*** สงครามกลางเมืองล่าสุดของไทย: ประวัติพคท. เข้าใจง่าย ***

สมัยสงครามเย็น ประเทศฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ส่งออกการปฏิวัติไปยังประเทศต่างๆ เพื่อพยายามโค่นล้มรัฐบาลเก่าตั้งเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ขึ้น ทำให้เกิดสงครามตัวแทนระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์กับค่ายโลกเสรีไปทั่วโลก ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

ระหว่างปี 1965 - 1983 ประเทศไทยเกิดสงครามกลางเมือง ระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา กับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ไทย (พคท.) ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน

สงครามนี้ใช้ทหารต่อสู้กันหลักแสน มีคนตายหลายพัน มีการยึดครองพื้นที่ และชิงพื้นที่กันด้วยกำลังทางบกทางอากาศเป็นศึกใหญ่กินระยะเวลาถึง 18 ปี แต่ทั้งหมดกลับมีการพูดถึงไม่มากเท่าที่ควร แม้กระทั่งหลีกเลี่ยงจะเรียกสิ่งนี้ว่าสงคราม เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผู้เกี่ยวข้องหลายคนยังมีชีวิตอยู่

บทความนี้จะพาทุกท่านย้อนไปดูประวัติความเป็นมาของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย โดยจะพูดถึงเส้นทางการต่อสู้ ซึ่งได้จบลงเมื่อพวกเขาเลือกเปลี่ยนมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” กันครับ


ภาพแนบ: ปกการ์ตูนโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น ชื่อเรื่อง “ไฟเย็น” โดยเป็นการเปรียบคอมมิวนิสต์เหมือนไฟเย็นที่ดูแต่แรกไม่มีอันตราย แต่แท้จริงอาจทำร้ายคนได้

*** ช่วงกำเนิดคอมมิวนิสต์ไทย (ก่อน ค.ศ. 1947) ***

สำหรับประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง...

ช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่อยู่ใต้การบริหารของชาวจีนกับเวียดนาม
ช่วงที่2 คือการก่อตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสยามอย่างเป็นทางการ


ภาพแนบ: หนังสือพิมพ์กรรมกร

แนวคิดคอมมิวนิสต์ได้มีการพูดถึงในสยามมาในระยะหนึ่งแล้ว แต่กระนั้นก็เป็นในกลุ่มระดับเจ้านายชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์ภายในราชสำนัก และกลุ่มข้าราชการ โดยรวมแนวคิดคอมมิวนิสต์ยังคงผูกขาดอยู่แต่กับชนชั้นนำที่มีทุนความรู้ ดังนั้นจึงไม่ได้มีพลังในการขับเคลื่อนมวลชน อีกทั้งราชสำนักก็คอยระวังภัยอยู่ตลอด

ต่อมา ปัญญาชน เช่น ถวัต ฤทธิเดช, ร.ต.อ.วาน สุนทรจามร, และ สุ่น กิจจำนงค์ รู้สึกนิยมแนวคิดแบบสังคมนิยม จึงได้เผยแพร่แนวคิดดังกล่าวผ่านหนังสือพิมพ์ “กรรมกร” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ “ผดุงอิศรภาพและสิทธิของพวกกรรมกร และ ปลุกพวกกรรมกรให้ตื่นขึ้นจากการหลับ” โดยเริ่มต้นจากกลุ่มกรรมกรรถรางในเวลานั้น


ภาพแนบ: ซอยผลิตผล (ซอยซุนยัดเซน) ได้ชื่อนี้มาเพราะซุนยัดเซนเคยมาปราศรัยที่นี่

ช่วงการปฏิวัติราชวงศ์ชิง "ซุนยัตเซ็น" ผู้นำการปฏิวัติ ได้เดินทางเข้ามาขอเรี่ยไรเงินสนับสนุนจากคนเชื้อสายจีนในสยาม พร้อมกับเผยแพร่ลัทธิทางเศรษฐกิจ คือ ลัทธิไตรราษฎร์ (แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ตามติดเข้ามาด้วย)

จนเมื่อการปฏิวัติสำเร็จและซุนยัตเซ็นเสียชีวิต นายพลเจียงไคเช็ก หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งคนต่อมา สั่งกวาดล้างสมาชิกพรรคฝ่ายซ้าย

ผลของการเปลี่ยนแปลงในจีนทำให้มีคนจีนฝ่ายซ้ายอพยพเข้ามาในสยามจำนวนมาก ก่อเกิดเป็นองค์กรใต้ดินหัวฝ่ายซ้ายหลากหลายกลุ่มในกรุงเทพ เช่น พรรคชาวจีนโพ้นทะเล, พรรคปฏิวัติใต้ดิน, หรือ องค์กรปฏิวัติฝ่ายซ้ายหัวเฉียว


ในปี 1928 พรรคคอมมิวนิสต์จีนอนุมัติจัดตั้งสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงสิงคโปร์ เมืองหลวงของบริติชมลายา (มาเลเซียและสิงคโปร์ในขณะที่ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ) เพื่อรับผิดชอบและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแนวร่วมคอมมิวนิสต์ในคาบสมุทรมลายาและสยาม

