JJNY : 4in1 “อุ๊งอิ๊ง”ชวนเลือกตั้ง│พท.อภิปรายงบฯแบบร้อยเรื่อง│เด็กจบใหม่ปีละ5แสนตกงานพุ่ง│รัสเซียเตรียมเสริมกำลังทางตต.

“อุ๊งอิ๊ง” ชวนเลือกตั้ง ส.ก. 22 พ.ค.นี้ หวังเพื่อไทยได้รับใช้คนกรุงเทพฯ
https://www.thairath.co.th/news/politic/2397342
 
 
“อุ๊งอิ๊ง” ชวนคนกรุงเทพฯ เลือกตั้ง ส.ก. 22 พ.ค.นี้ หวังพรรคเพื่อไทยได้กลับมารับใช้ พาประชาชนออกจากความทุกข์ยากอีกครั้ง
 
วันที่ 20 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ ความยาว 1.30 นาที ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย และประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ลูกสาวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเนื้อหามีการระบุว่า ช่วงที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ไปพบประชาชนทั้งในต่างจังหวัดและ กทม. ที่พูดถึงปัญหาเดียวกัน คือ ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ข้าวของแพงขึ้นเยอะ คนที่ทำมาค้าขายเมื่อต้นทุนแพงขึ้นก็ต้องขึ้นราคาของด้วย พอขึ้นราคาลูกค้าก็หายเพราะไม่มีกำลังซื้อ และเกือบ 9 ปี ที่เราต้องทุนอยู่ในสภาพภาวะแบบนี้

น.ส.แพทองธาร ระบุด้วยว่า พรรคเพื่อไทยขออาสา อยากนำพาพี่น้องออกจากความทุกข์ยาก ยากจน ในอดีตพรรคเพื่อไทยเคยทำให้เห็นแล้วว่าการทำให้พี่น้องกินดีอยู่ดี มีชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร พร้อมเชิญชวนประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในวันเดียวกับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) วันที่ 22 พ.ค. นี้ และหวังให้ ส.ก.พรรคเพื่อไทย ได้เข้ามารับใช้ประชาชนอีกครั้ง.


 
‘ประเสริฐ’ ชี้ พท.อภิปราย พ.ร.บ.งบฯแบบร้อยเรื่อง พาดพิงหลายกระทรวง
https://www.matichon.co.th/politics/news_3355144

“ประเสริฐ” ชี้ พท.อภิปราย พ.ร.บ.งบฯแบบร้อยเรื่อง พาดพิงหลายกระทรวง บอก “ประยุทธ์” รู้ว่าปชช.ไม่พอใจก็ต้องพิจารณาตัวเองไม่ใช่ปล่อยผ่าน
 
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมาและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดทีมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 66 ในส่วนของพรรคพท. ภายใต้ธีม “เจาะ จับ เจอ” ว่า ตอนนี้เราได้แบ่งทีมอภิปรายออกเป็นหมวดหมู่ โดยการอภิปรายครั้งนี้เราเปิดโอกาสให้ส.ส.ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ผู้อภิปรายหลักไม่รวมส.ส.ที่อภิปรายลงรายละเอียดจะมีอยู่ทั้งสิ้น 6-7 คน โดยมีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้อภิปรายในภาพรวม และจะมีนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคามและประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งจะมีส.ส.คอยลงรายละเอียดในแต่ละประเด็น ทั้งนี้ เราวางกรอบการอภิปรายเป็นก้อนเรื่อง ไม่ได้วางแบบจำแนกเป็นรายกระทรวง ซึ่งในเรื่องหนึ่งอาจจะกระทบกับหลายกระทรวง แต่เราจะมีการร้อยเรียงให้การอภิปรายต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วการอภิปรายแบบเจาะรายกระทรวงค่อยไปอภิปรายในวาระ 2
 
เมื่อถามถึงกระแสข่าวกรณีฝ่ายรัฐบาลมีการเสนอแลกแจกงบผ่านการโหวตผ่านพ.ร.บ.งบประมาณกับการยกมือไว้วางใจนายกฯและรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายประเสริฐ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลทำอย่างนั้นก็เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้บริหารงบประมาณภายใต้ประสิทธิภาพสูงสุด แต่บริหารเพื่อการสืบทอดอำนาจ และเพื่อประโยชน์ของตนเองให้ได้อยู่ต่อ ไม่ได้เอาประเทศเป็นหลัก
 
