JJNY : คนGen Z มุ่งเลือก ‘พิธา-อุ๊งอิ๊ง’│กท.นำลิ่วขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า│ทุนจีนโผล่บางเขน│รัสเซียติดตั้งนิวเคลียร์

คน Gen Z มุ่งเลือก ‘พิธา-อุ๊งอิ๊ง’ นายกฯคนใหม่ แบบนำโด่งตีคู่หายใจรดต้นคอ
https://www.matichon.co.th/politics/news_3893870
 
 
คน Gen Z มุ่งเลือก 2 ผู้นำทางการเมืองรุ่นใหม่ ‘พิธา-แพทองธาร’ ให้เป็นนายกฯคนใหม่ แบบนำโด่งตีคู่หายใจรดต้นคอกันมา
 
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “อาจารย์ธำรงศักดิ์โพล” งานวิจัยส่วนบุคคลของ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 18-26 ปี ทั้งประเทศคน Gen Z มีสิทธิเลือกตั้ง 7.67 ล้านคน) ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯและทุกภาคของประเทศ จำนวน 1,050 คน เกี่ยวกับทัศนคติต่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

1. ข้อคำถามว่า “ใครคือบุคคลที่ท่านปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 มากที่สุด
ผลการวิจัยพบว่า
1) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 29.2 (307 คน)
2) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 23.0  (241 คน)
3) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 3.3  (35 คน)
4) นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 1.7  (18 คน)
5) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 1.3  (14 คน)
6) นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 0.7  (7 คน)
7) นายกรณ์ จาติกวณิช ร้อยละ 0.7  (7 คน)
8) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 0.3  (3 คน)
9) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร้อยละ 0.2  (2 คน)
10) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร้อยละ 0  (0 คน)
11) นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ร้อยละ 0  (0 คน)
12) คนอื่นๆ ร้อยละ 3.0  (32 คน)
13) ยังไม่ได้ตัดสินใจ ร้อยละ 26.9  (282 คน)
14) ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 9.7  (102 คน)
 
2. ข้อคำถามว่า “ท่านจะไปเลือกตั้ง ส.ส. พฤษภาคม 2566 หรือไม่
ผลการวิจัยพบว่า
1) จะไปเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง ร้อยละ 74.8  (784 คน)
2) จะไปเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ร้อยละ 10.3  (108 คน)
3) จะไม่ไปเลือกตั้ง ร้อยละ 1.0  (11 คน)
4) ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 10.3  (784 คน)
5) ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 3.6  (37 คน)
 
3. คน Gen Z แสดงออกถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ถึงร้อยละ 85.1 ซึ่งสอดคล้องกับการเก็บข้อมูลก่อนการเลือกตั้งครั้งก่อน (24 มีนาคม 2562) ที่คน Gen Z ต้องการไปเลือกตั้งถึงร้อยละ 88.7 และยังสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของการมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศปี 2562 ที่มีร้อยละ 74.87

4. สองผู้นำการเมืองรุ่นใหม่จากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนำโด่งแบบตีคู่หายใจรดต้นคอกันมา ระหว่างนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ทั้งยังมีคะแนนของผู้ยังไม่ได้ตัดสินใจที่มีแนวโน้มจะเลือกหนึ่งในสองผู้นำนี้เป็นสำคัญ ที่จะสามารถแย่งชิงคะแนนเสียงกันได้อีกถึงร้อยละ 26.9
 
5. คน Gen Z (อายุ 18-26 ปี) มีสิทธิเลือกตั้ง 7.67 ล้านคน หากคาดว่ามาใช้สิทธิอย่างแน่นอนร้อยละ 85.1 ก็ประมาณได้ว่าจะมีคน Gen Z มาใช้สิทธิเลือกตั้งเบื้องต้นราว 6.52 ล้านคน เมื่อคน Gen Z ตัดสินใจเลือกนายพิธา ร้อยละ 29.2 คาดได้ว่านายพิธาจะมีคะแนนนิยมจากคน Gen Z เบื้องต้นราว 1.9 ล้านเสียง ส่วนนางสาวแพรทองธาร ร้อยละ 23.0 จะมีคะแนนนิยมจากคน Gen Z เบื้องต้นราว 1.5 ล้านเสียง ยังมีอีกร้อยละ 26.9 หรือราว 1.75 ล้านเสียงที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร
 
6. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนนิยมจากคน Gen Z ร้อยละ 1.3 หรือเบื้องต้นราว 8.5 หมื่นเสียง ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้คะแนนนิยมจากคน Gen Z ร้อยละ 0.3  หรือเบื้องต้นราว 2 หมื่นเสียง


