JJNY : ติดเชื้อ2,532 เสียชีวิต22│ดุสิตโพลคนวิตกโอไมครอน-ไม่ไปเคาท์ดาวน์│พท.พยากรณ์ปี 65│เสื้อผ้าโบ๊เบ๊-ประตูน้ำหงอย

โควิดวันนี้ หายป่วย 3,771 ราย ติดเชื้อเพิ่ม 2,532 ราย เสียชีวิต 22 ราย
https://www.dailynews.co.th/news/607697/
 
 
ยอด 'โควิด-19' วันนี้ พบเสียชีวิตเพิ่มอีก 22 ราย ขณะที่พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มอีก 2,532 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,181,107 ราย 
 
สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุด วันที่ 26 ธ.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 2,532 ราย เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 2,509 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 23 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 มีจำนวน 2,181,107 ราย หายป่วยกลับบ้าน 3,771 ราย หายป่วยสะสม 2,125,102 ราย กำลังรักษา 35,862 ราย
 
โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 22 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 มียอดสะสมสูงถึง 21,580 ราย
 

 
ดุสิตโพลคนวิตกโอไมครอน-ไม่ไปเคาท์ดาวน์
https://www.innnews.co.th/news/economy/news_261905/

ดุสิตโพล เผย ประชาชนกังวลโอไมครอน พบ 56.36% ไม่ไปเคาท์ดาวน์ ขณะ 51.13% คงฉลองกับครอบครัว ด้านเมนูฮิตกินเลี้ยง หมูกระทะ
 
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อกรณี “คนไทยกับปีใหม่ในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,109 คน ระหว่างวันที่ 20-23 ธันวาคม 2564 พบว่า เทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 51.13 จะฉลองปีใหม่กับครอบครัว รองลงมาร้อยละ 42.53 อยู่บ้าน และร้อยละ 41.51 ทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ข้ามปี
 
สำหรับ “เมนูอาหาร” ที่จะกินเลี้ยงฉลองปีใหม่ อันดับที่ 1 ร้อยละ 50.82 คือ หมูกระทะ รองลงมาคือ อาหารทะเล ซีฟู้ด ร้อยละ 48.18
 
ด้านวิธีดูแลบุตรหลานในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า ร้อยละ 54.85 คือ พาทำกิจกรรมต่าง ๆ เล่นสนุกร่วมกัน ส่วนกิจกรรมที่จะทำร่วมกันกับผู้สูงอายุ คือ ทอาหารรับประทานร่วมกัน ร้อยละ 65.55 นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนร้อยละ 51.25 ได้จัดสรรเตรียมเงินไว้ล่วงหน้าในการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่
  
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน พบว่า ร้อยละ 54.19ค่อนข้างวิตกกังวล ขณะที่ร้อยละ 25.43 วิตกกังวลมาก
 
และเมื่อถามว่าถ้าหากมีการจัดงานเคาท์ดาวน์ตามสถานที่ต่าง ๆ จะไปร่วมงานหรือไม่ พบว่า ประชาชนร้อยละ56.36 ระบุ ไม่ไป
 

 
พท.พยากรณ์ปี 65 รบ.ง่อนแง่น เจอวิบากกรรม 5 ปม ชี้ รธน.ห้ามนายกฯนั่งเกิน 8 ปี-คดีอัคราส่อวุ่น
https://www.matichon.co.th/politics/news_3104110

พรรคเพื่อไทยพยากรณ์รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2565 จะเจอวิบากกรรมหลายด้าน
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการเมืองปี 2565 ว่าสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือเสถียรภาพของรัฐบาลง่อนแง่นมาก เกิดจากปัจจัยที่ 1 คือสิ่งที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงในขณะนี้รัฐบาลนี้ไม่ได้ใช้เสียงข้างมากในการปกครองหรือบริหารประเทศ สภาเป็นกลไกสำคัญในการออกกฎหมายในการบริหารประเทศ ทุกครั้งที่มีการประชุมสภาจะเห็นว่าเสียงข้างมากไม่เคยทำหน้าที่เลย เสียงข้างมากที่บิดเบือนไปจากกลไกกติกาต่างๆ จากเสียงข้างน้อยกลายไปเป็นเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นข้างมากที่ไม่แท้จริง ถ้าฝ่ายค้านไม่ให้ความร่วมมือในการร่วมเป็นองค์ประชุมก็จะมีสภาพของสภาล่มทุกครั้ง ตรงนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่เราสามารถทำนายอนาคตได้ว่าเสถียรภาพรัฐบาลมีโอกาสที่จะแปรเปลี่ยน เพราะถ้ามีกฎหมายสำคัญเข้าสภาโดยที่ซีกรัฐบาลมีความขัดแย้งกัน โอกาสที่กฎหมายสำคัญจะไม่ผ่านสภา เช่น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน ถ้าไม่ผ่านสภานั่นคือความรับผิดชอบของผู้บริหารประเทศ ที่จะบอกกับประชาชนว่าเขาไปไม่ได้ ไปไม่ไหว
 
