[SR] มาทำความรู้จักชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร 'บ้านบัวเทิง' จ.อุบลราชธานีกันค่ะ



     สวัสดีค่ะ ทุกคนวันนี้เราจะพาทุกคนไปรูจักกับชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ขอเกริ่นไว้ก่อนเลยว่าหมู่บ้านแห่งนี้จุดเด่นอยู่ที่ ‘พุทรา’ และได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้าน ‘การท่องเที่ยวเชิงเกษตร’พอจะเดาออกรึยังคะ? ว่าเรากำลังพูดถึงหมู่บ้านอะไรกันอยู่… ใช่แล้วค่ะ เรากำลังจะพูดถึงชุมชนบ้านบัวเทิงกันอยู่ ขอบอกไว้ก่อนเลยว่าวันนี้เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกเรื่องที่คุณอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับบ้านบัวเทิงมาก่อน ถ้าคุณได้รู้เรื่องเหล่านี้คุณอาจจะตกหลุมรักบ้านบัวเทิงแบบไม่รู้ตัวเลยก็ได้ค่ะ
 
     เรามาเริ่มจากประวัติคร่าวๆ ของบ้านบัวเทิงกันก่อนดีกว่าค่ะ บ้านบัวเทิงตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี และในปัจจุบันยังเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรผสมผสานและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในจังหวัดอุบลราชธานีอีกด้วย อยากรู้ไหมคะว่ากว่าจะมาเป็นบ้านบัวเทิงจนถึงทุกวันนี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ถ้าอยากรู้เตรียมตัวอ่านได้เลยค่ะ เพราะพวกเราได้ไปถามข้อมูลจากคุณพ่อกิติพจน์มาแล้ว ท่านเป็นประธานศูนย์พัฒนาชุมชนบ้านบัวเทิง แต่เนื่องจากหมู่บ้านนี้มีประวัติยาวนานถึง 200 ปี ต้องขอย้อนนานนิดนึงนะ เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว ราวๆ พ.ศ. 2372 ย่าโมได้ยกทัพไปตีเวียงจันทร์ทำให้คนลาวแตกทัพแล้วอพยพมาทางเรือผ่านแม่น้ำมูล พอล่องไปเรื่อยๆ แล้วเจอพื้นที่หนึ่ง ที่คิดว่าปลอดภัย มีป่าและท่าน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีหนองน้ำขนาดใหญ่ นั้นก็คือ ‘หนองบัวหล่ม’ เรียกสถานที่นั้นว่า ‘โนนบ้านบัวท่า’ ก็หยุดตั้งรกราก ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 – พ.ศ. 2483 หลังเกิดสงครามอินโดจีน มีทหารเข้ามาเกณฑ์คนไปซ่อมแซมบ้านเมืองที่เสียหายจากสงครามในตัวเมืองจังหวัดอุบลราชธานี คนลาวที่รวมกันอยู่ที่โนนบ้านบัวท่ากลัวที่จะโดนเกณฑ์ไป ประกอบกับมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม จึงหลบหนีออกมา อยู่บริเวณที่เรียกว่า ‘หนองบัวหล่มเก่า’ ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณเดิมประมาณ 2 - 3 กิโลเมตร โดยใช้หนองน้ำเป็นแหล่งทำมาหากิน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เป็นที่อยู่อาศัย คนที่เป็นผู้ใหญ่บ้านในตอนนั้น คือ พ่อใหญ่หนูกะลอม เป็นคนที่ตั้งชื่อบริเวณที่อยู่ว่า ‘บ้านบัวเทิง’ โดยนำชื่อมาจากบริเวณที่อยู่ก่อนหน้านี้ คือ ‘บ้านบัว’ และเพิ่มคำว่า ‘เทิง’ เข้าไป เนื่องจากคำว่า ‘เทิง’ ในภาษาท้องถิ่นของภาคอีสาน แปลว่า ‘ที่ราบสูง’ และพื้นที่บริเวณใหม่ที่ย้ายไปมีลักษณะภูมิประเทศสูงกว่าพื้นที่เดิมที่เคยอยู่ จึงกลายมาเป็นชื่อ ‘บ้านบัวเทิง’ ในปัจจุบัน แต่ถ้าพูดถึงภาคอีสาน เขาก็จะมีเรื่องความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของแต่ท้องที่อยู่แล้ว แน่นอนว่าของบ้านบัวเทิงพวกเราก็ได้ไปสืบค้นกันมาเรียบร้อยแล้วค่ะ ก็จะมี ‘พระครูวิโรจ์รัตโนบล (บุญรอด)’ วัดทุ่งศรีเมือง เรื่องเริ่มมาจากสมัยก่อนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านมักมีพายุและโรคห่าอยู่เป็นประจำ ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ผู้ใหญ่บ้านในตอนนั้นเลยนิมนต์พระครูวิโรจ์รัตโนบล (บุญรอด) วัดทุ่งศรีเมือง มาสะเดาะปัดเป่า และตั้งเสาหลักบ้านหรือเสาหลักเมืองไว้กลางบ้าน เพื่อทำให้ชุมชนมีความสงบสุข ตั้งแต่นั้นมาในทุกๆ ปีช่วงเดือนพฤษภาคม คนในชุมชนจะรวมตัวกันไหว้เสาหลักบ้านและนำของเส้นไหว้ตลอด และอีกที่หนึ่งก็คือ ‘ดอนปู่ตา’ เป็นป่าดึกดรรบรรพ์สาเหตุที่บอกว่าเป็นป่าดึกดำบรรพ์เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ดินแห่งนี้ไม่เคยถูกบุกรุก ไม่เคยมีใครไปยุ่ง หรือไปทำลายระบบนิเวศน์ในป่าได้เลยและคนสมัยก่อนมักจะนับถือผีปู่ตา คนในชุมชนเลยไปตั้งศาลไว้และนิมนต์พระในสมัยนั้นมาอยู่ ชาวบ้านก็จะไหว้กราบขอพร ซึ่งคนในสมัยก่อนเรียกพระองค์นี้ว่า ‘ชุมฮุม’ จนทุกวันนี้ศาลนั้นก็ยังคงอยู่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้านมาโดยตลอด

