โรงเรียนจันทรุเบกษา อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด นำโดยนายเศรษฐา พร้อมผู้สมัคร ส.ส.ร้อยเอ็ด ประกอบด้วย นายศักดา คงเพชร เขต 7 เบอร์ 7, นายกิตติ สมทรัพย์ เขต 6 เบอร์ 5, น.ส.จิราพร สินธุไพร เขต 5 เบอร์ 3 และน.ส.ชญาภา สินธุไพร เขต 8 เบอร์ 4 โดยมีประชาชนร่วมฟังปราศรัยกว่า 5,000 คน
  
น.ส.ชญาภา กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า ช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หลายท่านได้ยิน นามสกุล สินธุไพร ก็ยังสับสนสงสัย กราบเรียนทุกท่านว่า สินธุไพร ที่มี พ่อนิสิต-แม่เอมอร และพี่น้ำ จิราพร สินธุไพร อยู่กับ พรรคเพื่อไทย ไม่เคยย้ายพรรคหนีไปไหน ที่สำคัญอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตย อยู่กับพรรคเพื่อไทยมาตลอด ไม่เคยรับใช้หรือเป็นนั่งร้านให้กับฝ่ายเผด็จการแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว
 
ทั้งนี้ ร้อยเอ็ดคือพื้นที่ประชาธิปไตยคือเกียรติภูมิ คือฐานที่มั่นของฝ่ายประชาธิปไตยมาตลอด โดยเฉพาะในการเลือกตั้งซ่อม นายก อบจ.ร้อยเอ็ด เดือนก.ย. ปลายปีที่ผ่านมา พี่น้องได้สร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองของชาวร้อยเอ็ด ด้วยการปักธงประชาธิปไตยไว้ที่ร้อยเอ็ด เทคะเเนน เลือกเอานายก อบจ.จากพรรคเพื่อไทย ด้วยคะเเนนชนะแบบถล่มทลาย ได้นายก อบจ. ‘ร้อยเอ็ดแลนด์สไลด์’ ไปรับใช้พี่น้องชาวร้อยเอ็ด
 
น.ส.ชญาภา กล่าวว่า วันที่ 14 พ.ค.นี้ พี่น้องผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงทุกท่านที่อยู่ตรงนี้ จะได้ใช้ 1 สิทธิ 1 เสียงกำหนดชี้ชนะอนาคตของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง จะทวงคืนโอกาส ทวงคืนศักดิ์ศรีกว่าเกือบ 1 ทศวรรษที่สูญหาย ให้ประเทศไทยได้กลับมามีที่ยืนบนเวทีโลกอย่างสง่างามอีกครั้ง โดยการนำของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ถือธงนำฝ่ายประชาธิปไตย พรรคที่มีศักยภาพในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จและเป็นรูปธรรม และจะนำการเมืองไทยออกจากระบอบประยุทธ์ได้
 
พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายยุทธศาสตร์ เพื่อไทยชนะแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน และต้องมีเสียงในสภาฯ เกินกว่าครึ่ง เพื่อไปสู้กับ ส.ส.250 ที่มาจากการแต่งตั้ง เอาลุงออกไป และเอาเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล เลือกเพื่อไทยทั้งคนทั้งพรรคให้แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน
 
นายเศรษฐา ปราศรัยว่า วันนี้ชื่นใจที่ได้มาร้อยเอ็ด ตนรับทราบได้ถึงสายตาที่เป็นมิตร รอยยิ้ม และความจริงใจที่มีให้กับตน และคณะ ตอนนี้รู้แล้วว่าทำไมคณะทำงานจาก กทม.อยากเดินทางมาเยือนร้อยเอ็ด ทั้งนี้ ตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ เวทีแรกที่ตนมาก็คือเวทีร้อยเอ็ด ตนรู้ว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ประชาชนรายได้ตกต่ำ อากาศไม่บริสุทธิ์ ยาเสพติดระบาดทุกหัวระแหง แต่พรรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งกลับมีนโยบายกัญชาเสรี แต่เพื่อไทยยืนยัน เราสนับสนุนกัญชาเพื่อ การแพทย์อย่างเดียว
 
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ค้นพบข้าวพันธุ์ทุ่งกุลาร้องไห้ จดทะเบียนเป็นของคนไทย สร้างรายได้มากมาย แต่กลับไม่มีใครสานต่อตรงนี้ ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเรายืนยัน สินค้าเกษตรจะราคาสูงขึ้น 3 เท่า และเราจะใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยพิ่มผลผลิตให้พี่น้อง และเราพรรคเพื่อไทยจะออกไปเปิดตลาดใหม่ๆให้พี่น้อง
 
นอกจากนี้ เรายังมีนโยบายเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท เพื่อให้ประชาชนเอาไปจับจ่ายใช้สอย ในระยะทาง 4 กิโลเมตรนับจากที่อยู่ตามบัตรประชาชน และต้องใช้ภายใน 6 เดือน ผลประโยชน์นี้ไม่ได้ตกอยู่แค่กับพี่น้องที่ได้เงินในบัตรเท่านั้น แต่คนค้าขาย คนที่มีสินค้าต่างๆจะได้ประโยชน์ไปด้วย นี่ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั้งระบบ
 
ดังนั้น ขอให้พี่น้องชาวร้อยเอ็ดทุกคนออกไปใช้เสียงในวันที่ 14 พ.ค. ให้ถล่มทลาย เข้าคูหา กาเพื่อไทยให้ถล่มทลายทั้ง 2 ใบ เลือกทั้งคน ทั้งพรรค ไม่ปันใจให้ใคร ไม่มีพรรคพี่ ไม่มีพรรคน้อง เราจะกลับมามีความเจริญรุ่งเรื่องอีกครั้ง
 
