แนวทางนำไปสู่ความเข้าใจพระพุทธพจน์

กระทู้สนทนา
ที่มา https://www.facebook.com/457128924484222/posts/485901474940300/
----------
คัมภีร์เนตติปกรณ์
เนตติปกรณ์ หมายถึง คัมภีร์แนะแนว คือแนวทางนำไปสู่ความเข้าใจพระพุทธพจน์ จึงเป็นตำราอธิบายพระพุทธพจน์ แต่งในสมัยพุทธกาล โดยพระมหากัจจายนะ ผู้เลิศในการอธิบายความย่อให้พิศดาร และได้รับการสังคายนาร่วมกับพระไตรปิฎกในปฐมสังคายนาคัมภีร์นี้มี ลีลาประพันธ์คล้ายคลึงกับคัมภีร์ไวยากรณ์ คือ มีกฎเกณฑ์ในการอธิบายธรรมที่เรียกว่า สูตร และอุทาหรณ์ที่นำมาแสดงเป็นตัวอย่างของเรื่องนั้นๆ คัมภีร์นี้จึงมีลักษณะในการอธิบายอรรถที่ละเอียดลึกซึ้งในพระไตรปิฎก เปรียบดั่งเข็มทิศที่ชี้แนะทิศทางแก่คนเดินทาง ทำให้ชาวพุทธไม่ตีความพระพุทธพจน์ตามอัตโนมัติของตน เนตติปกรณ์นี้ แสดงหลักการอธิบายขยายความพระพุทธพจน์ไว้ ๓ ประการ คือ
๑. หาระ หลักการอธิบายศัพท์พยัญชนะ ให้เข้าใจอย่างละเอียดชัดเจน มี ๑๖ หาระ
๒. นัย หลักการในการเข้าถึงอรรถะ มี ๕ นัย
๓. สาสนปัฏฐาน หลักการจำแนกพระสูตรโดยพระเภทต่าง ๆ เพื่อให้ทราบพุทธประสงค์
หาระ เป็นส่วนที่แสดงถึงหลักการอธิบายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงเป็นหลักการฟังธรรมของผู้ฟัง หลักการนี้สามารถใช้ได้ทั้งผู้ฟังและผู้พูดหรือผู้ตีความ สามารถนำมาใช้ได้ทั้งสองทาง ทั้งที่เป็นผู้ตีความเองและเป็นการตีความผู้ตีความอีกชั้นหนึ่ง โดยความหมายตามรูปศัพท์ คำว่า “หาระ” นี้ แปลว่า วิธีการ หลักการ การกล่าวอธิบาย จะพบเห็นคำนี้ที่ใช้ในรูปศัพท์อื่น ๆ ที่มีความหมายว่า การกล่าวอธิบาย เช่น คำว่า “โวหาร” “พรรณนาโวหาร” “อัพโพหาริก”
ดังนั้น หาระจึงเป็นหลักการ ซึ่งถือว่า เป็นกุญแจสำคัญในการกล่าวอธิบายขยายความธรรมให้ถูกต้องตามพระประสงค์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวได้ว่า หากนำหลักการดังกล่าวนี้ไปใช้ในการศึกษา ตีความคัมภีร์พระไตรปิฎก หรือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเข้าใจ รับรู้ เข้าถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ถูกต้องที่สุด เพราะหลักการดังกล่าวนี้ พระมหากัจจายนะเคยใช้อธิบายธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อนแล้ว และที่สำคัญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับรองว่า การอธิบายธรรมของพระองค์ด้วยหลักการเช่นนี้เป็นการถูกต้องตามพุทธประสงค์ และหากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายด้วยพระองค์เอง ก็จะทรงอธิบายเช่นเดียวกันกับที่พระมหากัจจายนะได้อธิบายนี้เช่นกัน หลักหาระดังกล่าวนี้ จำแนกออกเป็น ๑๖ หาระด้วยกัน คือ
๑. เทสนาหาระ เป็นหลักการอธิบายขยายความพุทธพจน์ โดยจำแนกประเด็นในการวิเคราะห์ออกเป็น ๖ ประเด็นด้วยกัน คือ (๑) อัสสาทะ (๒) อาทีนวะ (๓) นิสสรณะ (๔) ผล (๕) อุปาย (๖) อาณัติ
๒. วิจยหาระ หมายถึง หลักการวิจัยหรือวิเคราะห์ จำแนก แยกแยะ
๓. ยุตติหาระ หมายถึง หลักการพิจารณาถึงความเหมาะสมและไม่เหมาะสมของศัพท์และความหมายของศัพท์ เป็นหลักการพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลของศัพท์และความหมายที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วยหลักหาระทั้งปวง ถือว่าเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการตีความ
๔. ปทัฎฐานหาระ คือ แนวทางในการแสดงเหตุใกล้ โดยอนุโลมนัยและปฏิโลมนัย
๕. ลักขณหาระ คือ แนวทางในการแสดงธรรมอื่นที่มิได้กล่าวไว้โดยตรงซึ่งมีลักษณะเสมอกัน
๖. จตุพยูหหาระ คือ แนวทางในการอธิบายวิธี ๔ กลุ่ม ได้แก่ รูปวิเคราะห์ ความมุ่งหมาย เหตุการณ์แสดงธรรม และการเชื่อมโยงพระสูตร
๗. อาวัฎฎหาระ คือ แนวทางในการเวียนไปสู่ธรรมที่เสมอกันและธรรมที่ตรงข้ามกัน
๘. วิภัตติหาระ คือ แนวทางในการจำแนกสภาวธรรม เหตุใกล้และภูมิ โดยทั่วไปและไม่ทั่วไป
๙. ปริวัตตนหาระ คือ แนวทางในการเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้ามกัน
๑๐. เววจนหาระ คือ แนวทางในการแสดงคำไวพจน์
๑๑. ปัญญัตติหาระ คือ แนวทางในการแสดงบัญญัติ
๑๒. โอตรณหาระ คือ แนวทางในการหยั่งลงสู่ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ และปฏิจจสมุปบาท
๑๓. โสธนหาระ คือ แนวทางในการตรวจสอบบทและใจความของบท ในคำถามและคำตอบตามสมควร
๑๔. อธิฐานหาระ คือ แนวทางแสดงโดยสามัญทั่วไปและโดยพิเศษ
๑๕. ปริกขารหาระ คือ แนวทางในการแสดงเหตุปัจจัย
๑๖. สมาโรปนหาระ คือ แนวทางในการยกขึ้นแสดงด้วยเหตุใกล้ คำไวพจน์ การภาวนา และการละกิเลส
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่