เสาหลักบ้าน


     เราได้รู้ประวัติความเป็นมาของชุมชนแล้ว เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านบัวเทิงกันค่ะเดิมทีบ้านบัวเทิงนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวและปลูกพืชเชิงเดี่ยวหลังการทำนา เช่น ปอ ถั่ว แตงกวา มันสำปะหลัง จนกระทั่งปีพ.ศ. 2530 มีเกษตรกรชาวจังหวัดนครปฐมได้เข้ามาเช่าที่ดินเพื่อปลูกกุหลาบและองุ่นที่บ้านบัวเทิง และได้จ้างคนในชุมชนเป็นคนงานช่วยดูแลสวน อีกทั้งยังถ่ายทอดวิธีการปลูก การดูแลรักษาไม้ดอกไม้ประดับให้กับคนในชุมชน จนทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งปลูกกุหลาบแหล่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี จนมีหน่วยงานภาครัฐจัดสรรงบประมาณสนับสนุนปัจจัยการผลิตจึงได้รวมกลุ่มเกษตรกรขึ้น เพื่อสร้างโอกาสและอำนาจในการต่อรองทางการตลาด หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาปลูกดอกเบญจมาศ ซึ่งการปลูกดอกเบญจมาศของบ้านบัวเทิงนั้นได้ผลผลิตและราคาดี ราคาขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70 บาท ปัจจุบันเหลือเกษตรกรเพียง 2-3 รายที่ยังคงปลูกอยู่ และทางหน่วยงานภาครัฐกำลังจะเปิดโครงการใหม่เพื่อจะทำให้บัวท่าเป็นแหล่งปลูกไม้ดอก (เบญจมาศ) ของจังหวัดอุบลราชธานี และต่อมาในราวๆ ปี พ.ศ.2543 ได้มีการปลูกไม้ผลยืนต้นซึ่งก็คือ “พุทราพันธุ์สามรส” ซึ่งได้พันธุ์มาจากจังหวัดนครปฐม โดยการแนะนำของนายวิโรจน์ สวนประเสริฐ การปลูกพุทราจะปลูกครั้งเดียว และให้ผลผลิตยาวนาน ซึ่งสร้างรายได้ดีกว่าการปลูกดอกเบญจมาศ พื้นที่บ้านบัวเทิงจึงกลายเป็นแหล่งปลูกพุทราของจังหวัดอุบลราชธานี จนมาถึงปัจจุบันผู้คนยังประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรที่มีอาชีพปลูกพุทราอยู่ประมาณ 10 กว่าคน นอกเหนือจากนี้จะมีการทำนา เลี้ยงสัตว์เพิ่มเข้ามาอีกด้วย แม้ว่าจะมีความเป็นอยู่แบบทั่วไปเหมือนชุมชนอื่น แต่กว่าเขาจะหาสิ่งที่เหมาะกับชาวบ้านได้ก็ยากเหมือนกัน ชาวบ้านได้ทำการทดลองอะไรหลายๆ อย่างจนเจอสิ่งที่เหมาะกับพวกเขานั้นก็ คือ ‘พุทราพันธุ์สามรส’ นั้นเอง
 