 
กรุงเทพนำลิ่ว ขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า คนไทยในอังกฤษมาอันดับ1
https://www.khaosod.co.th/election-2023/news_7579052

เผยกรุงเทพนำลิ่ว ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขต ด้านคนไทยในอังกฤษ มาอันดับ 1 เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รองมาคือออสเตรเลีย
 
วันที่ 25 มี.ค.2566 สำนักงาน กกต.ได้สรุปตัวเลขผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งที่เปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 25 มี.ค.เป็นวันแรก โดยตัวเลขทั่วประเทศพบว่ามีผู้ลงทะเบียน 32,805 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ทางอินเตอร์เน็ตถึง 32,600 คน และลงทะเบียนที่นายทะเบียนท้องที่ 205 คน

โดยกรุงเทพ มีผู้ขอใช้ลงทะเบียนมากเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 15,202 คน ขณะที่มีผู้ลงทะเบียนหลักพันขึ้นไปประกอบด้วยปทุมธานี 1,670 ราย สมุทรปราการ 1,566 ราย
 
ขณะที่คนไทยได้ต่างประเทศลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวม 4,995 คน โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตถึง 4,989 คนและลงทะเบียนทางสถานกงสุลหรือสถานเอกอัครราชทูตเพียง 6 คน
 
สำหรับประเทศที่พบว่ามีคนไทยลงทะเบียนมากที่สุดคือ สหราชอาณาจักรกรุงลอนดอน ลงทะเบียน 709 ราย รองลงมาประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีการลงทะเบียนเข้ามาใน 2 เมืองคือกรุงแคนเบอร์รา และนครซิดนีย์ มีคนไทยลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 531 ราย
ขณะที่ประเทศจีนมีคนไทยที่ลงทะเบียนจาก 10 เมืองจำนวน 285 ราย ขณะที่จีนไต้หวัน คนไทยในกรุงไทเปลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 260 ราย

ส่วนประเทศเกาหลีใต้ คนไทยในกรุงโซลลงทะเบียน 299 ราย ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีคนไทยลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 367 คนโดยมาจาก 3 เมือง คือนครโอซาก้า กรุงโตเกียว และเมืองฟุกุโอกะ
  

 
ทุนจีน โผล่ย่านบางเขน เปิด ‘ร้านอาหาร-โชห่วย’ สินค้าแดนมังกรเพียบ 
https://www.matichon.co.th/economy/news_3893591

ทุนจีน โผล่ย่านบางเขน เปิด ‘ร้านอาหาร-โชห่วย’ เพียบ 
 
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังทางมหาวิทยาลัยเกริกย่านบางเขน ได้มีการร่วมทุนกับจีน เปิดการเรียนการสอนภาษาจีน และมีนักศึกษาจีนมาเรียนจำนวนมาก ทำให้บริเวณโดยรอบของมหาวิทยาลัย มีร้านอาหารและร้านค้าปลีกของจีนมาเปิดบริการค่อนข้างคึกคัก เพื่อรองรับกำลังซื้อจากคนจีน หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายและนักศึกษาจีนกลับมาเรียน
  
จากการสำรวจพบว่าเช่าอาคารพาณิชย์หรือตึกแถว ที่อยู่โดยรอบเปิดทำธุรกิจ ซึ่งในส่วนของร้านสะดวกซัอ มี SHENZAU SUPER MARKET-EXPRESS ที่เช่าตึกแถวในหมู่บ้านอัมรินทร์เปิดร้านขายสินค้าซึ่งนำเข้าจากประเทศจีนมาวางขาย เช่น บะหมี่สำเร็จรูป เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เป็นต้น
 
ด้านราคาขายไม่ต่างจากของสินค้าไทยมากนัก โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 10 บามขึ้นไป ขณะนี้เปิดแล้ว 2 สาขาที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และหมู่บ้านอัมรินทร์

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามพนักงานขาย ร้านดังกล่าวเป็นของคนจีน แต่จดทะเบียนขออนุญาตในนามคนไทย ซึ่งลูกค้ามีทั้งคนจีนและคนไทย มาเปิดร้านย่านนี้ เนื่องจากคนจีนอาศัยอยู่จำนวนมาก และใกล้กับมหาวิยาลัยเกริก
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร้านอาหารพบว่า ได้แก่ ร้านอาหารจีนวู่หฝ้าน ,ร้านโวมามา หมาล่า ปิ้งย่าง ,ร้านเจ้าพ่อเชี่ยงไฮ้ เป็นร้านอาหารจีน อาหารตามสั่ง หม้อไฟ เป็นต้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่