JJNY : เอกชนเสียดายเปิดปท.แต่สะดุดขาตัวเอง│มาแล้ว! ขบวนรถบรรทุก│EIC ส่องGDP Q3หดตัว-1.1%│หวัดนกระบาดหนักยุโรปและเอเชีย

เอกชนชี้ท่องเที่ยวยังฟื้นตัวน้อย-ต่างชาติมาแค่หยิบมือ เสียดายเปิดประเทศก่อนเพื่อน แต่สะดุดขาตัวเอง
https://www.matichon.co.th/economy/news_3043581
  
 
เอกชนชี้ท่องเที่ยวยังฟื้นตัวน้อย-ต่างชาติมาแค่หยิบมือ เสียดายเปิดประเทศก่อนเพื่อน แต่สะดุดขาตัวเอง
 
นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า บรรยากาศภาพรวมการท่องเที่ยวในขณะนี้ยังค่อนข้างฟื้นตัวได้น้อย เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในพื้นที่เฉลี่ย อยู่ที่ 200-300 คนต่อวันเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าเข้ามาน้อยมาก เพราะปีปกติก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในพื้นที่กว่า 1 ล้านคน แต่ตอนนี้จำนวน 1 หมื่นคนยังไม่เห็นด้วยซ้ำ ทำให้เป็นการฟื้นตัวที่ช้ามาก ซึ่งความจริงเสียดายโอกาสของภาคการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากเราเป็นประเทศแรกที่เปิดการท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ แต่เมื่อเปิดแล้วเรากลับสะดุดขาตัวเอง เพราะประเทศที่เป็นเมืองท่องเที่ยวอื่น หากกำหนดเปิดประเทศแล้ว เขาจะเปิดทั้งหมดทันที หากฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ตรวจ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง เมื่อมาถึงแสดงเอกสารครบถ้วน ก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่ ไม่กักตัว เป็นการเที่ยวได้แบบปกติ แต่ประเทศไทยกำหนดเงื่อนไขไว้สูงมาก อาทิ ต้องยื่นเอกสารผ่านระบบไทยแลนด์ พาส (Thailand Pass) เมื่อมาถึงแล้วต้องตรวจ RT-PCR อีก 1 ครั้ง รอผลตรวจออกจึงจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ทั้งที่ประเทศกัมพูชาเปิดช้ากว่าเรามาก แต่เขาเปิดประเทศแบบไม่มีเงื่อนไขกำหนดมากมายนัก
 
“ตอนนี้แม้พูดว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่จริงๆ แล้วเราดูตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปี เข้ามาอยู่ที่เท่าใด แล้วตอนนี้เข้ามาแค่เท่าใด รวมถึงถามว่าหากเราเป็นนักท่องเที่ยว ต้องมาเจอเงื่อนไขแบบที่ประเทศไทยตั้งไว้ จะมาจริงหรือไม่ ซึ่งมองว่าหากเป็นนักท่องเที่ยวจริงๆ คงไม่มาแน่นอน เพราะเท่าที่ดูยอดจองโรงแรมที่พักในตอนนี้ มากกว่า 90% เป็นการจองเพียง 1 คืน เพื่อรอผลตรวจ RT-PCR ออกเท่านั้น และเมื่อผลตรวจออกแล้ว ก็เดินทางไปที่อื่นต่อทันที ซึ่งลักษณะแบบนี้ ส่วนใหญ่จะไม่ใช่นักท่องเที่ยวจริงๆ แต่จะเป็นต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อื่น อาทิ ทำธุระ มีบ้าน มีคอนโดมิเนี่ยม หรือว่ามีครอบครัวอยู่ในไทย ทำให้ความจริงแล้วนักท่องเที่ยวที่แท้จริงอาจยังไม่เข้ามเที่ยวไทย” นายธเนศ กล่าว
 
