โจทย์ท้าทายของยานยนต์ไทย คือคนเก่งไม่ทันเทคโนโลยี! ผอ. สถาบันยานยนต์คนใหม่เดินหน้าส่งบุคลากรไปเทรนต่างประเทศ

เปิดมุมมองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์คนใหม่ ผ่านแนวคิด Reshape the Future พลิกโฉมสู่ยานยนต์แห่งอนาคต มองอุตสาหกรรม EV ไทยโตก้าวกระโดดเป็นความท้าทาย ย้ำต้องส่งบุคลากรไปเทรนต่างประเทศ กลับมาพัฒนาให้ทันเทคโนโลยี พร้อมชูแนวคิด 3 RIBBONS STRATEGY รองรับค่ายรถย้ายฐานผลิต EV มาไทย
.
เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ต้องยอมรับว่ายานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาแรง เติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังนั้นการเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันในวันนี้ จึงมีแผนปรับองค์กรผ่านแนวคิด Reshape the Future พลิกโฉมสู่ยานยนต์แห่งอนาคต โดยมุ่งเน้นการยกระดับ ‘เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่’ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิต สอดคล้องนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ภายในปี 2030 ซึ่ง EV เป็นส่วนหนึ่งในกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งในปี 2023 มีการประมาณการตัวเลขการผลิตรถยนต์ในประเทศอยูที่ 1,950,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 3.53%
.
โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน และคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ประเทศไทยจะมีการผลิตรถยนต์ที่ 2,400,000 คัน แบ่งเป็นรถ ZEV จำนวน 725,000 คัน ตั้งแต่ปี 2023-2030 ประเทศไทยจะมีอัตราการเจริญเติบโต 3.5% ต่อปี ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำฐานการส่งออกหรือฮับ EV เพิ่มมากขึ้น
.
ซึ่งจะเห็นว่าช่วงปีที่ผ่านมาค่ายรถยนต์รายใหญ่ๆ ที่ขยายการลงทุน EV เลือกไทยเป็นฐานผลิต เพราะไทยมีการแข่งขัน แรงงานมีประสิทธิภาพ โดยสถาบันเองก็ต้องปรับบทบาท เช่น จากที่เคยทดสอบเพียงแค่รถยนต์ก็พัฒนาไปให้การทดสอบแบตเตอรี่ เราต้องเรียน Protocol ทั้งกระบวนการ
.
ที่สำคัญคือสถาบันจะปรับเปลี่ยนองค์กรที่ไม่ใช่แค่การพัฒนายานยนต์เท่านั้น ต้องอัปสกิล รีสกิลบุคลากรให้พร้อม มีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ส่งบุคลากรไปอบรม เรียนต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือยุโรป ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งระยะสั้นและฝึกงาน เพราะถ้าช้า ถึงเวลา ‘คนจะปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยี’
.
“การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต โดยเฉพาะ EV แบตเตอรี่ ถือเป็นการบ้านใหญ่ของสถาบันยานยนต์ ซึ่งค่ายรถทุกค่าย ธุรกิจในซัพพลาย ยางล้อ มาทดสอบที่สถาบันแทบทุกอย่าง ทั้งเทสระบบเบรก อะไหล่ เครื่องยนต์ ระบบที่นั่ง แบตเตอรี่ เราต้องปรับบทบาทไปสู่สถาบันนวัตกรรม ร่วมมือวิจัยและพัฒนากับเอกชน พาร์ตเนอร์ต่างประเทศ รวมทั้งเน้นรีสกิล อัปสกิลบุคลากร”
.
🟠 ชูแนวคิด ‘3 RIBBONS STRATEGY’ ปรับโฉมสถาบัน
สำหรับช่วงการปรับบทบาทองค์กร ช่วง 7 ปี (2023-2030) จะใช้ยุทธศาสตร์โบว์ 3 สี ฟ้า เขียว ขาว
.
1. BLUE OCEAN จะมีการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ และเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ ทำการตลาดเชิงรุก เป็นผู้ให้บริการด้านเทคนิค (Technical Service) ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างครบวงจร ได้แก่ มาตรฐานบังคับ (มอก.) มาตรฐานกรมขนส่ง ASEAN MRA และมาตรฐานตามข้อตกลง 1958 Agreement ของสมาชิก 48 ประเทศ
.
2. GREEN GROWTH การสร้างความยั่งยืน เตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการทดสอบการปล่อยสารมลพิษจากเครื่องยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 และ 6 เพื่อลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องมือทดสอบ พร้อมให้บริการเป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งมีศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจรที่สุดในอาเซียน ตามมาตรฐาน UNECE R100 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และ UNECE R136 สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสามารถทดสอบเพื่อการวิจัยและพัฒนาในการปรับปรุงสมรรถนะของแบตเตอรี่ได้อีกด้วย
.
3. WHITE SPIRIT การสร้างความน่าเชื่อถือ คือความท้าทายองค์กรให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สร้างโมเดลของธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือการปั้นสถาบันยานยนต์ให้มีความพร้อม เป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ ในการทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีความสมบูรณ์ในทุกมิติ เพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะ ‘การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก หรือศูนย์กลางของภูมิภาค’ ที่ ณ เวลานี้ถือว่าไทยพร้อมรองรับค่ายรถทุกค่าย และบริษัทรายใหญ่ของโลกในการผลิต EV
.
#TheStandardWealth


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่