อ่อนเพลียเรื้อรัง อาจทำร่างพังโดยไม่รู้ตัว

อ่อนเพลียเรื้อรัง อาจทำร่างพังโดยไม่รู้ตัว😔
          สวัสดีครับ อาการอ่อนเพลีย หากมองเผิน ๆ อาจดูว่าเป็นอาการเหนื่อยล้าหรือหมดแรงทั่ว ๆ ไป พักสักหน่อยก็คงหาย ไม่ได้ผิดปกติอะไร แต่เพื่อน ๆ ทราบมั้ยครับว่าคนบางกลุ่มมีอาการมากกว่านั้น ถึงแม้ว่าจะนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่หรือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว ก็ยังมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าเป็นอย่างมาก กลุ่มอาการเหล่านี้เรียกว่า กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังครับ
          Chronic Fatigue Syndrome (CFS) หรือ Myalgic encephalomyelitis (ME) หรือกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เป็นภาวะความเจ็บป่วยเรื้อรังที่ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย แสดงออกเป็นอาการต่าง ๆ ที่มีอาการตั้งแต่น้อยไปจนมาก แต่อาการที่พบได้บ่อยที่สุดคืออาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง ไม่ดีขึ้นจากการพัก ส่งผลให้ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำในชีวิตประจำวันได้เลยครับ
อ่อนเพลียเรื้อรัง เกิดจากอะไร😕
ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของกลุ่มอาการนี้ แต่ก็มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น
· การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางกลุ่มอาจกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการนี้ได้ 
· ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งอาจเกิดจากการตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือความเครียด เช่น อาจมีการสร้างสารตอบสนองต่อการติดเชื้อที่มากกว่าปกติเป็นระยะเวลานาน เซลล์ที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคทำงานลดลง เป็นต้น
· การขาดสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อต่าง ๆ  
· ความผิดปกติของการสร้างพลังงานในร่างกาย
· ปัญหาสุขภาพจิต 
· ปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น อายุ เพศ และกรรมพันธุ์ โดยจะพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 40 - 50 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายครับ
อ่อนเพลียทั่วไป หรืออ่อนเพลียเรื้อรัง🤔
          ผู้ป่วยที่มีภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังอาจดูปกติ แต่มีอาการหลักที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง คือ เหนื่อยล้าอย่างมาก จนทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน ไปโรงเรียน เข้าสังคม หรือแม้แต่ทำกิจวัตรประจำวันได้ เป็นเวลานานมากกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน รวมถึงอาการอ่อนเพลียนั้นไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิด ไม่ได้เกิดจากการทำงานเรื้อรังโดยไม่หยุดพัก ไม่ได้เกิดจากการออกแรงมากกว่าปกติ และไม่ดีขึ้นแม้จะได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
- อาการอ่อนเพลียหลังออกกำลัง (Post-exertional malaise) อาการจะแย่ลงหลังมีการออกกำลังทางกาย ใช้ความคิด หรือมีสถานการณ์บีบคั้นทางอารมณ์ โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นมาก่อน อาการอาจแย่ลง 12-48 ชั่วโมง หลังสัมผัสสิ่งที่อาจเป็นสิ่งกระตุ้นและอาจทำให้เหนื่อยได้นานเป็นวันหรือสัปดาห์
- อาการเหนื่อยเพลียหลังตื่นนอน (Unrefreshing sleep) ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยแม้ว่าจะนอนหลับอย่างเต็มอิ่ม
- นึกอะไรไม่ค่อยออก ความสามารถในการจดจำลดลง ขาดสมาธิ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ลำบาก รู้สึกสมองตื้อ
- มีปัญหาในการนอนหลับ คุณภาพการนอนหลับไม่ดี นอนหลับไม่สนิท
- เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มีอาการหน้ามืดหรือวิงเวียนหลังลุกขึ้นยืนหรือเปลี่ยนท่า
- เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือรักแร้บวม
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามตัว รู้สึกไร้เรี่ยวแรง
- ปวดข้อโดยไม่มีอาการบวมแดง
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ
- หายใจไม่อิ่ม
- ปัญหาด้านระบบขับถ่าย
- หนาวสั่น เหงื่อออกกลางคืน
- อาการแพ้หรือไวต่ออาหาร กลิ่น สารเคมี แสง หรือเสียงมากขึ้น

การรักษา🩺
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังโดยเฉพาะครับ การรักษาหลักจึงเป็นการควบคุมและบรรเทาอาการที่สามารถควบคุมได้ ดังนี้
✅ อาการอ่อนเพลียหลังออกกำลัง (Post-exertional malaise)
เน้นการรักษาโดยการปรับพฤติกรรม โดยใช้การจัดการกิจกรรม ที่เรียกว่า Pacing โดยผู้ป่วยต้องหาขอบเขตกิจกรรมที่ตนสามารถทำได้ทั้งด้านร่างกายและจิตใจโดยไม่ทำให้เหนื่อยเกินไปจนกระตุ้นให้เกิดอาการ พร้อมวางแผนกิจกรรมและเวลาพักระหว่างกิจกรรมที่เหมาะสม โดยในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีขอบเขตกิจกรรมที่ทำได้แตกต่างกันไป การจัดการกิจกรรมนี้ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนสามารถควบคุมภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังได้มากกว่าที่จะเป็นฝ่ายถูกจำกัดกิจกรรมจากตัวโรค นักกายภาพบำบัดหรือนักกิจกรรมบำบัดที่เข้าใจภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังสามารถเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ที่ช่วยในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยให้ผู้ป่วยใช้แรงให้น้อยที่สุดได้ เช่น การหาเก้าอี้นั่งระหว่างรีดผ้าหรืออาบน้ำ การแบ่งกิจกรรมต่างๆ ออกเป็นส่วนๆ เป็นต้น