นายธเนศ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐปลดล็อกในตอนนี้ มองว่าหากตั้งใจที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ก็ควรที่จะปลดล็อกเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงเปิดกิจกรรมกิจการให้มีความพร้อมสูงสุดก่อน โดยหากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว มีการตรวจ RT-PCR ก่อนเข้ามาไม่เกิน 72 ชั่วโมง เมื่อเข้ามาแล้วก็ไม่ต้องตรวจซ้ำอีก สามารถท่องเที่ยวได้ปกติทันที รวมถึงไม่ต้องกรอกข้อมูลผ่านระบบไทยแลนด์ พาสแล้ว เพราะตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ระบบหลังบ้านของไทยแลนด์ พาส ที่เป็นตัวอ่านข้อมูลก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะว่าระบบยังล่มอยู่จนถึงปัจจุบัน กลายเป็นว่าเงื่อนไขที่รัฐบังคับให้นักท่องเที่ยวและโรงแรมทำตามนั้น ความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องเงื่อนไขการจอง ที่แรกเริ่มกำหนดให้จองโรงแรม บวกการตรวจ RT-PCR บวกรถโดยสารที่ต้องใช้เดินทางต่อพร้อมกัน แต่ขณะนี้พบว่า นักท่องเที่ยวสามารถจองเพียงโรงแรมในเว็บไซต์ออนไลน์ ก็สามารถเดินทางเข้ามาได้แล้ว เมื่อเดินทางเข้ามาก็จะมากองกันอยู่ที่สนามบิน เนื่องจากตอนแรกบอกว่า รถโดยสารที่จะสามารถให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ จะต้องเป็นรถยนต์ที่มีป้ายเหลืองหรือป้ายเขียวเท่านั้น ซึ่งก็หายากมาก พอเจอปัญหาจำนวนรถป้ายเขียวและเหลืองหายาก ก็ปลดล็อกให้แท็กซี่มิเตอร์สามารถวิ่งบริการนักท่องเที่ยวได้ ทำให้รถแท็กซี่เข้ามาตัดราคารถป้ายเขียวและเหลือง ทำให้ปัญหาตอนนี้ค่อนข้างมั่วในหลายด้าน จึงมองว่าหากตั้งใจที่จะเปิดประเทศแล้วก็อยากให้เปิดทั้งหมด
 
นายธเนศ กล่าวว่า แนวโน้มการจัดงานเคาต์ดาวน์ 2022 ขณะนี้ผู้ประกอบการมีความพร้อมมาก และพร้อมมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ช่วงการเปิดแซนด์บ็อกซ์แล้ว แต่เมื่อเลื่อนการเปิดมาเรื่อยๆ รวมถึงยังไม่อนุญาตให้บางธุรกิจหรือกิจกรรมสามารถทำได้ อาทิ สถานบันเทิงยังไม่สามารถเปิดได้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่สามารถจำหน่ายและนั่งดื่มในร้านได้ ทำให้แม้มีความพร้อม แต่ความน่าสนใจก็ลดน้อยลง โดยช่วงเทศกาลเคาต์ดาวน์ ถือเป็นช่วงแห่งการเฉลิมฉลอง แต่ไม่อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเปิดสถานบันเทิง ที่ได้เลื่อนไปในวันที่ 15 มกราคม 2565 แล้วถามว่าถือเป็นการเฉลิมฉลองอย่างไร เหมือนงานพัทยามิวสิค เฟสติวัล มีการจัดงานแบบกั้นรัวไว้ ซึ่งภายในรั้วกำหนดให้ใช้มาตรการเว้นระยะห่างระหว่างกัน ไม่สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงไม่อนุญาตให้ลุกขึ้นเต้นได้ แต่นอกรั้วไม่สามารถควบคุม ได้คนในพื้นที่ก็เดินไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มานั่งดื่มตามชายหาด แล้วถามว่าถือเป็นการควบคุมตรงไหน จึงมองว่าเงื่อนไขที่ค่อนข้างยิบย่อยควรยกเลิกออกไปได้แล้ว เพราะที่ผ่านมาได้คุยกับผู้ประกอบการตลาดต่างชาติ ที่ทำตลาดนักท่องเที่ยวเยอรมันรายใหญ่ ปกติเคยมีนักท่องเที่ยวเดือนละ 3-4 พันคน แต่ขณะนี้มีเข้ามาเพียงวันละ 20 คนเท่านั้น และส่วนใหญ่เข้าไปท่องเที่ยวที่ภูเก็ต โดยผู้ประกอบการรายนั้นก็ถามกลับมาว่า ด้วยเงื่อนไขที่รัฐบาลไทยสร้างขึ้นมา ถามว่านักท่องเที่ยวจริงๆ ใครจะมา
 

