[How to] ภาษาอังกฤษเริ่มจากศูนย์ ต้องเริ่มตรงไหนมาดู! (Part 4)

What's not down, mate?!


โย่ว!!! มาถึงตอนที่ 4 แล้ว FINALLY! 

ในเซคชั่น 'ภาษาอังกฤษเริ่มจากศูนย์' นี้ผมแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอนคือ 
1) อ่านให้ออก 
2) แกรมมาร์สำคัญที่ควรรู้ไว้
3) ฝึกฟัง

ก่อนเข้าเรื่อง ขอ recap ทุกอย่างที่เราเรียนมาใน part 1 - 3 ก่อน

ในพาร์ท 1 เราพูดถึง
- สระสั้น-ยาว 5 คู่ ได้แก่ สระอี-อิ / เอ-เอะ / ออ-เอาะ / อูว-อุ / เออ - เออะ
- แกรมมาร์พื้นฐานคือเรื่องการใช้ verb to be และการเรียงคำและโครงสร้างในประโยค (word order and sentence structure)
- วีดีโอบทสนทนาภาษาอังกฤษใน Youtube

ในพาร์ท 2 เราพูดถึง
- สระอีก 3 ตัวคือ แอะ / อา / อะ
- แกรมมาร์ที่เราเรียนในพาร์ทนี้คือเรื่อง adjective และ adverb ว่าด้วยการใช้งานและตำแหน่งในประโยค
- ช่องยูทูปเกี่ยวกับปรัชญาและวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ เนื้อหาเหมาะแก่การพัฒนาตัวเอง (The School of Life, Casually Explained, SciShow, ASAPScience )

และในพาร์ท 3 ที่ผ่านมา เราได้พูดถึง
- ทำความรู้สระประสมทั้ง 8 ตัวแบบคร่าว ๆ โดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม (เอยฺ, โอยฺ, อายฺ / โอวฺ, อาวฺ, เอีย / แอ, อัว)
- แกรมมาร์เรื่อง Present simple และ Past simple tense ที่เราพูดถึงการผันกริยาที่แตกต่างกันไปและการใช้งานในชีวิตจริง
- วีดีโอยูทูปที่เกี่ยวกับเรื่อง tense

โอเค ๆ ถึงเวลาเข้าพาร์ท 4 หัวข้อที่เราจะเรียนกันในวันนี้คือ
- เสียงสระประสมกลุ่มแรก เอยฺ / โอยฺ / อายฺ
- แกรรมาร์เรื่อง 'การใช้ at, on, it กับเวลา'
- วีดีโอยูทูปเกี่ยวกับเสียงสระประสมและแกรมมาร์เรื่อง at, on, it
Let's roll!
_______________

1. อ่านให้ออก (มีวิดีโอยูทูปสอนออกเสียงด้านล่าง)

1.1 สระเอ(ยฺ) (โฟเนติก: /eɪ/)

คำถามแรกคือทำไมผมต้องวงเล็บ ยฺ ไว้ด้วย (และทำไม ย ต้องมีจุดข้างล่าง)
ง่าย ๆ คือมันไม่ใช่ 'สระเอธรรมดา' เพราะสระเอธรรมดา คือ 'สระเอแบบไทย ๆ' เช่นในคำว่า เท, เก หรือ เฮ โดยที่เราพูด เอ แบบอ้าปากค้าง ลองออกเสียงดู "เอ~"

แต่สระเอในภาษาอังกฤษมันไม่ใช่แบบนั้น มันเป็นสระเอที่พูดเสร็จแล้วไม่อ้าปากค้างไว้ แต่ทำปากเป็นเสียง 'ย' (อ่านว่า เหยอะ) ออกมาด้วย
มันจึงออกมาเป็นสระ เอ(ยฺ) นั่นเอง (เดี๋ยวมีวิดีโอให้ไปดูด้านล่าง)
- สระ เอ(ยฺ) มักจะถูกสะกดด้วย -ay (แค่ตัวสะกดยังบอกเลยว่าต้องมีเสียง y) เช่นในคำว่า say (เซยฺ), way (เวยฺ), Taylor (เทยฺ-เหลอะ)
- แต่หลายครั้งก็ถูกสะกดด้วย -a เฉย ๆ เช่น Patato (เพอะ-'เทยฺ-โถว), nation (เนยฺ-เชิ่น), later ('เลยฺ-เถอะ)
- และมักจะเป็น -a ที่มี -e ต่อท้ายด้วย เช่น Mate (เมยฺท), chase (เชยฺส), trade (เทรยฺด)
- สะกดด้วย -ai ก็มีเยอะไม่แพ้กัน เช่น mail (เมยฺล), pain (เพยฺน), wait (เวยฺท)
- หรือจะสะกดด้วย -ey ก็มีนะ เช่น They (เธยฺ), hey (เฮยฺ), survey (เซอ-'เวยฺ)
- และมีบ้างไม่กี่คำที่สะกดด้วย -ei เช่น eight (เอยทฺ), vein (เฟยฺน), weight (เวยฺท)
- ที่น้อยหน่อยก็คงจะเป็น -ea ที่มีอยู่ไม่กี่คำ เช่น Head (เฮยฺด), great (เกรยฺท), break (เบรยฺค)
_____