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ปัจจัยที่ 2.วิกฤตต่างๆ ที่ถาโถมมาขณะนี้รุนแรงมาก ไม่ว่าจะวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เกิดจากโควิด และวิกฤตโควิดที่ยังไม่หยุดนิ่ง เชื่อโอมิครอนเข้ามาก็จะระบาดระลอกใหม่ที่จะกระทบและขยายวงกว้าง ความลำบากของประชานจะเกิดกระแสเรียกร้องและต่อต้าน ความไม่สงบภายในประเทศก็จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะกลุ่มคนที่เรียกร้องเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ ราคาพืชผลทางการเกษตร ประมง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวิกฤตทางการเมืองที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้การเมืองในปี 2565 ไม่มีความเสถียรหรือราบรื่น
 
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ 3 คือสิ่งที่เราเฝ้าดูขณะนี้ คือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 185 และมาตรา 264 ว่าด้วยนายกรัฐมนตรีไม่สามารถดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีได้ และรัฐธรรมปี 2560 ก็เขียนชัดเจนในบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาก่อนที่รัฐธรรมนูญนี้จะบังคับใช้ให้เป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งการตีความตรงนี้ พรรคเพื่อไทยมีความเชื่อมั่นว่าถ้าตีตามตัวบทกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องหมดวาระลงในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี่คือเงื่อนไขที่อาจต้องทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง โดยการลาออกหรือยุบสภา ก็ต้องอาศัยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติ หากศาลวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติก็ต้องหลุดจากตำแหน่ง ครม.ทั้งคณะก็ต้องหลุด ตรงนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยการเลือกนายกฯเข้ามาใหม่ โดยที่รัฐสภายังอยู่ก็ได้
 
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ 4.สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 เรามองปัจจัยภายนอกที่จะถาโถมเข้ามากับรัฐบาลชุดนี้ คือวันที่ 31 ม.ค.65 ศาลจะมีคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คดีเหมืองทองอัครา ฟ้องราชอาณาจักรไทยที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปิดเหมือง หากมองในแง่ร้าย ถ้าประเทศต้องรับผิดชอบตามคำร้องคือวิกฤต และเรื่องธงชาติไทยถูกสั่งห้ามใช้ในการแข่งขันกีฬานานาชาติ จากองค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลก (วาด้า) หากเราไม่ดำเนินการตรงนี้ก็จะเป็นประเด็นที่ให้สถานการณ์บ้านเมืองที่ถูกแรงกดดันมาจากภายนอกประเทศทำให้มีปัญหาได้
  
นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า และปัจจัยที่ 5.เรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งรัฐบาลถูกมองว่าเป็นรัฐบาลละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างมาก จะเข้ามาบีบรัดทำให้สถานการณ์การเมืองในปี 2565 ไม่น่าจะเป็นผลดีกับประเทศ ถ้าอยู่ภายใต้การบริหารขของรัฐบาลชุดนี้ โอกาสมีการเปลี่ยนแปลงจึงสูงมาก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงควรยุบสภาแล้วมีการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่เราไม่มุ่งหวังคือการเปลี่ยนแปลงนอกวิถีประชาธิปไตยนอกรัฐธรรมนูญ
  
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบวิบากกรรมหลายอย่าง เนื่องจากระยะเวลาร่วม 8 ปี ที่เข้ามาบริหารประเทศสิ่งที่รับปากพี่น้องประชาชนยังไม่สามารถทำได้ และทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัย โดยเฉพาะความไม่เป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลให้การทำงานในสภาและรัฐสภามีอุปสรรคโดยตลอด ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านยังจะเสนอญัตติสำคัญช่วงหลังปีใหม่ คือ ญัตติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งเป็นการเปิดอภิปรายเพื่อแนะนำและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้รัฐบาล ฉะนั้น ปี 2565 จะถือเป็นปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเหนื่อย และได้รับผลกรรมที่เคยทำมา เรียกว่าจะมีวิบากกรรมตลอดปี 2565
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่