🇹🇭❤️มาลาริน❤️🇹🇭เชิญชวนเด็ก6ด.-4ปี ฉีดวัคซีน/เปิดชื่อ 8 จว.ระวังโควิด กทม.-ชลบุรี-เชียงใหม่ ห่วงสูงวัยไร้วัคซีนตายสูง

เชิญชวนเด็ก 6 เดือน - 4 ปี เข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่รพ.ทั่วประเทศ

 
รัฐบาลเชิญชวนผู้ปกครอง พาบุตรหลาน 6 เดือน - 4 ปี รับวัคซีน ป้องกันโควิด-19 ได้แล้วในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพิ่มภูมิคุ้มกันเด็กเล็กลดเสี่ยงจากแนวโน้มการแพร่ระบาดในต่างประเทศมากขึ้น
   
วันที่ 16 ต.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนทุกกลุ่มให้ครอบคลุมมากที่สุดนั้น ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้รับการส่งมอบวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี จากผู้ผลิตแล้ว และเริ่มฉีดให้เด็กกลุ่มเป้าหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 65 เป็นต้นมา

ดังนี้ รัฐบาลเชิญชวนผู้ปกครองพาบุตรหลาน ที่มีอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโรควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้กระจายวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้ม จำนวน 5 แสนโดส ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ เรียบร้อยแล้ว โดยมีประสิทธิภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 65 ผู้ปกครองสามารถลงทะเบียนหรือพาบุตรหลาน เข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ตามความสมัครใจ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เด็กเล็กมีโอกาสสูงในการติดเชื้อโควิด-19 จากกิจกรรมต่างๆ โดยที่ผ่านมาเด็ก 6 เดือน ถึง 4 ปี เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ทำให้ในช่วงการระบาดของโอมิครอนพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีการอัตราการป่วยสูงกว่าเด็กโต 3 เท่า และในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีกระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินว่าอาจจะมีการระบาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เห็นจากข้อมูลในยุโรป สิงคโปร์ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และขณะนี้ประเทศไทยได้เปิดประเทศเต็มที่แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการนำบุตรหลานเข้ารับวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

สำหรับข้อกังวลเรื่องผลข้างเคียงนั้น กรมควบคุมโรคระบุว่าตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 65 เป็นต้นมา จำนวนหลายร้อยโดสนั้นยังไม่พบเด็กมีอาการแพ้วัคซีนแต่อย่างใด ในส่วนของต่างประเทศเอง ในสหรัฐฯ มีการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กและติดตามล้านกว่าโดส พบว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่าเด็กโต ไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงถึงเสียชีวิต

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี มีขนาด 3 ไมโครกรัม ปริมาณ 0.2 มิลลิลิตร ฉีดจำนวน 3 เข็ม ระยะห่างเข็มแรกกับเข็มสอง 4 สัปดาห์ และระยะห่างเข็มสามอีก 8 สัปดาห์ สามารถให้พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นได้ในวันเดียวกัน หรือห่างกันเท่าใดก็ได้ โดยสถานที่ฉีดได้จัดจุดบริการแยกจากกลุ่มวัยอื่น เพื่อป้องกันความสับสนในการใช้วัคซีน ผู้ปกครองสามารถติดต่อพาบุตรหลานไปรับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลทุกระดับ รวมทั้ง รพ.สต. ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด สอบถามข้อมูลได้ที่ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค

https://www.thairath.co.th/news/politic/2528106
 


กรมควบคุมโรคเปิดชื่อ 8 จว.ระวังโควิด กทม.-ชลบุรี-เชียงใหม่ ยังห่วงสูงวัยไร้วัคซีนตายสูง

