การสื่อสารกับลูกวัยรุ่น "วัยรุ่น .... สื่อสารแบบไหน สบายใจทั้งบ้าน"



วรรณกรรมรีวิวโดย อาคุงกล่อง จะพาทุกท่านมาพูดคุยทำความรู้จักกับ คุณชาตรี เตชะปภา  ผู้เขียนหนังสือ Trusts Parenting “เชื่อลูกอย่างไรให้ลูกเชื่อเรา”   มาสอบถามปัญหาที่กวนใจพ่อแม่มาโดยตลอดคือ  การสื่อสารกับลูกที่อยู่ในวัยรุ่น  พ่อแม่ควรวางตัวและใช้วิธีแบบไหนดี?  ลองมาฟังผู้ที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก 3 คนที่โตมาเรียนหมอได้ทั้ง 3 คน  เรียนรู้จากคุณพ่อผู้ที่ศึกษาวิธีรับมือกับลูก ๆ มาโดยตรง 


คุยแทนพ่อแม่ : เชื่อลูกอย่างไรให้ลูกเชื่อเรา
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


ทำไมนักธุรกิจอย่างคุณชาตรี ถึงเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก?

1. แนะนำตัว

ผมชาตรี เตชะปภา กรรมการผู้จัดการบริษัท ประดิษฐ์กรณ์ อายุ 53 ปี มีลูก 3 คน

2. NLP คือศาสตร์เกี่ยวกับอะไร?  

NLP ถูกคิดค้นโดย Richard Bandler กับ John Grindler โดยเบื้องต้น Richard Bandler ไปจำลองความสามารถของนักจิตบำบัดที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นสามท่าน คือ Milton Ericson บิดาแห่งการสะกดจิตสมัยใหม่, Virginia Satir นักจิตวิทยาครอบครัว, และ Fritz Pearl ผู้คิดค้น Geltalt Therapy, โดยที่ Richard Bandler สังเกตวิธีที่นักจิตบำบัดทั้งสามท่านใช้กับคนไข้ แล้วสามารถนำมาประยุกต์เป็นความสามารถของตัวเองในการรักษาคนอื่นๆ เมื่อ John Grindler มาพบเข้า จึงได้เข้าไปถอดรหัสความคิดของ Richard Bandler ว่าทำได้อย่างไร ก็พบว่าทุกๆ ความสามารถของคน เราสามารถทำการถอดรหัส และ นำมาประยุกต์ใช้ได้ จึงเกิดศาสตร์ของ NLP ขึ้น สำหรับบางคนจึงบอกว่า NLP คือศาสตร์ที่สามารถทำให้คนๆ หนึ่งทำอะไรก็ได้ ที่อีกคนทำได้ สำหรับผม NLP คือศาสตร์แห่งการเข้าใจกระบวนการผลิตสภาวะจิต และสามารถเปลี่ยนแปลงสภาวะจิตเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการ 

ถ้าเราเห็นผังการทำงานของกระบวนการผลิตสภาวะจิตใน NLP เราจะรู้สึกคุ้นๆ เลยสิ่งนี้มันเหมือนกับที่ชาวพุทธรู้จักดีในรูปแบบของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งก็คือ ขันธ์ 5 แต่ด้วยเป็นการอธิบายแบบทางโลก ซึ่งทำให้เราเกิดความเข้าใจว่า การจะเปลี่ยนสภาวะจิต หรือ สภาวะอารมณ์ของเรา สามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะเราจะเห็นตัวแปรเยอะแยะ แต่ข้อดีคือ ยิ่งตัวแปรเยอะ หมายถึง เรามีวิธีในการเปลี่ยนแปลงสภาวะจิตของเราได้มากขึ้น ตามที่เราต้องการ

3. NLP ในสาย Tad James แตกต่างจากสายอื่นอย่างไร?

NLP ถูกแตกเป็นหลายสาย ตั้งแต่ระดับต้นกำเนิดเลย เพราะ Richard Bandler กับ John Grindler ได้แยกกัน และสร้างสายของตัวเองตามสิ่งที่ตัวเองถนัด ในส่วนของ Tad James สิ่งที่พิเศษกว่า NLP ทั่วไปคือ Tad James เป็นคนคิด Time Line Therapy ซึ่งคือวิธีการทำจิตบำบัดเพื่อคลายปมต่างๆ โดยให้ย้อนเวลาไปอดีต เพื่อแก้ไขประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้มาแบบผิดๆ รวมถึง ใช้ใจเราเดินทางไปในอนาคต เพื่อกำหนดเป้าหมาย และ สร้างตัวตนใหม่ในอนาคต

4. คุณชาตรีเป็นเจ้าของธุรกิจ/ ผู้บริหาร ทำไมถึงเลือกมาเขียนหนังสือแนวเลี้ยงลูก?    

ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องจิตตั้งแต่อายุ 18 โดยที่ตอนนั้นจะเป็นความสนใจเรื่องของศาสนาพุทธในแนวเซ็น และเมื่อผมได้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกา ผมได้เข้าหลักสูตร Dale Carnegie เพราะต้องการจะฝึกการพูดต่อหน้าชุมชน ซึ่งผมพบว่า หนังสือสามเล่มของ Dale Carnegie คือ How to win friend and influence people, How to stop worry and start living, และ Public Speaking เป็นหนังสือที่สอนวิธีง่ายๆ แต่ดีมาก ซึ่งมันคือหนังสือที่มีอายุเกือบ 100 ปีแล้ว แต่ยังสามารถใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผมเริ่มสนใจหนังสือในแนวจิตวิทยา จนไปพบหนังสือ Positive Thinking และ Positive Imaging ของ Norman Vincent Pearl ซึ่งเป็นหนังสือที่มีอายุ 70 ปี ยิ่งทำให้ผมรู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของจิตใจคน ทำให้ผมสนใจศึกษาศาสตร์ที่เกี่ยวกับจิตใจคนมากยิ่งขึ้น พอผมกลับมาเมืองไทย ผมก็สั่งซื้อหนังสือจากอเมซอน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี ebook ต้องยอมเสียค่าขนส่งที่แพงกว่าค่าหนังสือ ผมสั่งซื้อมาทีเป็นตั้งๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าขนส่งหลายรอบ จนผมได้พบกับหนังสือที่เกี่ยวกับ NLP และผมรู้สึกว่า นี่แหละคือคำตอบของผม ผมจึงเริ่มศึกษา NLP อย่างจริงจัง ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีอาจารย์ทางด้าน NLP อยู่ในประเทศไทย

จนกระทั่งมีอาจารย์ชาวไอร์แลนด์ท่านหนึ่ง ชื่อ อาจารย์ Sarah Harboubi มาเปิดหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญด้าน NLP  ผมจึงรีบสมัครเข้ารับการอบรม ซึ่งจริงๆ เนื้อหาวิชา ผมได้ศึกษามาหมดแล้ว แต่สิ่งที่ผมยังไม่เคยมีคือประสบการณ์การใช้ NLP จากนักบำบัดตัวจริง ซึ่งหลักสูตรนี้ทำให้ผมได้ทดลองเทคนิคต่างๆ และ เห็นการทำงานที่แท้จริงของ NLP อาจารย์ซาร่าเปิดหลักสูตรได้สองรุ่น ก็บินกลับประเทศ อาจารย์ท่านต่อมาคือ อาจารย์ Peter Kurt Gottwald ท่านเป็นอาจารย์ด้าน NLP ชาวเยอรมัน ซึ่งอยู่ในวัยเกษียณ แต่ท่านมีภรรยาเป็นคนไทย ท่านจึงอยากมาใช้ชีวิตวัยเกษียณที่ประเทศไทย และอยากสร้างชุมชน NLP ในประเทศไทย ท่านได้รายชื่อผู้เข้าอบรมจากอาจารย์ซาร่า และได้ติดต่อนักเรียนที่เรียนจบหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญด้าน NLP เพื่อมาทำ workshop ร่วมกัน นอกจากนั้น ท่านยังได้เปิดสอนหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญด้าน NLP ขั้นสูง เพื่อต่อยอดลูกศิษย์ของอาจารย์ซาร่า ซึ่งผมโชคดีได้เข้าหลักสูตรนี้ เพราะหลังจากท่านสอนหลักสูตรนี้ได้ไม่นาน ท่านก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ระหว่างที่ท่านมีชีวิต ท่านได้รวบรวมผู้ที่สนใจศาสตร์ของ NLP ให้มาพบกันทุกวันอังคาร ที่ Coffee Society ถนนสีลม เพื่อมาทำ workshop ที่เกี่ยวกับ NLP ซึ่งผมจะพยายามเข้าร่วมทุกครั้ง ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก อาจจะเพราะ workshop เป็นภาษาอังกฤษ มีอยู่ครั้งนึง เราได้ทำแบบฝึกหัดของเทคนิคที่เรียกว่า parts integration หรือการรวมภาค

