JJNY : คนชลบุรีเชียร์“อุ๊งอิ๊ง”│ทำไมคนกท.หนุนทุกจว.'มีผู้ว่าฯ จากเลือกตั้ง'│ทัศนัยชี้ 4 ปีสภาฯ เหลว│มูลนิธิหยุดพนันค้าน

นิด้าโพลคนชลบุรีเชียร์ “อุ๊งอิ๊ง” นายกฯ-ส.ส.กาเพื่อไทย
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_503271/


นิด้าโพล คนชลบุรี เชียร์ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกฯ ขณะเลือก ส.ส.ทั้งแบ่งเขต และ บัญชีรายชื่อ เทคะแนนให้เพื่อไทย รองลงมา ก้าวไกล ขณะ รวมไทยสร้างชาติรั้งอันดับ 3
 
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนชลบุรีเลือกพรรคไหน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-14 ก.พ.ที่ผ่านมาจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดชลบุรี กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,100 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคนชลบุรีเลือกพรรคไหนเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พบว่า ร้อยละ 31.0 คนชลบุรีจะสนับสนุน น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร พรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบนโยบายของพรรคเพื่อไทย
 
ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร, ร้อยละ 18.82 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติเพราะ เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะได้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง และชื่นชอบผลงานที่ผ่านมา, ร้อยละ 17.36 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล เพราะ เป็นรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ กล้าคิด กล้าทำ ชื่นชอบแนวคิดและวิธีการทำงาน และชื่นชอบนโยบายของพรรคก้าวไกล, ร้อยละ 9.55 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ และร้อยละ 6.91 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา พูดจริงทำจริง มีความซื่อสัตย์สุจริต ชื่นชอบวิธีการทำงาน และชื่นชอบนโยบายของพรรคเสรีรวมไทย
 
ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่คนชลบุรี มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต ร้อยละ 38.82 พรรคเพื่อไทย,ร้อยละ 19.55 พรรคก้าวไกล, ร้อยละ 16.18 พรรครวมไทยสร้างชาติ,ร้อยละ 4.73 พรรคเสรีรวมไทย, และ ร้อยละ 4.55 ยังไม่ตัดสินใจ ส่วนพรรคการเมืองที่คนชลบุรีมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 38.82 พรรคเพื่อไทย,ร้อยละ 19.55 พรรคก้าวไกล, ร้อยละ 16.09 พรรครวมไทยสร้างชาติ, ร้อยละ 5.55 ยังไม่ตัดสินใจ และ ร้อยละ 5.00 พรรคเสรีรวมไทย
 

  
นักรัฐศาสตร์เก็บข้อมูลเชิงลึก ทำไมคนกรุงเทพฯ หนุนทุกจังหวัด 'มีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง'
https://www.matichon.co.th/politics/news_3831360

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต  เปิดเผยข้อมูลจาก​งานวิจัยส่วนบุคคล โดยเก็บข้อมูลจากคนกรุงเทพฯ (อายุ 18 ปีขึ้นไป มี 4.48 ล้านคน ประชากรกรุงเทพฯ 5.52 ล้านคน) เก็บแบบสอบถามจำนวน 1,200 คน
ข้อคำถามว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในประเทศไทย”
​ผลการวิจัยพบว่า
 
​1.คนกรุงเทพฯ เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในประเทศไทย จำนวน 754 คน คิดเป็นร้อยละ 62.83 คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วย 209 คน คิดเป็นร้อยละ 17.42 ส่วนไม่แสดงความเห็น 237 คน คิดเป็นร้อยละ 19.75
 