เมื่อถามถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุรู้ว่า ประชาชนไม่พอใจกับการแก้ปัญหาของรัฐบาล แต่ขอให้ประชาชนอดทนอีกสักนิด นายประเสริฐ กล่าวว่า นายกฯต้องฟังเสียงประชาชน เมื่อรู้ว่าประชาชนไม่พอใจอย่างนี้ นายกฯก็ต้องกลับเอาไปคิดว่า การทำงานต่อไปท่านจะกำหนดตัวเองอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่านไป และพล.อ.ประยุทธ์ควรพิจารณาตนเอง เมื่อเสียงสะท้อนของประชาชนออกมาแบบนี้
 

 
เด็กจบใหม่ปีละ 5 แสนตกงานพุ่ง หวั่นแผลเป็น ‘Skill Gap’
https://www.thansettakij.com/economy/525563

เศรษฐกิจไทยเริ่มโงหัว ไตรมาส 1/2565 โตเล็กน้อยได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยลบที่ยังรุมเร้า การจ้างงานเนริ่มกลับมา ทำให้อัตราการว่างงานเริ่มลด แต่กลุ่มเด็กจบใหม่ช่วง 2 ปีโควิด ที่ว่างงานเยอะ-เรื้อรัง น่าห่วงเกิดแผลเป็น Skill Gap จี้รัฐออกมาตรการเฉพาะรองรับ
 
ประเทศไทยกำลังเดินสู่การประกาศโควิด- 19 เป็นโรคประจำถิ่นโดยทะยอยคลายมาตรการเปิดพื้นที่ให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนเพิ่มเป็นลำดับ เศรษฐกิจไทยกลับมาค่อยขยายตัว โดยไตรมาส 1/2565 โตได้ 2.2% เพิ่มจาก 1.8% ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกันการจ้างงานที่เริ่มกลับมา ตัวเลขอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.53% ตํ่ากว่า 1.64% ในไตรมาสก่อนหน้า และตํ่ากว่า 1.96% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
 
แม้ในภาพรวมปัญหาการ ว่างงานเริ่มคลี่คลาย แต่มองย้อนช่วงเกือบ 3 ปีของการระบาดเชื้อโควิด-19 กำลังแรงงานที่ตกหล่มภัยพิบัติโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน กลายเป็นคนตกงาน ยืดเยื้อเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเสี่ยงมีแผลเป็นของ “ช่องว่างทักษะ-Skill Gap” ทำให้โอกาสจะมีงานทำได้ยากในระยะถัดไป
     
พิมพ์ชนก โฮว เกวลิน ศรีวิชยางกูร และ ภัทรียา นวลใจ จากสำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิจัยเรื่อง Youth Unemployment : ส่องตลาดแรงงานเด็กจบใหม่ยุค COVID-19 ระบุ การว่างงานของเด็กจบใหม่ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ก่อนแล้ว และถูกซํ้าเติม ด้วยการระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะเยาวชนว่างงาน (อายุ 14-26 ปี) ที่เพิ่มมากกว่าปกตินับแสนคน ทั้งที่มีศักยภาพจะเป็นแรงงานฝีมือในอนาคต        
 