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังการระบาดโควิด-19 หลังเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ว่า ขณะนี้ กรมควบคุมโรคและส่วนจังหวัดได้หารือกันจนได้ 8 จังหวัดในการเฝ้าระวังในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรือพื้นที่เฉพาะ (Sentinel Surveillance) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี เชียงใหม่ ตาก อุดรธานี สระแก้ว สงขลา และชลบุรี โดยจังหวัดเหล่านี้เคยมีความเสี่ยงสำคัญ เช่น จังหวัดท่องเที่ยว จังหวัดชายแดน ฯลฯ ดังนั้น จึงมีความพร้อมรับมือระบาด มีวิธีรับมือ แต่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง
“ตามที่เฝ้าระวังใน 8 จังหวัดนี้มา 3 สัปดาห์ ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้นสูง โดยเราเฝ้าระวังเรื่องสายพันธุ์ด้วย ตอนนี้ที่พบยังเป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.5 อยู่” นพ.โสภณกล่าวและว่า ส่วนภาพรวมประเทศไทย ยังอยู่ในขาลง ซึ่งจะต่างจากยุโรปที่เป็นขาขึ้น โดยช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่ำ โดยปกติจะมีการระบาดที่ยุโรปก่อนแล้วอีก 2-3 เดือน ก็จะมาถึงบ้านเราที่อาจเกิดปัญหารุนแรง ฉะนั้น เราต้องจับสัญญาณการระบาดให้ได้เร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายประเทศมองว่า 3 เดือนสุดท้ายของปี อาจยังไม่ปลอดภัย การระบาดใหญ่อาจกลับมาอีกครั้ง นพ.โสภณกล่าวว่า ตอนนี้กำลังจะครบ 3 ปีที่เราอยู่ร่วมกับโควิด-19 ดังนั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีประสบการณ์ในการจัดการมากขึ้น มีความพร้อมมากขึ้น เช่น มาตรการป้องกัน วัคซีนฉีดมากกว่าร้อยละ 80-90 รวมกับกลุ่มติดเชื้อตามธรรมชาติอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ป้องกันอาการป่วยหนักได้อย่างแน่นอน ลดการเสียชีวิตได้ดี แต่ยังป้องกันติดเชื้อไม่ได้ ซึ่งขณะนี้มีสายพันธุ์ใหม่ XBB ที่สิงคโปร์ก็ออกมายืนยันแล้วว่า จำนวนติดเชื้อเพิ่มจริง แต่ไม่มีนัยความรุนแรงที่มากขึ้น ฉะนั้น หากไวรัสไม่ได้ทำให้ป่วยหนักมากขึ้น เชื่อว่าการจัดการปัญหาไม่ได้เหนือกว่าการจัดการของเรา

“เรารู้วิธีจัดการความเสี่ยง สักพักเราก็จะเริ่มกลับมาสวมหน้ากากอนามัยสม่ำเสมอ ซึ่งตอนนี้เราเน้นในบางกลุ่ม เช่น ผู้ใช้รถสาธารณะ โรงพยาบาล สถานดูแลคนชรา/เด็กเล็ก ฉะนั้น ถ้าเกิดปัญหามากขึ้น เราก็แนะนำการปฏิบัติตัวที่เข้มขึ้น” นพ.โสภณกล่าว

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ขณะนี้กลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยหนักเริ่มมีกลุ่มเล็กลง จากเดิมที่ไม่มีวัคซีน ต้องเฝ้าระวังทุกกลุ่มตอนนี้เหลืออยู่ในกลุ่มอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 60 ปี จากที่เคยมีรายงานยังไม่รับวัคซีนเข็มแรกเกือบ 2 ล้านคน ตอนนี้ก็ทยอยมาฉีดแต่ยังมีน้อยมาก สิ่งที่น่าห่วงคือ ตัวเลขผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ล่าสุด พบว่ารายใหม่ 53 ราย เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน 28 ราย ดังนั้น คนทั่วไปที่รับวัคซีนแล้ว อยู่ในวัยทำงานก็ไม่มีความกังวลมากเท่ากลุ่มสูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3620882

ติดตามข่าวโควิดวันนี้นะคะ....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่