แชร์ประสบการณ์อาการซึมเศร้าของตัวเอง พาร์ทหนึ่ง จุดเริ่มต้น วันที่รู้ตัวเอง อาการเป็นอย่างไร

เราเคยเขียนกระทู้ในเรื่องของการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังมาก่อน https://ppantip.com/topic/38381956 ตอนนั้นคิดว่าตัวเองก็ผ่านมาได้ด้วยความลำบาก เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ปวดหลังมากๆจนต้องกินยาตลอดเวลา หรือปวดจนร้องไห้ แต่ก็ยังต้องทนทำงาน หรือกระทั่งหลังผ่าเสร็จแล้ว แต่ที่บ้านมองว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย มีความสิ้นหวัง ความรู้สึกทิ้งดิ่งของตัวเองอยู่เรื่อยๆนับตั้งแต่เหตุการณ์นั้น แต่ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมารีวิวโรคภัยของตัวเองอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นการรักษาระยะยาวมากๆที่ตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะไปสิ้นสุดตอนไหน เพราะมันคือ "โรคซึมเศร้า" นั่นเองค่ะ

ใครๆก็บอกว่า โรคซึมเศร้า หายได้ เราก็ได้แต่หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น ตอนนี้ผ่านมา 5 เดือนแล้ว มีอุปสรรคนานับประการเกิดขึ้น เลยจะขอเล่าให้ฟัง ไว้เป็นอุทธาหรณ์สำหรับใครก็ตามที่มีคนใกล้ตัวเป็นโรคนี้ อยากให้คุณลองเปิดใจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคๆนี้ มันไม่ใช่โรคดัดจริต โรคไร้ความอดทน แต่มีคืออาการทางจิตประเภทหนึ่งที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นในหลายๆคน (รวมถึงตัวเราเอง) เนื่องด้วยภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่เป็นแรงกระตุ้นทางลบ ส่วนใครที่เป็นอยู่แล้วมาอ่านเจอกระทู้นี้ เราอยากจับมือแล้วอยากให้ผ่านมันไปด้วยกันนะคะ  

???  รู้ได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นซึมเศร้า หรือวันที่ตัดสินใจว่าตัวเองจะไปหานักจิตวิทยา และ จิตแพทย์ ???
เป็นคำถามที่หลายๆคนถามเราเพราะอยากรู้คำตอบ เผื่อจะ monitor คนทางบ้านได้ เรายินดีจะแชร์มากๆ จากตอนต้นที่เราเล่าเรื่องความสิ้นหวังหลังการผ่าตัด มันเหมือนเป็นสัญญาณแรกๆสำหรับเรา ที่มีคำว่า "เราไม่มีคุณค่า" "ไม่อยากอยู่ให้เป็นภาระใคร" ใครจะไปคิดว่า ในวันที่เราเคยเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา สอบชิงทุน มีงานที่ดี ทำงานไปเรียนไป ไม่เคยลำบากที่บ้าน ต้องกลับมาให้คุณแม่ดูแล หยุดทุกอย่าง งานชะงัก เป็นหลักหลายเดือน รวมกับความทรมาณในการทนความเจ็บปวดตอนนั้นก็เรื้อรังจิตใจ ทนไปได้ยังไงหมอนรองแตกแล้วอยู่ได้เป็นเดือน เพราะไม่อยากลำบากใคร สุดท้ายก็ต้องพึ่งที่บ้าน

สัญญาณต่อมา หลังจากรักษาตัว กลับไปใช้ชีวิต ชีวิตก็เหมือนจะดีขึ้น ทำงาน เริ่มสมัครงาน เตรียมสอบจบ แต่อยู่ดีๆก็ชะงักอีกครั้งเพราะคำว่า "โควิด" ค่ะ และความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เกิดขึ้นตอนนั้น ก็ทำให้เราเริ่มมีภาวะ "อารมณ์อยู่เหนือจิตใจ" "ควบคุมตนเองไม่ได้" "โกรธเหมือนคนบ้า" "เกลียดทุกคนรอบตัวเองที่มีชีวิตที่ดี" ความคิดลบจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งจากความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าค่ะ ความพยายามที่พยายามเท่าไหร่ก็ไม่ตอบสนอง สู้ชีวิต แต่ชีวิตดันสู้กลับ (หลายๆคนคงเจอคำนี้) หรือความไม่แน่ไม่นอนในชีวิต เราสังเกตตัวเองมากขึ้นว่า ความสามารถในการปรับตัวจากความไม่แน่นอน (Resilience) ลดลงอย่างเห็นได้ชัด พร้อมที่จะทำร้ายตัวเอง ตบตีตัวเอง จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แม้ว่าความผิดพลาดนั้นจะไม่ใช่เราที่เป็นต้นเหตุ แต่เราก็จะโทษตัวเองก่อนอยู่เสมอ 

