JJNY : 5in1 หนุ่มช็อก!จับได้ใบแดง│‘พท.’เคาะ‘ชลน่าน’│เปรียบคนไทย'ไร้เบาะ'│PMI หลายปท.ในเอเชียร่วง│รัสเซียจับผู้ต้องสงสัย

หนุ่มช็อก! ทรุดเป็นลม จับได้ใบแดง เป็นทหารเกณฑ์ ต้องทิ้งงานราชการ (คลิป)
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7594639
 
 
หนุ่มช็อก! ทรุดเป็นลม จับได้ใบแดง เศร้าต้องทิ้งงานราชการ เผยกำลังจะได้เซ็นสัญญา ระบุต้องมีเอกสารการเกณฑ์ทหาร
 
วันที่ 3 เม.ย. 2566 มีผู้ใช้ TikTok เผยแพร่คลิปวิดีโอการคัดเลือกทหารเกณฑ์ พื้นที่ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ โดยมีชายคนหนึ่งจับได้ใบแดง ถึงกับร้องไห้ ทรุดเป็นลม จนเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาช่วยพยุง

เจ้าตัวออกมาชี้แจงว่า “ผมคือคนในคลิปครับ สาเหตุที่ผมเป็นลม คือ ผมต้องไปทำสัญญาพนักงานราชการ ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณุขครับ และการสอบทุกอย่างต้องยกเลิกทั้งหมดเลยครับ” ขณะที่มีผู้มาแนะนำว่า ให้สอบแล้วได้สัญญาจ้างของพนักงานราชการมา แล้วค่อยใช้สิทธิการลาของพนักงานราชการ ที่ขอไปรับราชการทหาร พอพ้นทหารก็กลับมาทำงานได้ค่ะ
 
เจ้าตัวได้ตอบกลับว่า “สอบมาแล้วครับ รอทำสัญญาจ้าง แต่ที่ทำงานเขาบอกว่าต้องมีเอกสารทหารเกณฑ์ครับ ถึงจะทำได้ ไม่งั้นต้องให้คนที่สำรองที่ 1 หรือ 2 ครับ

https://www.tiktok.com/@cherryzz5/video/7217443975437749530
 


‘เพื่อไทย’ เคาะ ‘ชลน่าน’ จับเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3 รอ 4 เม.ย.
https://www.matichon.co.th/politics/news_3908673

‘เพื่อไทย’ เคาะ ‘ชลน่าน’ จับเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3 รอ 4 เม.ย.
 
เมื่อวันที่ 3 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่า สำหรับการสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครดินแดง ในวันที่ 4 เมษายน ของพรรค พท.นั้น แกนนำพรรคและว่าที่ผู้สมัครของพรรคจะนัดหมายรวมพลที่พรรค พท. เพื่อเดินทางไปพร้อมกันเหมือนการสมัคร ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง โดยผู้ที่จะเป็นตัวแทนพรรคในการจับหมายเลขที่ใช้ในการเลือกตั้งของพรรคจะเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค
 
ส่วนว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พท.ที่จะมีการเปิดตัววันที่ 5 เมษายนนั้น ที่ชัดเจนแล้วคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ส่วนรายที่ 3 มีแนวโน้มสูงว่าจะเป็น นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรค พท. แต่ที่สุดแล้วต้องรอให้กรรมการบริหารพรรคประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 4 เมษายน



ขุนพลเศรษฐกิจก้าวไกล เปรียบคนไทย 'ไร้เบาะรองรับ' ชี้ 'รัฐสวัสดิการ' ช่วยเสมอภาค ไม่ใช่สงเคราะห์
https://www.matichon.co.th/politics/news_3909277

ขุนพลเศรษฐกิจก้าวไกล ชี้ รัฐสวัสดิการไม่ใช่การสงเคราะห์ เปรียบคนไทยเหมือนไม่มีเบาะรองรับเมื่อเกิดปัญหา
 
เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 21 โดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับ BOOKWALKER ในแนวคิด “Book Fluencer” ผู้นำอ่าน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 9 เมษายนนี้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เดินทางมาเลือกซื้อหนังสือ แด่ทุกต้นกล้าความฝัน : ประวัติศาสตร์ กรณีศึกษา และเส้นทางการต่อสู้สู่รัฐสวัสดิการ ผลงาน ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้น่าสนใจเพราะเราอยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้นเราก็ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของคนและสิ่งที่รัฐควรจะให้ คิดว่าโครงสร้างรัฐที่มีอยู่ซึ่งมีคนส่วนหนึ่งที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีเบาะรองรับเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่ตนเองไม่ได้สร้าง หรือเมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงเพราะฉะนั้นถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วบั้นปลายชีวิตจะทำได้อย่างไรถ้ารัฐไม่ได้เตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ เพราะฉะนั้นคิดว่ารัฐสวัสดิการไม่ได้พูดถึงเรื่องการสงเคราะห์แต่พูดถึงความเข้าใจว่าเราเกิดมาแล้วเรียนจบจนทำงาน ตนคิดว่าวันหนึ่งเราต้องได้ใช้บริการที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้เพื่อความเสมอภาคของคนทั่วไป
 
“ผมคิดว่าการอ่านหนังสือเหมือนการสะสมไว้ในธนาคาร วันนี้อาจจะไม่ได้ใช้โดยตรงแต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆเราสะสมไปเรื่อยๆแล้ววันหนึ่งมันจะเชื่อมโยงกันเอง อาจจะเรื่องหนึ่งเชื่อมโยงไปอีกเรื่องหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องอ่านจนจบเล่มเพราะมันจำไม่ได้แต่ท้ายที่สุดเราจะจับความได้ว่าเราเคยเข้าใจเรื่องนี้ ผมคิดว่าเจตนาของการอ่านหนังสือจริงๆคือเราสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่มีทั้งโลกได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
สำหรับสำนักพิมพ์มติชน ประจำที่บูธมติชน M49 ดึงศิลปินชื่อดัง “ไข่แมว” ผู้วาดการ์ตูนน้องตาใส ผสมอารมณ์ขันยั่วล้อการเมือง มาร่วมออกแบบบูธและของพรีเมียม เตรียมเสิร์ฟนักอ่านแบบจุใจ ในธีม “BOOKSELECTION” โดยถ่ายทอดเส้นสีแสบสันยั่วล้อไปกับโมงยามของการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ภายในบูธอัดแน่นด้วยหนังสือ ครอบคลุมทุกความสนใจ อาทิ แนวการเมือง ประวัติศาสตร์ ราชวงศ์ รัฐสวัสดิการ การเมือง ไสยศาสตร์-ทุนนิยม เมืองในฝัน ผู้นำ ชนชั้น อำนาจ จิตวิทยา-แรงบันดาลใจ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ ตลอดจนหนังสือสุขภาพ โดยหนังสือใหม่ที่เปิดตัวในงานนี้ ทั้ง 26 ปก ลด 15% ส่วนหนังสือขายดีลดพิเศษถึง 20%


  
PMI หลายประเทศในเอเชียร่วง อุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแอ แนวโน้มเศรษฐกิจไม่ฟื้นเร็ว
https://www.prachachat.net/world-news/news-1252595

กิจกรรมภาคการผลิตของหลายประเทศเอเชียร่วง เพราะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง บ่งชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกที่แย่ลงยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของภูมิภาคนี้  
 
วันที่ 3 เมษายน 2566 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า กิจกรรมภาคการผลิตของเอเชียในเดือนมีนาคม 2566 อ่อนแอเนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่น้อยลง บ่งชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกที่ทรุดลงยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของภูมิภาคนี้ และทำให้ผู้กำหนดนโยบายยังคงต้องเฝ้าระวัง 

กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่พึ่งพาการส่งออกต่างก็หดตัวลงในเดือนมีนาคม ในขณะที่การเติบโตในภาคการผลิตของจีนชะลอลง เน้นย้ำให้เห็นความท้าทายที่เอเชียต้องเผชิญ ในขณะที่ทางการพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อและป้องกัน headwind จากโมเมนตัมของเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา 
 
ชิวาน ตันดอน (Shivaan Tandon) นักเศรษฐศาสตร์ด้านตลาดเกิดใหม่ในเอเชียของ Capital Economics กล่าวว่า เนื่องด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงอ่อนแอในไตรมาสที่กำลังจะมาถึง จึงคาดว่ากิจกรรมภาคการผลิตและผลผลิตในเอเชียยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน 
 