ซึ่งทำเมื่อคนคนนึงมีความรู้สึกที่ขัดแย้งกัน เช่น ใจนึงมีความเชื่อมั่นในตัวเอง อีกใจนึงเกิดความไม่เชื่อมั่น วิธีก็คือเราต้องให้จิตใต้สำนึกเชิญตัวตนของทั้งสองความคิดนี้ออกมาคุยกัน  มีแหม่มคนนึง อายุประมาณ 70 เมื่อให้คุยกับตัวตนที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ปรากฏว่าเป็นเสียงของคุณแม่ของเค้า ที่คอยบอกเค้าว่า เธอไม่ดีพอ เธอไม่ควรจะได้รับสิ่งดีๆ เธอทำไม่ได้หรอก เธอไม่มีความสามารถ ในฐานะที่ผมเป็นพ่อแม่ ผมรู้สึกว่า ถ้าผมเป็นแม่ของแหม่มคนนี้ ผมคงรู้สึกผิดอย่างมาก ที่ได้สร้างตราบาปไว้ในจิตใจลูกขนาดนี้ และยิ่งผ่านประสบการณ์การทำ workshop ด้ายจิตวิทยาบ่อยครั้ง ผมพบว่า ปมปัญหาของคนส่วนใหญ่ ล้วนเกิดขึ้นในวัยเด็ก และคนที่ทำให้เกิดปม ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อแม่ ผมกลับมาสะท้อนใจว่า ผมจะไม่ยอมเป็นพ่อแม่ที่สร้างข้อจำกัดให้กับลูกๆ ของผม และเมื่อนึกถึงตัวเองตอนเด็กๆ ที่ผมสามารถเปลี่ยนตัวเองจากเด็กไม่ตั้งใจเรียน จนเป็นเด็กเรียนดี ทำให้ผมตระหนักว่า เด็กทุกคนมีศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัด และเค้าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ และ มีความสุขมาก หากพ่อแม่รู้จักวิธีที่ถูกต้องในการเลี้ยงลูก ยิ่งผมเห็นพ่อแม่คนอื่นๆ ที่รู้สึกมีปัญหาในการเลี้ยงลูก คุยกับลูกไม่เข้าใจ มีความยากลำบากในการดูแลลูกๆ ผมจึงคิดว่า จริงๆ การดูแลลูกมันไม่ได้ยากขนาดนั้น เพียงแค่เราเข้าใจหลักจิตวิทยาบางอย่าง ก็ทำให้เราสามารถดูแลลูกได้อย่างสนุกและมีความสุข ผมจึงพัฒนาหลักการ Trusts ขึ้น เพื่อให้พ่อแม่เลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพ และช่วยให้เด็กๆ มีพ่อแม่ที่เข้าใจ และ มีวัยเด็กที่มีความสุข เพื่อที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และทำให้สังคมของเรามีคุณภาพยิ่งขึ้น 


5. วันนี้จะมาคุยในประเด็นเกี่ยวกับการสื่อสาร ขอเน้นไปในช่วงวัยรุ่นสักนิดนึง เพราะพ่อแม่หลายท่านมักบอกว่ายิ่งโตยิ่งเลี้ยงยาก ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว?  เราดูจากอะไร อายุ หรือ พฤติกรรมเป็นตัวตั้ง?