     เรามาทำความรู้จักกับ ‘พุทราสามรสบ้านบัวเทิง’ กันดีกว่า หากพูดถึงของขึ้นชื่อของชุมชนบ้านบัวเทิงคงหนี้ไม่พ้น “พุทรา” เพราะพุทราเป็นผลไม้ดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมในยุคเก่าแก่ เพราะปลูกง่าย และยังปลูกเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย เพราะได้ราคาดี นอกจากนั้นพุทรายังมีรสชาติเปรี้ยวหวาน รสฝาดปนหวาน จึงรับประทานสดหรือจิ้มพริกเกลือแล้วแต่ความชอบนอกจากนี้ยังมีการนำพุทราไปแปรรูปเป็นสินค้าประจำท้องถิ่น อย่างเช่น พุทราสามรสลอยแก้ว น้ำพุทราสกัดเข้มข้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายยให้กับผลผลิต และนักท่องเที่ยวจะได้มีตัวเลือกที่เยอะในการเลือกซื้อกลับบ้าน แต่นอกจากพุทราแล้วคนในชุมชนบัวเทิงจะปลูกพืชผักสมุนไพร ผักสวนครัว รั้วกินได้ เช่น พริก หอม ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ถั่ว แตงกวา กระเทียม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพืชอายุสั้น เน้นปลูกทุกอย่างที่กินได้ ได้ทานอาหารที่ปลอดภัยไร้สารพิษ จนมีคำขวัญว่า ‘ทุกครัวเรือนจะมีตู้เย็นข้างบ้าน มีพยาบาลข้างครัว ทุกครอบครัวมีโรงปุ๋ย’ ซึ่งการมีตู้เย็นข้างบ้าน หมายถึงการปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ไว้ภายในบริเวณบ้าน สามารถนำมาประกอบอาหารได้ มีพยาบาลข้างครัว หมายถึงการปลูกพืชผักสมุนไพรไว้ใช้เป็นยารักษาโรคพื้นฐาน ทุกครอบครัวมีโรงปุ๋ย มีความหมายว่า ทุกบ้านจะสร้างโรงปุ๋ยหมักอินทรีย์ เอาไว้ใช้สำหรับปรับสภาพดินบำรุงพืชเพื่อลดใช้ปุ๋ยเคมี พออ่านกันแล้วรู้สึกว่าอยากกินพุทรากันเลยใช่ไหมล่ะคะ ถ้าอยากกินพุทราก็อย่าลืมนึกถึงพุทราสามรสของบ้านบัวเทิงนะที่มีทั้งรสฝาด รสเปรี้ยวและรสหวาน อร่อย กลมกล่อม ปลอดสารพิษแน่นอน
 

