เช็กทำเลน้ำทะเลหนุนสูงปี 64 เรื่องสำคัญที่ควรรู้ก่อนซื้อบ้าน

น้ำทะเลหนุน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรรู้ก่อนซื้อบ้าน เนื่องจากเป็นปัญหากวนใจที่ส่งผลต่อทั้งการเดินทาง และการอยู่อาศัย ซึ่งในกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลมีหลายทำเลที่ประสบปัญหาดังกล่าว ลองมาดูว่ามีทำเลไหนที่เกิดปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงบ้าง

ปัญหาอุทกภัยในประเทศไทยเกิดจากอะไร

1. น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลันมักจะเกิดขึ้นในที่ราบต่ำหรือที่ราบลุ่มบริเวณใกล้ภูเขาต้นน้ำ เกิดขึ้นเนื่องจากฝนตกหนักเหนือภูเขาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้จำนวนน้ำสะสมมีปริมาณมาก ส่งผลให้พื้นดินและต้นไม้ดูดซับไม่ไหวไหลบ่าลงสู่ที่ราบต่ำอย่างรวดเร็ว

2. น้ำท่วม หรือน้ำท่วมขัง เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำสะสมจำนวนมาก ที่ไหลบ่าในแนวระนาบ จากที่สูงไปยังที่ต่ำ หรือเป็นสภาพน้ำท่วมขังที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ระบบการระบายน้ำไม่ดีพอ มีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางระบายน้ำ หรือเกิดน้ำทะเลหนุนสูงในกรณีพื้นที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล

3. น้ำล้นตลิ่ง เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำจำนวนมากที่เกิดจากฝนหนักต่อเนื่องที่ไหลลงสู่ลำน้ำ หรือแม่น้ำมีปริมาณมากจนระบายลงสู่ลุ่มน้ำด้านล่าง หรือออกสู่ปากน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่ง
 

ข้อแนะนำ: พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ต้องรู้ก่อนซื้อบ้าน

น้ำทะเลหนุนคืออะไร?
น้ำทะเลหนุน มักเกิดจากพื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่มตามบริเวณสองฝั่งแม่น้ำที่อยู่ห่างจากปากอ่าวหรือทะเลไม่ไกลนัก โดยระดับน้ำในแม่น้ำมักได้รับอิทธิพลน้ำขึ้น-น้ำลงเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลหนุนตลอดเวลา เมื่อน้ำที่ไหลลงมาตามแม่น้ำในปริมาณมากและตรงกับฤดูกาลหรือช่วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูงเกินกว่าปกติ ก็จะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วม

น้ำทะเลหนุนสูงในทำเลไหนบ้าง?
น้ำทะเลหนุนสูงส่วนใหญ่เกิดในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม ประกอบกับมีมวลน้ำเหนือไหลลงมา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ส่งผลให้ชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำและบ้านเรือนประชาชนที่อยู่บริเวณแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง อาทิ

1. ถนนทรงวาด ถนนราชวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์
2. ใต้สะพานกรุงธน ร้านอาหารขนาบน้ำ เขตบางพลัด
3. ถนนเจริญกรุง อู่ต่อเรือ-สะพานปลา และถนนพระราม 3-วัดดอกไม้-สะพานพระราม 9 เขตยานนาวา
4. ถนนเจริญนคร-แยกบุคคโล เขตธนบุรี
5. ถนนทางรถไฟสายเก่า-วัดสะพาน เขตคลองเตย
6. พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ (ถนนสุขุมวิท ช่วงโรงเรียนนายเรือ สะพานคลองมหาวงษ์ สถานตากอากาศบางปู และสำโรง)
7. ถนนบางกรวย-ไทรน้อย บริเวณวัดท่าบางสีทอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
8. อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
 
เช็กระดับน้ำทะเลจากกรมอุทกศาสตร์
ปกติทางกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ จะมีประกาศเรื่องสภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพฯ และป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเป็นประจำ

ทั้งนี้ ในวันที่ 5-14 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างเวลาประมาณ 05.00-20.30 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพฯ ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทที่ปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น รวมทั้งมีการระบายน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ลักษณะดังกล่าว อาจทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ

โดยคาดหมายว่า ที่บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง ระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.80-1.95 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง และบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า และพื้นที่ใกล้เคียงระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.70-1.80 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง

ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้น้ำท่วมควบคู่กับน้ำทะเลหนุน
พื้นที่หลายแห่งได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม เนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมของพื้นที่บริเวณนั้น ๆ ด้วย ดังนี้

1. การขยายตัวของเขตชุมชนและการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น แอ่งน้ำ หนอง บึง และคลอง โดยการถมดิน สร้างถนน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ และไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง เมื่อมีฝนตกหนัก

2. แผ่นดินทรุด จากการสูบน้ำจากแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้ชั้นดินค่อย ๆ ยุบตัวลง จนเกิดแผ่นดินทรุด ผิวดินเป็นแอ่งมีระดับต่ำกว่าปกติในบริเวณกว้าง เช่น พื้นที่หลายแห่งในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล อาทิ สมุทรปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังนานหลังจากเกิดฝนตกหนัก เพราะการระบายน้ำออกไปจากพื้นที่ไม่สะดวก

3. ระดับความสูง-ต่ำของพื้นที่ ระดับความสูง-ต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมไม่เท่ากัน โดยพื้นที่ในกรุงเทพฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1-1.5 เมตร เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น อาทิ เพชรบูรณ์ 114 เมตร นครราชสีมา 187 เมตร อุตรดิตถ์ 63 เมตร ราชบุรี 5 เมตร และภูเก็ต 2 เมตร ถือว่ามีระดับที่ไม่สูงมากนัก

ที่มา : www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/น้ำทะเลหนุน-รู้ก่อนซื้อบ้าน-57312
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่