ถ้าตามมาตรฐานฝรั่ง วัยรุ่นคือ Teenage เค้าก็จะนับตั้งแต่ 13-19 เพราะเป็นตัวเลขที่ลงท้ายด้วย Teen ถ้าเราจะนับง่ายๆ ก็สามารถนับจากชั้นเรียน เช่น วัยประถม วัยมัธยมต้น วัยมัธยมปลาย วัยมหาวิทยาลัย ดังนั้นถ้าเราพูดถึงวัยรุ่น เราอาจจะพูดถึงเด็กในระดับมัธยมต้นและ มัธยมปลาย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพ่อแม่ชาวเอเชีย เราดูแลลูกเราใกล้ชิดกว่าชาวตะวันตก บางครั้งเราจึงรวมนักศึกษาวัยมหาวิทยาลัยเป็นวัยรุ่นด้วย เนื่องจากยังอยู่ในการดูแลของพ่อแม่ ผู้ใหญ่หลายคนมีความรู้สึกว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่เลี้ยงยาก โดยเฉพาะวัยรุ่นในยุคนี้ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ไม่เคารพผู้ใหญ่ เอาแต่ใจตัวเอง ไม่มีมารยาท ไม่สู้งานหนัก ซึ่งผมจะได้ยินบ่อยครั้ง แต่ก็รู้สึกประหลาดใจ เมื่อได้อ่านข้อความจากนักปราชญ์ท่านหนึ่ง ซึ่งท่านบอกว่า “เด็กยุคนี้ รักความฟุ่มเฟือย ไม่มีมารยาท ชอบวางอำนาจ ไม่เคารพผู้ใหญ่ ทำเสียงเอะอะในสถานที่ต่างๆ บ้าอำนาจ ไม่ช่วยงานบ้าน ไม่ยืนให้ผู้ใหญ่เมื่อผู้ใหญ่เข้ามาในห้อง ต่อต้านพ่อแม่ ส่งเสียงเอะอะในที่สาธารณะ ตะกละตะกลาม นั่งไขว่ห้าง และไม่เคารพคุณครู” สิ่งที่ผมประหลาดใจไม่ใช่ข้อความที่นักปราชญ์ท่านนี้เขียน แต่ประหลาดใจเพราะนักปราชญ์ท่านนี้มีชื่อว่า โสกราตีส ซึ่งเป็นนักปรัชญาชาวกรีก ในยุค 400 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเท่ากับ 2400 ปีที่แล้ว ซึ่งความคิดเห็นของโสกราตีสทำให้เราได้เห็นว่า วัยรุ่นในทุกยุคทุกสมัย น่าจะมีลักษณะไม่ได้แตกต่างกัน ซึ่งถ้าเราจำตอนที่เราเป็นวัยรุ่นได้ ผู้ใหญ่ในรุ่นเราก็คงพูดที่วัยรุ่นแบบเราคล้ายๆ กัน

สำหรับผม การเลี้ยงลูกในช่วงวัยรุ่น ไม่ได้มีรู้สึกยากลำบากกว่าการเลี้ยงลูกในวัยเด็กเลย สาเหตุที่พ่อแม่หลายคนเริ่มรู้สึกว่า ลูกเป็นวัยรุ่นเลี้ยงยาก เพราะตอนเด็กๆ เราสามารถบังคับเค้าให้ทำอะไรก็ได้ เพราะเราตัวใหญ่กว่า เด็กต้องพึ่งเรามากกว่า ทำให้เด็กต้องเชื่อฟังคำสั่งเรา แต่เมื่อลูกตัวใหญ่ขึ้น มีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น ลูกก็มีแรงมากขึ้น สามารถพึ่งตัวเองมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเห็นแย้ง หรือ มีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น ซึ่งบังเอิญขัดกับพ่อแม่ เลยทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าเลี้ยงยาก ปัญหาในการเลี้ยงลูกวัยรุ่น  ไม่ใช่เพราะลูกเป็นวัยรุ่น แต่เป็นเพราะเราเลี้ยงลูกได้ไม่ถูกวิธีในวัยเด็ก ซึ่งที่จริงปัญหาอาจจะต้องแสดงในวัยเด็กแล้ว แต่เด็กมีพละกำลังในการแสดงออกถึงปัญหาได้น้อย เลยมาแสดงออกตอนช่วงวัยรุ่น เพราะฉะนั้นถ้าเราดูแลลูกได้ดีตั้งแต่วัยเด็ก พ่อแม่จะไม่รู้สึกเลยว่าลูกในวัยรุ่นเป็นปัญหายังไง


พาพันรักสัตว์พาพันขยันพาพันไฟท์ติ้ง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่