จากชีวประวัติไอน์สไตน์ มี 2 ตอนที่จุดแนวคิดให้พัฒนาสัมพัทธภาพพิเศษ แต่มันจะเป็นแนวคิดที่ขัดกันไหมนะ

แนวคิดแรก หนังสือบรรยายว่า ไอน์สไตน์นั่งอยู่ชานชาลารถไฟ มองไปที่นาฬิกาของชานชาลา แล้วก็จินตนาการว่าถ้าตอนเที่ยงตรง (ในหนังสือไม่ได้บอกว่ากี่โมงนะ ผมสมมติเอาว่าเที่ยงตรงละกัน) เขานั่งรถไฟออกไปด้วยความเร็วแสงเขาจะเห็นนาฬิกาอย่างไร แล้วเขาก็ปิ๊งขึ้นมาว่า แสงจากเข็มนาฬิกาจะตามเขาไม่ทัน เขาจะมองเห็นเข็มมันหยุดนิ่งอยู่ที่ 12:00 น ตลอดเวลา นั่นก็หมายความว่าภาพของทุกสิ่งทุกอย่างก็จะหยุดนิ่งเหมือนเข็มนาฬิกาเช่นกัน แสดงว่าเวลาของเขาหยุดนิ่ง (เพราะภาพทุกอย่างไม่เปลี่ยนแปลง แช่แข็ง ไม่ขยับเขยื้อน) นั่นคือเวลาไม่ใช่ปริมาณสัมบูรณ์ตามหลักฟิสิกส์ที่ยึดถือกันอยู่ในสมัยนั้น จึงเป็นแนวคิดในการพัฒนาสมการสัมพัทธภาพพิเศษบนแนวคิดที่เวลาไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ ทุกกรอบการเคลื่อนที่มีเวลาเป็นของตนเอง
 
แนวคิดที่ 2  หนังสือบรรยายว่า ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งจากสมการแม่เหล็กไฟฟ้าและจากการทดลองของแม็กซ์เวลที่บอกว่าแสงมีความเร็วคงที่เสมอในทุกผู้สังเกตุการณ์ (เอาแค่นี้ก็ขัดแย้งกับเหตุการณ์นาฬิกาที่ชานชาลาแล้วนะ)
ไอน์ไสตน์จินตนาการไปว่า ตามหลักการนี้ ถ้าเขาเป็นตำรวจที่ขับรถไล่ล่าคนร้ายที่หนีด้วยไปด้วยรถไฟแสง (พูดง่าย ๆ คือไล่จับแสง) เขาเองก็ไล่กวดด้วยความเร็วที่ใกล้แสงมาก ๆ คนที่ยืนมองอยู่จะเห็นว่าเขาเข้าใกล้คนร้ายมากแล้ว อีกนิดเดียวก็จะคว้าจับคนร้ายได้แล้ว แต่ตัวเขาเองกลับเห็นว่าเขายังไม่เข้าใกล้คนร้ายเลยสักนิดเพราะคนร้าย (หรือแสง) ยังคงหนีเขาไปด้วยความเร็วแสงอยู่นั่นเอง
 
จำไม่ได้ละว่าเหตุการณ์ไหนเกิดขึ้นก่อน
 
แนวคิดทั้ง 2 นำไปสู่การพัฒนาสมการสัมพัทธภาพพิเศษขึ้นมา
 
ทีนี้ผมก็สงสัยครับ แนวคิดแรกเรื่องนาฬิกาที่ชานชาลา มันกำลังบอกว่าแสงตามไม่ทัน เพราะเขาเร็วเท่าแสง ความเร็วสัมพัทธ์เขากับแสง = 0   แต่แนวคิดที่ 2 ไล่กวดรถไฟแสงกลับบอกว่าความเร็วสัมพัทธ์เขากับแสง = ความเร็วแสงเสมอไม่ว่าเขาจะเคลื่อนที่เร็วแค่ไหนก็ตาม
 
เอาสิครับ มันแย้งกันนะ ช่วยไขความหน่อยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่