โรค(ระบบทางเดินหายใจ) ที่ควรระวัง หลังการเปิดประเทศ

โรค(ระบบทางเดินหายใจ) ที่ควรระวัง หลังการเปิดประเทศ 
 
     ช่วงปลายปีต่อต้นปีใหม่แบบนี้ นอกจากการรอคอยวันหยุดเพื่อที่จะได้ออกไปท่องเที่ยวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ แบบพี่หมอตั้งตารอก็คือ การได้สัมผัสกับลมหนาว ❄️ ซึ่งช่วงที่พี่หมอเขียนเรื่องนี้อยู่น่าจะเป็นช่วงที่อากาศดีที่สุดในรอบหลายเดือนทีเดียว แต่สิ่งที่มาพร้อมกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นก็คือ การแพร่ระบาดของโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ หอบหืด ภูมิแพ้ รวมถึงโรคโควิด-19 ที่กลับมาระบาดอีกระลอกด้วย ประกอบกับเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ว่านักท่องเที่ยวเหล่านั้นจะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้อยู่ 
     พี่หมอเลยอยากถือโอกาสนี้มาแนะนำวิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคระบบทางเดินหายใจ 😷 ซึ่งเป็นโรคที่แพร่ระบาดได้มากที่สุดในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงแบบนี้ 
 
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ 😨
     · การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว เพราะความกดอากาศต่ำลง ทำให้อากาศไม่ค่อยถ่ายเท 
     · ฝุ่น PM 2.5 กระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ 
     · ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
     · ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ผู้ป่วยโรคปอด ซึ่งหากมีการติดเชื้อ จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป
     · ผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ามีปัญหาที่ปอด 
     · ผู้ที่ทำงานที่บ้าน ทำให้ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ส่งผลให้เกิดโรคภูมิแพ้ แม้จะไม่เคยเป็นมาก่อน 
 
วิธีป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ 🛡️
     · รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่
     · ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที มีงานวิจัยพบว่า การออกกำลังกายจะช่วยรักษาอาการภูมิแพ้ได้ดีกว่าการรับประทานยาเพียงอย่างเดียว  
     · รับประทานวิตามินเพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น วิตามินซี 
     · หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 
     · หากเป็นโรคหอบหืด ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกระตุ้นต่างๆ เช่น ฝุ่น ควัน ขนสัตว์ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากอาการกำเริบ แนะนำให้ใช้ยาสเตียรอยด์แบบพ่น ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหอบหืดได้ดี
     · หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปแพทย์ทันที เช่น ไอแล้วรู้สึกเหนื่อย ไอและมีเสมหะ มีไข้สูง มีน้ำมูก เป็นต้น 
 
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังเปิดประเทศ
     · สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน
     · ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลังการสัมผัสสิ่งต่างๆ
     · เว้นระยะห่างจากผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก
     · เพื่อความไม่ประมาท หากสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ควรตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ที่มีประสิทธิภาพและผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพราะเราอาจเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการก็ได้
 
     นอกจากการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำเบื้องต้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำก็คือ การฉีดวัคซีน 💉 ทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ รวมถึงโรคโควิด-19 ซึ่งการฉีดวัคซีนแต่ละโรคมีข้อควรรู้ที่แตกต่างกัน ดังนี้ 
 
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
     · การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน 
     · เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ 
     · ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับประเทศไทยคือ ช่วงเดือนพ.ค.- ต.ค. เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เป็นประจำ ทำให้มีการระบาดตามฤดูกาลอย่างต่อเนื่องทุกปี 
     · การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกเพศ ทุกวัย เพราะแม้จะเป็นช่วงท้ายของการระบาด แต่เมื่อเปิดประเทศ ก็อาจเกิดการระบาดได้อีก
 
 วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ
     · แนะนำสำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หรือผู้ที่มีแผลและพังผืดในปอด 
     · สำหรับบุคคลทั่วไป การฉีดเพียง 1 เข็มสามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต แต่ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก แนะนำให้มีการฉีดกระตุ้นหลังจากฉีดเข็มแรก 5 ปี 
 
วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 
     การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 💉 เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและสำคัญ ไม่แพ้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เพราะหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่ 3 เข็มขึ้นไป พบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตน้อยลง ส่วนผู้ติดเชื้อมีอาการน้อยมากถึงไม่มีเลย  คือ มีเพียงไอเล็กน้อย ไม่มีไข้ หรือมีอาการคล้ายหวัดธรรมดา โดยมีการสำรวจพบว่า ในเดือนมิ.ย.- ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก ผู้ที่มีอาการรุนแรงและต้องรักษาตัวในห้องไอซียูเป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมากกว่าผู้ที่ฉีด ดังนั้น แม้ว่าวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ระดับความรุนแรงของโรคมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 
 
     ไม่ว่าจะเปิดหรือไม่เปิดประเทศ หรือต้องอยู่ในสภาพอากาศแบบไหน สิ่งสำคัญที่พี่หมออยากเน้นย้ำกับทุกคนก็คือ การดูแลตัวเองให้ดีทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะถ้าเราทำได้ เราก็จะช่วยลดภาระของคุณหมอและพยาบาล ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานหนักที่สุดมาตลอด 2 ปี 
 
     ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อย่าลืมรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ 🧣❄️⛄️
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่