ขณะที่ค่านิยมสังคมไทยมุ่งให้บุตรหลานเรียนระดับอุดมศึกษาและส่วนใหญ่เป็นสาขาสังคมศาสตร์ศิลปศาสตร์ ขณะที่ตลาดแรงงานต้องการกลุ่มอาชีพพื้นฐาน เช่น แม่บ้าน แรงงานทั่วไป ที่เน้นวุฒิตํ่ากว่าปริญญาตรี ตำแหน่งงานที่ต้องการเช่น โปรแกรมเมอร์ Data Scientist ก็หายาก เป็นสาขาที่มีคนจบน้อย
เด็กจบใหม่จำนวนมากปรับตัวไปทำอาชีพอิสระในภาคการค้าและบริการแทน ซึ่งพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 46,000 คน ในปี 2562 เป็น 56,000 คน ในปี 2564 ขณะที่นายจ้างก็หันไปลงทุนใช้ระบบออโตเมชั่นในการผลิตลงทุนระบบไอทีลดภาระงานเอกสาร ลดจ้างคนหรือให้ทำงานหลากหน้าที่มากขึ้น 
ทีมวิจัยชี้อีกว่า การว่างงานของเด็กจบใหม่นับเป็นปัญหาสำคัญและมีแนวโน้มจะเกิดผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดช่องวางทักษะการทำงาน (Skill Gap) หากคนกลุ่มนี้ว่างงานยาวนานเกิน 2-3 ปี จะยิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น ขณะที่มีเด็กจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานปีละ 400,000 - 500,000 คนทบเข้ามาทุกปี
 
การระบาดเชื้อโควิด-19 ยิ่งซํ้าเติม เด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่มมากขึ้น โดยพุ่งขึ้นแตะ 290,000 คน ในไตรมาส 2/2564 โดยเฉพาะกลุ่มที่จบระดับอุดมศึกษา แม้ปัจจุบันจะลดลงแต่ยังสูงกว่าอัตราเฉลี่ยก่อนเกิดโควิด-19 และเมื่อแยกตามอายุพบว่า กลุ่มเยาวชน (15-24 ปี) มีอัตราการว่างงานถึง 7.2% เทียบกับอัตราเฉลี่ยที่อยู่ที่ 1.6%
 
ทั้งนี้ สาขาที่ยังมีผู้ว่างงานสูงที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 คือ ภาคบริการและการค้า โดยเฉพาะในกทม. ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งเป็นสาขาที่เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่เลือกเรียนมา จึงยิ่งซํ้าเติมปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ ที่ทำให้มีแนวโน้มหางานได้ยากขึ้น
 
ในแง่พื้นที่การว่างงานของเด็กจบใหม่รุนแรงมากขึ้นทุกภูมิภาคโดยบัณฑิตจบใหม่ในภาคเหนือ อีสานและใต้ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานและว่างงานมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 80% 73% และ 67% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19
 
ข้อมูลการย้ายถิ่นของประชากรปี 2563 ยังพบด้วยว่า อัตราการย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาของประชากรวัย 15-24 ปี มีสัดส่วนสูงสุดในช่วงการระบาดโควิด-19 และคาดว่ายังไม่สามารถหางานทำได้จนถึงปัจจุบันทำให้ตลาดแรงงานภูมิภาคมีความเปราะบางมากขึ้น ขณะที่ในภาคกลางธุรกิจกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ไวกว่าภูมิภาคอื่นนั้น ทำให้เริ่มรองรับเด็กจบใหม่ให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งงานได้มากกว่าพื้นที่อื่น
 
ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการบรรเทาปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ ทั้งโครงการร่วมจ่ายที่อุดหนุนให้ธุรกิจจ้างงานแรงงานใหม่ โดยภาครัฐช่วยค่าจ้างให้ครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 1 ปี หรือหน่วยงานภาครัฐจัดโครงการพิเศษเพื่อจ้างงานชั่วคราว ทำให้ปัญหานี้ทุเลาลงได้บ้าง
 
ในระยะยาวการมียุทธศาสตร์ชัดเจน เช่น ไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม เขตพัฒนาพิเศษอีอีซี เป็นกรอบในการวางแผนกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานยิ่งขึ้น แต่สำหรับการว่างงานของเด็กจบใหม่ในช่วงโควิด-19 ที่มีจำนวนนับแสนคนที่ยังตกค้างอยู่นั้น เป็นปัญหาพิเศษที่หากทิ้งให้ยืดเยื้อ 2-3 ปี จะทำให้เกิดปัญหา Skill gap ทำให้แข่งขันในตลาดแรงงานได้ยากขึ้น
 
เป็นกลุ่มที่หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องต้องเร่งเข้าไปดูแลและฉุดให้พ้นหล่ม “ว่างงานยืดเยื้อ” ให้เป็นกำลังแรงงานที่จะสร้างผลิตภาพให้ระบบเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มศักยภาพ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่