JJNY : สินค้าแพงดันเงินเฟ้อ│คาดใช้จ่ายสงกรานต์ซึม│หมอธีระแนะให้ข้อมูลจริง ไม่ขายฝัน│'ธนาธร' ปลุกลงชื่อปลดล็อกท้องถิ่น

สินค้าแพงทุกอย่าง! ดันเงินเฟ้อ มี.ค.65 พุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี คนไทยเตรียมกระเป๋าแฟบ
https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/169614
 
 
จากกรณีปัญหาสินค้าราคาแพงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิต ทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นถึง 5.73 % ถือเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 13 ปี ทำให้น่ากังวลว่าคนไทย จะต้องซื้อของแพงต่อไปอีก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  เงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2565 เท่ากับ 104.79 เพิ่มขึ้น 5.73% ถือเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551 สาเหตุมาจากราคาน้ำมัน สูงขึ้นถึง 31% ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น 40 % รวมถึงราคาอาหาร โดยเฉพาะผักสด เพิ่มเกือบ 10 % เนื้อหมู เนื้อไก่ เพิ่มขึ้น 5.74 %  ไข่ไก่ ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เพิ่มขึ้น 6 %
  
นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2565 มีโอกาสจะสูงขึ้นอีก เพราะราคาแก๊สหุงต้มปรับขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท  ขณะที่ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เริ่มรุนแรงขึ้น  ทำให้คาดว่าปีนี้คนไทยต้องเจอกับปัญหาราคาสินค้าแพง มูลค่าเงินในกระเป๋าลดลง เงินเฟ้อจะสูงถึงอยู่ที่ 4-5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 0.7-2.4% เท่านั้น
  
 สำหรับราคาสินค้าต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะพาเหรดปรับราคาขึ้น เช่น ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว  ปลากระป๋อง ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือผู้ผลิต และห้างค้าปลีกให้ช่วยตรึงราคา ช่วยเหลือประชาชนไปก่อน ล่าสุดทางท็อปส์ และ แฟมิลี่มาร์ท ร่วมกับ  58 แบรนด์ จัดแคมเปญ “ลด-ล็อคราคา” สินค้าอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นกว่า 190 รายการ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส น้ำอัดลม  โดยจะตรึงราคาสินค้านาน 1 ปี ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 เพื่อลดค่าครองชีพช่วยประชาชน สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล
   
โดยนางสุจิตา เพ็งอุ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ Large Format (ลาจ ฟอร์แมท) บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ระบุว่า แคมเปญนี้จะช่วยประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงสภาวะเงินเฟ้อสูง และช่วยกระตุ้นกำลังซื้อช่วงสงกรานต์ปีนี้ให้กลับมาคึกคักขึ้นกว่าปี 2564 พร้อมเสนอรัฐบาลพิจารณาให้ธุรกิจ Modern Trade สามารถเข้าร่วมโครงการ "คนละครึ่ง" ได้เหมือนร้านค้าทั่วไป 
  


คาดใช้จ่ายสงกรานต์ซึม ค้าปลีกเตรียมจัดโปรแรง ซื้อ 1 แถม1 ปลายเม.ย.นี้
https://www.matichon.co.th/economy/news_3274222
 
คาดใช้จ่ายสงกรานต์ซึม ค้าปลีกเตรียมจัดโปรแรง ซื้อ 1 แถม1 ปลายเม.ย.นี้
 
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าปลีกค้าส่งไทย กล่าวถึงสถานการณ์ราคาสินค้า ว่า เดือนเมษายนยังไม่มีการขึ้นราคาสินค้าอื่นเพิ่มเติม หลังจากหลายชนิดขึ้นราคาช่วงที่ผ่านมา และคาดการณ์การจับจ่ายใช้สอยช่วงสงกรานต์จะเบาบาง เนื่องจากผู้บริโภคหมดเงินไปกับการเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยหลังจบเทศกาลผู้ค้าปลีกเตรียมแผนจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้ากระตุ้นกำลังซื้อ อาจจัดแคมเปญ ซื้อ 1 แถม 1 หรืออาจลดราคาสินค้าให้ถูกลงมา เพื่อกระตุ้นการซื้อให้กลับมาคล่องตัว หรือเพิ่มมากขึ้น
  
นายสมชาย กล่าวว่า สินค้าที่มีการขึ้นราคาช่วงที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการบางรายฉวยโอกาสจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จึงนำมาเป็นข้ออ้างปรับราคาสินค้าไม่จำเป็นให้สูงกว่าเดิม เพราะประเมินแล้วว่าถ้าไม่ขึ้นราคาช่วงนี้แต่ไปขึ้นหลังจากสงครามจบลง อาจถูกตั้งคำถามจากสังคม จึงอยากให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงภาระผู้บริโภคกับการใช้จ่ายด้วย ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเป็นปัจจัยหนึ่ง หากเลือกซื้อสินค้าที่เป็นแบรนด์ชั้นนำและมีการใช้งานมาต่อเนื่องมากกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่มีราคาถูก ทำให้แบรนด์ดังกล่าวเห็นจังหวะปรับราคา ดังนั้นอยากให้ผู้บริโภคซื้อตามความจำเป็น และเลือกจากคุณภาพ


 
หมอธีระ เผยวิธีสกัด "โอมิครอน" แนะให้ข้อมูลจริง ไม่ขายฝันให้คนถอดหน้ากาก
https://www.thairath.co.th/news/society/2361125

