พื้นฐาน Phonics สำหรับนักเรียนไทย (ภาษาอังกฤษที่ควรมีในห้องเรียน) PART 2

กระทู้สนทนา
What's going on, folks?!

มาต่อกันกับเรื่อง Phonics บทที่แล้วเราฝึกออกเสียงตัวตัวอักษร (letters) ในภาษาอังกฤษกันจนครบทุกตัว แต่ยังไม่ครบทุกเรื่องนะ! ไปลุยกันต่อเลย

1) มาดูสระเสียงสั้นพื้นฐานในภาษาอังกฤษกันเลย
A เสียงสั้นคือ "แอะ" (หรือ "แอ๊ะ" ก็ได้ สระตัวนี้จะเสียงสูงหน่อย) เช่นในคำว่า mat, Ipad, wax
E เสียงสั้นคือ "เอะ" (หรือ "เอ๊ะ") เช่นในคำว่า bed, let, Teddy
I เสียงสั้นคือ "อิ" (หรือ "อิ๊") เช่นในคำว่า live, fish, mix
O เสียงสั้นคือ "เอาะ" (หรือ "เอ๊าะ") เช่นในคำว่า dog, top rob
U เสียงสั้นคือ "อะ" (หรือ "อ๊ะ") เช่นในคำว่า must, luck, sub
*ข้อสังเกต: สระเสียงสั้นในภาษาอังกฤษจะสั้นกว่าภาษาไทยเยอะ เพราะฝรั่งเขาออกเสียงเหมือนกระแทกลมออกมาเฉย ๆ ไม่ได้อ่านเต็มเสียง คนไทยเราเวลาออกเสียงสั้นเหล่านี้มักจะยานเสียงเกินไป (เช่นคำว่า head ที่หลายคนอ่านเป็น เฮดดด แต่จริง ๆ ต้องอ่านสั้น ๆ เลย "เฮ็ด" / Bed, said, dead, breakfast ก็เช่นกัน ต้องอ่านเสียงสั้นนะ)

2) ตัวสะกด (grapheme) พื้นฐานสำหรับ แอะ, เอะ, อิ, เอาะ, อะ คือ A E I O U ก็จริง แต่นี่ไม่ใช่ตัวสะกดเดียว สระเสียงสั้นนี้ยังสามารถถูกสะกดแบบอื่นได้ด้วย และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความยากในการอ่านภาษาอังกฤษ...
- A (แอะ) โชคดีที่สระแอะถูกสะกดได้ด้วย -a แค่อย่างเดียว สำหรับอันนี้จำแค่ a ได้เลย
- E (เอะ) ถูกสะกดได้หลายแบบ นอกจาก -e (get, test, deck) แล้วยังมี -ea (head, weather, sweat), -eo (leopard, jeopardy), -ie (friend) เป็นต้น
- I (อิ) อันนี้สะกดได้สองแบบหลัก ๆ คือนอกจาก -i (big, dig, lick) แล้วยังมี -y (system, mystery, gym) อีกตัว
- O (เอาะ) สะกดได้สองแบบหลัก ๆ เหมือนกันคือ -o (god, rock, job) และ -a (want)
- U (อะ) อันนี้ก็เจอหลายแบบนะ นอกจาก -u (gun, truck, fuzz) แล้วยังมี -o (son, Monday, ton), -ou (tough, rough), -oo (blood, flood) เป็นต้น

3) เวลาฝรั่งผสมเสียงเพื่อประกอบเป็นคำศัพท์ (blending sounds to make a word) ก็มีวิธีที่แตกต่างจากคนไทยนะ ยกตัวอย่าง 3 คำนี้ get, head, leopard สำหรับคนไทยเราอาจจะได้ฝึกมาแบบนี้
- กอ-เอะ-ทอ "เก็ท" (ใช้เสียงแบบไทย) หรือ จี-อี-ที "เก็ท" (ใช้ "ชื่อ" ตัวอักษร) (แล้วคุณครูก็จะย้ำว่าเราแทนตัว G ด้วย ก ไก่ โดยไม่อธิบายถึงเสียงเลย)
- ฮอ-เอะ-ดอ "เฮ็ด" หรือ เอช-อี-เอ-ดี "เฮ็ด" (แล้วคุณครูก็จะย้ำว่า -ea คือสระเอะ *แต่ผมเดาว่าคุณครูพาออกเสียงผิดเป็น เอ ซะส่วนใหญ่)
- ลอ อี "ลี" "โอ" พอ-อา-ดอ "พาด" รวมเป็น "ลีโอพาร์ด" (จริง ๆ คำนี้ต้องอ่านว่า เล็พ-เพิด)

4) นี่คือวิธีการฝึกสะกดคำของ native และเป็นวิธีที่เราจะคุ้นคย หากเราได้เรียน Phonics ตั้งแต่อนุบาล...
- เกอะ เอะ เทอะ "เก็ท" (g + e + t "GET")
- เหอะ เอะ เดอะ "เฮ็ด" (h + ea + d "HEAD")
- เหลอะ เอะ เพอะ "เล็พ" เออะ เดอะ "เอิด" "เล็พ-เพิด" (l + eo + p "LEOP..." ar + d "...ARD" "LEOPARD" *ตัว P จะเชื่อมเสียงอัตโนมัติ)
*สังเกตุว่าเราจะผสมเสียงโดยอิงตามหลักการอ่านเสียงพยัญชนะในตอนที่แล้ว เราจะไม่ใช่เสียงแบบไทย หรือใช้ "ชื่อตัวอักษร" ในการสะกดคำ

5) การสอน Phonics มันจะช่วยให้เด็กคิดต่อยอดได้ว่า...
- เสียงกับพยัญชนะเป็นคนละอย่างกัน เช่น พยัญชนะชื่อ "จี" แต่เสียงของมันคือ "เกอะ" ดังนั้นถ้าเราเจอตัว G ผสมกับคำไหน มันก็จะเป็นเสียง G เช่น g + o (เกอะ โอว "โกว"), g + ive (เกอะ อิฟ "กิฟ") อะไรแบบนี้ เด็กก็จะสามารถสะกดคำศัพท์ได้ด้วยตัวเองแบบถูกต้อง (และมีหลักการ!) *ในอนาคตคุณครูก็ค่อยกลับมาสอนอีกว่าตัว G ยังสามารถเป็นเสียง เจอะ ได้อีกด้วย เช่น g + ym (เจอะ อิม "จิม")
- สระเอะ สามารถถูกสะกดได้หลายแบบ หรือเข้าใจเลยว่า 'ภาษาอังกฤษไม่ได้อ่านตรงตัวสะกดเสมอไป' (English is not phonetic!) leopard ไม่ได้อ่าน ลีโอพาร์ด เพราะ -eo มันก็คือสระเอะที่สะกดอีกแบบ และ ar มันก็คือสระเออะที่สะกดอีกแบบ ในตอนแรกอาจจะต้องทำความเข้าใจนานหน่อย แต่ในระยะยาวจจะช่วยลดความสับสนงุนงงได้เยอะ!

จบไปกับตอนที่สอง คุณครูท่านไหนอยากเอาวิธีนี้ไปปรับใช้ ทักเข้ามาปรึกษาผมได้นะครับ ผมมี material ให้เยอะเลย อยากส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวนี้จริง ๆ แล้วไว้มาเจอกันตอนหน้านะ

"ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างในวันนี้ แค่รู้ให้มากกว่าเมื่อวานก็พอ"
Stay tuned
JGC.

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่