*** ประวัติเขมรแดง ใน 15 นาที ***

เวลาพูดถึง “เขมรแดง” คุณผู้อ่านนึกถึงอะไรกันบ้างครับ? การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์? ความโหดร้ายเกินมนุษย์? สงครามเย็น? หรือเรื่องผลกระทบถึงไทย?

เรื่องราวของเขมรแดงซับซ้อนยิ่งนัก ทำให้แม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ก็ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่อย่างละเอียดเกินกว่าเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เท่าใด ข้อมูลหลายอย่างก็ไม่นิ่ง

ด้วยเหตุนี้ ผมเลยจะมาเล่าเรื่องของเขมรแดงแบบเข้าใจง่ายให้ฟังนะครับ ตั้งแต่การเติบโตของคอมมิวนิสต์กัมพูชา, การชิงอำนาจระหว่างเจ้าสีหนุ-ลอนนอล-พลพต, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, สงครามเวียดนาม และผลกระทบที่มาถึงไทยแบบรวบรัดในนะครับ


*** จุดเริ่มต้นของกระแสคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา (ค.ศ. 1951 - 1953) ***

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ญี่ปุ่นซึ่งยึดกัมพูชาอยู่ได้แพ้สงครามและต้องคืนกัมพูชาให้ฝรั่งเศส และในปี 1946 ฝรั่งเศสก็ได้ให้สิทธิ์ปกครองตนเองแก่กัมพูชา (แต่สถานะยังถือเป็นอาณานิคม)

ในการนี้ทำให้กัมพูชามีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 6 พฤษภาคม 1947 เป็นระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ


ภาพแนบ: พลพต
 
ช่วงระหว่างนั้น กัมพูชามีการให้ทุนส่งคนไปเรียนที่ฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือ พลพต หรือชื่อจริง ซาลอต ซาร์ ชาวเขมรเชื้อสายจีน เกิดในจังหวัดแพรกสเบาว ใกล้กับเมืองกัมปงธม พ่อของเขาเป็นชาวนาซึ่งมีที่ดินและฝูงวัวของตัวเอง ทั้งมีเงินจ้างเพื่อนบ้านมาช่วยทำงานได้ สถานะของพลพตจึงจัดอยู่ในชนชั้นกลางมีอันจะกิน

ญาติของพลพตทำงานในวัง มีเงินดี พ่อแม่จึงส่งเขาและพี่ชายไปอยู่กับญาติในพนมเปญตั้งแต่ 6 ขวบ ญาติคนนี้ออกเงินส่งเสียให้พลพตเล่าเรียน ถึงไม่ได้เรียนเก่งอะไร แต่การแค่ได้เรียนหนังสือ ส่งผลให้เขามีเอกสิทธิ์สูงกว่าคนทั่วๆ ไป


ภาพแนบ: มาร์กซ์ กับ เลนิน
 
ในปี 1948 พลพตตัดสินใจเรียนนายช่าง และในปีต่อมา เขาก็สอบได้ทุนไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมที่ฝรั่งเศส อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้ศึกษางานของมาร์กซ์และเลนิน เช่นเดียวกับเหล่านักเรียนทุนฝรั่งเศสอื่นๆ ที่ได้เรียนรู้ทฤษฎีสังคมศาสตร์ใหม่ๆ ก็ล้วนอยากจะเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในประเทศตัวเอง จึงได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในปี 1951


ภาพแนบ: พระเจ้านโรดมสีหนุ

ต่อมาพระเจ้านโรดมสีหนุ ซึ่งเป็นกษัตริย์แต่ยังมีอำนาจทางการเมืองได้มีความขัดแย้งกับนักการเมืองหลายประการ ประกอบกับการมีกระแสล้มล้างราชวงศ์เกิดขึ้นตามต่างจังหวัด สีหนุเลยทำรัฐประหารยึดอำนาจในปี 1952 ตั้งตัวเองเป็นทั้งกษัตริย์และนายกรัฐมนตรีชั่วคราว

แน่นอนว่ากลุ่มนักศึกษาที่ปารีสไม่พอใจการกระทำนี้ และได้ออกแถลงการณ์ประณาม เรียกสีหนุว่า “คนทรยศต่อชาติ”