หลังจากนั้นเราถึงตัดสินใจค้นหานักจิตวิทยาค่ะ เพราะเรารู้สึกว่า ความคิดที่เกิดขึ้นมามันเกินความเป็นตัวเองไปมาก มันคือความคิดในร่างใหม่ เราเรียกมันว่าร่างปีศาจ ร่างปีศาจนี้จะปรากฎตัวทุกครั้งเวลาเกิดความผิดพลาดขึ้น มันจะพูดกับเราว่า "แกมันห่วย" "ไม่ได้เรื่อง" "อย่าอยู่เลย" "ตายไปเถอะ" หลอนตัวเองมากค่ะ เราเริ่มคุยกับตัวเอง ถกเถียงกับตัวเอง ไอ้ความเป็นเราคนเก่าที่เป็นคนมีความพยายาม อดทน ปรับตัวเก่ง เข้าสังคัมเก่ง มันถูกเจ้าปีศาจบดบังแล้วพยายามบอกให้เราอย่าออกไปเจอใคร เก็บตัว และไม่คุยกับใคร ความสามารถในการทำงานเราก็ลดลงค่ะ สมาธิหายไป (จนถึงทุกวันนี้ก็ยังต้องฝึกตัวเองใหม่อยู่) ก็เข้าหาคนอื่นทำได้ยากขึ้น กลัวความผิดหวังจนไม่กล้าทำอะไรอีกต่อไป  หลังจากนั้นเราหาที่นักจิตวิทยาพูดคุยอยู่หลายคน จนมาจบที่นักจิตท่านนึง (เราไม่จำเป็นต้องหาคนเดียวนะคะ ถ้าคุยกับคนแรกแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เปลี่ยนคนได้เลย หาจนกว่าจะเจอคนที่เราคุยด้วยแล้วสบายใจ) ตอนแรก เรามีปัญหากับคนที่เราอยู่ด้วยก่อนคือคนในครอบครัว (เดี๋ยวไว้แชร์ในพาร์ทต่อไป เรื่องครอบครัว (ไม่ถึงกับไม่ใช่เซฟโซน แค่เค้าไม่รู้ว่าต้องดีลอย่างไร) เราจึงมองหานักจิตวิทยาครอบครัวก่อน แต่คนที่เราคุยอยู่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นนักเรียนป.โทด้านจิตวิทยาในที่ทำงานค่ะ แรกๆนักจิตอยากให้รับปรับมุมมองของตนเอง เค้าจะไม่ไกด์เราร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะคุยกับเรา สืบค้น แล้วให้เราพบเจอเองว่า สุดท้ายทางออกคืออะไร เราหามาอยู่ 2-3 เดือนค่ะ เป็นเหตุที่ทำให้เรามีอะไรไปเถียงกับเจ้าปีศาจมากขึ้น พยายามแก้ไขตัวเองมากขึ้น

นักจิตวิทยาอธิบายให้เราฟังว่า การรักษาโรคทางนี้มีอยู่ด้วยกันมี 2 เลเวล ท่านเปรียบง่ายๆว่าเราเหมือนเด็กที่อยากว่ายน้ำ แต่ว่ายน้ำไม่เป็น ถูกโยนลงสระ นักจิตวิทยา คือโค้ช ที่คอยอธิบายวิธีการท่าทาง ตัวเราเองที่อยู่ในน้ำก็ลองทำท่าทำทาง ลองลอยตัวจนว่ายตามได้ กับอีกแบบหนึ่งที่เราพยายามจะว่ายเท่าไหร่ก็ว่ายไม่ได้สักที ตะเกียกตะกายจนเหนื่อยก็แล้ว ลองหลายท่าแล้วตัวก็จะจมอยู่นั่นแหละ จึงมีความจำเป็นต้องใช้ห่วงยางพยุงตัวเองค่ะ ซึ่งห่วงยางที่ว่าคือการรักษาด้วยเคมี หรือยา และคนโยนห่วงยางลงไปก็คือจิตแพทย์

วันที่เราตัดสินใจโทรไปหาเพื่อนที่เป็นคุณหมอเพื่อหาจิตแพทย์ คือวันที่เรามองสิ่งของรอบตัวทุกอย่างเป็น "อาวุธ" ค่ะ เรามองแค่ดินสอ ก็อยากจะเอาดินสอมาปักมือตัวเอง ที่พิมพ์งานส่งช้ามาก อยากทำโทษตัวเอง ทำร้ายตัวเองต่างๆนานา สมาธิไม่ได้ ตบตัวเอง ร้องไห้ อยากวิ่งลงระเบียงเดี๋ยวนั้นเลย ผิดหวังในตัวเองมาก แต่เราโชคดีอย่างนึงค่ะ ที่เรามีสติดึงกลับมาทุกครั้งเมื่อรู้ตัวเองว่าเราคิดจะฆ่าตัวตาย เราเลยมักรีบโทรหาใครสักคนเพื่อระบายความอัดอั้นออกมา วันนั้นเรามีนัดนักจิตวิทยาพอดี นักจิตจึงแนะนำให้หาจิตแพทย์เพื่อเริ่มการใช้ยาค่ะ

