JJNY : โควิดทำ"หนี้ครัวเรือน"เพิ่ม│จี้นายกฯ-รมว.เกษตรฯรับผิดชอบหมูแพง│"ก้าวไกล"ห่วงโยนบาปขรก.│ปชป.แฉผู้มีอำนาจข่มขู่จนท.

โควิดทำ "หนี้ครัวเรือน" เพิ่ม อันดับหนึ่งคือหนี้บ้าน และการเสริมสภาพคล่อง
https://www.komchadluek.net/news/500777

 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูล "หนี้ครัวเรือนไทย" หรือเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุด สะท้อนว่า แม้ครัวเรือนไทยยังคงก่อหนี้เพิ่ม แต่ก็มีสัญญาณระมัดระวังมากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 
 
โดยในไตรมาส 3/64 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท ขยับขึ้นราว 4.2% (YoY)   ชะลอลงเมื่อเทียบกับ 5.1% (YoY) ในไตรมาส 2/64 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าระดับหนี้สินของครัวเรือนที่ขยับขึ้นในไตรมาส 3/64 ใกล้เคียงกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ  ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในช่วงไตรมาส 3/64 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 89.3% เท่ากับในไตรมาส 2/64  โดยหนี้สินของภาคครัวเรือนส่วนใหญ่จะยังคงเป็นหนี้บ้าน  
   
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ลักษณะการก่อหนี้ของครัวเรือนในไตรมาส 3/64 แตกต่างจากช่วงไตรมาสก่อนๆ ตรงที่มีสัญญาณของการก่อหนี้เพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่อง และ/หรือรองรับรายจ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการขยับขึ้นของหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  และหนี้เพื่อการประกอบอาชีพตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกสาม
 
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทย  สถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง อาจทำให้ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการก่อหนี้เพิ่มเติม  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า แม้ในปี 65 จะยังคงเห็นยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็น่าจะเป็นอัตราการเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้น จึงยังคงตัวเลขประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 65 ไว้ที่กรอบ 90-92% ต่อจีดีพี โดยสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขคาดการณ์ในปี 64 ที่ 90.5%
 
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด ส่วนโจทย์เฉพาะหน้าของครัวเรือนไทยที่มีภาระหนี้ ยังคงเป็นการดูแลสมดุลระหว่างรายจ่ายและรายได้เพื่อคงความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนการเร่งติดต่อสถาบันการเงินเพื่อรับมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมเมื่อประสบปัญหา เช่น การปรับโครงสร้างหนี้
 


ส.ส.ขอนแก่นจี้นายกฯ-รมว.เกษตรฯ รับผิดชอบหมูแพง
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_272226/

ส.ส.ขอนแก่น เรียกร้องนายกฯ-รมว.เกษตรฯ รับผิดชอบหมูแพง แนะเลิกนิสัยปกปิดข้อมูล เร่งหาทางเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
 
นายภาควัต ศรีสุรพล ส.ส. ขอนแก่น และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงราคาหมูที่พุ่งขึ้นและสร้างความเดือดร้อนให้คนทั้งประเทศแถมยังไปฉุดให้ราคาไก่ ราคาไข่ ราคาปลา พลอยสูงขึ้นไปด้วย ว่า ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ที่รายได้ลดลงแต่ต้องรับภาระค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูงจนแทบไม่มีปัญญาจะซื้ออาหารมาประทังชีวิตกันอยู่แล้ว สาเหตุมาจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ที่ทำให้หมูเสียชีวิตกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ราคาหมูจะอยู่ในระดับราคาที่สูงไปอีกนาน และยิ่งจะเข้าช่วงตรุษจีนในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ราคาหมูจะยิ่งพุ่งกระฉูด ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนกันอย่างมาก
 
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูนี้ น่าจะเกิดตั้งแต่ปี 2562 แล้ว และมีสถานการณ์แย่ขึ้นตลอดมา แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมรับและพยายามปัดข่าว ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ได้แสดงความเป็นห่วงและได้สอบถามเรื่องนี้หลายหน แต่รัฐบาลกลับพยายามบ่ายเบี่ยงและไม่ยอมรับจนกระทั่งเกิดความเสียหายอย่างหนักต่อเกษตรกร และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก
 
ดังนั้น จึงอยากขอเรียกร้องกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร รวมถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อธิบดีกรมปศุสัตว์ด้วย รัฐบาลจะต้องเร่งหาทางเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
 