เหตุนี้ทำให้ต่อมามีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาสยาม ซึ่งทางการสยามเรียกว่า “คณะใหญ่คอมมิวนิสต์สาขาประเทศสยาม” ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่เนื่องจากกลุ่มนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อกลับไปเคลื่อนไหวในจีน ดังนั้นจึงมีบทบาทในประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ


ภาพแนบ: โฮจิมินห์

ในปีเดียวกัน "โฮจิมินห์" นักปฏิวัติชาวเวียดนาม ปลอมตัวเป็นนักบวชเดินทางเข้าสยามมาเพื่อตั้งกองกำลังขนาดเล็กในหมู่ประชากรภาคอีสาน เช่น ในจังหวัดอุดรธานีและอุบลราชธานี เพื่อเตรียมการปฏิบัติการในอินโดจีนฝรั่งเศส (คือเขมร ลาว เวียดนามที่ตอนนั้นเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส)

โฮจิมินห์ยังพยายามจัดระเบียบพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนทั้งหมด กระทั่งต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การคอมมิวนิสต์สากลหรือโคมินเทิร์นซึ่งมีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ


ภาพแนบ: โรงแรมตุ้นกี่

 วันที่ 20 ม.ย. 1930 (พ.ศ. 2473) โฮจิมินห์เป็นประธานการประชุม ณ โรงแรมตุ้นกี่ หน้าหัวลำโพง เพื่อจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในสยาม เรียกว่า “สมาคมคอมมิวนิสต์สยาม” มีจุดมุ่งหมายเพื่อโค่นล้มระบอบศักดินา เพื่อสร้างรัฐกรรมกรชาวนาแห่งสยาม

องค์กรนี้จะได้พัฒนาไปเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในเวลาต่อมา (ข้อมูลทางการระบุว่า พคท. ก่อตั้งเมื่อค.ศ. 1942 หรือพ.ศ. 2485) ซึ่งในช่วงแรกๆ พรรคคอมมิวนิสต์ไทยนั้นยังคงเป็นกลุ่มปัญญาชนเล็กๆ ในกรุงเทพ มีสำนักงานใหญ่ลับตั้งอยู่ที่ถนนสี่พระยา


ภาพแนบ: สมุดปกเหลือง ภาพจากมติชน

 ในสมัยนั้นทางการสยามได้ระแคะระคาย และมีมาตรการตอบโต้ออกมาแล้ว เช่น มีการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ระบุว่า "การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น" ถือเป็นความผิด (ซึ่งก็คือห้ามลัทธิคอมมิวนิสต์นั่นเอง)

ต่อมาท่ามกลางการช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มขุนนางกับคณะราษฎร มีการโจมตีเค้าโครงเศรษฐกิจ (หรือ “สมุดปกเหลือง”) ของปรีดี พนมยงค์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์


ภาพแนบ: ปรีดี พนมยงค์

โดยข้อโจมตีหลักๆ คือปรีดีวางแผนให้รัฐบาลเข้าควบคุมที่ดินเป็นอันมากพร้อมกับให้ประชาชนส่วนหนึ่งเข้าเป็นลูกจ้างของรัฐ แต่นักวิชาการชั้นหลังวิเคราะห์ว่าจริงๆ แล้วปรีดีมีแนวคิดผสมระหว่างสังคมนิยมกับเสรีนิยมสายฌ็อง ญัค รุสโซมากกว่า

...ไม่ว่าชนชั้นนำขณะนั้นคิดว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ หรือจะใช้เป็นข้ออ้างกำจัดก็ตาม แต่ทำให้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 (1933) และปรีดีถูกบีบให้ต้องเดินทางออกนอกประเทศไปชั่วคราวเพื่อลดแรงต้าน


ภาพแนบ: ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร

ถึงกระนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกคอมมิวนิสต์ได้จับมือร่วมกับขบวนการเสรีไทยในประเทศ เพื่อช่วยกันต่อต้านญี่ปุ่นเป็นสามารถ

ต่อมาหลังสงคราม รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ได้ยกเลิกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพื่อแลกกับการที่สหภาพโซเวียตจะรับรองไทยให้ได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ

โดยหนึ่งในสมาชิก พคท. ที่มีบทบาทสำคัญในเวลาต่อมาคือ "ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร" อดีตผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาเข้าร่วมกับ พคท. และได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางพรรคในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองดังกล่าว ไม่สามารถจดทะเบียนและลงเลือกตั้งเหมือนพรรคอื่นๆ ได้


ภาพแนบ: จอมพล ป. พิบูลสงคราม

แต่ไม่นานหลังจากนั้นกลุ่มอนุรักษนิยมกับเครือข่ายนิยมเจ้าจับมือกันโค่นรัฐบาลซึ่งเป็นคณะราษฎรสายปรีดีได้สำเร็จในปี 1947 (เรียกว่าเหตุการณ์ รัฐประหาร พ.ศ. 2490)

