ภาวะลองโควิด : ผลกระทบระยะยาวของการติดโควิด-19

ภาวะลองโควิด : ผลกระทบระยะยาวของการติดโควิด-19 
 
     แม้ว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็มีบางคนที่มีอาการต่อเนื่องยาวนานจากการติดเชื้อครั้งแรก 😷 ซึ่งบางกรณีก็อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ หรือในบางกรณีก็เป็นอาการเดิมที่กำเริบซ้ำขึ้นอีกภายหลัง ซึ่งภาวะหลังโควิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่เคยติดเชื้อโควิด ทั้งคนที่มีอาการไม่รุนแรงและคนที่ไม่มีอาการเลย 
     ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา เรียกอาการที่พบหลังติดเชื้อไปแล้ว 4 สัปดาห์ว่า ภาวะโพสต์โควิด (Post-COVID Conditions) หรือ ลองโควิด (Long COVID) โดยประกาศให้เป็นความทุพพลภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ภายใต้พระราชบัญญัติผู้ทุพพลภาพชาวอเมริกัน (ADA) ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 
     แล้วภาวะลองโควิดคืออะไร มีอาการอะไรบ้าง มีวิธีการรักษาและป้องกันหรือไม่ อย่างไร ไปทำความรู้จักกับภาวะนี้ กันเลยครับ 
 
ภาวะลองโควิดคืออะไร❓ 
     ภาวะลองโควิด คือ อาการที่เกิดขึ้นหลังหายจากโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะในระบบต่างๆของร่างกายและภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงสภาพจิตใจได้อย่างรุนแรงและยาวนาน โดยปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะนี้ 
     ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ มักพบว่ามีความผิดปกติทั้งทางร่างกายและระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระบบไหลเวียนโลหิต นอกจากนี้ ภาวะลองโควิดยังทำให้เกิดความเครียด ความสะเทือนใจ รวมถึงความผิดปกติทางอารมณ์อีกด้วย   
 
อาการของภาวะลองโควิด  
    📌 หายใจลำบาก หายใจถี่ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว 
    📌 อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และมักมีอาการแย่ลงหลังทำกิจกรรมต่างๆ 
    📌 มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ วิงเวียน 
    📌 ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดตามข้อหรือกล้ามเนื้อ 
    📌 นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาในการคิด ขาดสมาธิ 
    📌 ผื่นขึ้น การได้กลิ่นหรือการรับรสผิดเพี้ยน 
    📌 ประจำเดือนมาไม่ปกติ 
 
ผลข้างเคียงและผลกระทบจากการรักษาตัวของภาวะลองโควิดต่ออวัยวะ 
     การติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลข้างเคียงต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ รวมถึงภูมิต้านทานของผู้ป่วย โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง ซึ่งบางรายก็อาจมีอาการยาวนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังหายจากโรค ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทั้งหัวใจ 💗 ปอด ไต ผิวหนัง และสมอง 🧠 นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาโจมตีเซลล์ที่มีสุขภาพดี ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ ถ่ายเหลว ช็อก และไตวาย ซึ่งอาการเหล่านี้มักพบหลังหายจากโควิด-19 แล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์
     นอกจากนี้ การเจ็บป่วยหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในห้องไอซียู อาจเกิดภาวะหลัง ICU ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับการคิดและการตัดสินใจ รวมถึงภาวะเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง (PTSD) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยาและฟื้นฟู 
 
การรักษาภาวะลองโควิด 
     อาการที่เกิดจากผลกระทบหลังการรักษาตัวในโรงพยาบาลมีความคล้ายคลึงกับอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโดยตรง หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ดังนั้น หลังกลับจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองว่ายังมีอาการอื่นๆอีกหรือไม่ โดยควรปรึกษาแพทย์ 👨‍⚕️ เพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น
     ซึ่งคุณหมอก็อาจจะซักประวัติ และส่งตรวจร่างกายเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ เอกซเรย์ปอด เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คุณหมอก็อาจพิจารณาส่งต่อให้กับแพทย์เฉพาะทางต่อไป
 
การป้องกันภาวะลองโควิด 🛡️
     วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันภาวะลองโควิดได้ก็คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อของตัวเราเองแล้ว ยังช่วยปกป้องคนใกล้ชิดของเราอีกด้วย 
     สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากโรคโควิด-19 พี่หมอแนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปอดทำงานหนักจนเกินไป และควรให้ร่างกายค่อยๆ ฟื้นตัวและกลับสู่สภาพเดิม (พี่หมอเคยเขียนแนะนำวิธีฟื้นฟูปอดหลังรอดจากโควิดไว้แล้ว ลองอ่านเพิ่มเติมจากลิงค์นี้ได้นะครับ) 
     นอกจากนี้ เวลาที่ออกกำลังกายก็ควรสังเกตร่างกายของตัวเองด้วยว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น เหนื่อยเกินไป แน่นหน้าอก ใจสั่น เวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรหยุดออกกำลังกายทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป  หรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอย่างใกล้ชิดก่อนที่จะออกกำลังกาย 
     ที่สำคัญ ควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองเป็นประจำ ถ้ามีอาการผิดปกติก็ให้รีบไปพบแพทย์ และหลังหายป่วยจากโควิดแล้ว 1-2 เดือน ก็ควรไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียดอีกครั้งด้วยนะครับ 
 
     แม้ว่าโรคโควิดจะสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นซ้ำ แถมยังอาจเกิดภาวะลองโควิดได้ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโควิดด้วยการฉีดวัคซีน รวมถึงการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด โดยการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน การล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ชุมชน 
              
     ขอให้ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรงและปลอดภัยจากโควิดนะครับ ❤️😷
 
     การออกกำลังกายโดยการฝึกหายใจ (Breathing exercise) และการออกกำลังกายที่สามารถทำได้ด้วยตนเองเพียงไม่กี่ขั้นตอน จะช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อกระบังลมและปอด ส่งผลให้การทำงานของปอดดีขึ้นและยังช่วยขับเสมหะที่คั่งค้างอยู่ในปอดได้อีกด้วย คลิกชมวิดีโอ 
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่