JJNY : หวั่นเงินออมหมด│‘แม่ค้าจตุจักร’ร้องเพื่อไทย│ชี้โควิดยังไม่ถึงเวลาเป็น"โรคประจำถิ่น"│ทอล์กโชว์รัสเซียวิจารณ์กองทัพ

หวั่นเงินออมหมดก่อนแก่ ดาหน้าต้าน ครม.แก้กฎหมายเงินชราภาพ
https://www.thairath.co.th/business/economics/2390315
 
 
ทีดีอาร์ไอ สภาพัฒน์ กฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รุมค้านแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ให้นำเงินสะสมกรณีชราภาพออกมาใช้ ชี้ผิดหลักการประกันสังคม เสี่ยงเงินออมตอนสูงอายุลดลง และส่งผลกระทบต่อเงินกองกลางและผู้ประกันตนรายอื่นๆในอนาคต ทั้งเร่งให้เงินกองทุนหมดเร็วขึ้น กระทบให้รัฐบาลต้องนำเงินมาสนับสนุน และผู้ประกันตนอาจต้องส่งเงินสมทบสูงขึ้น
 
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่... (พ.ศ.) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพออกใช้ก่อนที่จะมีอายุ 55 ปี หรือนำไปใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ ว่า หากเอาเงินออมเพื่อเกษียณอายุมาใช้ก่อน ในระยะสั้นอาจมีประโยชน์เพราะว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนสูง เงินเฟ้อสูง แต่มีความเสี่ยงคือ ท้ายที่สุดเงินออมตอนสูงอายุก็จะหายไป หรืออาจนำเงินชราภาพมาใช้ค้ำประกันแล้วถูกยึดไป ขณะที่ผลทางอ้อม จะทำให้คนปรับตัวน้อยลง ไม่ลดรายจ่ายฟุ้งเฟ้อจากการเล่นพนัน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และถ้าเกิดเจอวิกฤติในอนาคตอีกก็ไม่มีเงินออมมาช่วยแล้ว จึงไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะเอาเงินก้อนนี้มาใช้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แม้ ครม.จะเห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่เนื่องจากเป็นการแก้ไขกฎหมายจึงต้องส่งร่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้ และนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ขณะเดียวกันมีข้อสังเกตของหน่วยราชการที่ส่งความเห็นเข้าที่ประชุม ครม.ที่แสดงความเป็นห่วงกรณีนี้
 
โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า หลักการของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่แก้ไขระบบบำนาญชราภาพอาจไม่สอดคล้องกับหลักการประกันสังคม ที่มุ่งลดความเสี่ยงในกรณีที่ผู้ประกันตนจะมีชีวิตยืนยาว กว่าเงินที่เก็บออมไว้ เงินกองทุนชราภาพนั้นเป็นเงินกองกลาง ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) บริหารจัดการไว้ทยอยจ่ายให้กับผู้ประกันตนเมื่อเกษียณอายุเป็นรายเดือน ตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต การดึงเงินจากกองทุนชราภาพ นอกจาก ทำให้หลักประกันทางรายได้ยามชราภาพของผู้ประกันตนที่เลือกใช้สิทธิลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเงินกองกลางและผู้ประกันตนรายอื่นๆในอนาคตอีกด้วย อีกทั้งอาจเป็นปัจจัยเร่งให้เงินกองทุนหมดเร็วขึ้น ส่งผลกระทบให้รัฐบาลต้องนำเงินมาสนับสนุนกรณีกองทุนไม่เพียงพอ
เช่นเดียวกับสำนักงาน ก.พ.เห็นว่า ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางรายได้ยามชราภาพของผู้ประกันตน เนื่องจากรายได้หลังเกษียณของผู้ประกันตนลดลงจนอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในอนาคต และมีความเสี่ยงที่จะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐในท้ายที่สุด
 
ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความเห็นว่า ควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงหลักประกันชราภาพในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อความมั่นคงของรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เนื่องจากการเปิดทางเลือกให้สามารถเลือกรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ ในกรณีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน อาจส่งผลให้ผู้ประกันตนขาดความมั่นคงทางรายได้ยามชรา กระทบต่อภาระการคลังของรัฐบาลในระยะยาว และควรมีการกำหนดทางเลือกเชิงนโยบายอื่น เช่น การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ นำไปลงทุนทำงานอื่นๆในช่วงที่ประสบเหตุวิกฤติ โดยไม่เสียดอกเบี้ย
 
ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า การแก้ไขดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกันมีหลักประกันรายได้เมื่อเกษียณลดลง สมควรต้องมีมาตรการรองรับในระยะยาวไว้ให้ชัดเจน และควรมีแนวทางในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบประกันสังคมที่ชัดเจนด้วย ขณะที่สำนักงบประมาณ ตั้งข้อสังเกตว่า ควรกำหนดเป็นบทเฉพาะกาล ให้ดำเนินการในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงวิกฤติ.
 

 
‘แม่ค้าจตุจักร’ กลุ้ม! หมูสามชั้น น้ำมันปาล์มพาเหรดขึ้นราคา ร้องผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทย
https://www.matichon.co.th/bkkpataya/bkkcouncil/news_3339245

‘แม่ค้าจตุจักร’ กลุ้ม! หมูสามชั้น น้ำมันปาล์มพาเหรดขึ้นราคา ร้องผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทย พร้อมสนับสนุนนโยบาย ‘ธนาคารประชาชน’ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ช่วยหมุนเวียนเงินสดให้อยู่รอด
 
พรรคเพื่อไทย นำโดย นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ส.ก. นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคและกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ส.ก. นายเอกพร รักความสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย นางสาวขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย นายลพชัย ธาราทิศ ผู้สมัคร ส.ก.เขตจตุจักร เบอร์ 2 ร่วมกันลงพื้นที่ตลาดประชานิเวศน์ เพื่อรับฟังปัญหาจากพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนในพื้นที่และแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงแต่รายได้และค่าแรงยังคงตกต่ำ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้นำเสนอแนวทาง “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระจายความมั่งคั่งให้แก่คนกรุงเทพฯ อย่างถ้วนหน้า” เพื่อแก้ปัญหาด้วย 5 นโยบายหลัก คือ กองทุนพัฒนาชุมชน 200,000 บาทต่อปี, 50 เขต 50 โรงพยาบาล, 30 บาทถึงที่หมาย, 437 สถานศึกษาพัฒนาสร้างรายได้ และ 50 เขต 50 ซอฟต์เพาเวอร์ เพื่อนำไปสู่การคืนความมั่นคั่งให้คนกรุงเทพฯ
  
พ่อค้าแม่ค้าในตลาดประชานิเวศน์ กล่าวว่า สินค้าในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันปาล์มต้นทุนมาแล้วขวดละ 70 บาท เนื้อหมูแดงหมูสามชั้นราคากิโลกรัมละ 240 บาท ทำให้ร้านหมูทอดต้องปรับราคาขายจากขีดละ 35 บาทหรือ 3 ขีด 100 บาท ปรับราคาเป็นขีดละ 45 บาท ส่งผลกระทบให้ขายยากมากขึ้น ลูกค้าไม่ซื้อเพราะราคาแพง แล้วเจ้าของแผงหมูยังบอกว่าเดี๋ยววันพระหน้า จะขึ้นราคาอีก แต่ไม่รู้จะขึ้นเท่าไร การค้าขายโดยรวมเงียบเหงาลงไปเพราะของแพงมากขึ้น
  
นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม กล่าวว่า เท่าที่รับฟังความเห็นของแม่ค้าพบว่า ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นแต่พ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถขึ้นราคาได้ เพราะลูกค้าเราก็ลำบากอยู่เหมือนกัน ร้านขายของชำบอกราคาน้ำมันขึ้นมาแล้วหีบละ 820 บาท ต้นทุนขวดละเกือบ 70 บาท แล้วเขาก็ถามว่าจะขายยังไง บางร้านจำใจต้องขึ้นราคา แต่ไม่ปรับลดปริมาณอาหารลง ร้านค้าก็ต้องแบกต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่พรรคเพื่อไทยห่วงใย พรรคเพื่อไทย พบว่าประชาชนกำลังประสบปัญหาเรื่องสินค้าราคาแพง พ่อค้าแม่ค้าก็ประสบปัญหาต้นทุนสินค้าสูงขึ้น พ่อค้าแม่ค้าต้องกู้เงินมาหมุนในร้าน พรรคเพื่อไทยจึงเสนอโครงการธนาคารประชาชน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ใช้บุคคลค้ำประกันที่มีเงินเดือนชัดเจน ไม่ต้องใช้ทรัพย์สินค้ำเหมือนที่เคยทำสำเร็จสมัยพรรคไทยรักไทย เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถเลี้ยงครอบครัวและกิจการต่อไปได้
  
