JJNY : อุ๊งอิ๊ง หนุน กม.สุราก้าวหน้า| “ปชป.”เดินหน้าชน จวกกมธ.ลักไก่| ส.อ.ท.โอดธุรกิจจมน้ำ |โสมใต้แจ้งเตือนภัยทางอากาศ

อุ๊งอิ๊ง หนุน กม.สุราก้าวหน้า หากไม่ผ่านวันนี้ สมัยหน้ารัฐบาล พท.ต้องผ่าน ‘ทักษิณ’ ทวีตตอบ
https://www.matichon.co.th/politics/news_3651346
 
 
‘อิ๊ง’ ทวีต พท.หนุน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าผ่านแน่ ลั่นหากไม่ผ่านวันนี้ สมัยหน้ารัฐบาล พท.ต้องผ่าน ‘ทักษิณ’ ตอบ การผูกขาดไม่ทำเกิด ศก.สร้างสรรค์
 
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวถึงกรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) เรายืนยันที่จะสนับสนุน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ให้ผ่านสภาในวันนี้ให้ได้ แม้ว่าเมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน) คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะแก้กฎกระทรวงเรื่องใบอนุญาตการผลิตสุรา ให้สุราชุมชนขายได้ แต่การแก้กฎกระทรวงของ ครม.มีรายละเอียดซ่อนไว้และไม่ได้ปลดล็อกจริง ยังทำธุรกิจสุราไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ การแก้กฎกระทรวงนั้น แก้เมื่อไรก็ได้และแก้คืนเมื่อไรก็ได้เช่นกัน หากถอดบทเรียนสมัยไทยรักไทยที่เคยทำนโยบายสุราเสรี เมื่อถูกรัฐประหารสุราเสรีก็หายไป
 
น.ส.แพทองธาร ระบุต่อว่า วันนี้จึงจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องผลักให้เป็นกฎหมายสุราก้าวหน้าผ่านสภาให้ได้ เพื่อรับรองว่ากฎหมายนี้จะอยู่กับประชาชน ใครจะแก้คืนก็ต้องกลับมาแก้ในสภาเท่านั้น เราเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย เรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมสุราที่ดีทั้งวิธีการทำและวัตถุดิบที่ดี เรามีพืชผลมากมายที่พร้อมผลิตสุรา สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างซอฟต์เพาเวอร์ต่อโลกและนำเงินกลับเข้ามาให้พี่น้องได้อย่างมหาศาล ไม่ว่าอย่างไร พรรค พท.จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ หากวันนี้ไม่ผ่าน สุราเสรีไม่เกิดขึ้น แต่สมัยหน้ารัฐบาล พท.ต้องผ่าน

โดยหลังจากที่ น.ส.แพทองธารทวีตเสร็จ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มาทวีตตอบข้อความว่า 
 
การผูกขาดใดๆ จะทำให้ปิดโอกาสแก่คนในสังคมโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่จะเติบโตได้และไม่ให้โอกาสกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy
 
  


“ปชป.” เดินหน้าชน จวก กมธ.ลักไก่ ไม่แก้กม.กัญชาตามข้อเสนอพรรค-แพทย์ ชี้ใช้เสียงมากดัน ลงมติคว่ำแน่
https://www.matichon.co.th/politics/news_3651263
 
เมื่อเวลา 10.35 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำโดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง, นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง, นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช, นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และน.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ แถลงถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ว่า เป็นที่น่าเสียใจที่กมธ.ไม่ได้แก้ไขตามที่มีข้อเสนอแม้แต่ข้อเดียว โดยพรรค ปชป. เสนอ 13 ข้อ พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอ 5 ข้อ และจากแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดที่เสนอให้ทบทวนเป็นรายมาตรา อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่มีการถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป ทราบว่าทางกมธ.ได้เรียกประชุม 2-3 ครั้งเท่านั้น และมีสมาชิกพยายามทักท้วงให้หยิบข้อเสนอต่างๆ ขึ้นมาพิจารณา แต่ก็มีกมธ.ไม่สนใจรับฟังข้อเสนอหรือแม้แต่จะหยิบยกข้อกังวลที่สังคมเป็นห่วงขึ้นมาพิจารณา
 
นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอของพรรคปชป.นั้น ยกตัวอย่างเช่น ให้ทบทวนว่ากัญชาเป็นยาเสพติดหรือไม่ แก้ไขคำนิยามคำว่าใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในครัวเรือน รวมถึงไม่ควรกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่ประสาน ส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาสายพันธุ์ในการปลูกกัญชา เพราะขัดกับหน้าที่และอาจเกิดประโยชย์ทับซ้อน อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังขาดมาตรการควบคุมการซื้อขายอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา เป็นต้น
 
เมื่อกรรมาธิการไม่แก้ไขเลย ก็จะเกิดการอภิปรายมากมาย หากยืนยันโดยเสียงข้างมากก็ดี ด้วยกมธ.ก็ดี คิดว่าก็จะเกิดความโกลาหล เพราะกฎหมายจะออกมาโดยขาดความรอบคอบโดยสิ้นเชิง และจำเป็นที่ประชาธิปัตย์จะต้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชน โดยการลงมติไม่รับกฎหมายดังกล่าว นายสาทิตย์ กล่าว
 
นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ต่างประเทศเรียกประเทศไทยว่าเป็นเมืองหลวงกัญชาของโลก นอกเหนือจากยุโรปไปแล้ว เขาเข้าใจว่าเราเป็นกัญชาเสรี ซึ่งตรงกันข้ามกับที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าไว้ว่าขณะนี้เป็นการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ สถานการณ์กัญชาเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่พึงประสงค์ ขอให้นำกัญชากลับมาอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท5 ส่วนกรณีที่มีคนในพรรคภูมิใจไทยออกมาระบุว่าไม่สามารถนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดได้แล้ว เนื่องจากในประมวลกฎหมายยาเสพติดได้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดแล้วนั้น ขอเรียนว่าไม่เป็นความจริงแต่ประการใด เพราะประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 กำหนดเพียงว่าการปลดล็อคกัญชาให้เป็นไปตามคำประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
 
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้นายอนุทินทบทวนนำกัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติด เพื่อไม่ให้ไทยเป็นสังคมอุดมยาเสพติด ทั้งนี้ ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง เป็นเรื่องสังคมล้วนๆ และพรรคประชาธิปัตย์ก็อ่านกฎหมายครบถ้วน ไม่ได้เป็นลักษณะไม่อ่านกฎหมายแล้วออกมาค้าน เพราะต้องการได้เสียงอย่างแน่นอน” นายสาทิตย์ กล่าว
 
ด้านนายพิสิฐ กล่าวว่า การปลดล็อคกัญชาจะทำให้ลูกหลานของพวกเราติดกัญชาโดยไม่รู้ตัว พ่อแม่ผู้ปกครองจะเป็นห่วงว่าลูกหลานจะไปเมากัญชาที่ไหน จากนี้ไปประเทศไทยจะถูกตราหน้าว่าเป็นแดนกัญชา ส่งออกสินค้าชนิดจะโดนตรวจอย่างละเอียดเพราะกลัวว่าเราจะซุกซ่อนกัญชา ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่ว คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศก็จะโดนตรวจโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ดังนั้น ไม่ควรทำให้เกิดกัญชาเสรีเพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
 

 
ส.อ.ท. โอดธุรกิจจมน้ำ วอนรัฐลดหย่อนภาษี -พักชำระหนี้ 6 เดือน ขอซอฟต์โลนดอก1%
https://www.matichon.co.th/economy/news_3651185
 