​2. คนกรุงเทพฯ มาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2565 จำนวน 2.67 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60.73 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน
​ 
3. จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก คนกรุงเทพฯ ที่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในประเทศไทย ให้คำอธิบายว่า ผู้ว่าฯแต่งตั้งคือตัวแทนการรวมศูนย์อำนาจของรัฐเผด็จการ, ผู้ว่าฯแต่งตั้งเป็นคนรอคอยเกษียณอายุราชการ, ผู้ว่าฯแต่งตั้งเป็นผู้ร่ำรวยมั่งคั่งมากกว่าเงินเดือนที่ได้รับ, ผู้ว่าฯแต่งตั้งวิ่งเข้าหาแต่นายที่มหาดไทย, ถึงยุคจังหวัดต้องปกครองตนเอง, ผู้ว่าฯเลือกตั้งคือสายเลือดของท้องถิ่น, ผู้ว่าฯเลือกตั้งคือผู้ที่รู้ปัญหาจังหวัดที่แท้จริง, ผู้ว่าฯเลือกตั้งคือผู้ที่มีจิตวิญญาณเพื่อประชาชนในจังหวัด, ผู้ว่าฯเลือกตั้งคือผู้มุ่งมั่นและมีความฝันที่จะพัฒนาจังหวัดให้เจริญ, ผู้ว่าฯเลือกตั้งคือคนที่ประชาชนตรวจสอบได้ทุกที่ทุกเวลา, คนทุกจังหวัดควรได้ผู้ว่าฯแบบชัชชาติ

คนกรุงเทพฯ ที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในประเทศไทย ให้คำอธิบายว่า ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่สหพันธรัฐ, ประเทศไทยต้องรวมศูนย์ความจงรักภักดี, ผู้ว่าฯแต่งตั้งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5, ผู้ว่าฯแต่งตั้งจะช่วยทำให้ทุกจังหวัดได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน, ทุกจังหวัดเจริญมาถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะผู้ว่าฯแต่งตั้ง, ผู้ว่าฯเลือกตั้งจะทำให้คนในจังหวัดนั้นตกอยู่ภายใต้ตระกูลเจ้าพ่อมาเฟีย, ผู้ว่าฯเลือกตั้งจะมุ่งกอบโกยผลประโยชน์จากการลงทุนเลือกตั้ง, ผู้ว่าฯเลือกตั้งจะไร้วิสัยทัศน์ในการพัฒนาจังหวัดไปสู่ความทันสมัย, ผู้ว่าฯเลือกตั้งจะชอบคิดโครงการเพื่อใช้เงินอย่างไม่คุ้มค่า, ผู้ว่าฯเลือกตั้งจะคอรัปชั่น

4. เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับทัศนคติของคน Gen Z (เผยแพร่เมื่อ 5 ตุลาคม 2565) คนกรุงเทพฯมีทัศนคติต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดในทิศทางเดียวกันกับคน Gen Z โดยคน Gen Z เห็นว่า ต้องยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง ร้อยละ 63 เห็นว่ายังต้องคงผู้ว่าฯแต่งตั้งต่อไป ร้อยละ 19 และไม่แสดงความเห็นร้อยละ 18
 
​ข้อมูลพื้นฐาน
 
​งานวิจัยทัศนคติของคนกรุงเทพต่อสังคมการเมืองไทยนี้ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-18 ธันวาคม 2565 รวม 1,200 คน โดยเก็บแบบสอบถามจาก กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ (เขตลาดพร้าว เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตสายไหม เขตบางเขน และเขตดอนเมือง) กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง (เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตดินแดง เขตวังทองหลาง และเขตห้วยขวาง) กลุ่มเขตกรุงธนใต้ (เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน และเขตบางบอน)

 ​เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 483 คน (40.25%) ชาย 546 คน (45.50%) เพศหลากหลาย 171 คน (14.25%)
​อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม: Gen Z (18-25 ปี) 377 คน (31.42%), Gen Y (26-42 ปี) 549 คน (45.75%), Gen X (43-57 ปี) 167 คน (13.93%), Gen Baby boomer (58 ปีขึ้นไป) 107 คน (8.92%)

 ​อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 193 คน (16.08%) พนักงานเอกชน 461 คน (38.42%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 143 คน (11.92%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 186 คน (15.50%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 115 คน (9.58%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 93 คน (7.75%) อื่นๆ 9 คน (0.75%)

​รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 109 คน (9.08%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 128 คน (10.67%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 262 คน (21.83%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 403 คน (33.58%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 198 คน (16.51%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 100 คน (8.33%)
 
​ทีมผู้ช่วยวิจัย : นายสหรัฐ เวียงอินทร์ นายชนวีย์ กฤตเมธาวี นายศุภกาญจน์ เป็งเมืองมูล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต
 

  
ทัศนัย ชี้ 4 ปีสภาฯ เหลว คาใจสุราพื้นบ้าน-สมรสเท่าเทียมเจอปัดตก จี้พรรคฟากปชต.ชัดจุดยืน
https://www.matichon.co.th/politics/news_3831328