นายเอกพร รักความสุข กล่าวว่า วันนี้คำว่า ของแพง หรือแพงทั้งแผ่นดินมันไม่ใช่วาทกรรมนะ ไม่ใช่ความรู้สึกนะ แต่เป็นความจริงจากปากพ่อค้าประชาชนที่ดังมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่พ่อค้าแม่ค้าหลายคนเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด เขาทำมาหากินเพื่อหวังให้ลืมตาอ้าปากได้ แต่พอเจอต้นทุนสินค้าราคาแพง ก็ทำให้เขาอยู่ลำบาก ค้าขายลำบาก รัฐควรรีบแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพงอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตข้าวยากหมากแพง
  
ด้านนายลพชัย ธาราทิศ ผู้สมัคร ส.ก.เขตจตุจักร เบอร์ 2 กล่าวว่า วันนี้เรารับฟังความทุกข์ร้อนของพี่น้องที่ตลาดประชานิเวศน์ พี่น้องพูดข้อเท็จจริงเล่าถึงความยากลำบากในการค้าขายวันนี้ และฝากให้พรรคเพื่อไทยนำไปคิดนโยบายหาทางออกให้พ่อค้าแม่ค้า เพราะหัวใจของพรรคเพื่อไทยเห็นประชาชนคือศูนย์กลาง ความทุกข์ของพี่น้องเราแปรเปลี่ยนให้เป็นกำลังใจมุ่งหน้าทำงานอย่างหนักรับใช้ชาวจตุจักร ครับ



ผู้เชี่ยวชาญชี้โควิด-19ยังไม่ถึงเวลาเป็น "โรคประจำถิ่น"
https://www.nationtv.tv/news/378872738

คณะผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขของสหรัฐฯ ชี้ว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) ยังไม่เป็นโรคประจำถิ่น (endemic) ขณะยอดผู้ป่วยใหม่อาจพุ่งสูงแต่ไม่เลวร้ายเท่าช่วงฤดูร้อน 2 ครั้งก่อนหน้านี้ หรือช่วงเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน ระบาดหนัก

คณะผู้เชี่ยวชาญมีทฤษฎีเกี่ยวกับแนวโน้มการระบาดของเชื้อไวรัสฯ ในช่วงฤดูร้อนนี้ โดยสถานการณ์เลวร้ายที่สุดคือการอุบัติของเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ ที่ร้ายแรงจนวัคซีนและภูมิคุ้มกันหลังติดเชื้อมิอาจต้านทาน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ การเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตระลอกใหญ่
 
ดร. เครี อัลธอฟฟ์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ระบุว่าการพุ่งขึ้นของยอดผู้ป่วยในช่วงฤดูร้อน มีแนวโน้มขึ้นอยู่กับการอุบัติของเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ ซึ่งมักแพร่เชื้อได้ไวในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
 
ส่วนสถานการณ์ดีที่สุดคือระดับการระบาดต่ำอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการอุบัติของเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ใหม่ๆ
 
ปัจจุบันยังมิอาจนิยามโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยโรคโควิด-19 อาจมีลักษณะเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่สร้างหนึ่งหรือสองสัปดาห์แห่งความยากลำบาก แต่มีความเสี่ยงป่วยหนักหรือเสียชีวิตระดับต่ำ
 
อัลธอฟฟ์เสริมว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ต้องกำหนดระดับการระบาดที่ยอมรับได้ เพื่อการระบุให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นในเวลานี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่