 
มาแล้ว! ขบวนรถบรรทุกนับร้อยคัน เดินทางเข้ากทม.เรียกร้องลดราคาน้ำมัน
https://www.matichon.co.th/region/news_3043889

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 16 พ.ย.64 ขบวนรถเทรลเลอร์และรถบรรทุกจำนวน 100 คัน ได้ขับเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องในทางรัฐบาลปรับลดค่าน้ำมันดีเซลลง โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่าTruck Power ซีซั่น 2 ซึ่งถนนสายเอเซีย เริ่มต้นจากสถานีตรวจสอบน้ำหนักบางปะอินขาเข้า ผ่านแยกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-รังสิต-ดอนเมือง-แยกหลักสี่-เซ็นทรัลลาดพร้าว-ยูเทิร์นห้าแยกลาดพร้าว-กระทรวงพลังงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงและเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในพื้นที่คอยดูแลการจราจรเพื่อไม่มีผลกระทบกับประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนคันอื่น
 

  
EIC ส่อง จีดีพี ไตรมาส3 หดตัว -1.1% คาดทั้งปีบวก 0.7% จากพิษโควิด-19
https://www.bangkokbiznews.com/business/972084

อีไอซี เผยจีดีพี ไตรมาส 3/21 หดตัว -0.3% จากปีก่อน และหดตัว -1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า หลังถูกผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ทั้งปี คาดขยายตัว 0.7%

    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC ประเมิน เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2021 หดตัว -0.3% จากปีก่อน และ -1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า จากผลกระทบการระบาด COVID-19 สายพันธุ์เดลตาทั่วโลกรวมถึงไทย โดยหากพิจารณาเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QOQ_sa) พบว่าหลายภาคเศรษฐกิจหลักของไทยมีการหดตัว เริ่มจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการ ที่แม้จะยังขยายตัวได้ดีแบบ %YOY แต่กลับปรับลดลงชัดเจนแบบ %QOQ_sa ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากการระบาดทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงต้นไตรมาส 3
 
       ส่วนภาคเศรษฐกิจในประเทศ พบว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน (แบบ %QOQ_sa) สะท้อนภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเปราะบางและซบเซา ในส่วนของด้านการผลิต พบว่าภาคเกษตรขยายตัวได้ดี แต่ภาคเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และสาขาที่พักและร้านอาหาร
  
    สำหรับเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4/2021 คาดเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวตามสถานการณ์การระบาดที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่มีมากขึ้น ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง
 
     ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลเร็วของ Google และ Facebook ก็จะพบว่าเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ส่วนในปี 2022 EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีนี้ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ เริ่มจากการส่งออกสินค้ายังมีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่จะเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ 
 
     อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากระดับนักท่องเที่ยวที่ยังต่ำกว่าช่วงปกติมาก และผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกจากผลกระทบในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านพลวัตการเปิดปิดกิจการที่ปรับแย่ลงตลาดแรงงานที่เปราะบาง และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
 
        ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตามองยังมีอยู่หลายประการ ได้แก่ 
 
1) การระบาด COVID-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดประสิทธิภาพวัคซีนลง 
 
2) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในวงกว้าง 

3) การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นมาก ซึ่งอาจมีความรุนแรงหรือยืดเยื้อ
มากกว่าคาด จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 
 
4) เศรษฐกิจจีนที่มีความเสี่ยงจากวิกฤติพลังงานและภาคอสังหาริมทรัพย์
 
และ 5) ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง
 
      โดยสรุป GDP ไตรมาส 3/2021 ที่ออกมาที่ -0.3%YOY ค่อนข้างใกล้เคียงกับเลขที่ EIC คาดไว้ที่ -0.6%YOY 
ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจของ EIC ณ เดือนกันยายน 2021 โดยคาดไว้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต
ที่ 0.7%YOY และ 3.4%YOY ในปี 2021 และ 2022 ตามลำดับ
 
     อย่างไรก็ดี จากการติดตามข้อมูล mobility 
ของ Google และ Facebook พบว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/2021 อาจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ได้ โดยโมเมนตัมการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโลก 
 
     ยังอาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจปี 2022 ฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าคาดได้เช่นกัน ซึ่งในระหว่างนี้ EIC กำลังทำการวิเคราะห์ โดยละเอียดจากสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต และจะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจ อีกครั้งในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่