1.2 สระโอ(ยฺ) (โฟเนติก: /ɔɪ/)

คอนเซปต์เดียวกัน เราไม่ออกเสียงมันว่า โอย หรือ ออย เฉย ๆ แต่ต้องมีเสียง ยฺ ลงท้ายเบาะ ๆ ด้วย
- สระโอ(ยฺ) (หรือในสำเนียงอเมริกันจะเป็นสระออ(ยฺ)) มักถูกสะกดด้วย -oy (เหมือนเดิม แค่ตัวสะกดยังบอกว่าต้องมีเสียง y!) เช่นในคำว่า Toy (โทยฺ), annoy (เอิน-'โนยฺ), enjoy (อิน-'โจยฺ)
- แต่ก็มีอีกหลายคำที่สะกดด้วย -oi เช่น Join (โจยฺน), noise (โนยฺส), Toilet ('โทยฺ-ลิท)
_____

1.3 สระอา(ยฺ) (โฟเนติก: /aɪ/)

เหมือนเดิมนะ ออกเสียง อาย แล้วลงท้ายด้วยเสียง ยฺ เบา ๆ ด้วย
- สระอา(ยฺ) มักถูกสะกดด้วย -y มากที่สุด (อีกแล้ว! มี y ให้เห็นชัด ๆ) เช่น my (มายฺ), by (บาย), fry (ฟรายฺ)
- หรือจะเป็น -uy ก็ได้ แต่เหมือนจะมีแค่สองคำคือ guy (กายฺ) และ buy (บายฺ) (ใครคิดออกอีกบอกด้วย!)
- หลายครั้งก็สะกดด้วย -i ตัวเดียว หรือ -i ที่มี -e ต่อท้าย เช่น Hi (ฮายฺ), wi-fi (วายฺ-ฟายฺ), fine (ฟายฺ), line (ลายฺน)
- คำที่สะกดด้วย -ight ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน เช่น Fight (ฟายฺท), might (มายฺท), bright (บรายฺท)
- สะกดด้วย -ie ก็พอมีบ้าง เช่น either (อายฺ-เธอะ), lie (ลายฺ), die (ดายฺ)
- สุดท้าย ที่มีน้อยสุด ๆ ก็คงจะเป็น -ye ใน Bye (บายฺ) / -ui ใน Guide (กายดฺ) / และ -ai ใน Aisle (อายฺ-เยิ่ล)
_______________

2. แกรมมาร์ที่ควรรู้ไว้ 

วันนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่คนใช้ผิดกันมานักต่อนักแล้ว นั่นคือการใช้ 'at', 'on', 'in' กับเวลา (วัน, เดือน, ปี) 
มันไม่มีเทคนิคอะไรมากมายหรอกครับ หลัก ๆ คือต้องจำให้ได้ และฝึกใช้ให้คล่อง มาดูกันว่าเราใช้อะไรยังไงบ้าง

2.1 ใช้ at กับเวลานาฬิกา, เวลาในหนึ่งวัน, เวลาแบบเฉพาะเจาะจง (precise time)
"เวลานาฬิกา" เช่น at 10.30, at twelve o'clock, at midnight (= 12.00) etc.

ตัวอย่างประโยค
Let's meet at 10.30 am. (เจอกันตอนสิบโมงครึ่งนะ)
What were you doing at midnight? (นายทำอะไรอยู่ตอนเที่ยงคืน)
We'll be there at noon. (เราจะไปถึงประมาณเที่ยง)

และในวลีเหล่านี้เรายังใช้ at ด้วย
- at bedtime, at dinnertime 
- at the weekend, at the end of the month
- at sunrise, at sunset
- at the moment
- at the same time
- at present
- at Christmas, at Easter
_____

2.2 ส่วน on เราจะใช้กับวัน (day) และวันที่ (date) 
"วันและวันที่" เช่น on Tuesday, on Sunday morning, on 4 June etc.