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (purchasing managers index: PMI) เดือนมีนาคม 2566 ของจีนที่จัดทำโดย Caixin/S&P อยู่ที่ 50.0 จุด ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 51.7 จุด และต่ำกว่าดัชนีเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งอยู่ที่ 51.6 จุด 
 
ทั้งนี้ ค่า PMI ที่ 50.0 จุด สะท้อนถึงการเติบโตที่ช้าลง เกือบจะหลุดเส้น 50.0 ซึ่งถ้าต่ำกว่านั้น หมายถึงการหดตัวลง 
 
หวัง เจ๋อ (Wang Zhe) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Caixin Insight Group กล่าวถึง PMI ล่าสุดของจีนว่า  ฐานรากของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่มั่นคง และในอนาคตข้างหน้า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะยังคงพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น 
 
ส่วน PMI ของเกาหลีใต้ในเดือนมีนาคมร่วงลงมาที่ 47.6 จุด จากเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ที่ 48.5 จุด เป็นการหดตัวที่เร็วที่สุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากคำสั่งซื้อของภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลง
  
สำหรับดัชนี PMI ของญี่ปุ่น ซึ่งจัดทำโดย Jibun Bank ดัชนีเดือนมีนาคมอยู่ที่ 49.2 เพิ่มขึ้นจาก 47.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังคงต่ำกว่าเกณฑ์ 50 เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9

ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น (Central Bank of Japan: BOJ) เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 3 เมษายน แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2566 เข้าสู่ระดับที่เลวร้ายที่สุดในรอบกกว่า 2 ปี เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอได้เพิ่มความลำบากให้บริษัทต่าง ๆ ที่ต้องต่อสู้กับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นอยู่ก่อนแล้ว 
 
สำหรับเวียดนามและมาเลเซีย กิจกรรมภาคการผลิตหดตัวลงเช่นกันในเดือนมีนาคม ส่วนฟิลิปปินส์ก็ขยายตัวช้ากว่าเดือนกุมภาพันธ์ 

ในขณะที่ปัญหาการหยุดชะงักของอุปทานที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนใหญ่คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่อุปสงค์ชิปที่อ่อนแอลง และสัญญาณล่าสุดจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวได้กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชีย 
 
การล้มละลายของธนาคารในสหรัฐเมื่อเดือนมีนาคม และการขาดสภาพคล่องจนต้องขายกิจการของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ได้เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาด และฉายให้เห็นถึงช่องโหว่ที่อาจเกิดปัญหาขึ้นในระบบการเงินโลก 
 
ในขณะที่มีข้อบ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ แต่แนวโน้มยังคงคลุมเครือ เนื่องจากปัญหาในภาคธนาคาร อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูง และการเติบโตทั่วโลกที่ชะลอตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ดึงการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายไปคนละทาง ทำให้คาดการณ์ได้ยากว่าเฟดจะคลายความตึงของนโยบายการเงินลงหรือจะยังคุมเข้มต่อไป 
 
แรงกดดันจากภายนอกและความคลุมเครือได้ทิ้งให้เศรษฐกิจของบางประเทศในเอเชียซึ่งขับเคลื่อนด้วยการส่งออกต้องตกอยู่ในความเสี่ยง ในช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจกำลังพยายามหาทางฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำที่เกิดจากโควิด-19 เป็นเวลาหลายปี
 
ชิวาน ตันดอน นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics แสดงความเห็นอีกว่า แรงฉุดส่วนใหญ่จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนั้นยังไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น Capital Economics จึงคาดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกและคำสั่งซื้อที่ภาคการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียจะได้รับจะยังคงอ่อนแอในไตรมาสต่อ ๆ ไป
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานเพิ่มเติมว่า ตัวเลขดัชนี PMI ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนแถลงในวันที่ 3 เมษายน 2566 สูงกว่าตัวเลขที่จัดทำโดย Caixin/S&P ทั้ง PMI ภาพรวม และ PMI ภาคการผลิต โดยตัวเลข PMI ภาคการผลิตที่ทางการจีนแถลงอยู่ที่ 51.9 จุด มากกว่าตัวเลขของ Caixin/S&P ซึ่งอยู่ที่ 50.0 จุด อย่างไรก็ตาม ตัวเลข PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคมของจีนที่ทางการระบุ 51.9 จุด ก็ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งอยู่ที่ 52.6 จุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่