ในช่วงนั้น "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" นายกรัฐมนตรี ขาดฐานอำนาจของตนเอง จึงใช้วิธีเรียกความชอบธรรมจากการสนับสนุนของสหรัฐ ทำให้อิทธิพลของสหรัฐในไทยเพิ่มขึ้นมาก และทำให้ไทยเริ่มเข้าสู่สงครามเย็นโดยอยู่ฝ่ายโลกเสรี ณ ช่วงนี้มีการออกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ฉบับใหม่ ทำให้ พคท. ต้องลงต่อสู้ใต้ดิน


ภาพแนบ: สงครามเกาหลี

*** คอมมิวนิสต์ไทยในสงครามเย็นช่วงแรก (ค.ศ. 1947 - 1965) ***

ในช่วงสงครามเกาหลี พรรคคอมมิวนิสต์ยังสะสมกำลังคนและอาวุธอยู่ พร้อมกันนั้นมีบันทึกว่าได้ก่อตั้ง "คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย" ขึ้น เพื่อพยายามเรียกร้องไม่ให้ไทยส่งกำลังไปร่วมรบกับสหรัฐที่เกาหลี


ภาพแนบ: เจริญ สืบแสง ประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย

หลังจากช่วงที่จีนแตกคอกับโซเวียต ช่วงปี 1950 ถึง 1960 พคท. เลือกสวามิภักดิ์ฝ่ายจีน พวกเขาส่วนหนึ่งได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อฝึกด้านอุดมการณ์และการโฆษณาชวนเชื่อ รวมทั้งมีการส่งคนไปฝึกอาวุธตามค่ายในจีน ลาวและเวียดนามเหนือ

ในปี 2507 (1964) สมาชิก พคท. ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารอเมริกันออกจากประเทศไทยและให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยแพร่สัญญาณวิทยุจากกรุงปักกิ่ง


ภาพแนบ: พโยม จุลานนท์

นอกจากนี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นยังมีการก่อตั้งกลุ่มเอียงซ้ายต่างๆ ได้แก่ ขบวนการไทยอิสระ (Thai Independent Movement) เป็นกลุ่มการเมือง และแนวร่วมกู้ชาติไทย (Thai United Patriotic Front) เป็นกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งมีพโยม จุลานนท์เป็นหัวหน้า

กลุ่มเหล่านี้มักมีพวกชาวเขา และชนกลุ่มน้อยจีนและเวียดนามเป็นกำลังพลหลัก ในปี 1960 ถึง 1964 ได้ก่อเหตุลอบสังหาร 17 ครั้ง แต่ยังเลี่ยงการปะทะกับรัฐบาล



*** วันเสียงปืนแตก และการต่อสู้แรกๆ (ค.ศ. 1965 - 1970) ***

วันที่ 7 ส.ค. 2508 (1965) เป็นวันที่ถูกจารึกว่าเป็น “วันเสียงปืนแตก” โดยเป็นวันแรกที่ พคท. เปิดฉากปะทะกับกำลังของรัฐไทยตรงๆ ที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม (แม้นักประวัติศาสตร์บางส่วนแย้งด้วยหลักฐานว่าอาจเป็นวันที่ 8 ส.ค.) นอกจากนี้ พคท. ยังประกาศให้ฝ่ายประชาชนจัดกองกำลังติดอาวุธด้วย ใช้ชื่อว่า “พลพรรคประชาชนต่อต้านอเมริกาแห่งประเทศไทย”

ต่อมา พคท. พยายามขยายพื้นที่ปฏิบัติการ จนถึงปี 1969 ได้มีการก่อเหตุขึ้น ณ เทือกเขาเพชรบูรณ์และผีปันน้ำทางเหนือ นอกจากนี้ยังมีการขยายลงไปถึงชายแดนไทย-มาเลเซีย (ซึ่งมีกำลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนมลายาอยู่ด้วย)


ภาพแนบ: อินโฟกราฟิก "เผาลงถังแดง"

"ปฐม ตันธิติ" ตัวแทน พคท. ปัจจุบัน เล่าว่ารัฐบาลใช้ความรุนแรงต่อสมาชิก พคท. เหมือนไม่ใช่มนุษย์ โดยระบุว่า

"รัฐบาลขณะนั้น ทำร้ายประชาชน มีความเหี้ยมโหดทารุณ นับตั้งแต่เริ่มต้นก็เผาสวนยางชาวเบตงนับหมื่นไร่ หาว่าชาวสวนสนับสนุน พ.ค.ท. ต่อมาก็ทำพฤติกรรมเหี้ยมโหด จับคนเผาทั้งเป็นในถังน้ำมันสองร้อยลิตร ในกรณีถังแดง จับคนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ถีบลงเขาร่วม 700 ศพ ที่พัทลุงนั่นก็ 3,000 กว่าชีวิต แล้วใครใช้ความรุนแรงต่อกันก่อน”

ทั้งนี้เขาอ้างถึงมาตรการ "ถีบลงเขา เผาลงถังแดง" ที่รัฐบาลปราบปรามสมาชิก พคท. ในจังหวัด พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี อย่างโหดเหี้ยม ในช่วงปี 1967 ถึง 1972

*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่