ส.อ.ท. โอดธุรกิจจมน้ำ วอนรัฐลดหย่อนภาษี -พักชำระหนี้ 6 เดือน ขอซอฟต์โลนดอก1%
 
วันที่ 2 พ.ย. นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 22 ในเดือนตุลาคม 2565 ภายใต้หัวข้อ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” พบว่า จากผลกระทบของปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำและผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2565 ในระดับปานกลาง และมองว่า การที่ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ไม่เพียงพอ เช่น อ่างเก็บน้ำ ฟลัดเวย์ ประตูระบายน้ำ เป็นต้น ประกอบกับการบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยและน้ำท่วมซ้ำซากในหลายพื้นที่จนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและทำให้ภาคธุรกิจได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
 
ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอขอให้ภาครัฐมีการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยขอให้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ เช่น ฟลัดเวย์ โครงการแก้มลิง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน เป็นต้น รวมทั้งมีการบูรณาการปรับปรุงผังเมือง ผังน้ำทั่วประเทศ และแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในอนาคตและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
 
ในส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2565 ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ อยากให้ภาครัฐออกมาตรการให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 100% รวมทั้งออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการจากอุทกภัย โดยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% และมีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทั้งนี้ในปี 2566 ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลต่อความเสี่ยงในการเกิดปัญหาอุทกภัยมากกว่าปัญหาน้ำแล้ง ซึ่งทั้ง 2 ปัญหา เป็นการบ้านที่สำคัญของรัฐบาลที่จะต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทั้งอุทกภัยและน้ำแล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 
จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 176 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 22 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้
 
1. ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำ และอุทกภัยในปี 2565 (Single choice)
อันดับที่ 1 : ปานกลาง 53.4%
อันดับที่ 2 : มาก 28.4%
อันดับที่ 3 : น้อย 18.2%
 
2. ปัญหาอุทกภัยและน้ำท่วมซ้ำซากในประเทศไทยเกิดจากสาเหตุใด (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : โครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ไม่เพียงพอ 73.9%
เช่น อ่างเก็บน้ำ ฟลัดเวย์ ประตูระบายน้ำ เป็นต้น
อันดับที่ 2 : การบริหารจัดการน้ำ และการระบายน้ำยังไม่มีประสิทธิภาพ 72.7%
อันดับที่ 3 : ขาดการขุดลอกคูคลอง ขยะอุดตันท่อระบายน้ำ และสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ 59.7%
อันดับที่ 4 : การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน 53.4%
ทำให้เกิดภัยธรรมชาติมีความถี่และมีความรุนแรงมากขึ้น

3. ภาครัฐควรบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพในระยะยาวอย่างไร (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ 81.3%
เช่น ฟลัดเวย์ โครงการแก้มลิง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน เป็นต้น
อันดับที่ 2 : บูรณาการปรับปรุงผังเมือง ผังน้ำทั่วประเทศ 76.1%
และแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำอย่างเป็นระบบ
อันดับที่ 3 : ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและส่งเสริมการปลูกป่า เพื่อเป็นแหล่งในการดูดซับและชะลอน้ำ 51.7%
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าใช้เอง
อันดับที่ 4 : จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำและขับเคลื่อนแผนงาน/แผนปฏิบัติการในระดับลุ่มน้ำ 42.6%
ผ่านกลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำ

4. มาตรการที่มีความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักร 67.6%
ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 100%
อันดับที่ 2 : มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% และการพักชำระหนี้ 65.9%
ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน
อันดับที่ 3 : รัฐตั้งกองทุนรับประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เพื่อให้ครอบคลุมกับ 48.3%
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ
อันดับที่ 4 : สำนักงานประกันสังคมช่วยชดเชยค่าจ้างแรงงาน 50% ให้แก่ธุรกิจ 43.8%
ที่ได้รับผลกระทบ
 
5. ความกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัยและภาวะน้ำแล้งในปี 2566 (Single choice)
อันดับที่ 1 : มีความกังวลต่อความเสี่ยงในการเกิดปัญหาอุทกภัย 47.7%
อันดับที่ 2 : มีความกังวลต่อความเสี่ยงในการเกิดปัญหาน้ำแล้ง 39.2%
อันดับที่ 3 : ไม่กังวล 13.1%
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่