พุทราสามรส


พุทราลอยแก้ว


น้ำพุทราสกัดเข้มข้น


     นอกจากพุทราแล้วบ้านบัวเทิงก็ยังมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ‘ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร’ เราจะพาทุกคนไปดูกันว่ามีอะไรบ้านที่น่าท่องเที่ยว น่าสนใจในบ้านบัวเทิง สถานที่แรกก็คือ สวนพุทราสามรส สถานที่ที่สอง คือ ป่าชุมชน และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายที่ที่ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิต ธรรมชาติและการเกษตร อาทิเช่นเกษตรประณีต โฮมสเตย์ในหมู่บ้าน กิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนบ้านบัวเทิงมีอะไรให้ได้ทำบ้าง การมาเยือนชุมชนบ้านบัวเทิงนั้น นอกจากจะได้สวนผลไม้ จับปลาลากอวนกับชาวบ้านนำมาทำอาหาร ยังได้ศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ใช้แก้ปัญหาด้านการทำการเกษตรได้อีกด้วย ได้เรียนรู้การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เรียนรู้การทำปุ๋ยชีวภาพ เรียนรู้หลักเกษตรอินทรีย์ เรียนรู้วิถีชุมชน และยังเรียนรู้เทคนิคการปลูกพืชชนิดต่างๆ นอกจากนั้นแล้วกิจกรรมที่คนในชุมชนบ้านบัวเทิงยังคงทำอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นก็ คือการทำไร่ ทำนา ทำสวนพุทรา ปลูกพืชผสมผสาน เช่น ทุเรียน มังคุด ปลูกผักอินทรีย์ เลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงแพะ ซึ่งยังเป็นกิจกรรมที่ยังคงทำอยู่ตลอด


ปลูกผักสวนครัว


เก็บไข่ไก่


เรียนรู้วิธีแปลรูปอาหาร


     เป็นยังไงกันบ้างค่ะหลังจากได้ฟังเรื่องราวของชุมชนบ้านบัวเทิงแล้ว รู้สึกอยากจะมาเที่ยวบ้างรึยังคะ? ชุมชนที่มีความเป็นธรรมชาติสูง ผู้คนเป็นมิตรและยังได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตรอีกด้วย น่าสนใจมากๆเลยใช่ไหมล่ะคะ งั้นถ้าใครว่างๆ ก็อย่าลืมแวะมาเที่ยวที่บ้านบัวเทิงกันนะคะ ช่วยกันผลักดันชุมชนในประเทศ สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น ใครจะไปรู้ล่ะ สักวันหนึ่งเราอาจจะได้เห็นพุทราสามรสของบ้านบัวเทิงขึ้นห้างหรือเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างก็ได้ ถ้าอย่างข้าวหลามก็ต้องหนองมน ทุเรียนก็ต้องเมืองจันทร์ แต่ถ้าพุทราก็ต้องบ้านบัวเทิงนะคะ อย่าลืมมาอุดหนุนพุทราหรือถ้าใครว่างๆก็อย่าลืมมาเที่ยวที่บ้านบัวเทิงนะคะแล้วคุณจะได้พบกับประสบการณ์ใหม่ๆที่หาไม่ได้ในเมืองอย่างแน่นอน

     สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณคุณพ่อกิติพจน์ แส่งสิงห์ที่ให้ข้อมูลพวกเราจนกลายมาเป็นงานชิ้นนี้นะคะ ขอบคุณอาจารย์รัตนวดี เศรษฐจิตรและอาจารย์กิติศักดิ์ เยาวนนท์ที่คอยให้คำปรึกษตลอดการทำงานนะคะ
  

          ปล. งานชิ้นนี้จัดทำโดยนิสิตชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม เอกการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
          ปล2. งานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา INC263 writing for tourism communication
ชื่อสินค้า:   ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
คะแนน:     

SR - Sponsored Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ SR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - ได้รับสินค้าหรือบริการมาใช้รีวิวฟรี โดยไม่ต้องคืนสินค้าหรือบริการนั้น
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างแต่ได้รับผลประโยชน์อย่างอื่น เช่น บัตรกำนัล ค่าเดินทางตามจริง

    ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ได้รับคะแนนในการเขียน เพราะเป็นส่วนหนึ่งในวิชาที่เรียน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่