✅ ความผิดปกติด้านการนอนหลับ
ผู้ที่มีภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังมักรู้สึกไม่สดชื่นหลังตื่นนอนเทียบกับก่อนป่วย นอกจากนั้น ยังอาจพบความผิดปกติด้านการนอนหลับอื่นๆ ได้ เช่น นอนหลับยาก นอนไม่หลับ ง่วงตลอดเวลา อาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือขยับผิดปกติระหว่างนอนหลับ การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับอาจมีประโยชน์ โดยแพทย์อาจพิจารณาสั่งยานอนหลับในผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรง และอาจวิเคราะห์หาสาเหตุอื่นของการไม่สดชื่นหลังตื่นนอน เช่น การมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะเหงาหลับ เป็นต้น

✅ ภาวะปวดต่างๆ
ผู้มีภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังมักมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามร่างกาย ปวดข้อ ปวดศีรษะ หรือผิวหนังมีความไวต่อการรับสัมผัสมากกว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคอื่นๆ ที่เป็นอันตราย ทั้งนี้ การใช้ยาแก้ปวดมักช่วยบรรเทาอาการปวดได้ รวมถึงแพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาความปวดทางเลือกอื่นๆ เช่น การพบนักกายภาพบำบัดเพื่อช่วยแนะนำเรื่องยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การนวด การใช้ความร้อนเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย หรือการฝังเข็ม

✅ ภาวะเครียด ซึมเศร้า กังวล
ผู้ป่วยที่มีภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังอาจเกิดภาวะทางจิตใจได้ เนื่องจากต้องอยู่กับความเจ็บป่วยและไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำหรือไม่สามารถเข้าสังคมได้ บางรายต้องพึ่งพิงญาติหรือผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขและให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการรักษาและผลข้างเคียงของยา ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษาภาวะทางจิตใจหลายชนิดอาจส่งผลข้างเคียงให้อาการของภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังแย่ลงได้

✅ อาการวิงเวียน หน้ามืด
โดยเฉพาะเมื่อลุกขึ้นยืนหรือเปลี่ยนท่าจากนอนเป็นนั่ง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดออกก่อนครับ 

✅ ปัญหาด้านสมาธิและความจำ
อาจลองใช้ปฏิทินและสมุดบันทึกเพื่อเป็นตัวช่วยในการจดจำหรือทำนัดต่างๆ ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสมาธิเป็นอย่างมากจนไม่สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ แพทย์อาจพิจารณาสั่งยาช่วย แต่การใช้ยาก็อาจมีผลข้างเคียงให้เกิดอาการของภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังอื่นๆ ได้ จึงไม่ควรซื้อยากินเองนะครับ

✅ การรักษาทั่วไปอื่น ๆ เช่น
-  การใช้ยาและวิตามินทางเลือก ในการรักษา ฟื้นฟู และปรับสมดุลร่างกาย
-  การออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางกายและความทนทานต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ หรือการยืดเหยียดกล้ามเนื้อพร้อมทั้งสังเกตตนเองว่ามีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียเกินไปหรือไม่ จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ควรฝืนออกกำลังกายอย่างหักโหมทันทีในครั้งแรก ๆ นะครับ
-  การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม โดยสามารถพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษาเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
-  การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ปรับพฤติกรรมการนอน รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พยายามไม่เครียดมากเกินไป 
ทั้งนี้ ผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย และแพทย์ผู้ทำการรักษาควรมีการพูดคุยและตัดสินใจร่วมกันว่าอาการใดที่รุนแรงและเป็นปัญหามากที่สุดและต้องการการรักษาโดยเร่งด่วนที่สุด โดยแพทย์จะให้คำแนะนำถึงแนวทางและผลข้างเคียงของการรักษา เช่น การรับประทานยา หรือทำกายภาพบำบัด เป็นต้น
 
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนพบแพทย์👩‍⚕
          เพื่อน ๆ ที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังสามารถเตรียมตัวก่อนไปพบคุณหมอเพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพได้ดังนี้ครับ
- เตรียมประวัติที่เกี่ยวข้อง เช่น อาการที่เป็น อาการดังกล่าวเริ่มเมื่อใด เป็นมากขึ้นเมื่อทำกิจกรรมใด อาการเหล่านั้นมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร อาการเหล่านั้นเกิดขึ้นบ่อยเพียงใด รู้สึกอย่างไรกับภาวะที่เป็น
- เตรียมยาและอาหารเสริมที่ใช้ประจำ เพื่อให้แพทย์พิจารณา
- ควรไปพบแพทย์พร้อมครอบครัว ผู้ดูแล หรือญาติ เพื่อช่วยให้ประวัติและตัดสินใจในแนวทางการรักษาร่วมกัน รวมถึงช่วยในการดูแลผู้ป่วยในบางขั้นตอนที่ผู้ป่วยอาจทำเองไม่ได้หรือไม่สะดวก

          แม้ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังจะยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนและยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะ แต่การปรับสมดุลร่างกายก็สามารถช่วยบรรเทาอาการและทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพโดยรวมดีขึ้นได้นะครับ ดังนั้นหากเพื่อน ๆ พบว่าเริ่มมีอาการอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่องหรือเป็นมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะอาการอ่อนเพลียที่พบโดยทั่วไปอาจเป็นสัญญาณหรืออาการของโรคอื่น ๆ ได้ครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่