การเผาผลาญของแต่ละคนแตกต่างกัน จะดีขนาดไหน ถ้าในอนาคตบ้านหรืออาคารสำนักงาน ช่วยให้เราเผาผลาญได้มากขึ้น 😎


📚 งานนี้เป็นการศึกษาดูระดับการใช้พลังงาน (Energy Expenditure, EE) ในแต่ละคน ในสภาพแวดล้อมชีวิตประจำวันปกติที่แตกต่างกันออกไป 

📌 การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเพื่อทดลอง Protocol ต่างๆนำไปใช้หาแนวทางศึกษาต่อไปในอนาคตอีกทีนะครับ ดังนั้นพวกกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานนี้ก็จะไม่ได้มากหรือเป็นประเด็นสำคัญเท่าไหร่ (ทดลองกับคน 6 คนเท่านั้น ผู้ชาย 3 คน ผู้หญิง 1 คน ผู้หญิงทดลองช่วงก่อนไข่ตก) 

📝 เขาสร้างห้องทดลองควบคุมภูมิอากาศขนาด 25 ตารางเมตรขึ้นมา แล้วก็กำหนด Protocol สำหรับทดลองมา 3 แบบ 

1️⃣ ดูพลังงานที่ใช้ไปกับการอยู่ในท่าทางที่แตกต่างกัน ระหว่างการยืน กับการนั่ง อย่างละ 10 นาที ดูเทียบกับอุณหภูมิช่วงสมดุลย์ปกติๆ 

2️⃣ ดูพลังงานความร้อนที่สร้างขึ้นหลังจากทานอาหาร ก็เป็นอาหารทั่วๆไปครับ 528kcal โปรตีน 17% คาร์บ 47% และไขมัน 36% ดูว่าหลังจากทานไป 135 นาที ระหว่างอยู่ในอุณหภูมิปกติ กับที่ความเย็น 16 องศา มีความต่างกันยังไงบ้าง ในการทดลองไม่ได้มีการปรับปริมาณอาหารให้ตามน้ำหนักตัวนะครับ ทั้งนี้เพื่อดูผลเหมือนกับเวลาเราไปซื้อกินปกติเลย (เขาคงไม่รู้จักวัฒนธรรมคุณป้าข้าวแกงบ้านเรา ๕๕)

3️⃣ ดูอัตราการเผาผลาญพลังงาน ระหว่างการปั่นจักรยานวัดงาน 10W และ 40W อย่างละ 5 นาที

🔎 การวัดการใช้พลังงาน (EE) นั้นใช้ Indirect calorimeter เป็นยางซิลิโคนสวมหน้า แล้วก็วัด O2 และ CO2 เพื่อมาคำนวณการใช้พลังงาน ส่วนสัดส่วนมวลกายใช้ BIA รุ่น Inbody 720 มีการคำนวณพื้นที่ผิวกายโดยใช้สูตรของ DuBois แล้วก็มีการวัดอุณหภูมิ ด้วยเซ็นเซอร์ iButton แปะตามร่างกาย 24 จุด 
เมื่อมีการวัดอุณหภูมิภายนอกแล้วก็มีวัดภายในด้วย Core temperature เขาใช้ e-Celsis Performance Pill ให้กลืนลงไป แล้วคอยเก็บข้อมูลอุณหภูมิภายในร่างกาย 😲

😎 ทีนี้มาดูผลที่ได้นะครับ

📌 การทดลองแบบที่ 1 พลังงานเทียบระหว่างการยืนกับการนั่ง ในผู้ชายการยืนใช้พลังงานมากกว่าผู้หญิงแฮะ ในผู้หญิงบางคนการใช้พลังงานตอนยืนแทบไม่ต่างกับตอนนั่งเลย ซึ่งก็สอนคล้องกับงานอื่นที่เขาศึกษามา ว่ามีบางคนที่การใช้พลังงานตอนยืนกับตอนนั่งต่างกันน้อย และบางคนต่างกันเยอะ 🤔

📌 การทดลองแบบที่ 2 หลังจากทานข้าวไปแล้ว 135 นาที มีการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นหลังทานข้าว ซึ่งก็เพิ่มทุกคนแหละตามเรื่อง Thermic Effect of Food (TEF) ที่เคยเรียนกันมา แต่เมื่อเทียบระหว่างกินอุณหภูมิห้องปกติ กับกินในห้องที่เย็น 16 องศา TEF ที่เกิดขึ้นในแต่ละคนกลับไม่เท่ากัน 🤔

📌📌📌 ถ้าดูเทียบกับข้อมูบการทดลองที่ 1 ในผู้หญิง คนที่ยืนแล้วใช้พลังงานแทบไม่ต่างกับนั่ง ปรากฎว่ากินในห้องเย็นๆ TEF เพิ่มขึ้นเยอะกว่ามาก ส่วนคนที่ใช้พลังงานตอนยืนมากกว่า  ตอนกินข้าวอุณหภูมิปกติ TEF เพิ่มขึ้นเยอะกว่ามากสลับกันแฮะ

