JJNY : ‘ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง’│เพจดังแฉขรก.กองบิน7 มีการทุจริต│“พิธา” ไม่แปลกใจ│พม่าเดือด เมืองพญาตองซูลุกเป็นไฟ

งานวิจัยชี้ คนกรุงเทพฯ ทุกวัย คิดเหมือน เจน Z ทั่วประเทศ ‘ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง’
https://www.matichon.co.th/politics/news_3786156
 
เมื่อวันที่ 23 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เผยแพร่ผลวิจัยที่ได้จากการเก็บข้อมูลจากคนกรุงเทพฯ (อายุ 18 ปีขึ้นไป มี 4.48 ล้านคน ประชากรกรุงเทพฯ 5.52 ล้านคน) ด้วยวิธีตอบสอบถามจำนวน 1,200 คน โดยมีข้อคำถามว่า “ท่านคิดว่า ต้องมี หรือ ต้องยกเลิก สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง

​ผลการวิจัย สรุปดังนี้
 
​1.คนกรุงเทพฯ เห็นว่า ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง จำนวน 705 คน คิดเป็นร้อยละ 58.75 เห็นว่า ต้องมี ส.ว. แต่งตั้ง 217 คน คิดเป็นร้อยละ 18.08 ไม่แสดงความเห็น 278 คน คิดเป็นร้อยละ 23.17
 
2. ทัศนคติคนกรุงเทพฯ มีทิศทางไปทางเดียวกับทัศนคติคน Gen Z ทั้งประเทศ ที่ส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง ร้อยละ 85.5 เห็นว่า ต้องมี ส.ว. แต่งตั้ง ร้อยละ 5.1 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 9.4
 
​3. จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก คนกรุงเทพฯที่เห็นว่า ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง นั้นมีคำอธิบายในแนวทางเดียวกันกับของคน Gen Z กล่าวคือ เพราะ ส.ว. แต่งตั้งไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชน, ผู้แทนของประชาชนที่แท้จริงต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน, ส.ว.แต่งตั้งทำให้เราไม่ได้นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนตั้งใจเลือก, ส.ว. แต่งตั้งทำให้เราไม่ได้รัฐบาลของประชาชนเพื่อประชาชน, ส.ว.แต่งตั้งเป็นผู้รักษาสืบทอดอำนาจฝ่ายรัฐประหาร คสช., ส.ว.แต่งตั้งเป็นผู้แทนทหาร, ส.ว.แต่งตั้งนั้นทำหน้าที่พิทักษ์รัฐบาลทหารเป็นสำคัญ, ส.ว.แต่งตั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย, ส.ว.แต่งตั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ, ส.ว.แต่งตั้งเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติ, ส.ว.แต่งตั้งทำให้ ส.ส. และพรรคการเมืองไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้ให้เป็นประชาธิปไตยได้ ซึ่งสอดคล้องกับทัศนคติของคนกรุงเทพฯและคน Gen Z ที่ส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้เป็นฉบับเผด็จการ

สำหรับคนกรุงเทพฯ ฝ่ายที่ยังต้องการให้มี ส.ว.แต่งตั้ง ให้คำอธิบายว่า ส.ว.แต่งตั้งเป็นผู้แทนประชาชนเช่นเดียวกับ ส.ส., ส.ว.แต่งตั้งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญหลากหลายอาชีพ, ส.ว.แต่งตั้งไม่ใช่นักการเมือง, ส.ว.แต่งตั้งทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองกฎหมายของพวก ส.ส., ส.ว.แต่งตั้งทำหน้าที่ถ่วงดุลการทำงานของพวก ส.ส., ต้องมี ส.ว.แต่งตั้งเพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในการทำงาน, ต้องมี ส.ว.แต่งตั้งเพราะความจำเป็นของบ้านเมือง เป็นต้น
 
​3. ทัศนคติของคนกรุงเทพฯที่เห็นว่า ต้องยกเลิก ส.ว.แต่งตั้ง สอดคล้องกับทัศนคติที่เห็นว่าผู้นำทหาร คสช. ทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ใช่ผู้นำประเทศที่คนกรุงเทพฯ พึงปรารถนา และไม่ได้เป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย

4. ทัศนคติของคนกรุงเทพฯที่เห็นว่า ต้องยกเลิก ส.ว.แต่งตั้ง สอดคล้องกับทัศนคติของคนกรุงเทพฯ ทุกช่วงวัยที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คสช. 2557

ข้อมูลพื้นฐาน
​งานวิจัยทัศนคติของคนกรุงเทพต่อสังคมการเมืองไทยนี้ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-18 ธันวาคม 2565 รวม 1,200 คน โดยเก็บแบบสอบถามจาก กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ (เขตลาดพร้าว เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตสายไหม เขตบางเขน และเขตดอนเมือง) กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง (เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตดินแดง เขตวังทองหลาง และเขตห้วยขวาง) กลุ่มเขตกรุงธนใต้ (เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน และเขตบางบอน)
 
​เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 483คน (40.25%) ชาย 546 คน (45.50%) เพศหลากหลาย 171 คน (14.25%)
​อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม: Gen Z (18-25 ปี) 377 คน (31.42%), Gen Y (26-42 ปี) 549 คน (45.75%), Gen X (43-57 ปี) 167 คน (13.93%), Gen Baby boomer (58 ปีขึ้นไป) 107 คน (8.92%)
 
​อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 193 คน (16.08%) พนักงานเอกชน 461 คน (38.42%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 143 คน (11.92%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 186 คน (15.50%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 115 คน (9.58%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 93 คน (7.75%) อื่นๆ 9 คน (0.75%)
 
​รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 109 คน (9.08%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 128 คน (10.67%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 262 คน (21.83%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 403 คน (33.58%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 198 คน (16.51%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 100 คน (8.33%)