หมอธีระ เผยยุทธวิธีสกัด "โอมิครอน" แนะให้ข้อมูลประชาชนตามความเป็นจริง อย่าสร้างภาพฝันให้คนถอดหน้ากากอนามัย ใช้ชีวิตเสรีโดยไม่มีการป้องกัน
 
วันที่ 6 เมษายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุว่า 
 
ทะลุ 493 ล้าน 
 
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,218,635 คน ตายเพิ่ม 3,382 คน รวมแล้วติดไปรวม 493,743,100 คน เสียชีวิตรวม 6,182,672 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.25 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.81 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 36.07 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 22.05

สถานการณ์ระบาดของไทย
 
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก
บทเรียนจากหมู่เกาะฟาโร
 
หากจำกันได้ ต้นเดือนธันวาคม 2564 มีรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่หมู่เกาะฟาโร
เกิดขึ้นในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มารวมตัวกันแบบส่วนตัว (private gathering) จำนวน 33 คน
 
พบว่าเกิดการติดเชื้อโรคโควิด-19 กันมากถึง 21 คน หรือ 64% ทั้งนี้ทุกคนที่ติดเชื้อล้วนมีอาการป่วย แต่ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
โดยมีการตรวจสอบสายพันธุ์ไวรัสพบว่าเป็นสายพันธุ์ Omicron ถึง 13 คน ที่สำคัญคือ ทุกคนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมาเรียบร้อยแล้ว (fully vaccinated and boosted) และได้มีการตรวจคัดกรองโรค 36 ชั่วโมงก่อนจะมาเจอกัน
 
เหตุการณ์ข้างต้นนำไปสู่การสอบสวนโรคและกักตัวคนที่สัมผัสใกล้ชิดรวม 70 คนในเวลาต่อมา เรื่องที่เล่ามานั้น สะท้อนความจริงที่เราเห็นในสถานการณ์ปัจจุบันคือ ฉีดวัคซีนครบแล้ว ฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว ก็ยังติดเชื้อได้ และแม้จะตรวจคัดกรองมาก่อน ก็อาจตรวจไม่พบเพราะคนใดคนหนึ่งอาจเพิ่งรับเชื้อมา ยังอยู่ในช่วงระยะเวลาฟักตัวของโรค หรืออาจติดเชื้ออยู่ แต่ปริมาณเชื้อยังไม่มากพอที่จะตรวจพบจากวิธีตรวจคัดกรองที่ใช้ และยังไม่มีอาการให้เห็น
บทเรียนจากหมู่เกาะฟาโรนั้น หากทั่วโลกรวมถึงไทยเราได้ติดตามรายละเอียด และนำมาใช้วางแผนรับมือ อาจทำให้ลดผลกระทบ ไม่ให้เกิดการติดเชื้อมาก และมีป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นดังที่กำลังประสบอยู่ขณะนี้
เพราะสะท้อนให้เห็นว่า
 
หนึ่ง วัคซีนน่าจะเป็นอาวุธเพื่อใช้หวังผลในแง่ลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต แต่ยากที่จะหวังผลหลักในการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการป่วย
  
ยิ่งหากสัดส่วนของประชากรในประเทศ ยังได้วัคซีนเข็มกระตุ้นน้อย ก็ยิ่งต้องระวังมาก ไม่ผลีผลามกระโจนตามประเทศอื่นที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่า เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมา ผลกระทบจะเกิดขึ้นมากและยาวนาน
 
สอง ยุทธวิธีหลักในการควบคุมการระบาดของ Omicron ที่ควรทำคือ การเน้นย้ำเรื่องการป้องกันการติดเชื้อแพร่เชื้อ ลดพฤติกรรมเสี่ยง ให้แก่ประชาชนทุกคนในประเทศ ไม่ใช่สร้างภาพฝันที่เป็นไปไม่ได้ในเวลาอันสั้น เช่น วางแผนการถอดหน้ากาก หรือโปรโมตว่าจะเสรีการใช้ชีวิตโดยปราศจากการป้องกัน จะเฮโลสาระพาประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ทั้งๆ ที่องค์ประกอบต่างๆ ไม่มีทางเป็นไปได้ในเวลาไม่กี่เดือนเหนืออื่นใด ปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากคือ ผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นได้หลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 คือ Long COVID ที่จะทำให้ประชากรจำนวนมากในประเทศตกอยู่ในภาวะที่บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวันและการทำงาน รวมถึงทำให้เกิดปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมาในระยะยาว
 
หัวใจสำคัญของการประคับประคองให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์ระบาดระยะยาวนั้นคือ การนำเสนอสถานการณ์จริงให้คนในสังคมรู้เท่าทัน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ทำให้เกิดข้อกังขา, การจัดหายาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีปริมาณเพียงพอ เป็นที่ยอมรับและเป็นไปตามมาตรฐานการแพทย์สากล, การจัดระบบบริการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพเพื่อรองรับปัญหาปัจจุบัน (COVID-19) และอนาคต (Long COVID) อย่างครอบคลุม ทั่วถึง เข้าถึงได้ง่าย และมีความเพียงพอ
 
และที่สำคัญที่สุดคือ การกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมทราบความจริงว่า การป้องกันตัวระหว่างดำเนินชีวิตประจำวัน เรียน ทำงาน ค้าขาย พบปะสังสรรค์ต่างๆ นั้นยังจำเป็นต้องทำไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าการระบาดของโลกนั้นจะดีขึ้น โดยยากที่จะกำหนดเงื่อนเวลาแบบฟันธงได้ในเร็ววัน
ไม่ล่อด้วยกิเลส แต่ยืนบนพื้นฐานความจริง นี่คือสิ่งที่จะทำให้เรารอดชีวิตท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ.

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่