JJNY : สงกรานต์แพง│หนี้ครัวเรือน64 ขยับแตะ14.58ล.ล.│ติดโควิดยกบ้านแต่ถูกหน่วยงานรัฐทอดทิ้ง│วิโรจน์เยือนศาลเจ้าแม่ทับทิม

สงกรานต์แพง... 'แก๊ส-เหล้าขาว-เบียร์-น้ำอัดลม' ขยับราคาแล้ว
https://www.matichon.co.th/economy/news_3266875
 
 
สงกรานต์แพง… ‘แก๊ส-เหล้าขาว-เบียร์-น้ำอัดลม’ ขยับราคาแล้ว

วันที่ 2 เมษายน สินค้าต่างๆ ยังทยอยปรับขึ้นราคาต่อเนื่อง ล่าสุดถึงคิวแก๊ส-เหล็ก-เหล้า-เบียร์-น้ำอัดลม รับช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนต้องควักเงินจ่ายแพงขึ้น
 
เมื่อวันที่ 1 เมษายน รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) เดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) และจะปรับขึ้นตลอด 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2565) รวม 3 บาทต่อกก. ส่งผลให้ราคาก๊าซหุงต้มเดือนเมษายน ขยับจาก 318 บาทต่อถัง 15 กก. เป็น 333 บาทต่อถัง 15 กก. เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 348 บาทต่อถัง 15 กก. และเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กก.
 
ข่าวแจ้งว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน ยังคงดูแลผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือในบัตรอีก 55 บาทต่อ 3 เดือน จากเดิมช่วยเ 45 บาทต่อ 3 เดือนรวมเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน นอกจากนี้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังคงมอบส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เมษายน-มิถุนายน
 
นางจรรยา สว่างจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.โอเวอร์ซีส์ สตีล จำกัด(มหาชน) ผู้ค้าเหล็ก กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศปรับราคาขายเพิ่มขึ้นหลายครั้งเพื่อให้สอดรับกับต้นทุนพลังงานและเศษเหล็กจากต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ล่าสุดเหล็กเส้นใช้ในการก่อสร้างราคาปรับขึ้นจาก 26 บาท/กิโลกรัม(กก.) อยู่ที่ 29 บาท/กก. หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจจะทะลุ 30 บาท/กก. ขณะที่เหล็กรูปพรรณใช้ในงานโครงสร้าง โครงหลังคาและงานก่อสร้างโรงงาน ราคาอยู่ที่ 35-36 บาท/กก.
 
“มีนาคมเดือนเดียวราคาเหล็กเส้นขึ้นมา 3-4 บาท/กก. ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้น ทั้งพลังงาน วัตถุดิบ ค่าขนส่ง รวมถึงผลจากรัสเซีย ยูเครน และจีน ไม่ส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็ก ทำให้ประเทศอื่นหันมาซื้อเหล็กจากไทยมากขึ้น ทางผู้ผลิตจึงเพิ่มการส่งออก” นางจรรยากล่าว
 
แหล่งข่าวจากร้านค้าปลีกค้าส่งเหล้า-เบียร์ ย่านพระราม3 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากผู้ผลิตเบียร์ยี่ห้อยอดนิยมรายหนึ่งขอปรับต้นทุนค้าส่งเบียร์อีก 10 บาท/ลัง (12 ขวด) จากเดิม 585 บาท/ลัง เป็น 595 บาท/ลัง หรือขึ้นอีก 1 บาท/ขวด ส่วนเบียร์กระป๋องปรับขึ้น 10 บาท/ถาด (24 กระป๋อง) จาก 730 บาท/ถาด เป็น 740 บาท/ถาด หรือปรับขึ้น 50 สตางค์/กระป๋อง ส่วนราคาขายปลีกถึงผู้บริโภคจะปรับขึ้นเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่และเจ้าของร้านที่รับไปจำหน่ายต่อ เมื่อยี่ห้อยอดนิยมและเป็นรายใหญ่ขยับราคาแล้ว รายอื่นๆ คงต้องปรับเช่นกัน เพราะคงแบกรับต้นทุนต่อไปไม่ไหว
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้เหล้าขาวขวดเล็กปรับราคาขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว 120 บาท/ลัง( 24 ขวด) หรือปรับขึ้น 5 บาท/ขวด ด้านเครื่องดื่มชูกำลังมียี่ห้อยอดนิยมยี่ห้อหนึ่งปรับขึ้นไปแล้ว 20 บาท/แพ็ค ( 10 ขวด) จาก 85 บาท/แพ็ค เป็น 105 บาท/แพ็ค ขณะที่ยี่ห้ออื่นแจ้งแล้วว่าเดือนเมษายนนี้จะปรับราคาต้นทุนขึ้นอีก 10 บาท/ลัง
 