ทีมผู้ช่วยวิจัย : นายสหรัฐ เวียงอินทร์ นายชนวีย์ กฤตเมธาวี นายศุภกาญจน์ เป็งเมืองมูล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต



เพจดังแฉขรก.กองบิน7มีการทุจริต เบิกเบี้ยเลี้ยงฝึกบินกลางคืนแต่ไม่มีการบินจริง
https://www.dailynews.co.th/news/1922738/

เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน แฉข้าราชการกองบิน 7 สุราษฎร์ธานี มีการทุจริตในการเบิกเบี้ยเลี้ยงฝึกบินกลางคืน แต่ไม่มีการบินจริง
 
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. เพจเฟซบุ๊กปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ได้เผยแพร่ข้อมูลที่เชื่อว่าจะมีการทุจริตในการเบิกเบี้ยเลี้ยงฝึกบินกลางคืน แต่ไม่มีการบินจริงที่ฝูงบิน 702 กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี
 
โดยข้อมูลจากเพจโพสต์ข้อมูลตั้งข้อสงสัยพร้อมเอกสารที่ได้รับ โดยระบุว่า กองบิน 7 เอารายชื่อเบิกเบี้ยเลี้ยง เงินเข้าสั่งโอนคืนมีเรื่องไม่ชอบมาพากลของทหารอากาศ สังกัดฝูงบิน 702 กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี เบิกเบี้ยเลี้ยงค่าล่วงเวลาฝึกบินกลางคืน ช่วงวันที่ 21-30 พฤศจิกายน 2565 มีรายชื่อเบิก 50 คน คนละ 2,200 บาท โดยเงินเข้าครั้งแรกวันที่ 23 ธ.ค. 65 ผ่านระบบ 4 คน และอีกรอบเข้าธนาคารอีกแห่ง  46 คน ยอดเบิกรวมทั้งหมด 110,000 บาท พบพิรุธตรงที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริง แต่มีรายชื่อเบิก พอเงินเข้าบัญชีปุ๊บไลน์กลุ่มก็เด้งมาทวงให้โอนกลับทันที ซึ่งให้โอนคืนผ่านบัญชีทหารนายหนึ่ง ที่เป็นคนดูแลเรื่องเงินนี้โดยเฉพาะ
 
นอกจากนี้เพจดัง ยังได้ระบุว่า เปิดแชตไลน์ ข้าราชการฝูง 702 กองบิน 7 เงินเข้าบัญชีปุ๊บ ขอความร่วมมือโอนคืนมาที่บัญชี “พันจ่าอากาศเอก” เพื่อรวบรวมโอนให้นายทหารการเงินฝูงบิน ใครโอนแล้วแจ้งสลิปด้วย
 
ขอบคุณข้อมูล และภาพจากเพจ เพจเฟซบุ๊กปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน

https://www.facebook.com/Watchdog.ACT/posts/pfbid0DXmkvx9kVU8qNMYezGuXh1cRuyEizcm7uLSFNzoiQjjWHBbBiB64wVRmJP5mBnfGl
 


“พิธา” ไม่แปลกใจ “ประยุทธ์” เดินหน้าการเมืองหวังรักษาอำนาจ
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_487539/

“พิธา” ไม่แปลกใจ “ประยุทธ์” เดินหน้าการเมืองหวังรักษาอำนาจเอาไว้จนขัดแย้งกันเอง บอกแก้รธน.ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ สำคัญต่อการเลือกตั้ง เชื่อแม้ไม่ผ่านแต่ ส.ส.ร่วมกันปิดสวิตช์ 3 ป.ได้
 
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยสำนักข่าว INN ถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมร่วมรัฐสภาวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ และพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ว่า ในส่วนของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีหลายมาตราที่พิจารณาไม่ไปถึงไหน ซึ่งมาตรา 8 ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทางพรรคก้าวไกล ได้มีการอภิปรายไป
 
แต่มองว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการควบรวมศูนย์อำนาจเกินไป ไม่ได้ตอบโจทย์ความสำคัญในการกระจายอำนาจ ที่ต้องการให้โรงเรียนเป็นโรงเรียน ไม่ใช่ให้โรงเรียนเป็นโรงงาน แต่พรรคก้าวไกล ก็จะพยายามเข้าร่วมการประชุม เพื่อให้กฎหมายผ่านไปให้เร็วที่สุด
 
ส่วนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส ในมาตรา172 นั้น ถือว่า มีความสัมพันธ์และสำคัญต่อการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ขณะเดียวกัน ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่าน
 
แต่ในการเลือกตั้งนี้ เราก็สามารถที่จะร่วมกันในสภาร่างที่เป็นสภาผู้แทนราษฎร เพื่อปิดสวิตช์ 3 ป. ทำให้ ส.ว. ไม่มีโอกาสที่จะมีความชอบธรรมในการเข้าใช้อำนาจการลากตั้ง อยู่เหนือการเลือกตั้ง เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็มีอำนาจ มากเพียงพอที่จะช่วยกันปิดสวิตช์ 3 ป.ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้
 
ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติและเดินหน้าทางการเมืองอย่างชัดเจน นายพิธา กล่าวว่า ไม่ได้แปลกใจแต่อย่างใด กับการขัดแย้งกันของผู้มีอำนาจในรัฐบาล โดยเฉพาะ 3 ป. ที่มีให้เห็นมานาน และเมื่อจะเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็พยายามที่จะรักษาอำนาจไว้ให้ได้ แต่การรักษาอำนาจได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบริหารได้ ซึ่งต้องเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นตัวตั้งในตอนนี้ บุคคลใด นโยบายแบบไหน ผู้แทนราษฎรแบบไหน ที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าได้ และสามารถยึดโยงกับประชาชนได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่