อีกทั้ง ต้องเร่งสร้างงานเพื่อให้คนตกงานมีงานทำมีเงินใช้และพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเลิกนิสัยปกปิดข้อมูลเหมือนตอนสมัยเป็น [เผล่ะจัง] ได้แล้ว จะต้องแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้จะบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ และในขณะที่ประชาชนลำบากกันอย่างมาก แต่พล.อ.ประยุทธ์ ยังจะคิดซื้อเครื่องบินรบ F 35 กันอีก ซึ่งไม่รู้ว่าใช้อะไรคิด
 

 
"ก้าวไกล" ห่วง "รัฐบาล" โยนบาปข้าราชการ จี้ตั้ง "กก.ระดับชาติ" แก้ปัญหาหมู
https://www.bangkokbiznews.com/politics/982348

"ส.ส.ก้าวไกล" จ่อเสนอญัตติด่วน หวังสอบต้นตอปกปิดโรคระบาด ชี้ต้องมีคนรับผิดชอบ พร้อมมองมาตรการแก้ปัญหา โรคระบาดหมู-หมูแพง ไม่ใช่แสงสว่างของปัญหา

         นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการอินไซด์รัฐสภา ว่า สัปดาห์หน้า เมื่อสภาฯ เปิดประชุม ส.ส.พรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติด่วนเพื่อขอให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไขต่อประเด็นปัญหาโรคระบาดในสัตว์ รวมถึงใช้เป็นกลไกเพื่อขอข้อมูลและรายละเอียดที่เชื่อว่ามีการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) เกือบ 3 ปี และทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับผลกระทบ รวมถึงประชาชนผู้บริโภคเนื้อสุกรต้องซื้อเนื้อหมูราคาแพง อย่างไรก็ตามพบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเสียหายกับการระบาดของโรคที่ไม่มีการควบคุมตั้งแต่การกระบาดในปี 2562 ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการประกาศอย่างชัดเจน มากถึงแสนราย 
 
         “ผมมองว่าเรื่องดังกล่าวต้องมีคนรับผิดชอบ และกรมปศุสัตว์ต้องชี้แจง  เพราะมีตัวอย่างจากฟาร์มผู้เลี้ยงหมูที่นำซากหมูที่เสียชีวิตเป็นปีไปตรวจในแล็ปของเอกชน ซึ่งพบว่าเป็นโรคเอเอฟเอฟ แต่แล็ปเอกชนไม่กล้ารายงานผลเพราะกังวลว่ามีปัญหากับกรมปศุสัตว์  สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการปกปิดข้อมูล” นายปดิพัทธ์ กล่าว
 
         นายปดิพัทธ์  ยังกล่าวถึงมาตรการของรัฐบาลที่เตรียมเยียวยาผู้เลี้ยงสุกร ว่า ตนพบว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ออกสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทให้เกษตรรายย่อยกลับมาเลี้ยงใหม่ แต่ในภาวะที่โรคไม่สงบ เท่ากับเป็นการฆ่าตัวตาย การกลับมาเลี้ยงใหม่ ต้องทำโรงเรือนระบบปิด เชื่อว่าวงเงินไม่พอ การเลี้ยงหมูตามบ้าน กรมปศุสัตว์ต้องควบคุม  นอกจากนั้นวัตถุดิบที่เกี่ยวข้อง ที่พบว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 30% หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือกันเชื่อว่าการแก้ปัญหาจะล้มเหลว
 
         “ส่วนที่มีผู้เสนอให้นำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศเพื่อลดราคาในตลาด ผมมองว่าต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาว ทั้งนี้ต้องเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการนำเข้าที่กีดกันสินค้าจากต่างประเทศ เช่น โรคระบาด , สารเร่งเนื้อแดง ดังนั้นต้องหารือให้รอบคอบ หากรัฐบาลตัดสินใจไม่ดี แก้ปัญหาเฉพาะหน้าจะทำลายกลไกราคาหมูในประเทศไทยยาวนาน" นายปดิพัทธ์ กล่าว
 
        ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวด้วยว่าส่วนที่รัฐบาลอนุมัติเงินเยียวยา คือการแก้ปัญหาในอดีต ไม่ใช่แกัปัญหาในอนาคต และการแก้ปัญหาตนยังไม่เห็นแสงสว่าง  เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม , นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์  และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไม่มีการประชุมที่ชัดเจน ทั้งที่ควรตั้งกรรมการระดับชาติเพื่อระดมกำลังแก้ปัญหาจากทุกหน่วยงาน หากไม่เร่งดำเนินการตนกังวลว่าจะเป็นการโยนความรับผิดชอบไปยังข้าราชการ โดยเฉพาะการควบคุมโรคระบาด และการควบคุมราคาของเนื้อหมู
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่