จากนั้นนายเศรษฐา พร้อมคณะ จะเดินทางไปปราศรัยที่ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เพื่อช่วยหาเสียงให้กับนายสถาพร ผู้สมัครส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 1 เบอร์ 3 ส่วนช่วงบ่ายนายเศรษฐา จะเดินทางพร้อมคณะ ไปปราศรัยที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์


 
อ.เศรษฐศาสตร์ มธ. หนุนรัฐสวัสดิการ อย่าเรียกเหมารวมทุกนโยบายเป็น ‘ประชานิยม’
https://www.matichon.co.th/politics/news_3931475
 
อ.เศรษฐศาสตร์ มธ. หนุนรัฐสวัสดิการ อย่าเรียกเหมารวมทุกนโยบายเป็น ‘ประชานิยม’
 
เมื่อวันที่ 18 เมษายน ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ (CRISP) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงอยู่ในขณะนี้

ส่วนใหญ่เน้นด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 เป็นเหตุให้พรรคการเมืองต่างพยายามเสนอนโยบายเรื่องปากท้องซึ่งประชาชนจับต้องได้ที่สุด
 
สำหรับนโยบายด้านสวัสดิการ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พบว่าพรรคการเมืองได้เน้นเรื่องการสร้างระบบสวัสดิการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าพัฒนาการของระบบสวัสดิการไทยจะชะลอตัวลงในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แต่ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ พบว่าพรรคการเมืองได้กลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสวัสดิการอีกครั้ง เนื่องจากยังมีความต้องการจากประชาชนในด้านนี้อยู่มาก

นโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านสวัสดิการที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การสร้างระบบบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ และยังมีนโยบายอื่นๆ อีก เช่น เงินช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ตลอดจนนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อยกระดับรายได้ของคนทั่วประเทศ ซึ่งโดยส่วนตัวอยากเสนอว่านโยบายเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ต้องทำให้ครอบคลุมเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับมิติเชิงคุณภาพของนโยบาย และควรบริหารจัดการอย่างเป็นระบบด้วย” ผศ.ดร.ธร กล่าว
 
ผศ.ดร.ธร กล่าวอีกว่า การใช้งบประมาณเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนถือเป็นเรื่องปกติของการจัดทำนโยบาย แต่ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือสุดท้ายจะใช้ได้มากเพียงใด แนวทางการจัดสรรเงินให้นโยบายต่าง ๆ เหมาะสมหรือไม่ และถึงแม้ว่านโยบายของแต่ละพรรคการเมืองจะมีการแข่งขันกันโดยมีจำนวนเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่คงไม่สามารถเหมารวมว่าทุกนโยบายเป็น ‘ประชานิยม’ ได้ โดยเฉพาะกับนโยบายที่เน้นการพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
 
นโยบายที่ช่วยขยายระบบสวัสดิการของรัฐเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในระดับสากลแล้ว ประเทศไทยยังลงทุนเรื่องสวัสดิการค่อนข้างน้อย และยังมีนโยบายที่สามารถทำได้อีกหลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ มีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ยากจนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องมีสวัสดิการมารองรับ
 
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่อยากให้พรรคการเมืองควรดำเนินการ เช่น นโยบายเรื่องการจำกัดอำนาจของทุนผูกขาด รวมถึงการทำให้ค่าแรงเหมาะสมทันตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การเพิ่มการดูแลเด็กเล็กที่ขาดโอกาส ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้” ผศ.ดร.ธร กล่าว
 
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มธ. กล่าวอีกว่า พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนสูงที่สุด ก็ยังต้องเผชิญกับด่านต่อไปในการทำนโยบายให้ออกมาได้จริง ได้แก่ 1. งบประมาณ ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับการทำได้ครบทุกนโยบายตามที่มีการหาเสียงไว้ 2. ระบบราชการและการเมือง โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง จากการที่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี จนทำให้เกิดความไม่แน่นอน เพราะพรรคที่ชนะการเลือกตั้งก็อาจจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
 
อันดับแรกคือเราต้องช่วยกันกดดัน สว. ให้มากที่สุด ถ้าพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมาได้อันดับ 1 ชัดเจนแล้วต้องการจัดตั้งรัฐบาล สว.ไม่ควรจะมีบทบาทไปสนับสนุนคนจากพรรคการเมืองอื่นเข้ามาแทน เรื่องนี้ผมว่าเป็นหลักการสำคัญ แล้วยังมีปัญหาที่ควรตระหนักอีกว่า กรณีที่หากมีการเลือกนายกฯ ที่เป็นเสียงข้างน้อยขึ้นมา ก็จะมีปัญหาทางเสถียรภาพของรัฐบาลมากๆ และอาจจะกลายเป็นวิกฤตการเมืองที่ต้องไปแก้กันนอกระบบอีก ส่งผลให้ประเทศเกิดปัญหาทางการเมืองไม่จบสิ้น” ผศ.ดร.ธร กล่าว

ผศ.ดร.ธร ยังกล่าวด้วยว่า หนทางของการปรับปรุงทิศทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศหลังจากนี้ ในกรณีที่ได้รัฐบาลใหม่ อาจต้องเริ่มจากการรื้อมรดกบางประการจากรัฐบาลเก่า โดยเฉพาะข้อผูกมัดในหลายรูปแบบที่รัฐบาลเดิมวางไว้ มิฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ถึงได้รัฐบาลใหม่มาก็อาจยังเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากในระยะสั้น เพราะยังมีกลไกที่ถูกวางเอาไว้ที่ไม่เอื้อให้พรรครัฐบาลใหม่สามารถบริหารจัดการทุกอย่างได้ง่าย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่