📌 การทดลองแบบที่ 3 ดูผลของการทำงานของร่างกายในระดับกิจกรรมเบาๆ ถ้าดูในแต่ละคนเนี่ยเวลาเพิ่มระดับกิจกรรมมันก็เพิ่มเป็นเส้นตรง (linear) อยู่นะครับ แต่ถ้าดูแยกแต่ละคน ใน W3 คนเดิมกับที่ยืนหรือนั่งใช้พลังงานแทบไม่ต่างกันนั้น การเผาผลาญน้อยสุดแฮะ ในทุกๆปริมาณงานที่ทำเท่าๆกันเลย 🤔



🔎 จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าการทดลองนี้เขาทำในคนที่แบบไม่ได้ควบคุมอะไรมาก ไม่ได้ให้รูปร่าง น้ำหนัก มวลกาย ภาวะสุขภาพ อะไรใกล้เคียงกันอะไรเลย เนื่องจากเขาอยากศึกษาให้ใกล้เคียงกับรูปแบบการใช้ชีวิตจริงๆ ที่มีความแตกต่างของคนค่อนข้างมาก ซึ่งผลที่ได้ก็ทำให้เราเห็นอัตราการเผาผลาญ ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างกว้าง ในกิจกรรมต่างๆ

😎 เขาได้อะไรจากสิ่งนี้ เขาไม่ได้ไปหาหรืออภิปรายนะครับ ว่าทำไมคนนั้นเผาผลาญมากกว่า คนนี้เผาผลาญน้อยกว่า เพราะนั่นเพราะนี่ แต่ศึกษาเพื่อให้เห็นว่ามันมีความแตกต่างกว้างมากจริงๆ 

📌 ในงานนี้ผู้วิจัยเขากล่าวถึงความเป็นไปได้ ที่จะพัฒนาบ้าน สำนักงาน หรืออาคารต่างๆ ให้มีความ... ผมใช้คำว่าอัจฉริยะมันจะเชยไปมั้ย 55 คือให้มันมีความ Personalize กับแต่ละคนมากขึ้น ยกตัวอย่างนะ จากข้อมูลในงานนี้ คนที่ทานอาหารแล้ว TEF เพิ่มมากขึ้นในห้องที่เย็น 16 องศา ก็อาจจะมีการปรับอุณหภูมิพื้นที่ที่เขานั่งกินข้าว ให้เย็นขึ้นตอนกินข้าว เพื่อเพิ่มการเผาผลาญก็ได้ 

⌚️ โดยใช้พวกเซ็นเซอร์จาก Smartwatch หรือพวก wareable รูปแบบอื่นๆ ทำงานร่วมกับอุปกรณ์ในตัวอาคาร อ่ะ อาจจะดูเวอร์ๆ แต่อนาคตก็อาจจะเป็นไปได้ (หรือไม่แน่ทุกวันนี้ก็อาจจะมีคนทำอยู่แล้วก็ได้ ๕๕) ซึ่งเขานำเสนอตัวอย่างแนวคิดไว้ในงานตามรูปนะครับ



🤔 เอ๊ะ แล้วอ่านมาถึงตรงนี้งานนี้เราเอาอะไรไปใช้ประโยชน์ได้เลยบ้างเนี่ย เอาจริงๆนะจากข้อมูลในงานนี้ ก็พอนำไปอะไรได้อยู่บ้างนะ อย่างที่เห็นชัดๆ ก็มีบางคนแล้ว ที่ถ้าทำกิจกรรมเบาๆ การเผาผลาญมันเพิ่มขึ้นน้อย ยืนหรือนั่งใช้พลังงานแทบไม่ต่างกัน 

📌 ถ้าผมเป็นคนที่ยืนแล้วเผาผลาญแทบไม่ต่างกับนั่ง ผมก็คงจะนั่งดีกว่า แล้วคนแบบนี้ต่อให้ active more ในลักษณะ  very low intensity ยืนแกว่งแขนวันละ 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง ก็อาจจะไม่ช่วยอะไร ถ้าจะทำอะไรให้พอจะหวังผลได้ ก็ต้องไปใส่กับกิจกรรมที่มัน medium to high intensity โน่น 😎

📝 พวกนี้เราไม่มีอุปกรณ์อะไรเหมือนในงานวิจัยก็จริง แต่มันก็ไม่ยากที่จะลองสังเกตจากฟีดแบคของเราเองในชีวิตประจำวัน ในกิจกรรมออกกำลังกายของเรา แล้วนำไปปรับดูนะครับ เห็นข้อมูลจากงานนี้ ก็คิดเอาไว้เลย ว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ตอบสนองต่อกิจกรรมต่างๆ ไม่เหมือนกัน เลิกไปเที่ยวถามวิธีคนนั้นคนนี้ แล้วหวังว่าเราทำแบบเดียวกันแล้วจะได้ผลแบบเดียวกัน 

📝 มาสนใจกับการประเมิน การบันทึก การดูฟีดแบค การวางแผนของตัวเราเอง เป็นแบบ Personalize ดีกว่า

ที่มาและแหล่งอ้างอิง
https://www.fatfighting.net/article-2022-06-30-interindividual-variability-of-human-thermoregulation/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่