ลว.สุดท้าย กับชีวิตข้าราชการ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ด้วยเพราะมีเวลาว่างระหว่างนั่งรถโดยสารเพื่อไปราชการที่เมืองหลวง

เลยเปิดแอพ TK READ เพื่อหา E-Book อ่านคั่นเวลา
จนไปเจอหนังสือเล่มที่อยากอ่านมานาน  

"ลว.สุดท้าย" ของ อ.วสิษฐ เดชกุญชร

ใจคิดเพียงว่า น่าจะเป็นเรื่องแนวตื่นเต้นระทึกขวัญของ จนท.ความมั่นคง ตามรสนิยมที่ตนเองชอบโดยปกติ
แต่พออ่านจบแล้ว ดันทำให้เบื่อหน่ายกับวัฏจักรชีวิตของตัวเองซะงั้น

แค่นั้นไม่พอ ยังทำให้รู้สึกละอายต่อการใช้ชีวิต ขรก.ของตัวเองแถมมาด้วย

"ลว.สุดท้าย" เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2522
เป็นเรื่องของนายตำรวจตงฉิน (จนผมไม่อาจปักใจได้ว่ามี ขรก.เทือกนี้)
เนื้อหาเกี่ยวกับราชการสงคราม สมัย ผกค.

แต่อ่านไปอ่านมา มันทำผมอึดอัดใจ 
อึดอัดกับระบบราชการไทย ที่ผ่านมา 43 ปี ระบบที่ อ.วสิฐถ่ายทอดผ่านนิยาย กับโลกปัจจุบัน มันไม่เห็นจะเปลี่ยนไปที่ไหนเลย

ระบบราชการยังคง เช้าชามเย็นชาม/เจ้าคนนายคน/คนของใคร/ส่วยสาอากร/ของขวัญ/ข้ามหน้าข้ามตา/seniority

และผักชีแปลงใหญ่เมื่อมีคนเข้าชม

ผมรู้ว่าผมก็เป็นปลาที่ต้องปล่อยตัวตามกระแสน้ำบ้างตัวหนึ่ง
แต่มีหลายครั้งที่ก็พยายามทวนน้ำ หรืองัดกับปลาใหญ่
แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีขึ้น นอกจากได้บาดแผลรอยขีดข่วนกลับมา

คนอย่างวีร์ บุญแต่ง
อยู่ไม่ได้ในระบบราชการไทย (ตั้งแต่ยุคของเค้า เมื่อปี 2522 ถึงยุคของผม 2565)

คนอย่างผม ที่ก็เป็นแค่คนเทาๆ 
แต่ด้านที่ขาวของอุดมการณ์ ก็ทำให้ตัวเองบาดเจ็บมาหลายรอบ
ถือเป็นสันดานของตัวเอง ที่บางทีปล่อยผ่านไม่ได้ในหลายเรื่อง

สุดท้ายนี้ เหมือนตัวเองยืนอยู่ตรงแยก
อยากจะจบท้ายสวยๆ ว่า หรือจะถึงเวลา ที่ปลาเล็กจำเป็นต้องหาแม่น้ำ/คลอง/บึง/สระที่ใหม่ซะที

แต่จะให้ไปทางไหนดีล่ะ ในเมื่อถนนแต่ละเส้นมืดตื๋อพอกัน

ใครที่กรุณา/อุตส่าห์/บ้า อ่านมาถึงตรงนี้
ยังไงก็ถือว่าท่านเสียเวลาและเปลืองเน็ตไปโดยใช่เหตุก็แล้วกันครับ...

ด้วยความเคารพ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่