ภาพแนบ: เวียดมินห์ 

*** พลพต และพรรคประชาชน (ค.ศ. 1953 - 1955) ***

พลพตกลับมายังกัมพูชาในปี 1953 หลังโดนตัดทุนการศึกษา แม้ปีนั้นกัมพูชาจะได้เอกราชจากฝรั่งเศส แต่บ้านเมืองยังแตกเป็นหลายฝ่าย

พลพตได้เลือกเข้ากับเขมรเวียดมินห์ ซึ่งเป็นกลุ่มกองโจรคอมมิวนิสต์ต่อต้านรัฐที่มีทั้งคนเขมรและเวียดนามเป็นสมาชิก



ต่อมาเขมรเวียดมินห์เสื่อมอำนาจ เพราะมีกระแสปราบคอมมิวนิสต์ในเขมร ทำให้มีคนหนีไปเวียดนามเหนือมาก (ขณะนั้นเวียดนามแตกเป็นสองรัฐ คือเวียดนามเหนืออยู่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ เวียดนามใต้อยู่ฝั่งโลกเสรี)

แต่พลพตยังอยู่ และร่วมกับคนที่มีแนวความคิดมาร์กซิส-เลนินนิสต์เหมือนกัน สร้าง “พรรคประชาชน” ขึ้น เพื่อเข้าชิงตำแหน่งในการเลือกตั้งปี 1955 


ภาพแนบ: เจ้านโรดมสุรามฤต (ด้านหน้าสุด) กับครอบครัว 
 
ตอนนั้นพรรคประชาชนกำลังมาแรง พระเจ้าสีหนุเลยตัดสินใจสละราชบัลลังก์ลงมาเล่นการเมืองจริงจัง โดยยกบัลลังก์ให้พ่อหรือเจ้านโรดมสุรามฤตแทน

เขาตั้ง “พรรคสังคมราษฎรนิยม” ขึ้นมาแข่งขัน ปรากฏว่าพรรคสังคมชนะทุกที่นั่ง เจ้าสีหนุเลยสามารถปกครองประเทศแบบพรรคเดียว นี่ทำให้ฝ่ายซ้ายเขมรรู้สึกหมดหวังที่จะสู้ด้วยแนวทางปกติ

ขณะนั้นทางเวียดนามเหนือได้แนะนำให้ฝ่ายซ้ายเขมรอย่าเพิ่งโต้ตอบด้วยอาวุธ เพราะคงทำอะไรไม่ได้มาก พวกเขาจึงดำเนินการเงียบๆ ค่อยๆ สะสมกำลัง โดยฉากหน้าพลพตเป็นครูสอนหนังสือ แต่เบื้องหลังก็คอยเป็นตัวกลางติดต่อประสานงานต่างๆ อยู่



 *** เกมการเมืองวุ่นวาย (ค.ศ. 1955 - 1970) ***

หลังสีหนุชนะเลือกตั้ง เกมการเมืองกัมพูชาก็ดำเนินไปอย่างซับซ้อนและวุ่นวาย

ในปี 1960 พระเจ้านโรดมสุรามฤตสิ้นพระชนม์ สีหนุจึงตั้งตนเป็นผู้นำประเทศทั้งทางราษฎร์ทางหลวง ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นจราจลในปี 1962 ครั้งนั้นสีหนุเลยยอมยุบสภา และมีการ “เชิญ” สมาชิกฝั่งซ้ายกัมพูชามาเข้าพบ โดยให้เหตุผลว่า จะมาคุยเรื่องการปกครองใหม่ร่วมกัน

พลพตเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกเรียกตัว แต่เขาไม่เชื่อใจ จึงหลบหนีไปยังชายแดนเพื่อร่วมกับพวกเวียดกงทำให้กลายเป็นนักปฏิวัติโดยสมบูรณ์ ในเวลานี้เองเขาเริ่มมีแนวคิดว่าพวกชาวนาในต่างจังหวัดนี้แหละ คือแรงสำคัญของการปฏิวัติเพื่อให้ประเทศกลายเป็นสังคมนิยม และเริ่มคิดถึงสังคมการเกษตรในอุดมคติ 


พลพตเดินทางไปจีนในปี 1966 โดยเขาได้เรียนรู้ทฤษฎีคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น และได้เห็นการปฏิวัติวัฒนธรรมที่กำลังเกิดแบบสดๆ

