คำถาม อยากรู้ว่า อวดอุตริมนุสธรรม คืออะไร?

กระทู้คำถาม
ช่วงนี้ เราจะเห็นข่าวคราวเกี่ยวกับ พระภิกษุสงฆ์ มากมาย
บ่อยครั้ง จะได้ยินคำว่า
"อวดอุตริมนุสธรรม"

ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ คำว่า "มนุสธรรม" มันคือ ธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์
โดยมาก จะเป็นเรื่องของ 
มรรค ผล นิพพาน ฌาน อภิญญา ความเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน จนถึง เป็นพระอรหันต์

แต่ช่วงหลังๆ จะเห็นการกระทำ หรือพฤติกรรมบางอย่าง
โดนเหมารวมว่า นี่คือ "อวดอุตริมนุสธรรม"
เช่น การอ้างว่าตนเป็นผู้วิเศษ, เป็นเจ้าจักรวาล, อ้างว่าตนเหาะเหินเดินอากาศได้, ดำดินได้, หายตัวได้, อ่านใจคนได้, หยั่งรู้ได้ว่าคนนั้นคนนี้ตายไปแล้วไปไหน เป็นอะไร อยู่ที่ไหน, อ้างว่าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้ และอื่นๆ ฯลฯ
เลยมีความสงสัยว่า
"อวดอุตริมนุสธรรม" จริงๆ แล้วหมายถึงอะไรกันแน่?

----------

ค้นใน Google พบหนังสือของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
เรื่อง "กรณีอวดอุตริมนุสธรรมและคำว่าอนุปสัมบัน"
https://www.watnyanaves.net/th/book-reading/322/9

อุตริมนุสธรรม แปลว่า ธรรมที่ยิ่งกว่ามนุษย์สามัญ หรือแปลกันง่ายๆ ว่าคุณวิเศษ ได้แก่ ธรรมที่เป็นจุดหมาย เป็นอุดมคติในพระพุทธศาสนา เช่น มรรค ผล นิพพาน ฌาน อภิญญา ความเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน จนถึง เป็นพระอรหันต์ ซึ่งผู้ได้บรรลุแล้วจะรู้เฉพาะตน หรือผู้ที่บรรลุแล้วด้วยกันจึงจะเข้าใจกันได้ เรียกได้ว่าเป็นของสูงและสูงสุด แต่ก็เสี่ยงต่อการหลอกลวงกัน เพราะมีคุณค่าสูงเลิศ แต่ชาวบ้านไม่อาจพิสูจน์ได้ ท่านจึงให้ปฏิบัติต่อเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง

มีพุทธบัญญัติ ในพระวินัย อยู่ ๒ ข้อ ซึ่งห้ามภิกษุอวด/บอกอุตริมนุสธรรม คือ

ข้อแรก ห้ามอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงในตน ข้อนี้ถ้าละเมิดเป็นความผิด (อาบัติ) ร้ายแรงที่สุด ถึงขาดจากความเป็นพระภิกษุ เรียกว่าเป็นปาราชิก ดังพุทธบัญญัติซึ่งแปลเอาความได้ว่า

ภิกษุใด ไม่รู้ไม่เห็นจริง อวดอุตริมนุสธรรมว่ามีในตน...ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หมดสิทธิอยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย (วินย.๑/๒๓๒/๑๗๒)

ข้อหลัง ห้ามบอกอุตริมนุสธรรมที่ตนมีจริง แก่อนุปสัมบัน ข้อนี้ถ้าละเมิดเป็นความผิด (อาบัติ) ที่เบาลงมา เรียกว่า ปาจิตตีย์ ดังพุทธพจน์ ซึ่งแปลได้ความว่า
ภิกษุใดบอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน ถ้ามีจริง เป็นปาจิตตีย์ (วินย.๒/๓๐๖/๒๑๑)

คำว่า อนุปสัมบันตรงข้ามกับ อุปสัมบัน ซึ่งแปลว่า ผู้อุปสมบทแล้ว ได้แก่ ภิกษุและภิกษุณี ภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมแก่อุปสัมบันคือภิกษุและภิกษุณีได้ แต่บอกแก่อนุปสัมบัน เช่น ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้ ย่อมเป็นความผิด
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 6
จริง ๆ พระวินัยมีลักษณะให้ตรวจสอบตัวเองครับ ไม่ใช่ให้คนอื่นมาตรวจสอบ เหมือนเราอยากจะฝึกตน ก็ต้องปฏิบัติตามพระวินัยเป็นหลักเพื่อประโยชน์สูงสุด ในช่วงแรกที่พระวินัยยังบริสุทธิ์อยู่ เมื่อมีการสอบสวน พระภิกษุผู้กระทำผิดก็จะยอมรับด้วยตัวเองตามกฎเกณฑ์ของพระวินัยและปรับปรุงแก้ไขตัวเอง แม้กระทั่งปาราชิกก็ยอมรับโดยดีและประคองตนให้อยู่ในศีลธรรมในเพศฆราวาสแทน

แต่พอเริ่มมีผู้ที่ปกปิดอาบัติของตน ไม่ยอมรับ จนกระทั่งต้องให้ผู้มีฤทธิ์ตรวจสอบผู้อาบัติแล้วพาออกไปนอกที่ประชุมสงฆ์ ตั้งแต่นั้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงให้คณะสงฆ์ปกครองกันเอง เพราะความไม่บริสุทธิ์เกิดขึ้นแล้ว

และแม้จะมีการสอบสวนพระวินัยกันมากขึ้น แต่การใช้พระวินัยเพื่อสำรวจตนอย่างตรงไปตรงมาซื่อสัตย์ต่อตนเอง ก็ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดครับ ฉะนั้น ก่อนที่จะถึงมือผู้ตรวจสอบ ควรตรวจสอบตนเองก่อน รวมทั้งการไม่พยายามปกปิดอาบัติ เพื่อประโยชน์สูงสุดในเพศบรรพชิต ส่วนการที่ต้องมาคอยหาผู้ปกปิดอาบัติ เป็นเรื่องที่หยาบแล้วครับ และเราไม่มีทางตรวจสอบได้หมดหรอก แต่ผู้ปกปิดอาบัติย่อมเสื่อมจากคุณของตนไปแล้วโดยที่ไม่มีใครมาลงโทษ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่