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ นายทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ ‘มติชนรายวัน’ ประเมินการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ทำงานครบ 4 ปี โดยถือเป็น ส.ส.และสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ว่ามีผลงานด้านการออกกฎหมายและการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างไรบ้าง
 
นายทัศนัยกล่าวว่า ภาพรวมการทำงานสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคร่วมรัฐบาลถือว่าล้มเหลว เนื่องจากคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ไม่สามารถคุมเสียงในสภาได้ ส่งผลให้สภาล่มบ่อย การพิจารณากฎหมายที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอไม่ต่อเนื่องหรือถูกฝ่ายค้านคว่ำร่างในสภาหลายครั้ง แม้มีเสียงข้างมาก และมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนสนับสนุน แต่ไม่สามารถผ่านร่างหรือออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้
การออกกฎหมายของรัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินหรือทำงบขาดดุล เพื่อใช้ในโครงการประชานิยมและสวัสดิการแห่งรัฐ อาทิ คนละครึ่ง บัตรคนจน เที่ยวด้วยกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แต่ในความเป็นจริงโครงการดังกล่าว เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน เครือข่าย พวกพ้องมากกว่า ไม่ได้สร้างงานและรายได้ประชาชนมากนัก เนื่องจากเป็นโครงการหาเสียงที่รัฐบาลได้ประโยชน์โดยตรง โดยใช้ภาษีประชาชน และเงินกู้ต่างประเทศเป็นเครื่องมือ โดยทิ้งภาระหนี้สินให้ลูกหลานรับผิดชอบในอนาคต

ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณที่เป็นภาษีประชาชนได้ดี มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือซักฟอกโครงการรัฐบาลต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนถึงความบกพร่อง ที่นำไปสู่การทุจริตหรือคอร์รัปชั่นได้ง่าย อาทิ การจัดซื้อวัคซีน กระทรวงสาธารณสุข การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ กระทรวงกลาโหม ตั๋วช้าง ทุนสีเทา ที่สนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาล จนนำไปสู่ฟ้องร้องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และฝ่ายค้านหลายคดี
 
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านได้เสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียมและสุราพื้นบ้าน ให้สภาพิจารณาแต่สภาไม่ผ่านร่าง หรือเห็นชอบกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลต้องการปกป้องและรักษาผลประโยชน์นายทุน เครือข่ายแต่สะท้อนถึงมิติใหม่ที่ฝ่ายค้านกล้านำเสนอกฎหมายดังกล่าว ที่ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมถือเป็นกฎหมายก้าวหน้า ที่ไม่เคยปรากฏในการพิจารณาของสภามาก่อน เพื่อสร้างความเท่าเทียม เสมอภาค และแบ่งปันผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนมากขึ้น
 
“ในมุมกลับกันทั้งรัฐบาลไม่ได้เสนอโครงการแบบเมกะโปรเจ็กต์ เพื่อสร้างงาน เพิ่มรายได้ จัดเก็บภาษีอย่างทั่วถึงเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ถือเป็นจุดอ่อนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้าลงทุนท่องเที่ยว ขณะที่เพื่อนบ้านได้ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำท่าเรือลำน้ำโขง รถไฟฟ้าความเร็วสูงระหว่างประเทศ ทำให้พลิกฟื้น และอัตราเศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าไทย ทำให้รัฐบาลไม่มีผลงานเด่นชัดในสภา จึงให้เพียง 1 คะแนนเท่านั้น ส่วนฝ่ายค้านได้ 8 คะแนน ไม่เต็ม 10 เพราะไม่สามารถควบคุม ส.ส.งูเห่า ที่ไปสนับสนุนหรือโหวตให้รัฐบาลได้

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ต้องประกาศจุดยืนทางการเมือง ไม่ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคร่วมรัฐบาล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่ให้สืบทอดอำนาจเผด็จการอีก ควรจับมือพันธมิตรที่เป็นประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลมากกว่า เพื่อคานอำนาจ ส.ว. 250 คน และลบภาพสภานายทุน ที่เอื้อผลประโยชน์ให้เครือข่าย พวกพ้อง นำไปสู่ความศรัทธาให้สภาเป็นที่ยอมรับ รักษาผลประโยชน์ประชาชน และประเทศแท้จริงต่อไป” นายทัศนัยกล่าว 


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่