JJNY : เอสเอ็มอีอ้อนดูแลด่วน│เตือนติดโควิดอาจแตะ5หมื่นต่อวัน!│“ประเสริฐ”เผยยังไม่คุย“ธรรมนัส”│“ซามูไร”อ่วม! โควิดรอบใหม่

เอสเอ็มอีอ้อนรัฐดูแลด่วน
https://www.thairath.co.th/business/market/2444047

 
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะยังคงเผชิญกับความท้าทายกับรายได้ที่ลดลง แต่ต้นทุนการผลิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบ น้ำมันที่ปรับตัวสูง ขณะที่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ในเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ที่จะปรับขึ้นและอาจขยับขึ้นไปสู่ระดับ 5 บาทต่อหน่วย รวมไปถึงต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะดอกเบี้ยและค่าแรงขั้นต่ำที่เตรียมเป็นขาขึ้นอีก จะเป็นแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตและการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องของเอสเอ็มอีที่ลดต่ำ และจะนำมาสู่ภาวะหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในระบบเพิ่มขึ้น
 
“ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หนี้เสียของเอสเอ็มอีในไตรมาสแรกปีนี้ สูงเกือบ 670,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.2% ของพอร์ตสินเชื่อ แต่ภาวะต้นทุนต่างๆที่เพิ่มสูงนับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเอสเอ็มอี หากเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลตรึงค่าไฟฟ้าและหาแนวทางในการลดต้นทุน วัตถุดิบต่างๆให้มากขึ้นเพื่อลดภาระต้นทุนของเอสเอ็มอี รัฐบาลต้องเร่งเข้ามาดูแลเอสเอ็มอี เพื่อป้องกันเศรษฐกิจไทย ผ่านมาตรการ 4 เพิ่ม 4 ลด ได้แก่ 
 
4 เพิ่มโดยกลไกกองทุนนวัตกรรม ได้แก่ 1.เพิ่มการส่งออก 2.เพิ่มการบริโภคภาครัฐ 3.เพิ่มการลงทุนในประเทศ และ 4.เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ 
 
ส่วน 4 ลดผ่านกลไกกองทุนพัฒนาและกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี ได้แก่ 1.ลดสารพัดหนี้ ลดหนี้เสีย หนี้นอกระบบหนี้ครัวเรือน 2.ลดค่าครองชีพ 3.ลดการว่างงาน และ 4.ลดการนำเข้า”.



"รศ.นพ.นิธิพัฒน์"โพสต์เตือนติดเชื้อโควิด อาจแตะ 5 หมื่นรายต่อวัน!
https://siamrath.co.th/n/365114
 
เมื่อวันที่ 14 ก.ค.65 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กว่า 
 
เพิ่งสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงการรายงานยอดผู้ติดเชื้อ น่าจะเริ่มมาได้ไม่กี่วัน จากกรอบสีฟ้าที่มุมซ้ายล่างของรูปการรายงานวันนี้ จะเห็นยอดผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK แล้วรายงานเข้ามาในระบบ OPSI ตัวเลขที่แสดงเป็นยอดรวมของวันที่ 3 ถึง 9 ก.ค. ที่ผ่านมา เฉลี่ยวันละราวสองหมื่น แต่ช่วงนี้มีการปรับระบบสิทธิประโยชน์ของผู้รายงานเข้ามา ประมาณกันว่ายอดรายงานจะลดลงจากเดิมราวหนึ่งในสาม ดังนั้นยอดจริงน่าจะราวสามหมื่น และประมาณกันว่ายอดคนที่ตรวจแล้วไม่รายงานเข้าในระบบ ระยะนี้จะสูงขึ้นต้อนรับการเป็นโรคประจำถิ่น ยอดผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อรายวันจึงน่าจะแตะที่ระดับห้าหมื่น นับว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ช่วง 26 มิ.ย. ถึง 2 ก.ค. ต้องวัดใจกันว่า ตัวเลขของสัปดาห์ 12-16 ก.ค. ถัดไปนี้ จะทะยานขึ้นไปต่ออีกหรือไม่ ตอนนี้ยังใจชื้นหน่อย ที่ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงยังฝ่าแนวต้านที่ 800 ขึ้นไปไม่ได้
  
แต่ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะสงบหรือจะเบ่งบานเพียงใด ไอซียูโควิดที่บ้านริมน้ำเช่นเดียวกับของโรงพยาบาลใหญ่อีกหลายแห่ง ยังคงมีผู้ป่วยโควิดรุนแรงจนถึงวิกฤต หมุนเวียนกันเข้ามารับการดูแลรักษาต่อเนื่องกันมาเกือบสามปีแล้ว เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยเฉพาะกลุ่มพยาบาล ที่ต้องอยู่คอยดูแลให้การรักษากับผู้ป่วยเกือบตลอดเวลา พวกเขามีโอกาสได้พักผ่อนน้อยลงกว่าแต่ก่อนชัดเจน (ที่ยังครองความเป็นโสดก็ยิ่งหมดโอกาส ได้แต่นับวันรอคอยอยู่บนคานทองต่อไป) วันหยุดยาวบางคนวางแผนจะแลกเวรเพื่อไปพักกายหย่อนใจเหมือนอาชีพอื่นเขาบ้าง เพื่อนร่วมงานก็ดันมาป่วยจากโควิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานประจำ ทำให้แผนพังทลายเพราะต้องขึ้นเวรแทนเพื่อนที่ต้องถูกดึงตัวออกไปพักชั่วคราว โปรดช่วยกันควบคุมสถานการณ์โควิดอย่าให้บานปลาย ให้โอกาสพวกเขาได้เบาแรงกายแรงใจ สะสมพลังไว้ต่อกรกับโควิดต่อไปได้อีกยาวนานจนกว่าโรคจะสงบ
  