จิตแพทย์ที่ดี คือจิตแพทย์ที่ตั้งใจฟังและวิเคราะห์ปัญหาเราจาก background และภูมิหลัง เราโชคดีที่เราพอมีเวลาเป็นรพ. รัฐ การ diagnose จึงค่อนข้างละเอียดกว่ารพ.เอกชนบางแห่ง (อันนี้ทราบมากจากคนใกล้ตัวว่า บางคนคุย 10 นาทีก็วินิจฉัยเลย) ของเราสัมภาษณ์อยู่ 1 ชั่วโมงครึ่งโดยหมอ resident แล้วส่งเคสไปปรึกษาอาจารย์แพทย์ก่อนค่ะ อย่างไรก็ตาม เราขอไม่ตัดสินว่าวิธีนี้ดีที่สุด อาจมีจิตแพทย์ที่เก่งและวินิจฉัยได้ไวมากๆเช่นกัน แต่เราดีใจมากกว่าที่เจอแบบนี้เพราะเรารับรู้ถึงความใส่ใจค่ะ 

จิตแพทย์วินิจฉัยว่า เราเป็นโรคซึมเศร้า (ตอนแรกคุยกับนักจิตอยู่ 3 เดือน มโนไปเองว่าตัวเองเป็นโรคสมาธิสั้น เลยผิดพลาดในชีวิตแล้วอยากตาย นักจิตบอกว่าเรามีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า แต่คราวนี้ชัวร์ละ) ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ แต่มันสะสมมานานด้วยภูมิหลังของตัวเอง และนิสัยตัวเองเดิมที่เป็นคนคิดลบ คิดมาก ผลักดันตัวเองจากความคิดทางลบมาโดยตลอด เมื่อมีเหตุการณ์มากระตุ้นมากเกินไป ส่งผลให้ความผิดหวังในใจมันค้างเติ่ง คราวนี้ก็หนักเลยค่ะ เสียศูนย์ไปเลย อาการสมาธิสั้น และควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้นั้นเป็นผลข้างเคียงจากภาวะซึมเศร้าค่ะ คุณหมอเริ่มให้กินยาต้านเศร้าที่ช่วยควบคุมสมาธิตนเอง และยาคลายเครียดก่อนนอน หลังๆเพิ่มมาเป็นยานอนหลับมาด้วย เพราะผลข้างเคียงจากยาต้านเศร้าค่ะ

นี่คือการรักษาในช่วงเบื้องต้นค่ะ จะขออนุญาตมาต่อพาร์ทต่อไปในโอกาสหน้า ทั้งนี้เรายินดีจะแชร์ข้อมูล (เท่าที่แชร์ได้) หากใครมีคำถามเรื่องใกล้เคียงนี้สามารถส่งแมสเสจมาถามได้เลยค่ะ จะคอยเช็คเรื่อยๆ แต่อาจจะตอบไม่ทันที ส่วนใครที่ประสบเหตุเดียวกันอยู่ มาแชร์กันได้นะ เรา

*คำเตือนที่ 1 สำหรับใครที่ทนต่อความเจ็บปวดทั้งทางจิตใจและทางกายเพราะการงาน หรือความมั่นคงจนลืมความสุขของตัวเอง อย่าทนค่ะ งานไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต และหลายๆครั้งที่เราสามารถกลับมาใหม่ได้โดยไม่จำเป็นต้องทนต่อความเจ็บปวดทรมาณ ถอยก่อน 1 ก้าว ดีกว่าล้มแล้วกลับไปเริ่มต้นใหม่ นับ0 นี่เป็นหนึ่งในหลายๆสาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้าในคนรอบตัวเรา และเราเองค่ะ
*คำเตือนที่ 2 ใครที่กำลังอยากทำร้ายตัวเอง ก่อนทำอยากให้ลองโทรหาคนที่ใกล้ตัวเราและเราไว้ใจได้ หรือ 1323 ค่ะ เล่าให้ฟังสักหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น พูดคุย เผื่อเราจะอารมณ์เย็นลงและมีสติขึ้นค่ะ (เราเคยโทรไป 1323 คุยดีนะคะ แปบๆ แต่เรียกสติเราได้ อย่างน้อยก็เริ่มรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น)
*คำเตือนที่ 3 ส่วนหนึ่งของภาวะซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยการออกกำลังกาย เพื่อให้หลั่งสารความสุข เพราะฉะนั้นหากเราเครียด อย่าอยู่บ้านให้ออกไปวิ่งเลยค่ะ หรือถ้าออกไปไม่ได้ ให้วิดพื้น วิ่งอยู่กับที่ ทำให้เหงื่อออก เปิดคลิปยูทูปเล่นโยคะ (ไม่แนะนำให้ดูเน็ตฟลิก มันสามารถช่วยได้ครั้งคราว แต่ระยะยาวไม่ได้ช่วยค่ะ อาจทำให้สมาธิสั้นลงได้นะ เรามักจะเปิดคลิปยืดคอบ่าไหล่เวลาเราเครียดค่ะ ทำตามแล้วได้ผลอยู่ มันบรรเทาความเครียดลงได้หน่อยนะ)

เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่