JJNY : หมูยังแพง-น้ำมันปาล์มพุ่ง│สอบเข้ามหา’ลัยเกาหลี ติดโควิดก็สอบได้│บาทแข็งค่าสุดรอบ2ด.│ชัชชาติชูสร้างงาน-สร้างสังคม

หมูหน้าเขียงยังแพง-น้ำมันปาล์มพุ่งขวดละ60บาท
https://www.innnews.co.th/news/economy/news_278009/
 
 
หมูหน้าเขียง ตลาดยิ่งเจริญ คงที่กิโลกรัมละ 200-250 บาท แม่ค้า ชี้ ยังแพงเกือบเท่าค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ขณะน้ำมันปาล์มพุ่งขวดละ 60 บาท ด้านร้านข้าวแกงติดป้ายขอขึ้นราคาอีก 5 บาท
  
จากการลงพื้นที่สำรวจราคาเนื้อหมูที่ ตลาดยิ่งเจริญ ย่านสะพานใหม่ พบว่า ราคาเนื้อหมูวันนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 200-250 บาทตามชนิดของเนื้อที่มีการตกแต่งแล้ว เช่น สันนอก สันใน สันคอ กิโลกรัมละ 220 บาท, สะโพกกิโลกรัมละ 200 บาทสามชั้นกิโลกรัมละ 240-250 บาท, ขาหมูกิโลกรัมละ 115 บาท,หมูบดกิโลกรัมละ 180 บาท ส่วนไข่ไก่ราคาขายแผงละ 105-125 บาทตามขนาด ขายปลีก 10 ฟอง อยู่ที่ 38-42 บาท ด้านเนื้อไก่สดอยู่ที่ กิโลกรัมละ 65-85 บาทแล้วแต่ชิ้นส่วน เช่น อกไก่ อกติดหนัง สะโพก ปีกบน ปีกกลาง ราคาจะไม่เท่ากัน
 
จากการสอบถาม ร้านขายเนื้อหมูสด บอกกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ราคาเนื้อหมู หรือ หมูเนื้อแดงราคายังคงที่กิโลกรัมละ 200 บาท มาหลายสัปดาห์แล้ว ราคาไม่ปรับลดลงเลย ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากการกักตุนของผู้ค้ารายใหญ่ และจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู จนทำให้หมูตายจำนวนมาก และทำให้ผลิตลูกหมูได้น้อยลง ราคาเนื้อหมูปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนเกือบเท่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของคนไทย
 
ขณะเดียวกันจากการสอบถามร้านขายของแห้ง บอกว่า ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา สินค้าเกือบทุกชนิดปรับราคาขึ้น อาทิ น้ำมันพืชปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง ปรับขึ้นขวด (ลิตร) ละ 5 บาท จากราคา 55 บาท เป็น 60 บาท น้ำมันบัว (น้ำมันมะพร้าวผสมน้ำมันปาล์ม) บรรจุ (1 ลิตร) ถุงละ 70-75 บาท เป็น 80 บาท อย่างไรก็ตาม จากการราคาอาหารสดอาหารแห้ง ผักสด รวมไปถึงสินค้าอุปโภค บริโภค ที่มีการปรับราคาขึ้นเกือบทุกรายการ ไม่เฉพาะหมู ไก่ ไข่ กระทบต่อร้านอาหาร ร้านข้าวแกง ทำให้ต้นทุนเพิ่ม จนต้องขึ้นป้ายขอปรับราคาเพิ่มขึ้น 5 บาท.
 

 
ย้อนดูมาตรการ วันสอบเข้ามหา’ลัยเกาหลี ติดโควิดก็สอบได้ หลังเพจ TCAS บอกให้สอบปีหน้า
https://www.matichon.co.th/social/news_3143020

ย้อนดูมาตรการวันสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเกาหลี ติดโควิดก็สอบได้ หลัง เพจ TCAS ไทย บอกให้สอบปีหน้า
 
สืบเนื่องจากกรณีที่แอดมินเพจ Mytcas ออกมาตอบคำถามนักเรียนว่า หากติดโควิดก่อนสอบ และหายไม่ทันวันสอบ ให้ไปสอบปีหน้า ไม่ก็เลือกสาขาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบ ก่อให้เกิดกระแสในโลกออนไลน์ วิพากษ์วิจารณ์ว่า ควรจะต้องมีมาตรการในการแก้ไขเรื่องดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่หรือไม่
 