ตัวอย่างประโยค
My birthday is on 4 June. (วันเกิดผมคือ 4 มิถุนายน)
I was born on Sunday. (ผมเกิดวันอาทิตย์)
Are you free on Saturday night? (คุณว่างไหมคืนวันเสาร์)

มีข้อยกเว้นให้ปวดหัวนิดหน่อยคือ
- On Monday แปลว่า วันจันทร์นี้ แต่ On Mondays (มี s) แปลว่า ทุก ๆ วันจันทร์
- เราใช้ at Christmas แต่ on Christmas Day (จำไว้เลยว่าถ้ามี day ต้องใช้ on)
- on 4 June 1995 (แม้จะมีเดือนกับปีพ่วงมาด้วย แต่เราก็ยังใช้ on เพราะมันยังเป็นวันที่)
- I want to be on your mind. (อันนี้ไม่เกี่ยวกับเวลา แค่อยากอยู่ในใจเธอ อิอิ)
_____

2.3 และเราจะใช้ in กับเดือน (month), ปี (year) และฤดูกาล (season)

"เดือน ปี และฤดูกาล" เช่น in July, in 1995, in winter etc.

ตัวอย่างประโยค
We'll go to Paris in August.
She graduated in 1994.
Tourists often come to Thailand in summer.

เพิ่มเติมนิดหน่อย
- แม้จะเป็นเวลาในหนึ่งวัน แต่เราใช้ in the morning, in the afternoon, in the evening (ไม่ใช้ at)
- แต่ถ้ามีวันเข้ามาด้วย ให้กลับไปใช้ on เช่น On Monday morning, on Friday afternoon, on Saturday evening
- at present แปลว่า 'ตอนนี้' แต่ in the present แปลว่า 'ในปัจจุบัน' เช่นเดียวกับ in the past (ในอดีต) และ in the future (ในอนาคต)
- สำหรับยุคสมัยเราก็ใช้ in นะ เช่น in the 1960s, in the last century, in the Ice Age
_____

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด 

ถ้าข้างหน้าเวลามี every, next, last, this มาแล้ว เราไม่ต้องเติม at, on, in เลย 
ตัวอย่างประโยคเช่น
I go there every Tuesday. (ฉันไปที่นั่นทุกวันอังคาร)
We're moving to LA next June. (เราจะย้ายไป LA เดือนมิถุนายนปีหน้า)
What? The concert starts this weekend?! (อะไรนะ! คอนเสิร์ตจะจัดสุดสัปดาห์นี้แล้วเหรอ!)
_______________
3. วิดีโอสำหรับการฝึกฟัง

3.1 มาดูการออกเสียงสระจากชาว British ขนานแท้เลย 
- เริ่มจากสระเอ(ยฺ) (https://www.youtube.com/watch?v=oTAzk9xm5i8
- ต่อด้วยสระโอ(ยฺ) (https://www.youtube.com/watch?v=M-8ZqxVJMf8&t=4s)
- และจบที่สระอา(ยฺ) (https://www.youtube.com/watch?v=ub9ONgsThKc)

3.2 ต่อด้วยการดูครู James สอนการใช้ at, on, in กับเวลาเลย แต่ตอนแรกเขาสอนเรื่องการใช้ at, on, in กับสถานที่ก่อน จะดูก็ได้ หรือกดข้ามไปเรื่องเวลาที่นาทีที่ 7.50 (https://www.youtube.com/watch?v=sN5H7YTo_IQ)

3.3 หรือจะเอาแบบเจาะจงไปเลย ครู Rebecca จัดให้! ผมชอบวิดีโอนี้มาก เขาสอนใช้เทคนิคการจำ 'พีระมิด' มาช่วยในการจำการใช้ at, on, in น่าสนใจดีครับ ลองเข้าไปดูนะ
(https://www.youtube.com/watch?v=G01SFcou6P4)
_______________

จบไปกับตอนที่ 4!

ถึงตอนนี้เราเริ่มมีพื้นฐานแน่นพอสมควรแล้วแหละ (ถ้าจำทุกอย่างที่สอนไปได้นะ!)

กลับไปทบทวนอันเก่าด้วย และถ้าจะให้ดี จงทบทวนอย่างสม่ำเสมอ! โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันเนี่ย ยิ่งลืมง่ายเลย (ยิ่งต้องทบทวนเยอะกว่าเพื่อน!)

ดังนั้นทบทวนบ่อย ๆ นะ ทุกวันเลยนั่นแหละ แต่วันละนิดก็พอ ไม่ต้องเยอะเดี๋ยวจะเบื่อซะก่อน
แล้วเจอกันใน Part 5

ตอนนี้เพจ "พ่อผมเป็นคนอังกฤษ" มี Instagram แล้วนะ ผมโพสต์ Word of the day ทุกวันเลย
ใครต้องการอัพเดตคลังคำศัพท์ของตัวเองด้วยคำศัพท์ดี ๆ ทุกวันเข้าไป Follow ด้วย!
Instagram: British Dad (@the.jgc) (https://www.instagram.com/the.jgc/)

"ไม่ต้องรู้ทั้งหมดในวันนี้ แค่รู้มากกว่าเมื่อวานนี้ก็พอ"
Stay tuned
JGC.
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่