อย่างที่กล่าวมาในครั้งก่อนๆ ว่า ระลอกโอไมครอนนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รุนแรงจากโควิด การต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมักไม่ได้เป็นผลจากปอดอักเสบโควิดเหมือนสมัยเชื้อสายพันธุ์เดลตา แถมผู้ป่วยเองก็มีต้นทุนสุขภาพไม่ดีจากอายุที่มากและมีโรคร่วมรุนแรงอยู่เดิม การช่วยหายใจในผู้ป่วยระลอกนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นแบบไม่รุกล้ำ (non-invasive ventilation) คือ ต่อเครื่องช่วยหายใจเข้าสู่ผู้ป่วยผ่านทางอุปกรณ์ต่อเชื่อม ซึ่งมักนิยมใช้เป็นหน้ากากครอบที่ปากและจมูกดังในรูป ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุกข์ทรมานจากการใส่ท่อช่วยหายใจทางปากผ่านเข้าไปในหลอดลม และในผู้ป่วยที่รู้ตัวดีและแข็งแรงพอระดับหนึ่ง ยังสามารถหยุดใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นครั้งคราวได้ระหว่างทำกิจกรรมการพยาบาล อีกทั้งไม่ต้องใช้ยาระงับประสาทระหว่างใช้เครื่องช่วยหายใจหรือใช้แต่เพียงน้อย ทำให้สามารถสื่อสารกันได้กับบุคลากรที่เข้าไปในห้องผู้ป่วย จึงช่วยลดความแปลกแยกจากสิ่งแวดล้อมในไอซียูโควิดที่ไม่คุ้นเคยและดูน่าหวั่นใจ
หากไม่อยากเห็นการรอต่อคิวเข้าไอซียูโควิด มาช่วยกันหยุดยั้งการระบาดช่วงนี้ด้วยการหมั่นใส่หน้ากากและหมั่นรักษาระยะห่าง
 
หากไม่อยากเห็นพ่อแม่ญาติพี่น้องที่สูงวัยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โปรดใส่ใจนำท่านเข้ารับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นทั้งเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สองตามคำแนะนำ
พวกเราเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ จะยืนหยัดทำหน้าที่กันต่อไปจนกว่าโควิดจะซา เหมือนสาวกปิศาจแดงที่ยืนหยัด รอผู้จัดการทีมคนที่ใช่อย่าง ETH มาช่วยปลุกผี แม้การถล่มคู่แข่งตลอดกาลในเมืองไทยจะเป็นเพียงแมตช์ก่อนฤดูกาลก็ตามที #โควิดยังไม่หมดอย่ารีบปลดหน้ากาก
  
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02C5u6LE37YcUKJ4YxsRPVJDyGddDTndyhLingJ5F8Z2wu7n7igCsykVStnuTNpFPtl&id=100002870789106


 
“ประเสริฐ” เผย ยังไม่คุย “ธรรมนัส” ซบฝ่ายค้าน ลั่น พท.เตรียมขุนพลถล่มศึกซักฟอกเต็มอัตรา
https://www.matichon.co.th/politics/news_3453147

“ประเสริฐ” เผย ยังไม่คุย “ธรรมนัส” ซบฝ่ายค้าน ลั่น พท.เตรียมขุนพลถล่มศึกซักฟอกเต็มอัตรา โวข้อมูลเด็ดกว่าทุกครั้ง
 
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความพร้อมของฝ่ายค้านก่อนที่จะมีอภิปรายไม่ไว้วางใจสัปดาห์หน้าว่า เรามีความพร้อมในการอภิปราย ขุมกำลังเต็มอัตราศึก แบ่งงานแบ่งหน้าที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งทีมอภิปรายทีมตอบโต้ เรามีความคาดหวังว่าจะล้มรัฐบาลได้ ถ้าเสียงในสภาฯ แพ้ เราก็คาดว่าในการเลือกตั้งคราวต่อไป ประชาชนจะไม่สนับสนุนรัฐบาลชุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอย่างแน่นอน ซึ่งข้อมูลการอภิปรายครั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านมีข้อมูลเด็ดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยประเด็นหลักจะเป็นเรื่องการทุจริต และบริหารราชการแผ่นดินไร้ประสิทธิภาพทำประเทศเสียหาย อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีการประชุมกันอีกครั้ง เพื่อกำหนดลำดับตัวผู้อภิปราย และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ส่วนข้อมูลอภิปรายก็จบหมดทุกพรรคแล้ว
 
เมื่อถามว่า กรณีที่พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ตัดสินใจถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล และอยู่กับพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคพท.ในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้มีการพูดคุยกันแล้วหรือยัง นายประเสริฐ กล่าวว่า พรรคพท.ยังไม่ได้มีการพูดคุยเป็นทางการ และตนก็ยังไม่ได้พูดคุยกับร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรค ศท. แต่เข้าใจว่า ร.อ.ธรรมนัส อยากจะกำหนดบทบาทของเขาให้ชัดเจน แต่จะไปในทางไหน เขาก็ยังไม่ส่งสัญญาณใดๆ มา เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้เขาไม่โหวตให้รัฐบาลแน่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่