กระดูกสะโพกหักมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีโอกาสเกิดถึง 1 ใน 7 อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงทำให้พบผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักได้มากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกสะโพกหัก มีดังนี้
- อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีโอกาสเกิดสะโพกหักได้ง่าย
- เพศหญิงมีโอกาสเกิดสะโพกหักมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า
- พันธุกรรม หากผู้สูงอายุในครอบครัวมีประวัติกระดูกหักง่ายก็จะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
- โครงสร้างร่างกาย ผู้ที่มีโครงสร้างกระดูกเล็กหรือรูปร่างผอมบางมีความเสี่ยงกระดูกหักง่าย
- เหล้า / บุหรี่ หากดื่มเหล้าและสูบบุหรี่เป็นประจำ รวมถึงบริโภคแคลเซียมไม่เพียงพอ อาจทำให้กระดูกเปราะบางและไม่แข็งแรง
- ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือทำให้เพิ่มโอกาสในการมีภาวะกระดูกพรุนได้
- โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคกระดูกพรุน ข้ออักเสบ ข้อเสื่อม ภาวะไตวายเรื้อรัง หรือโรคที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติทำให้เสี่ยงต่อการล้มได้ เป็นต้น
การดูแลตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะสะโพกหักง่าย โดยเฉพาะจากโรคกระดูกพรุน เนื่องจากสามารถตรวจคัดกรองความเสี่ยงได้
โดยแพทย์แนะนำให้ตรวจความหนาแน่นขิงกระดูกตามข้อบ่งชี้ คือ
- ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไปในเพศหญิง หรือ 70 ปีขึ้นไปในเพศชาย
- ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี รวมถึงผู้ที่ถูกตัดรังไข่ทั้งสองข้าง
- ผู้หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่อายุน้อยกว่า 65 ปี หรือผู้ชายอายุน้อยกว่า 70 ปี ที่มีความเสี่ยงบางอย่าง เช่น ได้รับยาสเตอรอยด์ต่อเนื่องกันมานาน มีประวัติบิดามารดากระดูกสะโพกหักจากอุบัติเหตุไม่รุนแรง ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 20 กก./ตร.ม. ส่วนสูงลดลง 4 ซม ขึ้นไป มีประวัติกระดูกหักจากอุบัติเหตุไม่รุนแรง ก็ต่างเป็นข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจ
นอกจากนี้ ในบ้านที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ควรจัดพื้นที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ภาวะสะโพกหักได้เช่นกัน
7 สาเหตุหลักที่ทำให้สะโพกหักง่าย