⏰ ทำ IF ลดน้ำหนัก ทำให้หายโรคต่างๆ ได้ดีกว่าการคุมแคลอรี่รึเปล่า ?

😎 งานนี้เหมือนเดจาวูแฮะ แต่ก็ไม่ใช่งานเก่าที่เคยเอามาแชร์ไปแล้วนะครับ เป็นงานใหม่งานนึงนี่แหละ ฝรั่งก็คงไม่ต่างกับเรา มีการถกเถียงกันว่าลดน้ำหนักแบบไหนดีกว่ากัน ใครทำอะไรสำเร็จ ก็มักจะอวยสิ่งที่ได้ผลดีกับตัวเอง


😎 แต่จริงๆแล้ว ถ้าจะเคลมว่าอะไรดีกว่ากัน มันก็ควรจะควบคุมปัจจัย ควบคุมตัวแปร ให้มันเท่าๆกัน เหลือไว้แค่ตัวแปรอิสระเท่าที่เราต้องการศึกษา งานนี้เขาก็เลยศึกษาแบบ Systematic Review โดยศึกษาจากงาน RCT ซึ่งเปรียบเทียบการทำ IF กับคุมแคล โดยที่กำหนดให้แคลอรี่ที่ทานสองกลุ่มเท่ากัน (isocaloric) 

🔎 โดยเขาต้องการดูผลในแง่ของน้ำหนักที่ลดได้ และผลต่อปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (metabolic risk factors for noncommunicable chronic diseases) โดยศึกษาในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน (overweight) หรืออ้วน (obesity) 

📝 เกณฑ์การคัดงานเพื่อนำมาศึกษา ก็เป็นงานที่ทำในคน เป็นงานที่เป็น RCT มีการเปรียบเทียบระหว่าง การอดอาหารเป็นหมีแพนด้า.... ช่วงๆ!! (Intermittent Fasting, IF) และ ควบคุมแคลอรี่ (Daily caloric restriction, DCR) ที่มีการกำหนดให้ทั้งสองกลุ่มทานพลังงานอาหารเท่ากัน และมีระยะเวลาการศึกษา 8 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อดูผลของสิ่งที่ว่าข้างต้น

🔎 เขาก็ไปค้นจากฐานข้อมูลงานวิจัยทั้ง PubMed, Scopus, Web of Science, Cochrane และ Google Scholar) ดูงานที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2000-2002 ซึ่งก็ได้งานที่เข้าเกณฑ์ทั้งสิ้น 13 งานนะครับ อ่ะ ซึ่งก็มีการทำ IF หลายรูปแบบนะคับ เป็นการจำกัดเวลาทาน (Time-restricted Eating, TRE) 4 งาน อดวันเว้นวัน (Alternate day fasting, ADF) 1 งาน 4:3 2 งาน และ 5:2 6 งาน

📝 ผลต่อการลดน้ำหนักเมื่อเทียบกับการคุมแคลอรี่เท่ากัน การทำ IF แบบ TRE งานที่เอามาดูก็ทำในช่วง 12-52 สัปดาห์ มีทั้งแบบงดกินตอนเช้า 12/12 14/10 16/8 ผลที่ได้ต่อการลดน้ำหนัก ลดไขมัน ได้ไม่ต่างกับการคุมแคลอรี่ แบบ ADF 4:3 และ 5:2 ก็เช่นกัน มีงานนึงใน 5:2 บอกว่า IF ได้ผลดีกว่า เป็นการศึกษาระยะสั้น 2-3 เดือน 

📌 ซึ่งก็สรุปได้ว่า ในผลของการลดน้ำหนักนั้นถ้าทานแคลอรี่เท่ากันแล้ว จะทำ IF หรือไม่ทำ IF ก็ได้ผลไม่แตกต่างกัน ทีนี้จะทำหรือไม่ทำ ก็แล้วแต่สะดวกแล้วแต่ศรัทธากันแล้วละครับ

❤️ ส่วนผลในด้านปัจจัยเสี่ยง NCD ต่างๆ ข้อมูลในงานนี้พบว่าผลต่อ lipid (ที่เราเรียกกันว่าไขมันนั่นแหละ) , น้ำตาลในเลือด , ระดับ insulin , HbA1c และข้อบ่งชี้ทางชีวภาพที่บอกถึงการอักเสบ เทียบระหว่างการทำ IF และการคุมแคลอรี่ ให้ผลที่หลากหลาย มีความแตกต่างกันในแต่ละงานค่อนข้างมาก แต่รวมๆแล้วเมื่อลดน้ำหนักได้เท่าๆกัน ก็ได้ผลที่ดีใกล้เคียงกัน

📌 โดยสรุปแล้วทั้งผลของการลดน้ำหนัก ลดไขมัน และค่าปัจจัยเสี่ยงต่อโรค NCD ต่างๆ การทำ IF ได้ผลที่เท่าๆกันกับการคุมแคลอรี่ เมื่อทั้งสองวิธีทานพลังงานอาหารที่มีระดับพลังงานเท่ากัน ก็สะดวกวิธีไหน ศรัทธาในศาสดาคนไหน ก็เลือกทำได้ตามสะดวกเลยครับ สะดวกทำ IF ก็ทำ ไม่สะดวกทำ IF ถ้าคุณทานแคลอรี่ได้เท่าๆกัน ก็ได้ผลเหมือนกัน

ที่มาและแหล่งอ้างอิง
https://www.fatfighting.net/article-2022-10-17-the-effects-of-isocaloric-intermittent-fasting-vs-daily-caloric-restriction-on-weight-loss-and-metabolic-risk-factors-for-non-communicable-chronic-diseases/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่