บ้างก็มองว่า เป็นการแพร่ระบาดที่ยาวนานต่อเนื่องมาหลายปี น่าจะมีการวางมาตรการต่างๆ ได้แล้ว

หลายคนยังได้เอ่ยถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ของเกาหลีใต้ที่เปิดโอกาสให้เด็กติดโควิดได้สอบเช่นกัน
 
ทั้งนี้ สำนักข่าวยอนฮับ ได้รายงานการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนเกาหลีที่เกิดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งมีนักเรียนกว่า 509,000 คนที่เข้าร่วมสอบ จาก 1,251 ศูนย์สอบ ซึ่งนักเรียนที่ไม่ติดเชื้อ จะต้องสวมแมสก์ตลอดเวลา
 
ตามการรายงานแนวทางสอบของกระทรวงศึกษาธิการ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น นักเรียนที่ติดเชื้อจะได้ทดสอบในโรงพยาบาล ขณะที่ผู้ถูกกักตัวจะได้แยกสอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตรียมเตียงในโรงพยาบาลไว้ 198 เตียงใน 31 แห่งทั่วประเทศ และสิ่งอำนวยความสะดวกของรัฐบาลอีก 2 แห่ง เพื่อรองรับผู้สอบที่ผลเป็นบวก พร้อมตั้งห้องทดสอบ 676 ห้อง ใน 112 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับนักเรียนเกือบ 3,000 คน ที่ต้องกักตัว
ซึ่งก่อนสอบในปีก่อนหน้านั้น มีนักเรียน 41 คนที่ติดโควิด และอีก 456 คน ที่อยู่ภายใต้การกักตัว กระทรวงยังได้จัดห้องสอบทั่วไปบางส่วน สำหรับนักเรียนปกติ ที่เกิดมีอาการในวันนั้นอีกด้วย

โดยก่อนวันสอบ 1 สัปดาห์ นักเรียนไฮสกูล ยังได้เปิดให้นักเรียนได้เรียนผ่านออนไลน์ เพื่อให้ห้องเรียนฆ่าเชื้อ และป้องกันคลัสเตอร์ในโรงเรียน นอกจากนี้ กระทรวงยังจะจัดช่วงเวลาพิเศษ 2 สัปดาห์ในการป้องกันโรค เพื่อตรวจสอบสุขภาพอนามัยที่โรงเรียนกวดวิชา 320 แห่ง และร้านคาเฟ่เพื่อการศึกษาต่างๆ
พร้อมกันนี้ กระทรวงยังได้ขอให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน เลื่อนเวลาทำการเป็น 10.00 น. เพื่อป้องกันปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงสอบ และห้ามนำเครื่องบินขึ้นและลง หรือแม้แต่การฝึกซ้อมทางทหาร ที่มีเสียงดังเป็นเวลา 25 นาที จนถึง 13.35 น. ในวันสอบ ซึ่งนักเรียนจะต้องทดสอบการฟังภาษาอังกฤษ
 
ยูอึนแฮ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงพยายามเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าการสอบจะมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทั้งการฉีดวัคซีน และสภาพแวดล้อมขณะสอบ เพื่อรองรับผู้สอบในหลายๆประเภท
 


บาทแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน สัปดาห์หน้าจับตาผลการประชุม FOMC -เงินทุนของต่างชาติ
https://www.tnnthailand.com/news/wealth/102696/
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 2 เดือน -สัปดาห์หน้าจับตาผลการประชุม FOMC -เงินทุนของต่างชาติและสถานการณ์โควิด-19
 
วันนี้ (22 ม.ค.65) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาพรวมความเคลื่อนไหวของตลาดเงิน พบว่า เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น โดยแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 32.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับทิศทางค่าเงินหยวน ประกอบกับยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
 
โดยเงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนตามแรงซื้อคืนของนักลงทุนในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ จากการประชุม FOMC วันที่ 25-26 ม.ค. 2565
 
ทั้งนี้ ในวันศุกร์ (21 ม.ค.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.90 เทียบกับระดับ 33.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 ม.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ม.ค. 65) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม FOMC ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19
 
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE และ Core PCE Price Index เดือนธ.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนพ.ย. จีดีพีไตรมาส 4/64 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
 
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่