เชียงใหม่-เล่าเรื่องตำนานเสือเยน ความเชื่อในอดีตชุมชนชาวบ้านวัวลาย วัดหมื่นสาร


... บรรดาลูกหลานที่เกิดและเติบใหญ่ในบ้านวัวลาย คงจะคุ้นเคยกับคำว่า "เสือเยน" กันเป็นอย่างดี 
เป็นตำนานที่สื่อถึงความน่าสยองขวัญ โดยเฉพาะรูปปั้นเสือยกขาที่ปรากฏบนเจดีย์ด้านหลังวิหารวัดหมื่นสาร 

ประกอบกับบรรยากาศที่เงียบสงัดและวังเวง เป็นภาพในอดีตก่อนที่จะมีการปรับภูมิทัศน์อย่างที่เห็นทุกวันนี้ เป็นบริเวณที่เด็กๆ ไม่กล้าไปเล่น

"เสือเยน" เป็นคำที่ผู้ใหญ่มักจะใช้หลอกให้เด็กกลัว เวลาสั่งสอนลูกหลาน เช่น "อาบน้ำค่ำๆ มืดๆ ระวังเสือเยนจะมากินเน่อ"

เสือเยน (หรือเสือเญน) เป็นเสือสมิง เชื่อกันว่าเกิดจากคนที่เล่าคาถาอาคมเกี่ยวกับเสือ 
เมื่อแก่ตัวลงหรือควบคุมอาคมไม่อยู่ก็ทำให้กลายเป็นเสือเยนไป หรือบางคนเชื่อว่าเป็นเสือที่กินคนมากๆ 
วิญญาณคนเข้าสิงในร่างเสือจนสามารถแปลงร่างเป็นคนได้ เสือเยนจึงเป็นที่หวาดกลัวของคนในล้านนา

เรื่องเล่าเกี่ยวกับเสือเยนมีหลายสำนวน เช่น เจ้าอาวาสวัดหนึ่งมีอายุมากแล้ว ท่านเป็นผู้ได้ร่ำเรียนวิชาคาถาอาคมเก่งกล้า 
ท่านไม่ชอบอาบน้ำ ในวัดนี้ถ้ามีเณรหรือเด็กไปอาศัยก็จะหายไปวันละคนโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงเหลือเจ้าอาวาสคนเดียว 
ถ้ามีพ่อค้าวัวต่างเดินทางมาค้างคืนก็มักถูกเสือกิน

วันหนึ่งมีพ่อค้าวัวต่างมาพักที่วัดแห่งนี้ ได้รับคำเตือนจากชาวบ้านว่าระวังเสือ แต่พ่อค้าไม่กลัว เพราะถือว่ามีวิชาอาคมเหมือนกัน 
ตกดึกพระได้มาตะโกนถามว่า "พ่อออกๆ หลับหรือยัง" พ่อค้าตอบว่า "ยังไม่หลับ" 

พ่อค้าได้เอาไม้ไผ่มาผ่าแล้วจักตอกสานเป็นรูปวัวแล้วเสกคาถาให้วัวไม้ไผ่เป็นวัวธนู
กลางดึกได้ยินเสียงเสือร้องที่หน้าประตูวิหาร พ่อค้าก็รู้ว่าเสือเยนออกล่าเหยื่อแล้ว จึงปล่อยวัวธนูออกไปต่อสู้ 
สัตว์อาคมทั้งเสือและวัวสู้กันดุเดือดพักใหญ่ แล้วจึงได้ยินเสียงเสือร้องอย่างเจ็บปวด 
รุ่งเช้าเมื่อเปิดประตูวิหารก็พบเสือนอนตายอยู่และที่หลังวิหารก็พบกระดูกคนและสัตว์มากมาย

บางสำนวนเล่าว่าได้มีการประกาศหาคนที่มีวิชาอาคมมาปราบเสือเยน โดยจะมอบข้าวสารหมื่นกระสอบเป็นรางวัล 
ในที่สุดก็มีผู้อาสามาปราบเสือเยน เป็นพ่อค้าหมู โดยได้วางอุบายเข้าไปนอนในโบสถ์ 
พอตกกลางคืน เสือเยนก็มาถามที่หน้าประตูโบสถ์ ว่าหลับหรือยัง พ่อค้าหมูก็ตอบว่ายังไม่หลับ 
ขณะที่ตอบพ่อค้าหมูก็สานไม้ไผ่ พร้อมปลุกเสกให้เป็นควายธนูไปด้วย 
เสือเยนเวียนมาถามถึง 3 ครั้ง ในครั้งที่ 3 พ่อค้าหมูก็แกล้งทำเป็นหลับ ไม่ตอบกลับไป 
เสือเยนคิดว่าหลับแล้ว จึงเปิดประตูโบสถ์เข้ามา ซึ่งพอดีกับที่พ่อค้าหมูปล่อยควายธนูออกไป ควายธนูได้ขวิดเสือเยนจนถึงแก่ความตาย