ขณะที่ร้านค้าส่งย่านห้าแยกลาดพร้าวรายหนึ่ง กล่าวว่า ผู้ผลิตเบียร์ยอดนิยมยี่ห้อหนึ่งปรับราคาต้นทุนเพิ่มอีก 5 บาท/ลัง (12 ขวด) ยังเป็นราคาที่รับได้ จึงทำให้ที่ร้านยังไม่ขึ้นราคาขายปลีก โดยเบียร์ขวดอยู่ที่ 57 บาท/ขวด แต่ร้านค้าที่รับไปจำหน่ายต่ออาจจะปรับราคาขายปลีกอีก 4-5 บาท/ขวด เพราะต้องบวกค่าขนส่งเพิ่ม ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำอัดลมขวดยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งขึ้นราคาทางอ้อม โดยขายราคาเดิม 10 บาท/ขวด แต่ลดปริมาณลงจากเดิม 400 มล. เหลือ 375 มล.
 
นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ จัดโครงการลดภาระค่าครองชีพประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงเดินหน้าจัดโครงการ Mobile พาณิชย์…ลดราคา! วันที่ 1 – 30 เมษายน 2565 จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในราคาประหยัด ลดราคาสูงสุด 60% กว่า 47 รายการ เช่น ซอสปรุงรส ครีมอาบน้ำ สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ยาสีฟัน หน้ากากอนามัย เป็นต้น
  

  
หนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 ขยับขึ้นมาแตะ 14.58 ล้านล้านบาท
https://www.thansettakij.com/money_market/519845

หนี้ครัวเรือนไทยปี 2565 อาจชะลอลงมาที่กรอบ 86.5-88.5% ต่อจีดีพี...แต่ฐานะการเงินของภาคครัวเรือนยังอ่อนแอ

หนี้ครัวเรือนไทยปี 2564 สัดส่วนต่อจีดีพียังขยับสูงขึ้นแตะ90.1%
 
ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 เติบโต 3.9% ใกล้เคียงกับ 4.0% ในปี 2563 แต่เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจที่ยังเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังคงขยับสูงขึ้นมาที่ระดับ 90.1% ในปี 2564 จากระดับ 89.7% ในปี 2563
 
นอกจากนี้ข้อมูลสถิติในระดับครัวเรือน พบว่า การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนอ่อนแอลง ขณะที่ยังมีครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน
 
สะท้อนว่า ภาคครัวเรือนไทยยังคงมีประเด็นกดดันกำลังซื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งล้วนอ่อนไหวต่อสภาวะที่ไม่แน่นอนของเส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และจังหวะดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะข้างหน้า
 
หนี้ครัวเรือนไทย
 
   สำหรับในปี 2565 นั้น คาดว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยจะยังคงขยับขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าเศรษฐกิจที่วัดจาก Nominal GDP ที่เติบโตสูงตามภาวะเงินเฟ้อ
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอาจชะลอลงมาอยู่ที่กรอบ 86.5-88.5% ต่อจีดีพี อย่างไรก็ดีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด และเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันเศรษฐกิจ
 
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยปี 2564 ขยับขึ้นมาที่ 90.1% ต่อจีดีพี...ยอดคงค้างเงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนเติบโตต่อเนื่องที่ 3.9% สูงกว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวช้ากว่าจากผลของโควิด-19 ที่ลากยาว 
 
หนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.58 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 3.9%
 
จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่ธปท. รายงานออกมาล่าสุด ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.58 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 3.9% ใกล้เคียงกับการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ในปี 2563 ที่ 4.0% 
 
เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังคงเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 ยังคงขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1% จากระดับ 89.7% ในปี 2563 
 
หนี้ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ 3อันดับ

ในโครงสร้างหนี้ครัวเรือนภาพรวม ณ สิ้นปี 2564 หนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรกยังคงเป็น
 
1. เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วน 34.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม
2. เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วน 18.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม และ
3. เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วน 12.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม
 