เดวิด แชนด์เลอร์ เจ้าของผลงาน Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot. ได้วิเคราะห์ว่า มันกลายเป็นแนวทางให้เขาจัดการปัญหาทางการเมืองของกัมพูชาในเวลาต่อมา

ส่วนทางด้านสีหนุซึ่งชนะเลือกตั้งเป็นผู้ปกครองต่อ ได้พยายามดำเนินนโยบายวางตัวเป็นกลาง ขณะที่ประเทศรอบข้างทั้งลาวและเวียดนามต่างมีสงครามกลางเมืองระหว่างทั้งสองฝ่าย... 


ภาพแนบ: ลอนนอล 

สีหนุทำการหลายอย่างเพื่อเอาใจทั้งฝ่ายซ้ายและขวา เขาอนุญาตให้พวกเวียดนามเหนือมาวางกองกำลังอยู่ในชายแดนตะวันออก รวมทั้งให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถใช้ท่าเรือเขมรขนส่งยุทธปัจจัยต่างๆ

...ว่ากันว่า ที่เจ้าสีหนุทำแบบนี้ เพราะเขาเชื่อว่าสักวันจีนจะครองคาบสมุทรอินโดจีน ดังนั้นจึงควรสวามิภักดิ์ไว้...

ในช่วงเวลาดังกล่าวสีหนุยังอนุญาตให้นายพลลอนนอล ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมที่โปรอเมริกา จัดการกับพวกฝั่งซ้ายอย่างรุนแรง แต่ข้อหลังนี้ซื้อใจพวกฝั่งขวาของกัมพูชากลับมาไม่ได้ แถมช่วงนั้นเศรษฐกิจกัมพูชายังตกต่ำ ทำให้ความนิยมในตัวสีหนุต่ำลงและถูกมองว่าโปรคอมมิวนิสต์

 เมื่อประเทศกัมพูชามีการเลือกตั้งในวันที่ 11 กันยายน 1966 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมชนะที่นั่งในสภาไป 75% ลอนนอลได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และสั่งให้ชาวบ้านหยุดขายผลผลิตทางเกษตรแก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ บังคับเอาปืนจ่อให้ขายกับรัฐบาลโดยตรงเท่านั้น ซึ่งก็ให้ราคาไม่ดี ทำให้พวกเกษตรกรไม่พอใจ

...และพอชาวบ้านลุกฮือขึ้นก็โดนลอนนอลปราบเบ็ดเสร็จ มีผู้เสียชีวิตนับร้อย... 


...จากเหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้ประชาชนเกิดภาพจำว่าลอนนอลเป็นคนโหดร้าย และทำให้มีคนเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นอันมาก
อนึ่งยุคนี้สีหนุเป็นคนเริ่มเรียกเขมรคอมมิวนิสต์ว่า “เขมรแดง” และทุกคนก็เรียกตาม 


ภาพแนบ: ธงสาธารณรัฐเขมร 
 
*** ปฏิวัติกัมพูชา ยุคของลอนนอล (ค.ศ. 1970-1975) ***

เดือนมีนาคม 1970 ขณะที่สีหนุเดินทางไปยุโรป เกิดการประท้วงต่อต้านเวียดนามเหนือครั้งใหญ่ขึ้นในเขมรเพราะมีคนอ้างว่าพบเอกสารสำคัญที่เป็นแผนยึดครองกัมพูชาของพวกคอมมิวนิสต์

ลอนนอลฉวยโอกาสนี้ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ สั่งกวาดล้างชาวเวียดนาม ล้มระบบกษัตริย์ตั้งประเทศเป็น “สาธารณรัฐเขมร” แม้จะมีประชาชนกัมพูชาบางส่วนลุกขึ้นมาประท้วง ก็โดนทหารจัดการอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย


ภาพแนบ: คนเวียดนามในกัมพูชา

ว่ากันว่า หลังลอนนอลครองอำนาจ ชาวเวียดนามนับพันในกัมพูชาถูกสั่งฆ่าแล้วนำศพไปทิ้งแม่โขง