วัดดังกล่าวในเรื่องนี้ชาวบ้านเชื่อว่าคือ "วัดหมื่นสาร" ดังนั้นที่วัดหมื่นสารจึงมีรูปปูนปั้น เสือปรากฏที่เจดีย์พระธาตุ 
และจากคำบอกเล่าของชาวบ้านร่วมสมัยก็ยืนยันว่าเดิมที่หน้าวัดหมื่นสารเคยมีรูปเสือตัวใหญ่เท่าจริงยืนสองขา 
ประจวบกับขณะนั้นพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองได้มาตรวจการณ์คณะสงฆ์ ที่ จ.เชียงใหม่ 
เจ้าคณะจังหวัดในสมัยนั้นได้มาเยี่ยมชมวัดหมื่นสารซึ่งกำลังตั้งธรรมหลวง ฟังเทศน์มหาชาติอยู่ 
ท่านได้ชื่นชมถึงความศรัทธาของชาวบ้านวัวลาย และวัดหมื่นสาร ได้ให้คำแนะนำในการพัฒนาวัด 
ท่านได้เห็นรูปสางแปลง ซึ่งทางวัดหมื่นสารเรียกว่า "เสือเยน" พร้อมกับมีคนเล่าตำนานเสือเยนให้ท่านฟัง 
ท่านจึงได้สั่งรื้อรูปปูนปั้นเสือเยนนั้นเสีย เพราะเหตุว่าเด็กเล็กตั้งแต่ 1-3 ขวบ เมื่อเห็นรูปนั้นจะต้องร้องไห้ทุกคน 
ท่านบอกว่าไม่เป็นมงคล นายอินทร์ ดำรงฤทธ์ จึงได้สร้างสิงห์ 2 ตัวที่ประตูวัดเสียใหม่ 
(พระครูอดุลย์สีลกิตติ์. 2553 รับฟังมาจากท่านพระครูโอภาสคณาภิบาล) 
ปัจจุบันจึงปรากฏเฉพาะรูปสิงห์ 2 ตัวซ้ายขวา บริเวณประตูทางเข้าวัดทั้งด้านหน้าและด้านหลังวัด

และไหนๆ ก็เล่าเรื่องตำนานเสือเยนแล้ว ก็ขอเล่าถึงเจดีย์องค์นี้เพิ่มเติมครับ
เจดีย์วัดหมื่นสาร ... เจดีย์รูปทรงล้านนาผสมไทยใหญ่ ... 

ปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ.2465-2466 เป็นเจดีย์ที่สร้างโดยฝีมือช่างชาวไทยใหญ่ 

ลักษณะพิเศษของเจดีย์คือ มีตัวสิงห์ประดับทั้ง 4 ด้านของพระเจดีย์ สิงห์ทั้ง 4 ด้านยกขาหน้าทั้ง 4 มุม 

บันไดที่สร้างขึ้นจุดประสงค์เพื่อใช้ขึ้นไปสรงน้ำพระธาตุบนเจดีย์ บนลานเจดีย์มีฉัตรทั้ง 4 ด้านที่ล้วนเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยใหญ่

The Pagoda in Lanna Style mixed with Thai Yai Style
It was reconstructed in 1922-1923. It was built by Thai Yai skillful craft men.
The pagoda is specially created with the lions on 4 sides. All lions' front legs are lifted up in all 4 corners of the pagoda.
The stairs up to the pagoda is used for holy washing the Buddha's relics on the pagoda on the special occasion. There are also 4 umbrellas in each corner of the pagoda, which is specific for identifying Thai Yai.

<<< บันทึกท้ายกระทู้ >>>

ภาพถ่ายต่างๆ นั้นถ่ายมาเกือบ ๓-๕ ปี แล้วครับ ถ่ายตามโอกาสที่ได้แวะเวียนไป
ส่วนตำนานและความเชื่อนั้น เป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมา จึงนำมาเล่าต่อให้ชนรุ่นหลังรับทราบเท่านั้นครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่