ต้นกำเนิดเพลง "เนอการากู" ของมาเลเซีย และดราม่าเล็กๆ กับอินโด

65 ปี เอกราชมาเลเซีย จะเขียนเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ ก็เขียนไปเยอะแล้ว แม้จะมีเรื่องความพยายามแยกตัวของยะโฮร์และฝั่งตะวันออกก็ตาม
เรื่องราวในวันนี้ เป็นเรื่องของเพลงชาติมาเลเซีย ที่มีชื่อว่า ประเทศของฉัน (Negaraku) ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เพราะไม่ใช่เพลงที่แต่งขึ้นแต่แรก
เพลงนี้ บางคนอาจจะรู้จักดี เพราะเป็นเพลงที่ Namewee ศิลปินเชื้อสายจีน เอาเพลงมาล้อเลียนเสียดสีจนเป็นดราม่ากันมาแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน
แต่ที่น่าสนใจกว่าเพลงก็คือ เรื่องราวของเพลงนี้ โดยเฉพาะทำนอง ที่แต่เดิมมาจากชาวฝรั่งเศส และกลายเป็นเพลงที่นำทำนองมาใช้กันเยอะมาก
จากเพลงของฝรั่งเศส กลายเป็นเพลงชาติมาเลเซีย และกลายเป็นดราม่ากับอินโดได้อย่างไร ขอเชิญรับอ่านรับชมกันจากข้างล่างนี้เป็นต้นไปครับ

เพลงต้นฉบับแรกสุด คือ เพลง La Rosalie ของ Pierre-Jean de Béranger ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นนักประพันธ์เพลงผู้ลือชื่อคนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส
เพลงของเขาได้รับความนิยมมาก แพร่มาถึงหมู่เกาะเซเชลส์ หรือปัจจุบันก็คือ ประเทศเซเชลส์ ซึ่งอยู่ทางมหาสมุทรอินเดีย ใกล้ๆ กับมาดากัสการ์
ถึงกระนั้น สุลต่านอับดุลละห์ของเปราก์ ซึ่งลี้ภัยมายังเซเชลส์หลังจากถูกกล่าวหาว่าทรงลอบสังหารข้าหลวงอังกฤษ กลับทรงชอบเพลงนี้อย่างมาก
ทำนองเพลง La Rosalie ถูกดัดแปลงไปเป็นเพลง Allah Lanjutkan Usia Sultan ซึ่งกลายเป็นเพลงประจำรัฐและสุลต่านของรัฐเปราก์ถึงปัจจุบัน
บ้างก็ว่าเพลงดังกล่าวมีที่มาจากสุลต่านอีกพระองค์ คือ สุลต่านอิดริส ในช่วงงานพระราชพิธีราชาภิเษก พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร

ในยุคเอกราช ตุนกู อับดุล ระห์มัน ได้ปรารภว่า เพลงประจำรัฐทั้ง 11 รัฐ (ขณะนั้นซาบะห์ ซาราวะก์ ยังไม่ได้รวมกับมาเลเซีย) มีหมดแล้วในทุกๆ รัฐ
ขาดแต่เพลงชาติในระดับสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวของสหพันธรัฐมลายูในเวลานั้น จึงได้เริ่มจัดหาแต่งเพลงขึ้น
ที่น่าสนใจก็คือ แม้มีเพลง และนักแต่งเพลง นักแต่งทำนองจากทั่วโลกร่วมส่งเพลงมากว่า 500 เพลง แต่เพลงส่วนใหญ่ถูกมองข้ามและละทิ้งไปหมด
แต่ทว่า เมื่อตุนกู อับดุล ระห์มัน หันมามองเพลงประจำรัฐเปราก์ ก็มองว่ามีความเป็น "พื้นเมือง" ทำให้รัฐบาลเลือกเพลงนี้เป็นเพลงชาติของมาเลเซีย
ทำนองถูกเรียบเรียงใหม่ รวมไปถึงเนื้อเพลงที่รัฐบาลช่วยกันจัดสรรและแต่งใหม่เช่นกัน โดยมีตุนกู อับดุล ระห์มัน เป็นหัวหอกหลักของการทำเพลง

ส่วนเรื่องที่ว่า เพลงเนอการากู กลายเป็นดราม่ากับอินโดได้อย่างไร เพราะอินโดก็มีเพลงทำนองใกล้เคียงกันชื่อว่าเพลง Terang Bulan (จันทร์ฉาย)
ต้องบอกก่อนว่า ทำนองเพลงนี้ เป็นที่นิยมมาก มีการทำเพลงมาจากทำนองนี้หลายเพลง และแพร่หลายไปในฐานะวัฒนธรรมอาณานิคมด้วยส่วนหนึ่ง
ว่ากันว่าในช่วงอาณานิคม เพลงดังกล่าวได้รับความนิยมมากจนถึงขั้นมีการร้องและแสดงเพลงทั่วโลกมลายูในช่วงนั้นอย่างมากจนเป็นส่วนหนึ่งไปเลย
และอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตุนกูเลือกเพลงนี้เป็นเพลงประจำชาติ เพราะมองว่าชาวมลายูนิยมเพลงนี้มาก และใครๆ ก็เล่นเพลงนี้กันในเวลานั้น
ทุกวันนี้ ยังมีคนอินโดบางกลุ่มแอบค่อนขอดว่าเพลงชาติของมาเลเซียเป็นเพลงเดียวกับพวกเขา แต่ก็เคลมไม่ได้ เพราะทั้ง 2 เพลง ไม่ได้แต่งเองเลย

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมเกี่ยวกับเพลงนี้คือประวัติศาสตร์ในช่วงยุคอาณานิคมที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีการแลกเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลาในช่วงนั้น
กรณีเพลงนี้ ทำให้ผมนึกถึงเพลง Chilly Cha Cha ที่ได้รับความนิยมทั่วแถบนี้จนเห็นได้บ่อยในการเรียนลีลาศบางโรงเรียน หรือในงานแต่งใครสักคน
บางคนก็บอกว่าเพลงนี้ คนสเปนเป็นคนทำ บ้างก็ว่าคนอิตาลีเป็นคนทำ บ้างก็ว่ากันว่าคนฟิลิปปินส์เองที่เป็นคนทำเพลงนี้จนเป็นที่นิยมกันไปทั่วแถบนี้
หรือหากพูดถึงอาหาร ผมก็นึกถึงวัฒนธรรมอาหารที่สลับกันไปมาทั้งกับคนเอเชียด้วยกัน หรือระหว่างฝรั่งผิวขาวกับคนเอเชีย จนเกิดเป็นวิถีชีวิตใหม่
หลายๆ สิ่ง แสดงให้เห็นว่า แม้หลายประเทศจะเป็นเอกราช หมดยุคอาณานิคมแล้ว วิถีชีวิต วัฒนธรรมบางอย่างก็ยังคงอยู่ ... ปัญหาบางอย่างก็เช่นกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่