จากคนเวียดนามที่เคยมีจำนวนราว 450,000 คนนั้น มี 100,000 คนหนีออกนอกประเทศ 200,000 ถูกรัฐส่งตัวไปเวียดนามใต้ เมื่อผ่านไป 5 เดือน ก็เหลือคนเวียดนามแค่ประมาณ 140,000 คนเท่านั้น
 

ภาพแนบ: โจวเอินไหล 
 
สีหนุที่โดนยึดบัลลังก์ไปแล้วได้เดินทางไปปักกิ่ง เพื่อพูดคุยกับโจวเอินไหล ซึ่งได้เชิญผู้นำเวียดนามเหนือมาด้วย
ทั้งสองฝ่ายแนะให้สีหนุร่วมมือกับเขมรแดงเพื่อโค่นล้มลอนนอล เมื่อสีหนุตกลง โจวเอินไหลจึงไปเจรจากับพลพตซึ่งขณะนั้นอยู่จีนเหมือนกัน เขาสร้างปรากฏการณ์ประสานเชื่อมโยงจนสถาบันกษัตริย์สามารถเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ได้ เข้าทำนอง “ศัตรูของศัตรูก็คือมิตร”
...ความที่สีหนุเข้ากับเขมรแดงนี้มีผลมาก เพราะจริงๆ ยังมีประชาชนรักเขาเยอะ เมื่อบวกกับมีคนที่เกลียดลอนนอลมาสวามิภักดิ์เพิ่ม ทำให้เขมรแดงยิ่งใหญ่ขึ้นทั้งด้านกำลังคน กำลังทรัพย์


ภาพแนบ: เมืองพนมเปญเมื่อมองจากเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของอเมริกา 
 
ระหว่างนี้ พวกเวียดนามเหนือได้บุกเข้าไปโจมตีลอนนอล ทำให้เวียดนามใต้และอเมริกาส่งกำลังมาสนับสนุนลอนนอลเป็นอันมาก โดยทางอเมริกาได้ทิ้งระเบิดถล่มกัมพูชามากกว่าตอนจัดการญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก

นี่ผลักดันให้ชาวบ้านที่โดนลูกหลงมีความเจ็บแค้น และเข้ากับเขมรแดงมากกว่าเดิม แต่นั้นมาจึงเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างลอนนอลและเขมรแดง


ภาพแนบ: เครื่องแบบเขมรแดง 

ปี 1972 พลพตได้เดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านในเขตที่เขมรแดงชิงมาได้ โดยเขาให้ทหารช่วยสร้างระบบสหกรณ์ และพัฒนาระบบที่ดิน ทำให้ความเป็นอยู่โดยรวมดีขึ้น

ช่วงนี้เองที่เขมรแดงเริ่มให้ทุกคนแต่งตัวเหมือนๆ กัน คือใส่ชุดดำ พันผ้าขาวม้าลายขาวแดง และสวมรองเท้าที่ทำจากยางล้อรถยนต์ ทั้งนี้เพื่อความเท่าเทียม


ภาพแนบ: เมื่องกองทัพเขมรแดงยึดพนมเปญได้ ประชาชนต่างออกมาแสดงความดีใจกับพวกเขมรแดง 

เวลานั้นเขมรแดงแข็งแกร่งเหี้ยมหาญรุกตีใส่ฝ่ายรัฐบาลได้ชัยชนะหลายครั้ง ด้านรัฐบาลลอนนอลแม้จะมีอเมริกาหนุนหลัง แต่ก็มีการคอร์รัปชั่นมากจนอ่อนแอ เมื่อเห็นท่าไม่ดีลอนนอลจึงชิงลาออก หนีไปตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 1975

ทหารของรัฐบาลเห็นลอนนอลหนีต่างก็พากันยอมแพ้ กรุงพนมเปญจึงแตกในวันที่ 17 เมษายน 1975 ซึ่งเวลานั้น ชาวบ้านต่างกู่ร้องยินดี เชิดชูชูเขมรแดงเป็นวีรบุรุษผู้ปลดปล่อยประชาชนจากความโหดร้ายของเผด็จการ

...คนเหล่านั้นไม่รู้เลยว่า ชีวิตพวกเขาต่อจากนี้จะตกอยู่ใต้การปกครองที่เลวร้ายกว่าของลอนนอลเสียอีก…

...ไม่สิ ...เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเลยก็ว่าได้...

*** อ่านต่อใน  comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่