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีการพึ่งพาบริการสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ยืม เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น (สัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยับขึ้นมาที่ 8.0% ของหนี้ครัวเรือนรวมในปี 2564
จากที่มีสัดส่วนประมาณ 7.0% ของหนี้ครัวเรือนรวมในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19) เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและแก้ไขปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจและรายได้ของภาคครัวเรือนในหลายๆ ส่วน ยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวยืดเยื้อ 
  
ฐานะทางการเงินในระดับครัวเรือนมีสัญญาณอ่อนแอและมีหนี้สูงขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ระบาดยืดเยื้อ
 
แม้ในภาพรวมทั้งประเทศ เงินออมของภาคครัวเรือนซึ่งอยู่ในรูปเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะขยับขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 12.28 ล้านล้านบาทในปี 2563 มาอยู่ที่ประมาณ 12.87 ล้านล้านบาทในปี 2564
 
คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79.5% เมื่อเทียบกับจีดีพี และ 88.2% เมื่อเทียบกับยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน แต่คงต้องยอมรับว่า หากมองภาพในระดับครัวเรือน สถานะทางการเงินและระดับเงินออมของแต่ละครัวเรือนย่อมมีความแตกต่างกัน
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสถานการณ์ทางการเงินของภาคครัวเรือนไทยจากข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ฐานะทางการเงินในระดับครัวเรือนมีสัญญาณอ่อนแอและมีหนี้สูงขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ระบาดยืดเยื้อ
โดยแม้ครัวเรือนไทยในปี 2564 จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 27,352 บาทต่อเดือน ขยับขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยที่ 26,018 บาทต่อเดือนในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด แต่ภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนก็ขยับสูงขึ้นตามมาอยู่ที่ 21,616 บาทต่อเดือนด้วยเช่นกัน (จาก 20,742 บาทต่อเดือนในปี 2562) 
โดยค่าใช้จ่ายของครัวเรือนดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79% ต่อรายได้ต่อเดือน ซึ่งสะท้อนว่า หากครัวเรือนมีภาระอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาระผ่อนหนี้ ก็จะทำให้มีเงินเหลือสำหรับเก็บสะสมเป็นเงินออมน้อยลง
 
ข้อมูลในฝั่งหนี้สิน ก็สะท้อนว่า ครัวเรือนไทยมีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมากขึ้น โดยในผลสำรวจฯ พบว่า สัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้ขยับขึ้นจาก 45.2% ในปี 2562 มาที่ 51.5% ในปี 2564 โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นบางส่วนมาจากแหล่งกู้เงินนอกระบบ
 
หากพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้สินในปี 2564 พบว่า สัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้สินนอกระบบอย่างเดียว และสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้สินทั้งในและนอกระบบขยับขึ้นมาที่ 5.2% และ 4.0% จากที่มีสัดส่วน 4.7% และ 3.5% ในปี 2562 ตามลำดับ
 
นอกจากนี้ระดับหนี้สินเฉลี่ยยังเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้ของครัวเรือนด้วยเช่นกัน โดยจำนวนหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ที่ 205,679 บาทในปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.25 เท่าเมื่อเทียบกับระดับหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 164,005 ในปี 2562  ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียง 1.05 เท่า เท่านั้น
 
ภาพอีกด้านหนึ่งจากข้อมูล ณ เดือนม.ค. 2564 จาก ธปท. ก็สะท้อนว่า มีประชาชนรายย่อยอีกกว่า 4.34 ล้านบัญชีที่ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ในจำนวนนี้ประมาณ 73.6% เป็นบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคล หรือประมาณ 3.19 ล้านบัญชี)
ขณะที่แม้ว่ายอดภาระหนี้รายย่อยที่ยังคงอยู่ในมาตรการฯ จะทยอยปรับลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของโควิดระลอกแรก มาอยู่ที่ 1.60 ล้านบาท แต่คงต้องยอมรับว่า ยอดภาระหนี้ภายใต้มาตรการดังกล่าว ยังคิดเป็นสัดส่วนราว 16.2% ของสินเชื่อรายย่อยรวมของธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
 
ภาพดังกล่าวตอกย้ำว่า ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและประชาชนรายย่อย ยังคงมีความอ่อนไหวต่อสภาวะผันผวนและไม่แน่นอนของเส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่อาจเริ่มขยับขึ้นในอนาคต
 
สำหรับแนวโน้มในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจชะลอลงมาที่กรอบ 86.5-88.5% เนื่องจากมูลค่าจีดีพีโตสูงตามภาวะเงินเฟ้อ แต่ประเด็นหนี้สูงยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของครัวเรือน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่